สารคดี สวรรค์กรรมกรภาพฉายความยากจนข้ามรุ่นที่ยังคงพบเห็นได้ในสังคมไทย

เมื่อความยากจนได้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เด็กนักเรียนที่พึ่งจบการศึกษาระดับมัธยมตอนต้นจากจังหวัดอุบลราชธานีสองคน จิน และ ดา จำเป็นต้องเดินทางมาขายแรงงานที่ซอยกีบหมู กรุงเทพมหานคร ในช่วงปิดเทอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อหาเงินสำหรับการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของเธอทั้งสองคน ซอยกีบหมูหรืออีกชื่อหนึ่ง สวรรค์กรรมกรคือสถานที่ที่ชวนให้นึกถึงแรงงานอิสระจำนวนมากที่เดินทางมาขายแรงงานรายวันท่ามกลางความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนโดยมากกว่าภาพจำของซอยกีบหมูในฐานะสถานที่รวบรวมแรงงานทั่วไปที่บรรลุนิติภาวะจินและดาคือแรงงานเยาวชนที่ต้องสละเวลาในวัยที่ควรได้เรียนรู้ออกมาหาประสบการณ์ชีวิตผ่านการใช้แรงงาน นี่คือภาพแสดงที่ชัดเจนว่าปัจจุบันในหลายพื้นที่และหลายครอบครัวในสังคมไทย ความยากจนยังคงถูกส่งต่อจากรุ่นพ่อแม่มาจนถึงรุ่นลูก บทความชิ้นนี้จึงได้นำสารคดีเรื่องสวรรค์กรรมกร จากสารคดี คนจนเมือง ซีซั่น 3 ของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS มาร่วมวิเคราะห์และตีแผ่ไปอีกขั้นเพื่ออธิบายถึงสภาพปัญหาของความยากจนข้ามรุ่นในประเทศไทย อันเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ต้องการจะแก้ไขให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้คนไทยจำนวนมากสามารถหลุดพ้นจากบ่วงคำว่ายากจนและยับยั้งการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นได้เสียที



กุญแจสำคัญของการหลุดพ้นความยากจน การศึกษาที่เท่าเทียม

             หนึ่งในประเด็นทั้งจินและดาต่างพูดถึงและให้ความสำคัญอย่างมากนั่นก็คือการศึกษา ความฝันที่อยากจะศึกษาต่อให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ตนเอง พ่อแม่ และลูกในอนาคตหลุดพ้นจากความยากจนถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนา ท่ามกลางภาระด้านค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าครอบครัวของจินและดาจะรับภาระไว้ได้นั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่ครอบคลุมของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยในหลายพื้นที่กันดาร ที่ยังคงผลักดันภาระค่าใช้จ่ายบางส่วนไปให้แก่ครอบครัวและนักเรียนให้ต้องรับภาระ อาทิ ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าเครื่องแบบ ฯลฯ ส่งผลให้มีเด็กจำนวนมากกว่า 238,707 คนที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาในปี 2564 (Workpoint Today, 2022) การเข้าไม่ถึงการศึกษาส่งผลให้ครอบครัวไม่มีศักยภาพในการสร้างทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ ส่งผลให้ความยากจนยังคงถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น (Visser, Edzes, Merx, & Lanen, 2022) โดยจากการศึกษาของ O’Connell (2013) พบว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานถือเป็นทางออกที่เห็นผลได้ชัดเจนมากที่สุดต่อปัญหาความยากจนเรื้อรังและความยากจนข้ามรุ่น โดยสามารถเพิ่มสิทธิและทุนทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมให้แก่ผู้หญิงที่มักเป็นผู้ส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นได้อีกด้วย

             ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงควรจะที่จะทำให้ครอบครัวที่ยากจนเห็นว่าการศึกษาของบุตรเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะลงทุนในด้านเวลา โดยภาครัฐจะลงทุนด้านงบประมาณไปพร้อมกันผ่านนโยบายระยะยาวที่เปิดกว้างโอกาสทางการศึกษา อาทิ ให้เงินอุดหนุนแก่ครอบครัวยากจนเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับบุตร (Araujo, Bosch, & Schady, 2018) ให้งบสนับสนุนเพิ่มเติมด้านนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่กันดาร (O’Connell, 2013) เพราะการศึกษาที่เท่าเทียมไม่ควรคำนึงถึงเพียงแค่ความเท่าเทียม (equality) แต่ต้องเป็นการศึกษาที่มีความเสมอภาค (equity) ด้วยเช่นเดียวกัน

คุ้มครองแรงงานด้วยตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net)

             เป็นที่แน่ชัดว่าไม่เพียงแต่แรงงานในซอยกีบหมูที่ทำงานโดยไม่มีตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) แต่แรงงานรายวันทั่วทั้งประเทศไทยต่างก็กำลังเผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกัน การทำงานโดยไม่มีความหวังสำหรับอนาคตทั้งกับตนเองและลูกที่จะเกิดขึ้นนั้นเปรียบดั่งการวิ่งบนลวดหนาม ที่ถ้านักวิ่งล้มลง ลวดหนามก็พร้อมที่จะทิ่มแทงทันที กล่าวคือการขาดซึ่งตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมนั้นจะส่งผลให้แรงงานนอกระบบขาดการวางแผนอนาคตที่เหมาะสม และดำเนินชีวิตแบบไร้ซึ่งอนาคตที่มีความมั่นคง ดังนั้นรัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยผ่านการสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ สร้างคุณภาพชีวิตและโอกาสสำหรับแรงงานนอกระบบที่ปลอดภัยและเท่าเทียมกับแรงงานทั่วไป

              จากการศึกษาของ Gassman-Pines & Hill (2013) พบว่าการมีตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมสำหรับแรงงานนั้นสามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว สุขภาพจิตและการธำรงครอบครัว ไปจนถึงพัฒนาการของเด็กในครอบครัวอีกด้วย โดยการยกระดับคุณภาพชีวิตเหล่านี้จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ครอบครัวไม่ส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นตาข่ายทางสังคมที่ภาครัฐจะทำในอนาคตต้องคำนึงถึงแรงงานนอกระบบให้มากขึ้น จัดทำระบบประกันสังคมที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยพยายามเข้าถึงแรงงานนอกระบบมากกว่าดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล มีเงินเก็บ และได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น อันจะเป็นการคุ้มครองชีวิตตั้งแต่ตัวของแรงงานไปจนถึงครอบครัว เพื่อเป็นการรับประกันว่าคนในครอบครัวจะได้ใช้ชีวิตที่ไม่ต้องแขวนอยู่บนเส้นด้าย และสามารถหลุดพ้นจากความยากจนเรื้อรังได้ในที่สุด

ต่อยอดทักษะ เสริมสร้างมูลค่าแรงงาน ด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงาน

               แน่นอนว่าแรงงานนั้นมักเป็นอาชีพที่ถูกมายาคติของสังคมบดบังอยู่เสมอว่าไร้ทักษะ แต่ความไร้ทักษะที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะแรงงานเหล่านี้ขี้เกียจหรือไม่คิดจะพัฒนาตนเอง หากแต่เข้าไม่ถึงโอกาสที่จะพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพนั่นเอง เพราะแรงงานภายในสารคดีดังกล่าวกลับแสดงออกถึงความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการทาสี การผสมปูน ฯลฯ เพื่อจะให้ได้รับค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้นจากนายจ้าง แต่ประเทศไทยกลับยังไม่มีหน่วยงานใดที่หันมาให้ความสนใจการพัฒนาทักษะของแรงงานคอปกฟ้า (Blue-collar worker) แม้แต่น้อย

