อนาคตภาคเกษตรกรรมไทย : ภาพฉากทัศน์ของปัญหา อุปสรรค และมุมมองวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม? (1)
ณัฐกฤตา นอบไทย
คำกล่าวที่ว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม” มีมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสาเหตุหลักเป็นเพราะภาคเกษตรกรรม เป็นภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยพื้นที่เกษตรกรรมมีมากถึงร้อยละ 46.69 ของพื้นที่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงสิบปีให้หลังมาจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรรมเป็นภาคส่วนที่เผชิญปัญหามากที่สุด ทั้งในแง่ของระดับการเติบโต ความสามารถในการแข่งขัน และการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จนทำให้มีการพัฒนาความก้าวหน้าที่ต่ำกว่าภาคส่วนอื่น อย่างภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งเข้ามามีบทบาทมากสำหรับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ดังนั้น การศึกษาถึงเงื่อนไข อุปสรรค หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรกรรม จึงมีความสำคัญที่จะทำความเข้าใจและมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในหลายมิติ อีกทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถแก่เกษตรกรไทย ยังเป็นประเด็นขับเคลื่อนที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ในเป้าหมายที่ 2 “การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่” อีกด้วย โดยบทความนี้จะอธิบายว่าสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรไทย จะสามารถบ่งบอกหรือสะท้อนถึงรากเหง้าปัญหาของภาคเกษตรกรรมได้อย่างไร และจะสามารถนำปัญหาเหล่านี้มาเป็นวิธีการในการมองการแก้ไขปัญหาได้หรือไม่
เกษตรกร และ ความยากจน : ความสัมพันธ์ที่บ่งบอกถึงปัญหาในภาคส่วนเศรษฐกิจการเกษตร
อาชีพเกษตรกร บ่อยครั้งมักถูกผูกติดและเป็นภาพสะท้อนความยากจนของประชากรไทย เนื่องจากภาคเกษตรกรรมเป็นแหล่งรองรับแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ถึงร้อยละ 40 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ถึงกระนั้น เกษตรกรกลับเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงด้านรายได้ ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตตามฤดูกาล ทำให้ ต้นทุนของผลผลิตมีราคาสูง สวนทางกับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ตกต่ำและสามารถสร้างรายได้ได้น้อย นอกจากนี้ แรงงานในภาคเกษตรกรรมปรับมีการตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปี พ.ศ. 2565 แรงงานลดลง จากเดิม 15.4 ล้านคน เหลือเพียง 11.9 ล้านคน ซึ่งเหตุผลนั้นสอดคล้องกับปัจจัยด้านรายได้ โดย แรงงานรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเลือกประกอบอาชีพอื่นที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า และมีความมั่นคงในชีวิตที่มากกว่า อีกทั้งยังพบว่า ภาคเกษตรกรรมไทยปรับตัวและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยในการเกษตรที่น้อยมาก เมื่อพิจารณาถึงระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและความเป็นสังคมดิจิทัลในปัจจุบัน และเมื่อเปรียบเทียบกับภาคการเกษตรของประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่นำนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรมาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้มีความทนทานต่อสภาพพื้นที่เพาะปลูกของประเทศ และประเทศญี่ปุ่น ที่นำเทคโนโลยีการบริหารจัดการผลผลิตแบบดิจิทัลมาใช้ในการทำฟาร์มระยะไกล เพื่อวางแผนการเพาะปลูก เป็นต้น โดยประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน และสะท้อนถึงวิธีการที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ภาคเกษตรกรรมไทยกำลังเผชิญ ซึ่งก็คือ “การสร้างความสามารถในการปรับตัว” ของเกษตรกรไทย
เกษตรกรรม จึงเป็นภาคส่วนที่ถูกใช้ในการบ่งบอกคุณภาพชีวิตของประชากรไทยในแบบภาพรวม และด้วยเหตุผลด้านการประสบปัญหาหลายประการดังที่กล่าวมาในข้างต้น การพัฒนายกระดับขีดความสามารถและศักยภาพของเกษตรกร จึงมีความสำคัญและช่วยให้ภาคการเกษตรสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน หรือการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรือแม้แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
กรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Livelihoods Framework : SLF) ในฐานะ “เครื่องมือ” มองเศรษฐฐานะของกลุ่มทางสังคมจากหลายมิติ
การที่อาชีพเกษตรกรถูกนำมายึดโยงอยู่กับภาพความยากจนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้การศึกษาเงื่อนไขสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรกรรมไทยแบบครอบคลุมทุกมิติเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และทำให้เราทราบปัญหาที่มาจากบริบทปัจจัยแวดล้อมซึ่งมีอิทธิพลต่อปัญหาต่าง ๆ และทำความเข้าใจแนวทางการมองวิธีการแก้ไขปัญหาได้ เครื่องมือที่เรียกว่า “กรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Livelihoods Framework : SLF)” ที่พัฒนาและเผยแพร่โดยกรมพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร (UK Department for International Development: DFID) สามารถนำมาใช้เป็นตัวบ่งบอกปัญหาได้ในทางหนึ่ง โดยจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และความยากจนในหลายมิติ (Multi-Dimensional Poverty Index: MPI) นอกจากนี้ กรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน ยังมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เน้น “การยึดคนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งช่วยให้เรามองแนวโน้มการพัฒนาคนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน มีองค์ประกอบในการพิจารณาสภาพการดำรงชีพ 5 ขั้นตอน ได้แก่ บริบทแวดล้อมที่เปราะบาง และอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง (Vulnerability Context) โดยจะพิจารณาจากปัจจัยที่เป็นแนวโน้ม หรือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม สถานการณ์ทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงนโยบาย การแข่งขัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นต้น ทุนเพื่อดำรงชีพ (Livelihood Assets) เป็นการพิจารณาจาก “ทุน” ที่ครอบครอง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงทรัพยากรในเชิงที่ช่วยในการดำรงชีพ ได้แก่ ทุนมนุษย์ หรือทักษะ ความรู้ ความสามารถ แรงงาน และสุขภาพของคน ทุนทางสังคม หรือเครือข่ายความสัมพันธ์ในสังคมที่บุคคลนั้นมี ทุนธรรมชาติ หมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติที่เข้าถึงได้และช่วยส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ในชีวิต ทุนทางกายภาพ คือทุนในทางโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการดำรงชีพ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม ที่อยู่อาศัย พลังงาน การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น และทุนทางการเงิน เป็นทุนที่ยืดหยุ่น สามารถประยุกต์ใช้ในการดำรงชีพได้หลากหลายเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ต่าง ๆ ของการดำรงชีพ เช่น การแลกเปลี่ยน การซื้อความสะดวกสบายในการดำรงชีพ และการแปลงทุนนั้นเป็นทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อสะสมเก็บเป็นทรัพย์ส่วนตัวต่อไป การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและกระบวนการ (Transforming Structures & Process) เป็นปัจจัยด้านระเบียบ กฎหมาย หรือนโยบาย ที่เข้ามามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการดำรงชีพของคน เนื่องจากเป็นกลไกเชิงสถาบันของกลุ่มคนในสังคมหนึ่ง ๆ ที่มีอำนาจในการกำกับและสร้างบรรทัดฐานร่วมของสังคม กลยุทธ์การดำรงชีพ (Livelihood Strategies) เป็นวิธีการหรือทางเลือกของคนยากจนที่หลากหลายและมีความจำเพาะตามลักษณะที่อยู่อาศัย สภาพความเป็นอยู่ และความต้องการของคนในพื้นที่นั้นที่จะเลือกวิถีการดำรงชีพในแบบของตนเอง และ ผลลัพธ์ของการดำรงชีพ (Livelihood Outcomes) พิจารณาจากความสำเร็จของการดำเนินการเพื่อดำรงชีพของกลุ่มคนยากจน เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือความต้องการการพึ่งพิงที่ลดลง เป็นต้น
การศึกษาเรื่อง “ทุน” เพื่อเสริมพลังความสามารถของเกษตรกรไทย ในการรับมือกับความท้าทายปัจจุบันและอนาคต
