การบริหารจัดการน้ำเพื่อความมั่นคงและการเติบโตอย่างยั่งยืน

ความท้าทายของประเทศไทย

                                                                                                                                                 

                                                                                                                                                                                                                                แพรดาว ฟูพาณิชย์พฤกษ์                                                                                                                                                                                                                                              ธิดารัตน์ ผลพิบูลย์

            การลงทุนในความมั่นคงด้านน้ำจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการลงทุนนี้ต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดีเพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาที่กว้างไกลขึ้นในอนาคต เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงด้านน้ำมากขึ้น ในขณะที่ประชากร การขยายตัวของความเป็นเมือง และเศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผู้คนและทรัพย์สินมีความเสี่ยงต่อน้ำมากขึ้น ซ้ำยังเพิ่มความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกด้วย

            ความมั่นคงด้านน้ำส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของความเสี่ยงที่เกี่ยวกับน้ำส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศยากจนหลายประเทศกำลังเผชิญกับแหล่งน้ำที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน การลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงด้านน้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ว่าจะมีความมั่นคงด้านน้ำแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องปรับตัวและลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงด้านน้ำไว้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โครงสร้างพื้นฐานที่เสื่อมสภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของประชากร และความคาดหวังด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น (Organisation for Economic Co-operation and Development, 2016)

              องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้กำหนดนิยามความมั่นคงด้านน้ำว่าเป็นการบรรลุและรักษาระดับปริมาณของน้ำให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านน้ำ 4 ประการ ได้แก่

            น้ำน้อยเกินไป (รวมถึงภัยแล้ง) หมายถึง การขาดน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการเพื่อการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เกษตรกรรม การผลิตไฟฟ้า และรักษาสิ่งแวดล้อม

น้ำมากเกินไป (รวมถึงน้ำท่วม) หมายถึง การล้นของขอบเขตปกติของน้ำ (ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น) หรือการขังอยู่ของน้ำเป็นระยะเวลานานในพื้นที่ที่ปกติไม่ได้จมอยู่ใต้น้ำ

น้ำเน่าเสียเกินไป หมายถึง การขาดน้ำที่มีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานหรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ

ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน้ำจืด หมายถึง การที่สมดุลของระบบนิเวศน้ำจืดถูกทำลาย เนื่องจากการบริโภคที่เกินกว่าขีดความสามารถของแหล่งน้ำผิวดินหรือแหล่งน้ำใต้ดินนั้นจะรองรับได้ รวมถึงการทำลายปฏิสัมพันธ์ของแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน

แนวทางปฏิบัติของ OECD เพื่อลดความเสี่ยง คือ “การรู้จักความเสี่ยง” “การกำหนดเป้าหมายของความเสี่ยง” และ “การจัดการความเสี่ยง” เพื่อช่วยในการจัดลำดับความสำคัญ กำหนดเป้าหมาย กำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และออกแบบนโยบายเพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านน้ำ โดยทุกประเทศทั่วโลกมีความเสี่ยงด้านน้ำ หากแต่เป็นระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน (Organisation for Economic Co-operation and Development, 2016)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านน้ำเพิ่มมากขึ้น ในบางภูมิภาคของโลกจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อจัดการกับสภาพทางอุทกวิทยาที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ปริมาณน้ำฝนและหิมะที่ลดลง ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ความถี่ของภัยพิบัติที่เพิ่มมากขึ้นและภัยพิบัติรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นสิ่งที่นักจัดการน้ำต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ สิ่งเหล่านี้จะเพิ่มต้นทุนในการจัดการน้ำ เนื่องจากระบบที่รองรับน้ำต้องมีความทนทาน

            ประเทศญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าจำเป็นต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำในอนาคต โดย 1) ต่ออายุโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำที่ใช้งานมานาน ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยนใหม่ภายใน 20 ปีนี้ 2) เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ตรงตามมาตรฐานการออกแบบอาคาร ต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยญี่ปุ่นประมาณการว่าต้นทุนการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านน้ำประปาภายในปี 2050 จะอยู่ที่ 59 ล้านล้านเยน (ประมาณ 580 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านเยน และต้นทุนการลงทุนต่ออายุของท่อน้ำต่อปีจะอยู่ที่ 1.24 ล้านล้านเยน (ประมาณ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านน้ำนี้เกินกว่าศักยภาพของเงินทุนของประเทศที่มีอยู่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านน้ำเพิ่มขึ้นสวนทางกับการลดลงของเงินทุนที่มีอยู่ ดังนั้นการหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ จึงมีความจำเป็น
           
            ประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณมูลค่าของโครงสร้างพื้นฐานที่จัดการโดย US Corps of Engineers โดยมูลค่าของโครงสร้างพื้นฐานลดลงจาก 237 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงทศวรรษที่ 1980s เหลือ 164 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2010 ในขณะที่ประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษาแหล่งน้ำสะอาดและแหล่งน้ำดื่มในช่วงปี 2000-2019 มีค่ามากกว่า 500 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยเงินลงทุนที่จำเป็นสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของระบบน้ำสาธารณะเพื่อให้บริการน้ำดื่มที่ปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2011-2030 อยู่ที่ประมาณ 384.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกักเก็บน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของประชากร การดำเนินงานและการบำรุงรักษาระบบน้ำประปา ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของระบบน้ำสาธารณะไม่เพียงพอกับเงินทุนของประเทศที่มีอยู่ และตัวเลขค่าใช้จ่ายนี้อาจมีการปรับเพิ่มขึ้นอีกเมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ในอนาคต

             การส่งเสริมการลงทุนด้านความมั่นคงด้านน้ำและการเติบโตอย่างยั่งยืน

             การเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องน้ำสำหรับชุมชน ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมของการลงทุนเรื่องความมั่นคงด้านน้ำนั้น รัฐควรจัดหาสวัสดิการสังคมเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด หากแต่การพิจารณาแนวทางการสนับสนุนการลงทุนนั้น จำเป็นต้องเข้าใจว่าการลงทุนก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร และใครได้ประโยชน์จากการลงทุนนั้น ตัวอย่างเช่น

             ประเทศนิวซีแลนด์ เมืองโอ๊คแลนด์ใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อวิเคราะห์การดำเนินการและการลงทุนที่มีผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อคุณภาพน้ำจืด ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับ 1) การพัฒนาและการจัดการน้ำฝน 2) การก่อสร้างถนนและทางจักรยาน และ 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่าย นอกจากนั้น เมืองโอ๊คแลนด์ยังแสดงให้เห็นว่าการประสานงานในภาคส่วนต่างๆ เช่น การก่อสร้างถนนก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับความมั่นคงด้านน้ำและการเติบโตอย่างยั่งยืน

            การเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว

           โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มนุษย์สร้างขึ้นให้สอดคล้องกับระบบธรรมชาติหรือกึ่งธรรมชาติ โดยออกแบบเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ด้านนิเวศบริการ (Ecological Services) ในการจัดการทรัพยากรน้ำและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น การอนุรักษ์หรือการขยายพื้นที่รองรับน้ำท่วม โดยโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่ถูกสร้างขึ้นสามารถเพิ่มการแทรกซึมของน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วมในเมือง ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการทำเกษตรกรรม ช่วยในการยังชีพของสัตว์ป่า ให้ประโยชน์ด้านนันทนาการและการท่องเที่ยว และลดการไหลบ่าของน้ำฝน โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่สามารถสร้างเพื่อใช้ในการจัดการน้ำ ได้แก่ เขื่อน เขื่อนกั้นน้ำ การเติมน้ำใต้ดินเทียม และโรงบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น (Organisation for Economic Co-operation and Development, 2016) ตัวอย่างเช่น

            ประเทศอังกฤษ ระบบท่อน้ำทิ้งรวมในกรุงลอนดอนถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1859-1875 ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้น้ำของประชาชนได้สูงสุด 4 ล้านคน รองรับทั้งน้ำเสียในประเทศและน้ำฝนที่ไหลบ่า และเนื่องจากประชากรในลอนดอนเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 8 ล้านคนในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา ทำให้ระบบระบายน้ำทิ้งไม่เพียงพออีกต่อไป การระบายน้ำทิ้งแบบรวมในช่วงที่มีฝนตก ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำทิ้งได้ ส่งผลให้ต้องมีการปล่อยสิ่งปฏิกูลที่ไม่ผ่านการบำบัดลงสู่แม่น้ำเทมส์โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง มีสิ่งปฏิกูลที่ถูกปล่อยออกมากกว่า 40 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าสิ่งปฏิกูลที่เกิดขึ้นในแต่ละปี

            ในปี 2001 หน่วยงานเอกชนด้านการจัดการน้ำ (Thames Water) รัฐบาล และหน่วยงานกำกับดูแลระดับท้องถิ่นและระดับชาติ (The Environment Agency and The Water Services Regulation Authority: Ofwat) ได้ศึกษาเชิงกลยุทธ์เพื่อจัดการน้ำในแม่น้ำเทมส์ จากการศึกษาพบว่าการสร้างอุโมงค์ใหม่ – อุโมงค์ทางเดินน้ำเทมส์ (Thames Tideway) เพื่อสกัดกั้นและถ่ายโอนน้ำเสียไปยังระบบบำบัดน้ำเสียเบคตัน เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์มากที่สุด (Organisation for Economic Co-operation and Development, 2016)

             นอกจากนั้น กรุงลอนดอนเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดกรณีหนึ่งในการป้องกันน้ำท่วมจากปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง เนื่องจากตัวเมืองลอนดอนมีแม่น้ำเทมส์ไหลผ่านกลางเมืองเหมือนกรุงเทพมหานคร และเคยเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูง โดยรัฐบาลประเทศอังกฤษตัดสินใจผ่านกฎหมายป้องกันน้ำท่วมในแม่น้ำเทมส์ (Flood Protection Act) ในปี 1972 และได้สร้างแนวประตูกั้นน้ำหรือเทมส์แบร์ริเออร์ (Thames Barrier) ซึ่งช่วยป้องกันตัวเมืองลอนดอนชั้นในไม่ให้ถูกน้ำท่วมได้หลายครั้ง

             การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ได้เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของความเป็นเมืองเป็นแรงกดดันในการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้งการขยายตัวของความเป็นเมืองยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดย Organisation for Economic Co-operation and Development คาดว่ามูลค่าของทรัพย์สินที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจะเพิ่มขึ้นกว่า 340% ในระหว่างปี 2010-2050 (Organisation for Economic Co-operation and Development, 2012) นอกจากนั้นแล้ว การขยายตัวของความเป็นเมืองส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ น้ำเสียและน้ำทิ้งในเมืองจะเพิ่มมากขึ้นและจำเป็นต้องได้รับการบำบัดก่อนที่จะปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อมหรือนำกลับมาใช้ใหม่ การขยายตัวของความเป็นเมืองจึงก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านน้ำ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนและส่งเสริมการลงทุนเพื่อการบริหารจัดการและสร้างความมั่นคงในอนาคต

             จากความเสี่ยงด้านน้ำที่กล่าวมา องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายหนึ่งในการสนับสนุนการลงทุนเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ภาคการผลิตและการสุขาภิบาลน้ำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับน้ำด้านอื่นๆ รวมถึงการขาดแคลนน้ำ มลพิษ และการปกป้องระบบนิเวศน้ำจืด

             ประเทศไทยเองกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติด้านน้ำต่างๆ ตามมามากมาย ได้แก่ น้ำท่วม น้ำแล้ง รวมทั้งการขยายตัวของความเป็นเมืองเฉกเช่นประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเสีย และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน้ำจืด ดังนั้นผู้เขียนจึงขอฝากบทความเกี่ยวกับประเด็นปัญหา การวางแผน และการลงทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาเพื่อความมั่นคงด้านน้ำและการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

เอกสารอ้างอิง

 

Brand Inside. (2021). Thames Barrier จากวิกฤติสู่การป้องกันน้ำท่วม London จากน้ำทะเลหนุนสูง. สืบค้น
                  จาก https://brandinside.asia/thames-barrier-london-flood-prevention/.

Organisation for Economic Co-operation and Development. (2012). A Framework for Financing
                  Water Resources Management, OECD Publishing, Paris
, http://www.oecd.org/
                  environment/aframeworkforfinancingwater resourcesmanagement.htm

Organisation for Economic Co-operation and Development. (2016). Water, growth and finance,
                  Why we need policies to foster investments in water security and sustainable growth
.
                  Retrieve from www.oecd.org/water.