               การดึงดูดแรงงานเข้ามาฝึกฝนทักษะนั้นต้องเกิดขึ้นโดยมีหลักสูตรที่หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและความสนใจของแรงงาน แต่เพียงหลักสูตรอย่างเดียวอาจยังไม่สามารถดึงดูดแรงงานที่เป็นชนชั้นรากหญ้าได้ จึงควรมีการนำเงินมาจูงใจในลักษณะของการจ้างงานอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในโครงการต้นกล้าอาชีพ ในช่วงปี พ.ศ. 2552 ทางโครงการได้มีการดึงดูดแรงงานเข้ามาพัฒนาทักษะผ่านลักษณะของการจ้างงาน ส่งผลให้มีแรงงานจำนวนมากสนใจเข้ามาฝึกฝนทักษะประกอบอาชีพผ่านโครงการ เนื่องจากแรงงานไม่ต้องกังวลว่าระหว่างช่วงฝึกฝนอาชีพนั้นตนจะนำเงินที่ไหนมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะโครงการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมอบเงินเดือนจำนวนหนึ่งให้อีกด้วย น่าเสียดายอย่างยิ่งที่โครงการดังกล่าวกลับไม่สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบันอีกต่อไป กลับกลายเป็นว่าต้นแบบที่ดีกลับไม่ถูกนำไปต่อยอดในเชิงนโยบายระยะยาว เป็นการตอกย้ำและผลักแรงงานเหล่านี้ให้ไปอยู่ชายขอบของตลาดแรงงาน

การเลือกปฏิบัติทางด้านค่าจ้างระหว่างเพศและภาพจำที่ไม่เท่าเทียมของศักยภาพระหว่างเพศ

                จากการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ (2022) พบว่าเพศสภาพได้กลายมาเป็นตัวแปรของการจ่ายค่าแรงทั่วโลก โดยผู้หญิงมักจะได้รับค่าแรงน้อยกว่าผู้ชายมากถึงร้อยละ 20 ด้วยเหตุนี้เพศสภาพจึงได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น เช่นเดียวกับภาพฉายจากสารคดีที่พบว่าแรงงานเพศหญิงนั้นจะได้รับเงินค่าจ้างที่น้อยกว่าแรงงานเพศชายอยู่เสมอ อันเนื่องจากภาพจำและมายาคติทางเพศของสังคมที่ยังคงฉายซ้ำผู้หญิงในฐานะความบอบบางและไร้เรี่ยวแรง ด้วยเหตุนี้ภาพจำและมายาคติอันเป็นอคติทางเพศจึงกลายมาเป็นข้ออ้างชั้นดีของเหล่านายจ้างที่ต้องการกดเงินของเหล่าแรงงานที่เป็นผู้หญิง

                สำคัญอย่างยิ่งที่อคติทางเพศและบรรทัดฐานทางสังคมของความไม่เท่าเทียมทางเพศต้องถูกขจัดออกไป อันจะทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากยิ่งขึ้น และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้แรงงานเพศหญิงสามารถหลุดพ้นจากความยากจนเรื้อรังไม่ยับยั้งการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นได้ โดยอาจดำเนินการผ่านการจัดตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนผู้หญิงในฐานะผู้หาเลี้ยงครอบครัว และสามารถเข้าถึงบริการทางด้านการเงินได้ด้วยตนเอง รวมไปถึงสร้างสภาวะที่ผู้ชายจะต้องมีกิจกรรมการดูแลบุตรและครอบครัวเท่าเทียมกับผู้หญิง ผ่านการมอบสิทธิลาคลอดให้แก่แรงงานเพศชายเช่นเดียวกับแรงงานเพศหญิง นี่จึงถือเป็นงานสำคัญของภาครัฐที่จะต้องพัฒนาความเท่าเทียมทางด้านรายได้ให้แก่แรงงานเพศหญิง

