Singhdam Policy Hackathon 2022
ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขัน “แฮกกาธอน” ทางด้านนโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 1 (Singhdam Policy Hackathon 2022) ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 4-5 มิถุนายน 2565 การแข่งขันในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ทางความคิดให้แก่นิสิตและนักศึกษาในการแสดงความสามารถทางวิชาการ
ให้นิสิตและนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นทางด้านนโยบายสาธารณะออกมาอย่างสร้างสรรค์ เป็นรูปธรรม ส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านนโยบายสาธารณะให้แก่ผู้เข้าแข่งขัน และให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นทางสังคม นอกจากนี้ประโยชน์จากกิจกรรมยังสามารถส่งผลลัพธ์ในระดับประเทศผ่านนโยบายสาธารณะที่ถูกคิดค้นในกิจกรรมนี้ และการเผยแพร่ผลการแข่งขันทางสื่อ อันจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและขับเคลื่อนประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ การแข่งขันในครั้งนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 10 ทีม โดยผลการแข่งขันเป็นดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมรถด่วน จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอนโยบายส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากแมลงโดยชุมชน นำร่องใน 20 จังหวัดภาคอีสาน เพื่อช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงแมลงรายย่อย ซึ่งพบปัญหาคือผู้เพาะเลี้ยงขาดศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมสนับสนุน และผู้บริโภคและตลาดยังให้ความสนใจน้อย โดยนโยบายนี้จะช่วยแก้ปัญหาด้านรายได้ให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงผ่านการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้าโปรตีนจากแมลงภายใต้บริบทที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันอย่างเป็นองค์รวม
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีมธรรมทันธี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอนโยบาย Thailand Creative Workcation เพื่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว และฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยทีมนำเสนอการสร้างพื้นที่สำหรับทำงานและพักผ่อน (Workcation) ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomads ที่นิยมทำงานนอกสถานที่และท่องเที่ยวควบคู่ไปพร้อมกัน และนักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นในแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองและในชุมชนที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยภาครัฐจะร่วมมือกับชุมชนในการออกแบบ สร้าง และนำเสนอพื้นที่ท่องเที่ยวซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม LIT จากคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม นำเสนอนโยบายการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมผู้พัฒนาเกม (Game developer) ของไทย โดยจะผลักดันให้ภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งสถาบันส่งเสริมผู้พัฒนาเกม เพื่อผลักดันให้เกิดองค์ความรู้ในการพัฒนา ออกแบบ และสร้างเกมที่มีความหลากหลายตรงกับความต้องการของตลาดผู้เล่นเกม ส่งเสริมให้มีการแข่งขันพัฒนาเกมเพื่อยกระดับศักยภาพของผู้พัฒนาเกม และจัดตั้งเป็นคอมมูนีตี้ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกมของไทยให้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป