ฟังเสียงในโลกเสมือนจริงด้วย Digital Ethnography: 
วิธีวิทยาแบบใหม่สำหรับการศึกษาความต้องการเชิงนโยบายในโลกออนไลน์

                                                                                                                                                                                                                              Pakorn Phalapong

     ในยุคศตวรรษที่ 21 ที่พื้นที่เสมือนจริง (virtual space) กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลให้การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบ Face-to-face นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สะดวก จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้คนหันมาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ออนไลน์กันมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิตนี้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งผลให้นักวิจัยหรือแม้กระทั่งนักนโยบายจำเป็นอย่างที่จะต้องทำความเข้าใจต่อพลวัตด้านวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปเพื่อให้ยังคงสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยได้ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลกยุค Post-COVID ให้ได้ (Góralska, 2020)


      ชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์ (digital ethnography, cyber-ethnography, online ethnography, virtual ethnography, or netnography) ถือเป็นวิธีวิทยารูปแบบใหม่สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ในการศึกษาด้านมานุษยวิทยาที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน โดยได้รับการพัฒนามาจากชาติพันธุ์วรรณาแบบขนบ (Ethnography) เพื่อเป็นเครื่องมือที่ตอบสนองต่อรูปแบบวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปโดยหันมาให้ความสนใจพื้นที่เสมือนจริงหรือโลกออนไลน์มากขึ้นในฐานะพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการแสดงออกของผู้คนต่อความต้องการของตนในประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สามารถเข้าถึงได้ยากทางสังคม อาทิ กลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด เป็นต้น โดยญาณวิทยาของการศึกษาประเภทนี้คือเพื่อ เล่าเรื่องราวทางสังคม (Murthy, 2008, p. 837) เพื่อที่จะอธิบายอัตลักษณ์และพฤติกรรมของปัจเจกที่ดูไม่มีเหตุผลและไม่ได้อยู่ภายใต้แบบแผนตามมายาคติและภาพจำของสังคม (Barratt & Maddox, 2016; Kaur-Grill & Dutta, 2017; Tirapalika, 2020; Cadchumsang, 2021)


                                                                                         เข้าใจ 3 ขั้นตอนของวิธีวิทยาชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์อย่างง่าย


ชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์นั้นเป็นการตีความใหม่ในการพิจารณาเชิงพื้นที่รวมไปถึงปัจจัยที่ก่อสร้างพื้นที่ในพื้นที่เสมือนจริง โดยใช้วิธีการวิจัยโดยใช้การสังเกตการณ์เป็นหลัก (Murthy, 2008) ซึ่งจะเข้าถึงพื้นที่การศึกษาโดยไม่รบกวนสภาพแวดล้อม (unobtrusive observation) (Tirapalika, 2020) ผ่านพื้นที่ออนไลน์มากมายในปัจจุบัน อาทิ Twitter, TikTok, Facebook, Instagram, blog หรือแม้กระทั่งเว็บผิดกฎหมาย (dark web) นอกจากนี้ แทนที่จะสนใจเพียงแค่ขอบเขตทางด้านพื้นที่แบบชาติพันธุ์วรรณาแบบขนบ ชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์ยังพยายามที่จะให้ความสนใจแก่โครงข่ายหรือการไหลเวียนของข้อมูลอื่น ๆ อีกด้วย โดยวิธีวิทยาของชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์นั้นสามารถสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังต่อไปนี้ (Barratt & Maddox, 2016; Kaur-Grill & Dutta, 2017; Tirapalika, 2020; Thompson, Stringfellow, Maclean, & Nazzal, 2021)

1.    ขั้นเตรียมการ (Preparation) โดยเริ่มระบุพื้นที่ออนไลน์ที่ต้องการศึกษา พิจารณาวิธีการที่เหมาะสมในการเข้าสู่พื้นที่ศึกษา หรือแม้กระทั่งทดลองลงพื้นที่ศึกษาเพื่อศึกษาบริบท พลวัต และอัตลักษณ์ของกลุ่มศึกษาก่อน เพื่อให้เข้าใจกลุ่มศึกษาและพื้นที่นั้นอย่างเชี่ยวชาญ

2.   ลงสู่สนาม มีส่วนร่วม และออกจากสนาม (Field entry, engagement, and exit) โดยปกติผู้วิจัยมักเข้าสู่พื้นที่การศึกษาโดยเริ่มจากการสังเกตการณ์ หลังจากนั้นจึงอาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมในบทสนทนาในพื้นที่ทั้งแบบสนทนากลุ่มและส่วนตัว หรืออาจจะเลือกแฝงตัว (covert approach) เพื่อให้ปลอดจากอิทธิพลและอคติของนักวิจัยก็ได้

3.  สร้างและเปิดประเด็นถกเถียง (Production and dissemination) กระบวนการเรียบเรียงข้อมูลผ่านการวิเคราะห์และเขียนสรุป รวมไปถึงเปิดพื้นที่สำหรับการถกเถียงผ่านการนำเสนอผลงานอย่างไม่เป็นทางการให้แก่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเดียวกัน เพื่อตรวจสอบถึงความเข้าใจที่ตรงกันของความหมายเชิงวัฒนธรรม (cultural meaning) ที่ได้รับจากการศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องระบุถึงตัวตนของปัจเจกในกลุ่มศึกษา ก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นทางการในลำดับถัดไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มศึกษา

