อนาคตภาคเกษตรกรรมไทย : อิทธิพลเชิงโครงสร้างและกระบวนการที่มีต่อวิถีชีวิตของเกษตรกร (2)
ณัฐกฤตา นอบไทย
สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว เราได้ทราบเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และวิธีการมองสถานการณ์เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคส่วนเกษตรกรรมไทยในหลายมิติด้วยการศึกษา เรื่อง “ทุน” หรือทรัพยากร ซึ่งพบว่าทุนทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ (Human Capital) ทุนทางสังคม (Social Capital) ทุนธรรมชาติ (Natural Capital) ทุนทางกายภาพ (Physical Capital) และทุนทางการเงิน (Financial Capital) เป็นภาพการศึกษาที่ทำให้เรามองเห็นช่องโหว่ของการพัฒนาในเชิงนโยบายภาคเกษตรกรรม ซึ่งก็คือ การเสริมสร้างความสามารถและศักยภาพของเกษตรกรไทย โดยเริ่มจากทุนมนุษย์ โดยช่วยทำให้เกิดการส่งเสริมหรือยกระดับไปยังทุนมิติอื่น ๆ ในชีวิตของกลุ่มเกษตรกรได้ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธ ไม่ได้เลยว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้าง หรือบทบาทสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชน และ ปัจจัยเชิงกระบวนการ อันได้แก่ กฎ ระเบียบ กฎหมาย บริบททางวัฒนธรรมและสถาบัน ทั้งสองเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติของทุนเพื่อดำรงชีพและทางเลือกในวิถี การดำรงชีวิตของเกษตรกรไปในทิศทางต่าง ๆ ดังนั้น การมุ่งให้ความสำคัญที่ปัจจัยเชิงโครงสร้างและกระบวนการ (Transforming Structures and Process) จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาถึงการดำเนินนโยบายด้านเกษตร ช่องโหว่ของการพัฒนา และโอกาส หรือแนวทางการดำเนินนโยบายแบบมุ่งเป้าต่อไปในอนาคต
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน : ขอบเขตมาตรการแก้ไขปัญหาของภาคเกษตรกรรมไทย
ที่ผ่านมา มาตรการหรือนโยบายด้านการเกษตรของไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีขอบเขตครอบคลุมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มพูนผลผลิต การเพิ่มรายได้ของเกษตรกร หรือเพื่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรกรรม ซึ่งหลัก ๆ แล้วมีนโยบาย อาทิ การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร การรับจำนำข้าวและการประกันรายได้ เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture) เกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture Policy) เกษตรแปลงใหญ่ (Large Scale Farming Policy) การพัฒนาชลประทานการพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร และนโยบายเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming Policy) ในส่วนของรายละเอียด สามารถลำดับตามห้วงเวลาได้ดังนี้
นโยบายด้านการเกษตรของไทยในแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญซึ่งการวางแผนงานด้านการเกษตรของไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงปีพ.ศ. 2500 เป็นต้นมาที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นในการเพิ่มพูนผลผลิตทางการเกษตรเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชาติลักษณะเด่นของนโยบายจึงเป็น การพัฒนาระบบชลประทานและสร้างเขื่อนให้เอื้อต่อการเกษตรกรรมต่อมาประมาณช่วงปี พ.ศ.2520 – 2540ภาคส่วนเกษตรกรรมของไทยเกิดการขยายตัวมากขึ้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและการขยายที่ดินทำการเกษตรรวมถึงส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเป็นตัวช่วยให้สามารถมีผลผลิตได้มากขึ้นโดยช่วงเวลานี้มีลักษณะเด่นของการดำเนินนโยบายคือการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2518 จนถึงพัฒนาการถัดมาของนโยบายการเกษตร ช่วงปี พ.ศ. 2540 – 2550 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แนวคิดนโยบายเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 เข้ามามีบทบาทสำคัญโดยเน้นถึงการพึ่งพาตนเองและการบริหารจัดการทรัพยากรภายในพื้นที่ทำเกษตรที่มีให้เกิดความยั่งยืนและได้กลายมาเป็นแนวคิดสำคัญของการพัฒนาด้านที่ดินและการทำเกษตรเรื่อยมาในปัจจุบัน เมื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจยุคปี พ.ศ. 2540 มาแล้ว อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ยังจำเป็นต้องเตรียมการในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและความต้องการของตลาดโลกให้ได้ จึงทำให้ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2550 – 2560 รัฐบาลมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เรียกว่า นโยบายการประกันรายได้และการรับจำนำ โดยมีการดำเนินงานจัดทำ โครงการรับจำนำข้าวและโครงการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2554 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและเมื่อมีมาตรการจัดการผลผลิตหรือสินค้าเกษตรของประเทศเพื่อส่งออกในตลาดระหว่างประเทศแล้ว การบริหารจัดการการผลิตโดยกลไกตัวเกษตรกรเองก็นับว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน จึงทำให้ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2565 นโยบายที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในแผนงานด้านการเกษตร คือ การทำเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรอัจฉริยะ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการกระบวนการผลิต ลดต้นทุน นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการทุ่นแรง เพิ่มความแม่นยำด้วยข้อมูลในการจัดการและหาวิธีการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำเกษตรกรรมได้
จนมาถึงในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เริ่มผลักดันนโยบายการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเชื่อว่าการเสริมสร้างความยั่งยืนจะเป็นมาตรการสำคัญนำไปสู่มิติของการพัฒนาในทุกภาคส่วน โดยการทำเกษตรเพื่อความยั่งยืนจะประกอบไปด้วยมาตรการ อาทิ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เศรษฐกิจสีเขียว นโยบายที่โดดเด่น คือ การดำเนินงานด้านเกษตรอินทรีย์ และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในภาคการเกษตร จะเห็นได้ว่า นโยบายด้านการเกษตรของไทยมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างต่อเนื่อง กล่าวคือ มีจุดเริ่มต้นจากการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ไปสู่การพัฒนาโดยส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเป็นกลไกสำคัญของนโยบายดำเนินงาน และการสนับสนุนในเชิงนโยบายจากภาครัฐ ยังมีอิทธิพลต่อ “ทุนเพื่อดำรงชีพ (Livelihood Assets)” ของเหล่าเกษตรกร เช่นเดียวกับการที่ทรัพยากร หรือทุนเพื่อการดำรงชีพ มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาล
เข้าไม่ถึง หรือ ไม่ตรงจุด? : ช่องโหว่ในการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรของไทย
จากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรของประเทศไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแม้ในทางนโยบายจะมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละยุคสมัยแต่ก็ยังไม่สามารถบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคส่วนการเกษตรให้เป็นไปได้อย่างราบรื่นอาจกล่าวได้ว่าการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรของประเทศไทยมีช่องโหว่ ซึ่งเป็นปัญหาหรืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้ขาดความสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านโครงสร้างและนโยบาย ด้านการบริหารจัดการ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ด้านงบประมาณและการสนับสนุนทางการเงิน และด้านการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน ดังนี้
ปัญหาด้านโครงสร้างและนโยบาย จากนโยบายด้านการเกษตรที่ผ่านมายังคงมีปัญหา คือ การออกแบบนโยบายที่มีการยึดถือเป็นวาระระดับชาติ แต่การนำไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นยังไม่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของชุมชน การสื่อสารระหว่างรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่น และระหว่างหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการเกษตรยังไม่เพียงพอ จึงขาดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในแต่ละสมัยก็เป็นปัญหาที่ทำให้นโยบายดำเนินงานได้อย่างไม่ต่อเนื่อง หรือมีความล่าช้าอีกด้วย
ปัญหาด้านการบริหารจัดการ โดยมีปัญหาที่สำคัญคือ การบริหารจัดการทรัพยากรที่ขาดความยั่งยืน ซึ่งมักเป็นทรัพยากรน้ำหรือทรัพยากรดินที่มีข้อจำกัดเชิงภูมิประเทศ การใช้สารเคมีทำเกษตรกรรมที่ส่งผลต่อระบบนิเวศในระยะยาว และปัญหาด้านกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน ที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยซึ่งนับเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือรับการสนับสนุนจากภาครัฐได้อย่างเต็มที่และการขาดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่แม้ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมการทำเกษตรอัจฉริยะ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังยึดวิธีทำเกษตรแบบดั้งเดิมจึงทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำแต่มูลค่าต้นทุนสูงแสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการดำเนินนโยบายยังคงมีการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานไม่เพียงพอที่จะทำให้เกษตรกรหันมาปรับตัวใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยในการทำเกษตร
ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายของการดำเนินนโยบายอย่างกลุ่มเกษตรกรไม่สามารถตอบรับกับนโยบายการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรได้เพียงพอปัญหาเหล่านี้ได้แก่การกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำโดยเกษตรกรในชนบทส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจึงอาจไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุมอีกทั้งการที่รูปแบบตลาดการเกษตรของไทยมีลักษณะพึ่งพาตลาดต่างประเทศโดยเน้นการส่งออกเป็นหลักทำให้เกษตรกรต้องรับมือกับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรและมาตรฐานการส่งออกสินค้าที่เข้มงวดถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงตลาดเหล่านั้นอย่างเต็มที่นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุม เช่น ภัยแล้งหรือน้ำท่วมล้วนมีอิทธิพลต่อการทำเกษตรของเกษตรกรไทยเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากยังคงพึ่งพาการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่อาศัยฤดูกาลเป็นตัวกำหนดสภาพการณ์ของผลผลิตในแต่ละรายปี
