เครือข่ายพันธมิตรนโยบาย
ก่อนจะไปถึงคำตอบของคำถาม………เราต้องมาทำความรู้จักกับกรอบแนวคิดพันธมิตรสนับสนุน หรือ The advocacy Coalition Framework : ACF กันก่อน กรอบแนวคิดนี้เป็นทฤษฎีกลุ่มสมัยใหม่สาขานโยบายสาธารณะ ที่เสนอโดย Sabatier and Jenkins Smith เป็นทฤษฎีที่ focus ไปที่ปฏิสัมพันธ์ของการผสมผสานการผลักดันของกลุ่มที่แข่งขันกันโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในระบบย่อยของนโยบาย ซึ่งแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยตัวแสดง (actors) ที่มาจากหลากหลายสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน จากระดับการปกครองและระบบความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแตกต่างกัน รวมทั้งตัวแสดงที่มาจากภาคเกษตรกรรม
กรอบแนวคิดพันธมิตรสนับสนุน หรือจะถูกกล่าวถึงในบทความนี้ว่า “กรอบแนวคิดเครือข่ายพันธมิตรนโยบาย”นั้น เป็นความพยายามที่จะเข้าใจและอธิบายบทบาทของการใช้ข้อมูลเชิงวิชาการในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ตั้งแต่การกำหนดประเด็นปัญหาไปจนถึงการแสวงหาทางออก โดยมุ่งเน้นการขยายมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะจากหน่วยงานรัฐหรือผู้ตัดสินใจที่เป็นทางการ ไปสู่ผู้ปฏิบัติการในสังคมที่กว้างขวางมากขึ้น ลักษณะเฉพาะของแนวคิดนี้ก็คือ มุมมองกระบวนการนโยบายที่เป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนทางความคิดของผู้ตัดสินใจหรือทรรศนะของสังคมในระยะยาวมิใช่การตัดสินใจในระยะสั้น หรือเฉพาะในแต่ละเหตุการณ์ ทำให้กรอบแนวคิดเครือข่ายพันธมิตรนโยบายมุ่งมองประเด็นหรือสาขานโยบายแต่ละด้านเป็นหน่วยในการวิเคราะห์ (unit of analysis) โดยไม่ใช้เหตุการณ์หรือสถานการณ์การตัดสินใจเป็นหน่วยการวิเคราะห์ นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับแนววิธีการจัดการเครือข่ายพันธมิตรนโยบาย การใช้กลยุทธ์ทางนโยบายจากเครือข่ายพันธมิตรมาประกอบในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบาย และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปในระยะยาวโดยวางพื้นฐานอยู่บนการเรียนรู้เชิงนโยบาย อย่างไรก็ตาม แนวคิดทั้งสองประการยังอยู่บนฐานที่จำต้องเข้าไปเจรจาต่อรองกับผู้มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบาย จึงมีส่วนที่ต้องเข้าไปเชื่อมโยงกับกรอบแนวคิดกระบวนการนโยบายแบบเส้นตรง ซึ่งการศึกษาการเคลื่อนไหวของประชาสังคมไทยในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นความเข้มแข็งของกลุ่มประชาสังคมที่พัฒนาสมรรถนะในการใช้กระบวนการนโยบายแบบเจรจาต่อรองได้เป็นอย่างดี และเป็นแบบอย่างในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทั้งในรูปแบบของการดำเนินการระยะสั้น และการติดตามพัวพันต่อเนื่องในระยะยาว
และเมื่อเราพอจะมองเห็นภาพของกรอบแนวคิดเครือข่ายพันธมิตรนโยบายกันแล้ว ลำดับต่อไปเราลองมาพยายามหาคำตอบกันว่าบทบาทไหนถึงจะโดนใจเกษตรกรไทยมากที่สุด เราต่างไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเกษตรกรรม คืออาชีพหลักของคนไทยส่วนใหญ่ มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศ เนื่องจากสังคมไทยมีรากฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม เพราะตั้งอยู่ในเขตภูมิประเทศที่เอื้อต่อการทำการเกษตร ที่ถึงแม้จะพยายามส่งเสริมหรือพัฒนาไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมเพียงใด ก็ยังคงต้องพึ่งพาภาคเกษตรกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยประเทศไทยเองมีพัฒนาการทางด้านการเกษตรมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน จาก “การเกษตรแบบดั้งเดิม-การเกษตรร่วมสมัย-การเกษตรแบบยั่งยืน” ซี่งพัฒนาการที่เกิดขึ้นล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชน (กิติศักดิ์ ทองมีทิพย์, 2564)
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ทั้งทางด้านโครงสร้างประชากร สภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นเช่นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสังคมเกษตรกรรมของไทยทั้งระดับบุคคลและสถาบันของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้สังคมไทยส่วนใหญ่จะยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นสังคมเกษตรกรรมไว้ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามยุคสมัยดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงประการหนึ่งก็คือ จำนวนเกษตรกรอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การศึกษาและทักษะความสามารถของเกษตรกรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพก็ยังไม่เพียงพอ และสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนักก็คือ “สิ่งที่เป็นปัญหาลึกสุดใจของเกษตรกรไทย” นั่นคือเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศมีฐานะยากจน ปัญหาหนี้สิน และ ขาดที่ดินทํากิน ผลิตผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ราคาตกต่ำขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรไม่สามารถต่อรองในเรื่องราคาปัจจัยการผลิต ซึ่งมักถูกเอารัดเอาเปรียบด้านราคา ทําให้เกษตรกรมีหนี้สินครัวเรือนสูง และส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ อันเนื่องจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม (ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล, วิภพ ทีมสุวรรณ และอุทัยวุฒิ ชำนาญแก้ว, 2561)
ถึงแม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะมีความพยายามหรือเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพหรือการดำเนินชีวิตของเกษตรกรไทยเพื่อความอยู่รอด เพื่อความปลอดภัยมั่นคงในการดำรงชีวิต และเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการใช้นโยบายการเกษตรหลากหลายรูปแบบและใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่รูปแบบนโยบายส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของภาคเกษตรกรรมโดยภาพรวม มีเป็นส่วนน้อยที่จะเป็นนโยบายที่มุ่งไปที่การพัฒนาเกษตรกรเชิงบุคคล และมักจะอยู่ในรูปแบบการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า แต่การบรรลุเป้าหมายความอยู่ดีกินดีนั้น จำเป็นยิ่งที่เกษตรกรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะในอาชีพของตน และมีแรงจูงใจในการที่จะพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้น การเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงควรนับเป็นจุดมุ่งเน้นสำคัญเร่งด่วนของนโยบายการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทย ซี่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศให้บรรลุตามเป้าหมาย
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเราเข้าใจหัวอกเกษตรกรไทย เราก็คงพอจะมองเห็นภาพว่าเครือข่ายพันธมิตรนโยบายจะต้องทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร “ก็จะมีใครรู้ปัญหาเกษตรกรดีกว่าเกษตรกรด้วยกัน…จริงหรือไม่ ?” ดังนั้น เครือข่ายพันธมิตรนโยบายที่เริ่มต้นจากเกษตรกรด้วยกันเองจึงเป็น “ตัวแสดงนโยบาย (Policy Actor)” ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะแสดงบทบาทเป็น “กลไกสร้างการเปลี่ยนแปลงนโยบาย (Policy Change) ให้เหมาะสมกับยุคสมัย” ด้วยการสร้างและขยายกระแสการรับรู้ในวงกว้างถึงปัญหาเกษตรกรไทยให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายหันมาให้ความสนใจ เพราะการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายย่อมมีอิทธิพลต่อโครงการของรัฐบาลในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเกษตรกร ซึ่งถ้าพูดตามสมัยนิยมก็น่าจะหมายถึง การสร้างกระแส (นโยบาย) นั่นเอง ควบคู่ไปกับการรับบทบาทเป็น “กลไกเชื่อมประสานการนำไปนโยบายไปปฏิบัติ (Policy Implementation)” ด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในชุมชนให้ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการรวมกลุ่มเชื่อมโยงเครือข่ายให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าไปอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น โดยการประยุกต์ใช้ความรู้ ภูมิปัญญา และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานของคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ใช้สติปัญญาในการตัดสินใจและดำเนินชีวิต โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นฝ่ายหนุนเสริม ทั้งสองบทบาทน่าจะทั้งถูกใจและโดนใจเกษตรกรไทยด้วยกันเองที่สุดแล้ว
***********************
เอกสารอ้างอิง
Sabatier, Paul A. (1999). Theories of the Policy Process. Boulder, CO: Westview Press.
Sabatier, P. and Jenkins-Smith, H. (1999), ‘The advocacy coalition framework: an assessment’, in
P. Sabatier (ed.), Theories of the Policy Process, Boulder: Westview Press, pp. 117-168.
Sabatier, Paul A., & Hank C. Jenkins-Smith. (1993). Policy Change and Learning. Boulder, CO:
Westview Press, Inc.
กิติศักดิ์ ทองมีทิพย์. (2564, มกราคม – มิถุนายน). พัฒนาการการเกษตรกรรมของประเทศไทยในมิติด้านการ
พัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต. วารสารพัฒนศาสตร์, 4(1). 132 – 162.
ฉัฐสิณี หาญกิตติชัย และ ชาตรี บุญนาค. (2563). การพัฒนาเกษตรกร และองค์กรเกษตรกรสู่การเป็น
เกษตรกรปราดเปรื่องและองค์กรต้นแบบ.วารสารเกษตร มสธ. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มิถุนายน 2563: 97-
108.
อมรพิมล พิทักษ์. (2563). การพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร. วิทยานิพนธ์ปริญญา
ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิตและการพัฒนามนุษย์แบบ 2.1
ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.