ราชบุรีโมเดลกับการเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ธิดารัตน์ ผลพิบูลย์
จากแนวคิดที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน จึงก่อให้เกิดโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economic Model: BCG Model) ขึ้นตามมา เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก
ภาคเกษตรนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก เมื่อโลกได้เข้าสู่ยุค “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ “New Normal” ภาคเกษตรทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญ ส่งผลให้รูปแบบการเติบโตของภาคเกษตรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก เพิ่มรายได้ และลดต้นทุนในการผลิต การส่งเสริมของภาครัฐเพื่อให้เกิดการปรับตัวของภาคเกษตรไทยในยุค New Normal นี้ ได้แก่ การสนับสนุนและร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรที่มีภารกิจด้านวิจัยและนวัตกรรม การเพิ่มการให้บริการเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ การพัฒนาทักษะเดิม (Up-Skill) และเพิ่มเติมทักษะใหม่ (Re-Skill) ให้บุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดและเน้นการทำงานในฟาร์ม (On-Farm Research) ร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ หน่วยงานท้องถิ่น มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในเครือข่าย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้ขับเคลื่อนภาคเกษตรเชิงรุกมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และใช้จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่ต้นแบบ ในการขับเคลื่อนนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สวก. ได้ทำโครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการเกษตรในพื้นที่ และเร่งสร้างจังหวัดราชบุรีให้เป็นโมเดลต้นแบบเพื่อต่อยอดและขยายผลไปยังอีกหลายพื้นที่ แปลงนโยบายสู่การปฏิบัติจริง มีการดำเนินงานตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้ง 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โครงการดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มคุณค่าของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรมในท้องถิ่น อันเป็นจุดแข็งของประเทศไทย มุ่งเน้นการทำงานเชิงพื้นที่ โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ในการดำเนินงานได้มีการวิเคราะห์โจทย์ความต้องการและกำหนดสินค้าเกษตรเป้าหมาย ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม อ้อยโรงงาน โคนม สุกร กุ้งก้ามกราม และพืชผัก โดยบูรณาการความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ คณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร หอการค้าไทย ร่วมกับ BCG สาขาต่างๆ โดยเฉพาะสาขาเกษตร ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2565)
ราชบุรีโมเดลได้รับการสนับสนุนงานวิจัยใน 4 โครงการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Based) ในจังหวัดราชบุรี ได้แก่ (1) โครงการ Sandbox ในการวางระบบการควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคอหิวาต์แอฟริกาในพื้นที่นำร่อง จ.ราชบุรี (2) โครงการพัฒนาระบบการเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเสริมสร้างศักยภาพการส่งออก พัฒนาระบบการจัดการการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้สามารถเพิ่มสัดส่วนผลผลิตกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ (3) โครงการสร้างแปลงต้นแบบแม่พันธุ์และการพัฒนาระบบตรวจรับรองพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม GI จ.ราชบุรี พัฒนาระบบตรวจรับรองพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม และจัดทำฐานข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งยีนความหอม และสาระสำคัญของมะพร้าวน้ำหอมในแปลงปลูก และ (4) โครงการออกแบบและพัฒนาเครื่องพ่นสารชีวภาพกำจัดศัตรูพืชแบบเดินตาม เพื่อการผลิตพืชผักปลอดภัย พัฒนาอุปกรณ์ชนิดใหม่ทดแทนวิธีการพ่นแบบเดิม ซึ่งทั้ง 4 โครงการ มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นโมเดลในการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตร และส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่นำร่องจังหวัดราชบุรี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ สร้างรายได้ และเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2565)
1) โครงการ Sandbox ในการวางระบบการควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกร เกิดขึ้นเนื่องจากความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ในระบบคอมพาร์ทเม้นท์ (Compartment) ในการเลี้ยงสุกรให้ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease: FMD) และเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกา (African Swine Fever: ASF) ซึ่งตรวจพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่โรงฆ่าสัตว์ในจังหวัดนครปฐม และได้มีการตรวจพบอีกในหลายพื้นที่ ดังนั้น จึงได้มีการวางระบบการควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคอหิวาต์แอฟริกาในพื้นที่นำร่องจังหวัดราชบุรี โดยการทำงานร่วมกันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกรมปศุสัตว์ (สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร, 2565) ผลการดำเนินงานโครงการด้านเศรษฐกิจ ได้มีการยกระดับและปรับระบบฟาร์มเลี้ยงสุกรให้เข้าสู่มาตรฐาน GFM, ASF-Free farm และ GAP ได้ผลผลิตสุกรที่ปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกา โรคปากและเท้าเปื่อย โรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) สามารถส่งออกสุกรไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านและตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ผลการดำเนินงานโครงการด้านสังคมนั้น โครงการช่วยให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อยในพื้นที่มีความรู้และความพร้อมในการควบคุมโรคในฟาร์มสุกร ส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยสามารถควบคุมโรคสุกรได้ดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน อีกทั้งงานวิจัยยังสามารถนำไปใช้ในการวางแผนเชิงนโยบายเรื่องการควบคุมโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ของประเทศได้ ส่วนผลการดำเนินงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อมนั้น โครงการได้มีการปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพซึ่งเชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และปรับปรุงปัจจัยอื่นๆ ในการเลี้ยงสุกรในฟาร์ม ทำให้การจัดการและการป้องกันควบคุมโรคในสุกรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2) โครงการพัฒนาระบบการเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเสริมสร้างศักยภาพการส่งออก กุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงของประเทศไทย มีตลาดทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันพบว่าผลผลิตในการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการขาดแคลนลูกกุ้งที่มีคุณภาพ ที่โตเร็ว มีอัตราการรอดตายสูงและปลอดโรค รวมทั้งปัญหาการตรวจพบสารเคมีตกค้างในเนื้อกุ้งก้ามกราม และราคาของกุ้งที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรไทยส่วนใหญ่หันมาเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมร่วมกับกุ้งก้ามกรามเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ผลผลิตกุ้งก้ามกรามในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้กุ้งก้ามกรามเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าเป้าหมายของจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามโดยการพัฒนาระบบการจัดการการเลี้ยง เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินงานในแต่ละฟาร์มในการลดสารตกค้างในผลผลิตกุ้งก้ามกราม เพื่อให้ได้ผลผลิตกุ้งที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถเพาะเลี้ยงได้อย่างเต็มศักยภาพ ผลการดำเนินงานโครงการทำให้สามารถเพิ่มรอบการผลิตต่อปี ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตกุ้งเพิ่มมากขึ้น ลดปัญหาของเสียสะสมภายในบ่อ ทำให้สภาพแวดล้อมภายในบ่อมีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโต และลดปัญหาการเกิดโรคในกุ้งก้ามกราม อีกทั้งผลที่ได้จากโครงการสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป (สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร, 2565)
3) โครงการสร้างแปลงต้นแบบแม่พันธุ์ และการพัฒนาระบบตรวจรับรองพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม GI จ.ราชบุรี เกิดขึ้นเนื่องจากจังหวัดราชบุรีมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 85,732 ไร่ ซึ่งมากกว่า 30% ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมทั้งประเทศไทย หากแต่ปัญหา คือ แปลงมะพร้าวน้ำหอมที่ได้รับการรับรอง GAP มีจำนวนน้อย เป็นแปลงของเกษตรกรเพียง 317 ราย ในพื้นที่ 8,754.60 ไร่ มะพร้าวน้ำหอมที่ผลิตในพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดราชบุรี ได้แก่ อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอวัดเพลง อำเภอบ้านโป่ง อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอบางแพ อำเภอปากท่อ และอำเภอโพธาราม ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) และได้มีการจำหน่ายกระจายพันธุ์ไปยังจังหวัดอื่นๆ เป็นจำนวนมาก หากแต่การผลิตพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมเพื่อจำหน่ายพันธุ์ยังไม่มีการตรวจรับรองอย่างเป็นทางการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมะพร้าวน้ำหอมนั้นไม่ใช่สายพันธุ์แท้ คือ ปริมาณผลผลิตไม่คงที่ คุณภาพความหอมไม่ดี เนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมที่ปลูกใกล้กับมะพร้าวแกงมีโอกาสผสมข้ามสายพันธุ์ และการนำมะพร้าวผลแก่ของพันธุ์น้ำหอมที่เกิดจากการผสมเกสรของพันธุ์อื่นไปเพาะเป็นต้นกล้าเพื่อจำหน่ายจะเกิดความเสี่ยงต่อผู้ที่นำไปปลูก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการปรับปรุงพันธุ์ในแปลงปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่ขึ้นทะเบียน GI จังหวัดราชบุรี เพื่อให้ได้ต้นแบบระบบการตรวจรับรองพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่น่าเชื่อถือ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่น และสร้างมูลค่าในการจำหน่ายพันธุ์และผลผลิตให้กับเกษตรกรเจ้าของแปลง ส่งผลดีต่อการผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้ประเทศคู่ค้ามีความมั่นใจ และนำมาซึ่งรายได้เข้าสู่ประเทศมากขึ้น (สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร, 2565)
4) โครงการออกแบบและพัฒนาเครื่องพ่นสารชีวภาพกำจัดศัตรูพืชแบบเดินตาม เพื่อการผลิตพืชผักที่ปลอดภัย เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องเพื่อผลักดันพืชผักที่ผลิตได้ทั้งหมดให้เป็นพืชผักปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรได้ให้ความสนใจปลูกผักปลอดสารพิษและผักอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น มีการนำสารชีวภาพมาใช้ทดแทนสารเคมี เช่น ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงกลุ่มปากกัด ราบิวเวอเรียกำจัดแมลงกลุ่มเพลี้ย ราไตรโคเดอมาควบคุมโรครากเน่าโคนเน่า และแบคทีเรียสายพันธุ์ Bacillus Subtilis ควบคุมโรคกุ้งแห้งในพริกหรือโรคใบจุดในคะน้า ผลจากโครงการทำให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต้นแบบเครื่องพ่นสารชีวภาพแบบเดินตามสำหรับพ่นในผักทั้งแบบยกร่องและแบบยกค้าง ได้อุปกรณ์ชนิดใหม่ทดแทนวิธีการพ่นแบบเดิม คือ คานประกอบหัวฉีด (Boom Sprayer) ที่พาละอองสารสู่ต้นและใต้ใบผักได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังลดต้นทุนด้านแรงงานคนและระยะเวลาในการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชชีวภาพในแปลงผัก ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้และนำไปใช้งานได้จริง เป็นการลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่เชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ลดต้นทุนเรื่องแรงงานคนและระยะเวลาในการพ่นสารชีวภัณฑ์ลงในแปลงผัก ส่งเสริมการผลิตผักปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ และสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนใช้เป็นต้นแบบเพื่อขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป (สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร, 2565)
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2565). กระทรวงเกษตรฯ รุกขับเคลื่อนเกษตรมูลค่าสูง เชื่อมโยง BCG ราชบุรี.
สืบค้นจาก https://www.moac.go.th/news-preview-441491791334.
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน). (2565). คลังข้อมูลวิจัยเกษตร. สืบค้นจาก
https://www.arda.or.th/.
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (2565). เกี่ยวกับ BCG, ความเป็นมา. สืบค้นจาก
https://www.bcg.in.th/background/.