ปัญหาที่เกิดขึ้นในนโยบาย : ภาพสะท้อนจากประเด็นของข้อตรวจพบ (2)

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                       ณัฐกฤตา นอบไทย 

          เราคงทราบกันแล้วว่า การมองที่มาของปัญหาจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ สามารถใช้ผลจากการดำเนินโครงการภาครัฐในส่วนของ       ข้อตรวจพบ ที่ระบุใน “รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานภาครัฐ” ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาใช้ประโยชน์ในทางนโยบายได้ โดยมองปัญหาที่มาจากการดำเนินโครงการให้เป็นปัญหาที่เกิดจากการดำเนินนโยบาย แต่ทว่า จะทราบได้อย่างไรว่าปัญหาหรือข้อตรวจพบของนโยบายเป็นปัญหาที่อยู่ขั้นตอนใดของกระบวนการนโยบายสาธารณะ โดยใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน? คำตอบก็คือ การนำความรู้เรื่องวงจรกระบวนการนโยบายสาธารณะมาประยุกต์ใช้ร่วมกับข้อมูลในส่วนข้องตรวจพบ เพื่อตัดสินปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ  ภาครัฐ

          วงจรกระบวนการนโยบายสาธารณะ : แผนที่บอกพิกัดของปัญหาในนโยบาย

       ข้อตรวจพบ คือส่วนหนึ่งของข้อมูลที่อยู่ภายในรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานภาครัฐ ของ สตง. สามารถนำมาใช้สะท้อนลักษณะของปัญหาการดำเนินนโยบาย กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลแต่ละข้อตรวจพบก็จะพบปัญหาในลักษณะที่ต่างกันออกไป เช่น การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผน ไม่บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ ไม่ตรงตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน ไม่มีการควบคุมหรือประเมินผล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามองปัญหาของนโยบายแล้ว การตัดสินว่าปัญหาอยู่จุดใดของกระบวนการ จึงทำให้ขั้นตอนของกระบวนการมีความสำคัญ โดยหากยึดจากตัวแบบกระบวนการขั้นตอนนโยบายสาธารณะ 4 ขั้นตอน ของ James E. Anderson แล้ว วงจรกระบวนการนโยบายสาธารณะ จะประกอบไปด้วย 

(1) การก่อรูปนโยบาย (Policy Formation) 

(2) การยอมรับนโยบาย (Policy Adoption) 

(3) การนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy Implementation)

(4) การประเมินผลนโยบาย (Policy Evaluation) 

      โดยที่ ขั้นการก่อรูปนโยบาย จะเป็นการดำเนินงานที่ครอบคลุมถึงการก่อรูป การกำหนดปัญหาวาระของนโยบาย  ไปจนถึงการพัฒนาทางเลือกและกำหนดมาตรฐานทางนโยบาย ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการดำเนินงาน ขั้นการยอมรับนโยบาย คือการดำเนินงานในลักษณะของการสื่อสารทางนโยบาย เพื่อส่งต่อภารกิจไปยังขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยเป็นการตัดสินใจทางนโยบาย เพื่อสื่อสารหรือประกาศออกพร้อมสู่การปฏิบัติ ขั้นการนำนโยบายไปปฏิบัติ เป็นช่วงของกระบวนการดำเนินงานหลักในทางนโยบาย โดยเป็นการนำนโยบายไปดำเนินโครงการ รวมถึงการบริหารจัดการปัจจัยหรือทรัพยากรของโครงการและ ขั้นการประเมินผลนโยบาย จะเป็นการดำเนินงานที่มีขั้นตอนการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานทั้งระหว่างดำเนินโครงการ และภายหลังจากที่โครงการเสร็จสิ้นลงแล้ว ตลอดจนการรายงานผลต่อผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบาย

       ดังนั้น การที่จะตัดสินว่าปัญหานั้นคือปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนใด ก็คือ การมองปัญหาที่เข้าข่ายอยู่ภายในการดำเนินงานภายในขั้นตอนกระบวนการ นั่นเอง วงจรกระบวนการนโยบายสาธารณะ จึงเป็นเหมือนตัวบอกพิกัดของปัญหาในนโยบาย ว่าปัญหานั้นเกิดจากการดำเนินงานในขั้นตอนใดของกระบวนการทางนโยบายสาธารณะ

       กุญแจสำคัญอยู่ที่ “ตัวแสดง” (Actor) ผู้ขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะ

       ดังที่ทราบแล้วว่า วงจรกระบวนการนโยบายสาธารณะ 4 ขั้นตอน แสดงให้เราเห็นถึงแนวทางของกระบวนการดำเนินงานเป็นหลัก กล่าวคือ        การดำเนินงานที่เป็นขั้นตอน และมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม เราจะไม่สามารถระบุปัญหาที่เกิดจากการดำเนินงานได้  หากไม่คำนึงถึงตัวแสดงที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการนั้น ได้แก่ ขั้นการก่อรูปนโยบาย มีตัวแสดงคือ ผู้กำหนดนโยบาย หรือหน่วยงานระดับนโยบาย    ที่ทำหน้าที่กำหนดวาระและวางเป้าหมายการดำเนินนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพ ขั้นการยอมรับนโยบาย มีตัวแสดงคือ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติ    ที่ต้องรับนำเงื่อนไขของนโยบาย ได้แก่ กฎ ระเบียบ หรือมาตรการใด ๆ ตามที่แผนงานหรือนโยบายระบุไว้ตามภารกิจให้มีการปฏิบัติ ขั้นการนำนโยบายไปปฏิบัติ  มีตัวแสดงคือ หน่วยปฏิบัติ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการรับนำแนวนโยบายไปปฏิบัติและบริหารจัดการทรัพยากรในการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล และ ขั้นการประเมินผลนโยบาย มีตัวแสดงคือ หน่วยปฏิบัติ ซึ่งมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการติดตามและประเมินผลเข้ามาเป็นกระบวนการหนึ่งของการดำเนินการทางนโยบาย เนื่องจากเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้หัวหน้าหน่วยปฏิบัติรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายหรือโครงการ ทั้งในช่วงระหว่างที่ดำเนินโครงการและภายหลังที่โครงการเสร็จสิ้นลง อีกทั้งกระบวนการประเมินผลนโยบายนี้ยังสามารถเป็นผลสะท้อนกลับที่มีอิทธิพลต่อผู้กำหนดนโยบาย ในการตัดสินใจก่อรูปนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาได้ต่อไปในอนาคต

