Fake News: พลวัตโลกยุคใหม่กับสังคมผู้สูงอายุ
ปิยมาส แซ่โง้ว
ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดพบว่า ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 18.94 ของประชากรรวมทั้งหมดของประเทศ (กรมกิจการผู้สูงอายุ, 2565) ซึ่งถึงแม้จะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การที่จะทำให้ระบบที่มีอยู่ หรือการสร้างระบบใหม่ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนอย่างทันท่วงทีนั้น จำเป็นจะต้องเพิ่มอัตราเร่งให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นไปได้ยาก การเข้าใจและเข้าถึงผู้สูงอายุให้มากที่สุด เป็นสิ่งสำคัญประการแรกในการที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน
ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า ถึงแม้สังคมไทยจะได้รับรู้และตระหนักถึงสถานการณ์การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประชากรไทยมาพอสมควรแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมยังไม่ตระหนักชัดและยังได้รับข้อมูลไม่มากนักคือ ภาพสังคมสูงอายุไทยในอนาคตนับจากนี้เป็นต้นไปว่าจะเป็นเช่นไร ถึงแม้ผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีความพร้อมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรเวลาที่ดูเหมือนจะทำได้ดีขึ้น การเตรียมเงินออมในวัยเกษียณล่วงหน้า หรือการได้รับการสนับสนุนจากบุตรหลานและคนในครอบครัวแล้วก็ตาม แต่การมีอายุยืนยาวขึ้นอย่างมีคุณภาพยังคงเป็นประเด็นท้าทายของผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการวางแผนเพื่อเตรียมการบริหารจัดการ ทั้งด้านสุขภาพ การมีเงินออมที่เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย หรือแบบแผนการอยู่อาศัยกับบุตรที่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การอยู่ตามลำพังของผู้สูงอายุกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อการปรับตัวเพื่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัต
โลกยุคใหม่นับเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ การส่งต่อข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข่าวสารได้ตลอดเวลา และนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับคนทุกช่วงวัยไปแล้ว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีการใช้เวลาไปกับการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ทั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือแม้กระทั่ง ติ๊กต่อก ด้วยเช่นกัน จึงทำให้พวกเขาได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารในสื่อออนไลน์หลากหลายมิติมากขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้สูงอายุเชื่อข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นโดยผ่านการคิดไตร่ตรองแล้วหรือไม่ ซึ่งหากผู้สูงอายุมีการส่งต่อข้อมูลไปยังคนรอบตัว ก็อาจจะทำให้เป็นภัยต่อตนเองหรือบุคคลในครอบครัวได้ และที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งก็คือ การตลาดในสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน มักจะมีผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายในการชักจูงให้หลงเชื่อ หรือหลอกลวงตามที่ปรากฎอยู่ในข่าว เนื่องจากว่าผู้สูงอายุเหล่านี้ยังขาดความคุ้นเคยหรือการรู้ไม่เท่าทันสื่อในสังคมออนไลน์นั่นเอง ซึ่งจากการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครอบครัวของผู้สูงอายุพบว่า มีการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งรวมไปถึงการรู้ไม่เท่าทันสื่อดิจิทัลของผู้สูงอายุตามไปด้วย (อธิชา วุฒิรังษี, 2564)
ข่าวปลอมคืออะไร? ข่าวปลอม หรือ Fake News คือ ข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง คือข่าวสารที่ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ต้องการให้เป็นข่าวลวงหรือบิดเบือนเพื่อใส่ร้าย หรือชี้นำให้เกิดความสับสนและความวุ่นวายในสังคม ข่าวปลอมบางชนิดเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้เกิดการเพิ่มยอดเข้าชมของเว็บไซต์เหล่านั้น ซึ่งจะมีลักษณะดังนี้ 1. เป็นข้อมูลเท็จ 2. เป็นข้อมูลที่ทำให้เกิดการกระตุ้นการส่งต่อ 3. เป็นการเจตนาให้เกิดการบิดเบือนความจริง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การล้อเลียน การสร้างอิทธิพลต่อความเชื่อ และการสร้างรายได้ (มานิจ สุขสมจิตร, 2565) ในอดีตการสร้างข่าวปลอมส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง การปกครอง การทหารเป็นหลัก โดยเจตนาเพื่อให้เกิดความภักดีต่อการรวมกลุ่มของตนเอง และมีพัฒนาการทั้งทางเนื้อหา รูปแบบ และช่องทาง ตราบเท่าที่คนจะเป็นผู้สร้างและเป็นผู้เผยแพร่ที่ขาดสำนึกรับผิดชอบ และคนที่เป็นผู้รับสารรู้ไม่เท่าทันสื่อเหล่านั้น (พีรเดช อนันตนาถรัตน, 2565)
