Southern Area-Based Development Public Policy Hackathon 2022

สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดกิจกรรมการแข่งขัน แฮกกาธอน ทางด้านนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ในพื้นที่ภาคใต้ (Southern Area-Based Development Public Policy Hackathon) ในหัวข้อ การลดความยากจนข้ามรุ่นภายใต้แนวคิดการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection)” เมื่อวันที่ 17 – 18 ธันวามคม พ.ศ. 2565 โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสิน ได้แก่ นายธนสุนทร สว่างสาลี  รองปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาจารย์ ดร. ฮาฟีส สาและ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ ายมะรูฟ เจะบือราเฮง ประธานมูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสันติภาพ

การแข่งขันในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ทางความคิดที่เปิดกว้างให้แก่นิสิตและนักศึกษาซึ่งถือเป็นเยาวชนและแรงขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต ให้นิสิตและนักศึกษาได้แสดงความสามารถทางวิชาการ ในการแสดงความคิดเห็นทางด้านนโยบายสาธารณะออกมาอย่างสร้างสรรค์ เป็นรูปธรรม ส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างการพัฒนาในเชิงพื้นที่ให้แก่ผู้เข้าแข่งขัน โดยข้อเสนอด้านนโยบายที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค อันจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคม สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความยากจน และขับเคลื่อนประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าสอดรับด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยการแข่งขันครั้งนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายในภาคใต้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 13 ทีม โดยผลการแข่งขันเป็นดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม The End จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง นำเสนอนโยบายเบี้ยยังชีพเพื่อสงเคราะห์ครัวเรือนยากจนเชิงคุณภาพ ปัญหาการดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรายได้ในครัวเรือนและคุณภาพชีวิตของประชากร เนื่องจากภาคใต้และประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงควรจัดทำนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้อภิบาล และเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ผ่านการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อภิบาลด้วยการเรียนรู้ทักษะการพยาบาล และสร้างรายได้และอาชีพให้แก่เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยคาดว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ สร้างอาชีพและรายได้ให้ผู้อภิบาลอย่างยั่งยืน และสร้างทักษะให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามีงานทำอย่างยั่งยืน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม Mertiteam จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี นำเสนอนโยบายเครือข่ายพัฒนาศักยภาพแรงงานและการศึกษาในเยาวชนอย่างมีคุณภาพ ความไม่มั่นคงทางรายได้ถือเป็นหนึ่งในปัญหาความยากจนหลักของภาคใต้ที่ส่งผลต่ออัตราการศึกษาต่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางทีมจึงต้องการเพิ่มการตระหนักรู้ถึงแนวทางการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ พัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง และสร้างการมีส่วนร่วมแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือหัวหน้าครอบครัวที่ตกอยู่ในสภาวะครอบครัวที่ส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น และบุตรในครอบครัว โดยจะยกระดับคุณภาพชีวิตทางด้านรายได้อย่างยั่งยืน พัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างและพัฒนาแหล่งเงินทุนในชุมชน โดยคาดว่ากลุ่มเป้าหมายจะหลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่น มีทักษะการประกอบอาชีพที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และรับรู้ถึงหน้าที่พลเมือง

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม SinghaBlue Unite จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอนโยบายยกระดับแพะไทยสู่สากลและเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ เนื่องจากแพะถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจประจำภาคใต้ จึงมีความต้องการสนับสนุนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และช่วยลดความยากจนในพื้นที่ ทางทีมจึงนำเอาสัตว์เศรษฐกิจที่มีอยู่ในพื้นที่มาช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อันจะสามารถลดอัตราการว่างงานและความยากจนในพื้นที่ได้ผ่านการสร้างอาชีพในกระบวนการผลิตและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสัตว์ในพื้นที่ ผ่านการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงและแปรรูปแพะโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โดยคาดว่าเกษตรกรในพื้นที่จะสามารถควบคุมแพะเพื่อให้ส่งขายได้ทั้งในและนอกเทศกาลตรุษอิสลาม สร้างการประสานงานระหว่างภาคประชาสังคมและ อปท. และพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวในท้องถิ่น

รางวัลชมเชยอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม We are One จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง นำเสนอนโยบายโรงเรียนกลายพันธุ์ สานฝันธุรกิจชุมชน ทางทีมมองว่าการศึกษาถือเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้คนหลุดพ้นจากความยาจน สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการทำงานและพัฒนาเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงได้ อันจะสามารถยับยั้งการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นได้ โดยมีเป้าหมายที่จะนักเรียนที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งอยู่ในครอบครัวคนจนข้ามรุ่น ผ่านการสร้างโอกาสให้การได้ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยพัฒนาสถาบันการศึกษาในพื้นที่ให้มีหลักสูตรด้านวิชาชีพและบูรณาการกับหลักสูตรบริหารธุรกิจ โดยให้เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านและคนในท้องถิ่น อันจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้การจัดการธุรกิจการเกษตร การประมง ศิลปะท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ระหว่างการศึกษาและนำความรู้ไปต่อยอดธุรกิจท้องถิ่น

รางวัลชมเชยอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม POL.SCI YRU PP1 จากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นำเสนอนโยบายส่งเสริมการลดปัญหาความยากจนข้ามรุ่นผ่านการบูรณาการการศึกษาภาคทวิภาคี เนื่องจากการศึกษาถือเป็นโอกาสที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ทางทีมจึงต้องการสร้างทางเลือกทางการศึกษาผ่านการผสมผสานการศึกษาแบบสายสามัญและสายทวิ โดยมุ่งเน้นที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยปรับปรุงหลักสูตรสายสามัญเดิมให้เปิดการเรียนการสอนที่นำไปสู่การพัฒนาตนเองและอาชีพได้ อาทิ ช่างไฟฟ้า บัญชี ฯลฯ โดยคาดว่าผลลัพธ์จะส่งผลให้โรงเรียนกลายเป็นที่เปิดกว้างทางโอกาส ผู้จบการศึกษาจะสามารถรับวุฒิการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เป็นการเพิ่มโอกาสการหางานในอนาคต และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ตนเองและครอบครัวได้