ปัญหาด้านการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนของการก่อร่างนโยบาย (Policy Formation) ที่หลายครั้งถูกกำหนดมาในลักษณะบนลงล่าง(Top-Down)ทำให้ขาดการรับฟังปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรการนำนโยบายไปปฏิบัติจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่การถ่ายทอดความรู้และทักษะทางการเกษตรด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ไม่เพียงพอก็ทำให้เกษตรกรเข้าไม่ถึงการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่การดำเนินนโยบายจึงยากที่จะตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาเหล่านั้น
ปัญหาด้านงบประมาณและการสนับสนุนทางการเงินเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้นโยบายไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เพียงพอและไม่ต่อเนื่องทำให้การพัฒนาการเกษตรไม่สามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ในระยะยาว
ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจนซึ่งนับเป็นปัจจัยเชิงกระบวนการหากกฎหมายและกฎระเบียบที่ใช้บังคับขาดความชัดเจนและครอบคลุมก็อาจส่งผลให้เกษตรกรมีข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการทำเกษตร เช่น ความจำเป็นต้องขออนุญาตเพิ่มเติมในการใช้ที่ดิน หรือการขออนุญาตใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
จากทุกช่องโหว่ซึ่งเป็นปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา สะท้อนถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อลักษณะการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรของประเทศไทย คือ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง และ ปัจจัยเชิงกระบวนการ โดยปัจจัยเชิงโครงสร้างมีที่มาจากผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งก็คือรัฐบาล หรือผู้ที่เข้ามามีอิทธิพลและบทบาทต่อการกำหนดนโยบายอย่างภาคเอกชน และปัจจัยเชิงกระบวนการ ซึ่งก็คือกฎ ระเบียบ กฎหมาย บริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในห้วงเวลาหนึ่ง ๆ ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้จึงถือเป็นกลไกองค์ประกอบสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการถือครองทุนเพื่อการดำรงชีพ (Livelihood Assets) และการแสวงหากลยุทธ์เพื่อการดำรงชีพ (Livelihood Strategies) ของเกษตรกรไท
ข้อจำกัด และ โอกาสในการพัฒนานโยบายภาคเกษตรกรรมในอนาคต
ปัจจัยเชิงโครงสร้าง และ ปัจจัยเชิงกระบวนการ หรือหากจะเรียกในภาพรวมว่า กระบวนการทางสถาบันและโครงสร้างองค์กร (Institutional Process and Organization Structures) มีบทบาทสำคัญในการกำกับการเปลี่ยนแปลงของนโยบายตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ จากการพิจารณาถึงช่องโหว่ซึ่งเป็นปัญหาในการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรดังที่กล่าวมา ในทางวิธีการ ได้แก่ การควบคุม ด้วยนโยบาย กฎ ระเบียบ หรือกฎหมายที่ตั้งกรอบแผนงานการดำเนินงานด้านเกษตร การเข้าถึง ความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรไทย ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการดำเนินงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทางการเกษตร และ การมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็คือ กลุ่มเกษตรกรไทยในเชิงการเข้ามามีบทบาทร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการคิดค้นมาตรการหรือนโยบายที่สามารถสะท้อนปัญหาตามบริบทพื้นที่นั้นๆได้อย่างตรงจุดจึงกล่าวได้ว่า กระบวนการทางสถาบันและโครงสร้างองค์กร เป็นปัจจัยหลักของข้อจำกัดในการพัฒนานโยบายภาคเกษตรกรรม
โอกาสในการพัฒนานโยบายภาคการเกษตรของไทย สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายมิติ ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดอุปสรรคให้เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยในการทำเกษตรเพื่อทุ่นแรง ลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพของผลผลิต และการบูรณาการนโยบายที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนในระยะยาว โดยมีแนวทางหลักที่สำคัญ 8 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ เกษตรอัจฉริยะการเชื่อมต่อโดยอาศัยอินเตอร์เน็ต (Internet of Things: IoT) การใช้โดรน หรือระบบเซ็นเซอร์ ผ่านโครงการฝึกอบรมหรือการสนับสนุนเงินทุน และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ทำเกษตรในประเทศไทย การบูรณาการนโยบายการเกษตรร่วมกับการพัฒนาชนบท