ข่าวปลอมที่ผู้สูงอายุชอบแชร์ หากจะพิจารณาช่องทางในการติดตามข้อมูลข่าวสารของผู้สูงอายุแล้ว จะพบว่าในอดีต “โทรทัศน์” เป็นสื่อหลักที่มีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ในขณะที่ “อินเทอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์” เพิ่งเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการติดตามข่าวสารของผู้สูงอายุเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากมีความโดดเด่นในการเข้าถึงง่ายในทุกที่ที่มีการใช้สมาร์ทโฟน ทำให้ผู้สูงอายุสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามที่สนใจหรือความต้องการได้อย่างรวดเร็ว ผลสำรวจของ
“นิด้าโพล” ร่วมกับ “ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่า ผู้สูงอายุมีการใช้งานสื่อออนไลน์มากขึ้นในช่วงระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยใช้แอปพลิเคชันไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 44.72% เป็นสื่อหลักเพื่อการติดต่อสื่อสาร โดยส่วนใหญ่มักเรียนรู้การใช้งานด้วยตนเอง ซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้หลายรูปแบบ เช่น ข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวีดิโอ (โพสต์ทูเดย์, 2563) นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษางานวิจัยพบว่า รูปแบบของข่าวปลอมมีทั้งที่เป็นข้อความ รูปภาพ วีดีโอ คลิปเสียง โดยเนื้อหาข่าวปลอมที่ปรากฏเกินกว่าครึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ และพบมากที่สุดเป็นเรื่องของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาที่เป็นการเตือนในเรื่องการเฝ้าระวังเชื้อสายพันธุ์ใหม่ การดูแลรักษาสุขภาพเพื่อให้ไม่ติดเชื้อไวรัส รวมถึงอันตรายของวัคซีนป้องกันไวรัส และการบอกเล่าถึงสรรพคุณหรือโภชนาการที่เกินจริง เป็นต้น (ณัฏฐพัชร์ ซ่อนกลิ่น, 2565)
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นข่าวปลอม ? สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2563) ได้แบ่งประเภทของข่าวปลอม ทั้งหมด 10 ประเภท ประกอบด้วย ข่าวพาดหัวยั่วให้คลิก (Clickbait) โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ข่าวแฝงการโมษณา (Sponsored content , Native Advertising) ข่าวล้อเลียนและเสียดสี (Satire and Hoax) ข่าวเอนเอียงเลือกข้าง (Partisan) ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory)วิทยาศาสตร์ลวงโลก (Pseudoscience) ข่าวที่ให้ข้อมูลผิดพลาด (Misinformation) และข่าวหลอกลวง (Bogus) ซึ่งข่าวปลอมเหล่านี้มีเจตนาในการสร้างขึ้นมาโดยจงใจให้แพร่กระจายเพื่อหลอกลวง อาจมีเนื้อเรื่อง มีภาพ หรือมีข้อมูลที่เป็นเท็จมาประกอบกัน รวมถึงการแอบอ้างแหล่งข่าวหรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์เพื่อให้ข่าวนั้นสมบูรณ์และมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ผลกระทบของข่าวปลอมไม่ว่าจะเป็นคนวัยใด ข่าวปลอมล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งสิ้น โดยข่าวปลอมอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาด เกิดความตระหนกตกใจ ผู้ถูกแอบอ้างได้รับความเสียหาย เช่น การถูกล้อเลียน ดูหมิ่น กลั่นแกล้งรังแก (bully) เพราะข้อมูลเท็จที่เกิดจากการตัดต่อให้ดูตลกขบขัน ถูกเกลียดชังจากข้อมูลเท็จเชิงใส่ร้ายป้ายสี นอกจากนี้ข่าวปลอมยังอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เช่น ข้อมูลเท็จทางด้านการเมือง ข่าวสถานการณ์ระหว่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่ความไม่สงบสุขในสังคม สร้างปัญหาระหว่างประเทศได้ (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, 2562)
