รถยนต์ไฟฟ้า กระแสที่กำลังมาแรง !
พิพัฒน์ ชูจันทร์ ภากร พลาพงษ์
ปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาโดยยานยนต์สันดาปภายในอันก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงนําไปสู่การกําหนดแนวทางการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยแนวทางหนึ่งที่มีความสําคัญ คือการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้รถยนต์สันดาปภายใน โดยหลายประเทศให้ความสนใจและตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อน ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV (Electric Vehicle) ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่อาจเป็นแบตเตอรี่หรือแหล่งพลังงานอื่นโดยไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่เกิดฝุ่นและเสียงรบกวน ถือว่าเป็นมิตรกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา, 2564)
ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้าคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายธรรมชาติ ประหยัด ลดค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง เสียงเงียบ มีกำลังแรงม้าและแรงบิดที่ดีกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ในระดับเดียวกัน ทำให้มีอัตราเร่งดีกว่า อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์สันดาปในด้านพลังงานนั้น รถยนต์สันดาปนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำมันที่มีความผันผวนตามตลาดโลก ในขณะที่รถไฟฟ้านั้นไม่ต้องกังวลในประเด็นดังกล่าว เพราะราคาไฟฟ้านั้นคงที่ โดยจะเสียค่าไฟครั้งละ 90-150 บาทต่อการชาร์จหนึ่งครั้งเท่านั้น หรือประมาณ 0.60 – 1 บาท/กิโลเมตร ในขณะที่ค่าน้ำมันรถยนต์ทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 3 บาท/กิโลเมตร ส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงมากกว่าผู้ใช้รถยนต์ทั่วไปได้มากกว่า 2-3 เท่า นอกจากนี้ แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้านั้นยังมีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6-8 ปี และมีราคาเพียงแค่ประมาณ 372,000 – 558,000 บาทเท่านั้น (krungsriauto, 2565) อีกทั้งการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้านั้น สามารถซ่อมได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ามีการทำงานไม่ซับซ้อนและมีชิ้นส่วนสำคัญจำนวนที่น้อยกว่ารถยนต์ทั่วไป เช่น รถยนต์ไฟฟ้าไม่มีระบบเครื่องยนต์-ชุดเกียร์ โดยส่วนที่ทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนรถยนต์คือแบตเตอร์รี่ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าและมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น (Thai Parkerizing, 2565)
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าเองก็มีข้อเสียอยู่บ้างเช่นเดียวกัน กล่าวคือจุดให้บริการสำหรับการเติมพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยยังมีไม่มาก การชาร์จไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่ยังคงต้องใช้เวลานาน ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ราคารถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาที่สูงและมีข้อจำกัดในการเดินทางไกล อีกทั้งยังไม่สามารถทำความเร็วได้เทียบเท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน (รู้ใจ, 2565) เนื่องจากอัตราการขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่และขนาดของมอเตอร์ เหมือนกับที่รถยนต์ทั่วไปที่มีถังน้ำมันความจุต่างกัน การใช้เชื้อเพลิงต่างกัน ระยะทางที่ได้ก็จะต้องต่างกันไปด้วย
อยากซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาย่อมเยา ทำอย่างไรดี?