                 ท้ายที่สุด ปัญหาทั้งหลายที่พบเจอได้จากสารคดีเรื่องสวรรค์กรรมกร จากสารคดีคนจนเมือง ซีซั่น 3 จากที่ได้อภิปรายไปข้างต้นนั้น ได้กลายมาเป็นความท้าทายให้แก่รัฐบาลในอนาคตที่จะต้องนำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการออกนโยบายระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเรื้อรังตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ รุ่นเด็กในปัจจุบัน และป้องกันความยากจนของรุ่นที่กำลังจะเกิดในอนาคต การแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นเป็นงานระยะยาวที่ไม่อาจเห็นผลได้ภายในแค่ 5-10 ปี ความไม่ต่อเนื่องทางด้านนโยบายที่เกิดขึ้นในอดีตถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถขจัดความยากจนข้ามรุ่นได้เสียที ดังนั้นเป็นพันธะที่ทุกรัฐบาลในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญ พร้อมดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกัน ไม่เพียงแค่นั้นแต่สังคมไทยจะต้องพร้อมที่จะโอบอุ้มครอบครัวยากจนเหล่านี้ผ่านการให้ความร่วมมือทางด้านนโยบายของภาครัฐ อาทิ การกระจายทรัพยากร การจัดสวัสดิการทางสังคม ฯลฯ ดังที่กล่าวในงานของ Harper, Marcus, & Moore (2003, p. 514) ว่าสังคมใดมีความรู้สึกที่แรงกล้าของการรับผิดชอบร่วมกันเพื่อสวัสดิการทางสังคม สังคมนั้นจะมีแรงสนับสนุนที่เข้มแข็งสำหรับตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม การกระจายทรัพยากร หรือแม้กระทั่งการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนท้ายที่สุดความยากจนในครอบครัวจะไม่กลายเป็นพินัยกรรม ที่ถูกส่งต่อจากพ่อแม่ไปสู่ลูกก็เป็นได้

เอกสารอ้างอิง

 

Araujo, M. C., Bosch, M., & Schady, N. (2018). Can Cash Transfers Help Households Escape an Intergenerational Poverty Trap? In C. B. Barrett, M. R. Carter, & J.P. Chavas, The Economics of Poverty Traps (pp. 357-382). Chicago: IL: University of Chicago Press.

Gassman-Pines, A., & Hill, Z. (2013). How Social Safety Net Programs Affect Family Economic Well-Being, Family Functioning, and Children’s Development. Child Development Perspectives, 7(3), 172-181.

Harper, C., Marcus, R., & Moore, K. (2003). Enduring Poverty and the Conditions of Childhood: Lifecourse and Intergenerational Poverty Transmissions. World Development, 31(3), 535-554.

O’Connell, A. (2013, July 1). Education Policy Brief: A guide to what works in policy and practice. Retrieved March 16, 2023, from Chronic Poverty Advisory Network: https://www.chronicpovertynetwork.org/resources/2014/6/25/chronic-poverty-and-education-a-guide-to-what-works-in-policy-and-practice

Thai PBS. (2022, October 30). Workers’ Heaven | Urban Poor Documentary Season 3. Retrieved March 10, 2023, from Youtube: https://www.youtube.com/watch?v=HT6FKON9FHw&t=457s [in Thai]

United Nations. (2022, September 18). Closing gender pay gaps is more important than ever . Retrieved March 20, 2023, from United Nations: https://news.un.org/en/story/2022/09/1126901

Visser, S. S., Edzes, A., Merx, E., & Lanen, S. V. (2022). “It All Starts with Family”: Mechanisms of Intergenerational Poverty in the Veenkoloniën, the Netherlands. Journal of Poverty, 26(6), 520-548.

Workpoint Today. (2022, August 25). Thailand found that children are leaving school more than 230 thousands, the Ministry of Education could bring them back 200 thoudsands. Retrieved March 16, 2023, from Workpoint Today: https://workpointtoday.com/study/ [in Thai]