เพื่อกระจายความเจริญออกสู่ชนบทให้เกษตรกรได้รับสิทธิประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมมากขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บูรณาการร่วมระหว่างนโยบายการศึกษา การพัฒนาทักษะอาชีพพร้อมกับสนับสนุนด้านการเงินให้กลุ่มชุมชนเกษตรกรรมสามารถตั้งหลักได้ ส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ โดยส่งเสริมความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ การลดใช้สารเคมีในการผลิต พร้อมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรในระยะยาว และการเข้าถึงตลาดให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมการวิจัย สร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับสากลเพื่อส่งออกการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดและการจัดการห่วงโซ่อุปทาน(SupplyChain)ด้วยการสนับสนุนให้มีการเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆให้เกษตรกรผ่านการส่งออกหรือการค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์และอาจพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือระบบการค้าเพื่อเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการธุรกิจ นอกจากนี้รัฐจึงควรเป็นกลไกที่สำคัญในการเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่างเกษตรกรกับภาคเอกชนและผู้ส่งออกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทานส่งเสริมการเกษตรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเกษตรที่ปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้โดยพัฒนานโยบายหรือโครงการที่สนับสนุนการดูดซับคาร์บอนหรือสนับสนุนเทคนิคการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกษตรกร อาทิ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานหมุนเวียน การแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ทำได้โดยพัฒนากฎหมายหรือระบบการปฏิรูปที่ดินที่เอื้ออำนวยต่อเกษตรกรในการเข้าถึงกรรมสิทธิ์การใช้ที่ดินให้มีความชัดเจนและมั่นคง และพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่สนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตร เช่น ปรับปรุงระบบภาษีและสินเชื่อให้เป็นธรรมต่อเกษตรกรรายย่อย และ การสร้างระบบสนับสนุนทางการเงินและการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ โดยสร้างกองทุนหรือโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายด้วยเงื่อนไขที่เหมาะสม และสนับสนุนการใช้กองทุนพิเศษเพื่อการลงทุนในเทคโนโลยีการเกษตร
ดังนั้น ปัจจัยเชิงโครงสร้างและกระบวนการ (Transforming Structures and Process) จึงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนานโยบายการเกษตร และจากแนวทางการพัฒนาดังข้างต้นที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนานโยบายการเกษตรไทยในปัจจุบัน จะเกิดขึ้นได้จากการตระหนักถึงความสำคัญในด้านการผสมผสานระหว่างนวัตกรรม เทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ที่มา :
· DFID. (1999). Sustainable Livelihoods Guidance Sheets. London: Department for International Development.
· กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2563, 1 ธันวาคม). แนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายทองเปลว กองจันทร์). [เอกสารนำเสนอ]. การประชุมแนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์: กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. https://alro.go.th/uploads/org/research_plan/files/article_attach_202012231608694386.pdf.
· แมน ปุโรทกานนท์. (2566). แนวคิดและงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนบนฐานทุนดํารงชีพและศักยภาพ. ใน กิตติ สัจจาวัฒนา (บ.ก.) สู้ชนะความจน บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี (พิมพ์ครั้งที่ 1, น. 71-74). บริษัท ดีไซน์ ดีไลท์ จํากัด.
· สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2503). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่หนึ่ง ระยะที่ 1 พ.ศ. 2504 – 2506. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
(2509). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สอง พ.ศ. 2510 – 2514. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
(2514). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สาม พ.ศ. 2515 – 2519. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
(2539). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่แปด พ.ศ. 2540 – 2544. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
(2544). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่เก้า พ.ศ. 2545 – 2549. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
(2554). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบเอ็ด พ.ศ. 2555 – 2559. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2565). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบสาม พ.ศ. 2566 – 2570. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