       การพิจารณาถึงตัวแสดงที่อยู่ภายในขั้นตอนของกระบวนการนโยบายสาธารณะในแต่ละขั้น จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราทราบว่าปัญหาในการดำเนินนโยบายหรือโครงการของภาครัฐอยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของใคร ไปสู่การระบุปัญหาของนโยบายว่ามีความบกพร่อง หรือเกิดปัญหาขึ้นในส่วนใดของกระบวนการ โดยทำให้เห็นถึงบทบาทภารกิจที่ตัวแสดงนั้นมีต่อนโยบายหนึ่ง ๆ ของภาครัฐ

      แค่การ “ค้นพบปัญหา” ไม่เพียงพอสำหรับการ “แก้ไขปัญหา” : การประยุกต์ใช้ตัวแบบการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติ (Public Policy Model) คือตัวแปรในการประเมินปัญหานโยบาย

       เราสามารถใช้วงจรกระบวนการนโยบายสาธารณะ เป็นตัวระบุตำแหน่งลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นกับนโยบายในเบื้องต้นได้ แต่สำหรับประเด็นด้านการตัดสินลักษณะของปัญหา หรือ “ลักษณะของข้อตรวจพบ” ในโครงการว่าเป็นปัญหาด้านใดในกระบวนการนโยบายแล้ว การนำมาใช้ประโยชน์อาจต้องอาศัยกระบวนการประยุกต์ในเชิงทฤษฎีร่วมด้วย กล่าวคือ การใช้องค์ประกอบทั้งหมดที่อยู่ภายในตัวแบบทฤษฎีการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติ 6 ตัวแบบ ของ วรเดช จันทรศร ซึ่งได้แก่ ตัวแบบทางทฤษฎีที่ยึดหลักเหตุผล (Rational Model) ตัวแบบทฤษฎีทางด้านการจัดการ (Management Model) ตัวแบบทฤษฎีทางด้านการพัฒนาองค์การ (Organization Development Model)  ตัวแบบทฤษฎีทางกระบวนการของระบบราชการ (Bureaucratic Process Model) ตัวแบบทฤษฎีทางการเมือง (Political Model) และตัวแบบทางทฤษฎีทั่วไปของการนำนโยบายไปปฏิบัติ (General Model) โดยรวบรวม พัฒนาและนำมาเชื่อมโยงกับกระบวนการนโยบาย 4 ขั้นตอน โดยสามารถแจกแจงได้ดังนี้

  • การก่อรูปนโยบาย (Policy Formation) มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร และ ความเข้าใจสภาพความเป็นจริงในการให้บริการของผู้กำหนดนโยบาย
  • การยอมรับนโยบาย (Policy Adoption) มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การกำหนดภารกิจและการมอบหมายงาน การกำหนดมาตรฐานในการทำงานและกระบวนการติดต่อสื่อสาร
  • การนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy Implementation) มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โครงสร้างองค์กร งบประมาณ บุคลากร  วัสดุอุปกรณ์ และสถานที่ ภาวะผู้นำและความร่วมมือหรือการสร้างแรงจูงใจ การยอมปรับนโยบายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ประจำวันของผู้ปฏิบัติ บุคลิกภาพและความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติ ระดับความสนับสนุนหรือต่อต้านจากฝ่ายต่างๆ จำนวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดับการพึ่งพาที่ต้องมีระหว่างหน่วยงาน ความสามารถในการเจรจาต่อรองกับสภาพแวดล้อมภายนอก การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และ การสนับสนุนจาก การเมือง สื่อมวลชน หัวหน้าหน่วยอื่น กลุ่มอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ บุคคลสำคัญ
  • การประเมินผลนโยบาย (Policy Evaluation) มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบการติดตามควบคุมและประเมินนโยบาย และ มาตรการในการให้คุณให้โทษ

       เมื่อพิจารณาที่ลักษณะของข้อตรวจพบ หรือรายละเอียดของปัญหาที่เกิดขึ้นในนโยบายแล้ว เราจะพบว่าตัวแสดงที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายในขั้นตอนต่าง ๆ จะเป็นตัวบ่งชี้ “ด้านของปัญหาในกระบวนการนโยบายสาธารณะ 4 ขั้นตอน” ได้อย่างชัดเจนขึ้น และการใช้องค์ประกอบทั้งหมดภายในตัวแบบทฤษฎี 6 ตัวแบบ ของ วรเดช จันทรศร ดังข้างต้น เป็นวิธีการช่วยใน “การตัดสินวิเคราะห์รูปแบบปัญหา” ที่ทำให้เรามองเห็นรูปแบบของปัญหาที่เกิดขึ้นในขอบข่ายประเภทและลักษณะของปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

       วรเดช จันทรศร. 2554. ทฤษฎีการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิค.

       James E. Anderson. 1994. Public Policy Making: An Introduction. (Second Edition). Boston: Houghton Mifflin.