ที่มา Carsome (2565)
แม้ว่าราคาของรถยนต์ไฟฟ้าจะค่อนข้างสูง แต่ประเทศไทยก็ยังคงมีการกำหนดนโยบายเพื่อให้สอดรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิต ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรการนำเข้าพวกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ โดยผู้ผลิตต้องยื่นเข้าขอรับการสนับสนุนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นอกจากนี้ยังมีมาตรการในการลดภาษีสรรพาสามิต ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง (สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์, 2565)
ประเภทของรุ่นรถที่วางจำหน่ายในตลาดนั้นก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละประเทศอย่างมาก โดยการศึกษาของ International Energy Agency (2565) พบว่าในประเทศที่มีการแข่งขันการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างรุนแรงจนสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาได้หลากหลายรุ่นนั้นจะยิ่งส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการสนับสนุนของภาครัฐยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของราคารถยนต์ไฟฟ้า โดยการอุดหนุนเงินช่วยเหลือให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถดึงดูดให้ประชาชนหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น และเมื่อยอดจดทะเบียนเริ่มสูงขึ้น ภาครัฐจึงสามารถค่อย ๆ ลดเงินอุดหนุนได้ตามหลักการอุปสงค์และอุปทาน
ที่มา: กรมการขนส่งทางบก (2565)
แผนภูมิเปรียบเทียบยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ปี 2564 – 2565 ระหว่างเดือนมกราคม–สิงหาคม แสดงให้เห็นว่าในปี 2564 ประเทศไทยมีจำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 1,233 คัน และปี 2565 รวม 4,765 คัน (Wongsupat, 2565) จำนวนการจดทะเบียนรถที่เพิ่มขึ้นถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคนไทยเริ่มตื่นตัวกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นจากปีก่อนอย่างมาก นี่ถือเป็นสัญญาณบวกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่องและตอบโจทย์ด้านเทคโนโลยีกับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีอีกทั้งช่วยลดมลภาวะทางอากาศ อันจะช่วยทำให้คนไทยทุกคนได้อยู่ในสังคมที่มีสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้น สะอาดขึ้น และเป็นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตอีกด้วย
ในการจะผลักดันการหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของประชาชนนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารัฐบาลนั้นต้องให้ความช่วยเหลือในช่วงแรกอย่างมาก ประเทศไทยอาจผลักดันนโยบายให้สอดคล้องกับผลการศึกษาข้างต้นของ International Energy Agency ก็เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยให้รัฐหันมาสนับสนุนเอกชนในการลดภาษีนำเข้าในช่วงแรกของการผลักดันการบริโภค เพื่อให้เอกชนสามารถนำรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าที่หลากหลายเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งก็น่าจะสามารถลดราคารถยนต์ไฟฟ้าได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว อันจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคในประเทศที่กำลังหันมาสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นตัวเลือกที่มาแรงอย่างแน่นอน
เอกสารอ้างอิง
ไทยปาร์คเกอร์ไรซิ่ง. (2564). รถยนต์ไฟฟ้า EV คืออะไร? แนวโน้มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย. สืบค้นเมื่อ
11 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.thaiparker.co.th/th/articles/chemical-products/ what-is-electric-vehicle-trends-thailand
รู้ใจ. (2565). รถยนต์ไฟฟ้า อนาคตของรถยุคใหม่ที่ต้องเข้าใจและเตรียมพร้อม. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน
2565, จาก https://www.roojai.com/article/car-news/ev-car-2022/
วีระเดช คชเสนีย์. (2565). รถยนต์ไฟฟ้า 100% มาแรง รัฐบาลเดินหน้าหนุนใช้- ผลิตในไทย หวังลดใช้
น้ำมัน-ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2565, จาก https://thainews.prd.go .th/th/news/detail/TCATG220401133608119
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา. (2564). รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV). สืบค้นวันที่ 10
พฤศจิกายน 2565, จาก https://sciplanet.org/content/8804
สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์. (2565). นโยบาย “รถยนต์ไฟฟ้า” ของไทยเปรียบเทียบกับ
ต่างประเทศ. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2565, จาก https://erdi.cmu.ac.th/?p=1478
Carsome. (2565). 21 รถยนต์ไฟฟ้า ปี 2022 พร้อมราคารถไฟฟ้าที่มีขายในไทย. สืบค้นเมื่อ 28
พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.carsome.co.th/news/item/top-picks-ev-cars-2022
International Energy Agency. (2565). Trends in electric light-duty vehicles. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2566, จาก International Energy Agency: https://www.iea.org/reports/global-ev-outlook-2022
Krungsriauto. (2565). เอาไงดี “รถ EV” หรือ “รถแบบอื่นที่ไม่ใช่ EV”? 10 คำถาม-คำตอบควรรู้ก่อน
ถอยรถ EV. สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2565, จากhttps://www.krungsriauto.com/auto/content/OCT19-EVCar.html
THE STANDARD TEAM. (2565). เทียบยอดการใช้รถ EV ในไทย ระหว่างปี 2564 vs. 2565. สืบค้นเมื่อ
11 พฤศจิกายน 2565, จาก https://thestandard.co/thailand-ev-2564-2565/
Wongsupat. (2565). ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เดือนสิงหาเพิ่มทะลุ 400%. สืบค้นเมื่อ 21
พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.autospinn.com/2022/09/ev-car-91413