การศึกษาถึงสภาพความเป็นอยู่และศักยภาพของเกษตรกรไทย สิ่งที่เด่นชัดที่สุดก็คือ องค์ความรู้เรื่อง “ทุน” เนื่องจากการมีอยู่ของทุน เป็นปัจจัยด่านแรกที่ทำให้เราพิจารณาถึงจุดแข็งที่มีในศักยภาพคนและสามารถเห็นเป็นเชิงประจักษ์ ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร (DFID) ได้แบ่งมิติของ ทุนเพื่อดำรงชีพ (Livelihood Assets) ออกเป็น 5 ประการ ตามกรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (SLF) ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนธรรมชาติ ทุนทางกายภาพ และทุนทางการเงิน ในแง่ของความขาดแคลนแล้ว คือการที่มีทุนเพื่อดำรงชีพในมิติใดมิติหนึ่ง มากกว่าหนึ่ง หรือทุกมิติในสภาพที่จำกัด ในการนำไปสู่สภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น องค์ความรู้เรื่องทุน ในแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน มีความสำคัญเชิงนโยบายในทางหนึ่ง กล่าวคือ ตัวแบบนี้ไม่ได้สะท้อนมิติเรื่องทุนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้วิเคราะห์ต่อยอดในแนวทางของการที่ทุนมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งในเชิงนโยบายโครงสร้าง กระบวนการ และการตัดสินใจเลือกกลยุทธ์การดำรงชีพของเกษตรกร เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของการดำรงชีพที่พวกเขาคาดหวังอีกด้วย โดยมาตรการที่นำมาใช้มีได้อย่างหลากหลาย อาทิ การให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกร การประกันรายได้ การสร้างแรงจูงใจแก่แรงงานภาคเกษตรกรรม การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการเกษตรมาใช้อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ดี แม้ทุน หรือทรัพยากร จะเป็นปัจจัยในการมองวิธีแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายแบบเฉพาะหน้า แต่ก็สามารถใช้เป็นแนวทางตั้งต้นในการคิดค้นมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ที่จะช่วยปิดช่องโหว่ด้านความขาดแคลนในมิติต่าง ๆ ในหลายมิติได้ต่อไปในอนาคต อย่างเช่น การเสริมสร้างความสามารถและศักยภาพของเกษตรกรไทย ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรเพื่อลดการใช้สารเคมี การใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม การสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นเกษตรมูลค่าสูง และการนำเทคโนโลยีการเกษตรมาประยุกต์ใช้เพื่อทุ่นแรงและวางแผนการเพาะปลูกตามฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งสามารถเป็นมาตรการหรือนโยบายในการปิดช่องโหว่ด้านความขาดแคลนของ “ทุนมนุษย์” อันเป็นเป้าหมายที่สำคัญ โดยจะนำไปสู่การยกระดับทุน หรือทรัพยากรมิติอื่น ๆ ในชีวิตของกลุ่มเกษตรกรได้เช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
- · เนตรนภิศ ละเอียด. (2566). การออกแบบและพัฒนานโยบายเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเกษตรกรไทย รับมือความท้าทายในโลกยุคใหม่ [แผนโครงการวิจัยที่ไม่ได้มีการตีพิมพ์]. สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (Institute of Public Policy and Development : IPPD)
- ที่มาเพิ่มเติม :
- · DFID. (1999). Sustainable Livelihoods Guidance Sheets. London: Department for International Development.
- · ThaiPBS Policy Watch. (2567). เกษตรกรไทยติดกับดักรายได้ต่ำ ไร้เสน่ห์ดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่. https://policywatch.thaipbs.or.th/article/agriculture-9.
- · ฐานเศรษฐกิจ. (2567). ภาคการเกษตรไทย ใกล้หมดแรง ต้นทุนสูงสวนทางรายได้. https://www.thansettakij.com/business/economy/584833.
- · แมน ปุโรทกานนท์. (2566). แนวคิดและงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนบนฐานทุนดํารงชีพและศักยภาพ. ใน กิตติ สัจจาวัฒนา (บ.ก.) สู้ชนะความจน บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี (พิมพ์ครั้งที่ 1, น. 68-72). บริษัท ดีไซน์ ดีไลท์ จํากัด.
- สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. (ม.ป.ป.). เกษตรกรรม ทางเลือก ทางรอด. https://www.depa.or.th/th/article-view/agriculture-alternative-way-of-survival.