ทำอย่างไร ผู้สูงอายุจะรู้เท่าทันสื่อและข่าวปลอม? การรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่ต้องมีมาตรการในการแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง เนื่องจากในปัจจุบันแนวโน้มการใช้งานสื่อออนไลน์ของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในสื่อออนไลน์ทั้งหลายจึงเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2574 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด”แล้วนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงยิ่งควรต้องมีมาตรการจัดการกับข่าวปลอมอย่างจริงจังมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งข่าวปลอม ก็ควรมีการกำหนดมาตรการเชิงรุกหรือการป้องกันการเกิดข่าวปลอมที่แพร่หลายในสื่อออนไลน์ที่มากขึ้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่กระทำผิดทางไซเบอร์ และการรณรงค์สร้างเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้สูงอายุเพื่อรับมือกับข่าวปลอมหรือ Fake News ให้ผู้สูงอายุตระหนักในพิษภัยของข่าวปลอมเหล่านั้น และสามารถแยกประเภทหรือรูปแบบของเนื้อหาที่เป็นข่าวปลอมในสื่อออนไลน์ได้ โดยอาจมีการจัดกิจกรรมหรือหลักสูตร เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อที่เผยแพร่ในโลกสื่อออนไลน์ ซึ่งการส่งต่อข่าวปลอมยังคงมีให้เห็นอย่างแพร่หลาย ดังนั้นการสร้าง “ภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันสื่อออนไลน์” ให้กับผู้สูงอายุจึงอาจจะต้องกำหนดเป็นเป้าหมายแรกที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว เพื่อให้ “ผู้สูงอายุเป็นพลังที่เข้มแข็งของสังคม” ได้อย่างสมบูรณ์ ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 “การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่”
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2562). Fake News ลวงให้เชื่อ หลอกให้แชร์. สืบค้นเมื่อ 11
มกราคม 2566 จาก https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/knowledge-sharing/articles/Digital-Citizen/FakeNews.aspx?feed=590fb9ad-c550-4bc5-9a56-459ad4891d74
ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล. (2565). การใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 256 จาก
https://www.scimath.org/article-technology/item/11534-2020-05-01-03-32-41
ณัฏฐพัชร์ ซ่อนกลิ่น. (2565). ข่าวปลอมในแอปพลิเคชันไลน์ของผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกอาสาสมัคร
สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จังหวัดปราจีนบุรี. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยบูรพา, ชลบุรี.
พีรเดช อนันตนาถรัตน. (2565, มกราคม – เมษายน). ข่าวปลอม : ปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข. วารสาร
ร่มพฤกษ์ มหาวิทยาลัยเกริก, 40(1), 247 – 265.
โพสต์ทูเดย์. (2563). เปิดผลโพลส่องพฤติกรรมผู้สูงอายุไทย ใช้ชีวิตอยู่บ้าน-ไม่เล่นสื่อโซเชียล. สืบค้นเมื่อ
25 มกราคม 2566 จาก https://www.posttoday.com/social/general/627871
มานิจ สุขสมจิตร. (2565, มกราคม – มิถุนายน). Fake News: ข่าวลวง, ข่าวปลอม. วารสารศาสตร์, 15(1) 9 – 39.
วริศรา จินดาผ่อง, คมชาญ อุปถัมภ์ และธนภัทร เต็มรัตนะกุล. (2565). การรู้เท่าทันสื่อโซเชียลของผู้สูงอายุใน
เรื่องการเปิดรับเนื้อหาทางการเมือง. การประชุมหาดใหญ่ระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 13
(330 – 352). สงขลา: มหาวิทยาลัยหาดใหญ่.
รัฐบาลไทย. (2563). นโยบายในการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 21
มกราคม 2566 จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/32926
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2563). 10 ประเภทข่าวปลอมที่ควรรู้!!. สืบค้นเมื่อ 20
มกราคม 2566 จาก https://resourcecenter.thaihealth.or.th/interesting-issues/10-
%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89-
อธิชา วุฒิรังษี. (2564, มกราคม – มิถุนายน). การรู้เท่าทันสื่อดิทัลของผู้สูงอายุ. วารสารสหศาสตร์, 21(1), 90 – 160.
Salika. (2562). “การพัฒนาคน” ในโลกยุคใหม่ ต้องเริ่มจากนำพาความคิดผู้คนออกจาก “สังคมงมงาย”
ไปสู่ “สังคมความรู้” สืบคืนเมื่อ 26 มกราคม 2565 จาก https://www.salika.co/2019/02/01/human-development-strategic-plan/