อย่างไรก็ตามในหลายกรณีศึกษานอกเหนือจากการเก็บข้อมูลโดยการสังเกตการณ์นักชาติพันธุ์วรรณาหลายคนยังเลือกที่จะเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ออนไลน์แบบไม่ระบุตัวตน (anonymous) หรือแม้กระทั่งตามติดชีวิตของกลุ่มศึกษาเพิ่มเติม เพื่อซักถามประเด็นที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างจากการสังเกตการณ์ ด้วยเหตุนี้ ในการวิจัยที่นำชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์มาใช้ กลุ่มศึกษาจึงมักได้กลายมาเป็นนักวิจัยร่วมในการร่วมเล่าร้อยเรื่องราวของการวิจัยด้วยเช่นเดียวกัน (Tagg, Lyons, Hu, & Rock, 2017; Staker, Branada, & Schulman, n.d.)


                                                                     ชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์สรุปแล้ว ดี หรือ แย่”? จุดเด่นและความท้าทายด้านจริยธรรมการวิจัย

          การวิจัยด้วยวิธีวิทยาชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์นั้นสามารถกำจัดข้อจำกัดในการเข้าถึงกลุ่มศึกษาที่ถูกตีตราทางสังคม (stigmatized community) และกลุ่มชายขอบได้เป็นอย่างดี (Barratt & Maddox, 2016) โดยกำแพงด้านความรู้สึกเชิงลำดับขั้นระหว่างผู้วิจัยและกลุ่มศึกษายังถูกทำลายผ่านการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา (Staker, Branada, & Schulman, n.d.) ส่งผลให้กลุ่มศึกษาข้างต้นมักมีความรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะแบ่งปันเรื่องราวของตนกับนักวิจัยอย่างไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของตนไว้ อีกทั้งบางปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นเกิดขึ้นในโลกออนไลน์เป็นสำคัญ อาทิ การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) (Dedman & Lai, 2021) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถตอบโจทย์การศึกษาต่อปรากฏการณ์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

           อย่างไรก็ตาม ประเด็นทางด้านจริยธรรมและกฎหมายในการคุ้มครองกลุ่มศึกษาถือเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักชาติพันธุ์วรรณา เนื่องจากการศึกษาโดยไม่รบกวนสภาพแวดล้อมนั้นมักเป็นการวิจัยโดยไม่มีการขอความยินยอม ก่อให้เกิดคำถามถึงการเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลในพื้นที่ออนไลน์ (Cadchumsang, 2021) รวมไปถึงในหลายกรณีที่กลุ่มศึกษาเป็นกลุ่มที่ถูกตีตราทางสังคม ส่งผลให้หลายครั้งมักส่งผลถึงความปลอดภัยในเชิงกฎหมายของกลุ่มศึกษาอย่างมาก จนนำไปสู่การจับกุมกลุ่มศึกษาและนักวิจัยในบางครั้ง (Barratt & Maddox, 2016) นอกจากนี้ผู้เขียนพบว่าในหลายครั้งการเก็บข้อมูลทุติยภูมิที่เป็นประเด็นอ่อนไหวโดยไม่มีการสัมภาษณ์นั้น เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งในการที่จะหลีกเลี่ยงการบิดเบือนของข้อมูล (distortion of data) นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่นักวิจัยที่จะนำชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์มาใช้จะต้องให้ความสนใจและพยายามปกปิดจุดอ่อนให้ได้

                                                           กรณีศึกษา: InWithForward กับการเสนอนโยบายการดูแลเยาวชนในช่วงเปลี่ยนผ่านโดย Digital Ethnography

            องค์กรด้านการช่วยเหลือทางสังคม InWithForward ได้ร่วมมือกับสำนักงานผู้แทนเด็กและเยาวชน ประจำรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ในการนำวิธีวิทยาชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์มาใช้เพื่อออกนโยบายเพื่อกำกับดูแลเยาวชนที่ครอบครัวแตกแยก ไม่ว่าจะมาจากการที่พ่อแม่หย่าร้างหรือแม้กระทั่งการสละสิทธิ์ในการดูแลบุตร โดยทางองค์กรได้นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารและเข้าถึงเยาวชนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Zoom, Facebook และ Instagram เพื่อรับฟังและเรียนรู้เรื่องราวและประสบการณ์ของพวกเขา โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือนอกจากจะเป็นการสร้างเครือข่ายให้แก่เยาวชนเหล่านี้แล้ว ยังเป็นการสร้างฐานข้อมูลใหม่ให้แก่นักนโยบาย อันสามารถเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของนักนโยบายที่มีต่อปัญหาได้เป็นอย่างดี เพื่อกำหนดนโยบายที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างแท้จริง นี่ถือเป็นเครื่องยืนยันที่เห็นได้ชัดอย่างยิ่งว่าประสบการณ์ตรง (lived experience) ของปัจเจกบุคคลสามารถกลายเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายสาธารณะได้ อีกทั้งการเก็บรวบรวมประสบการณ์ตรงนั้นสามารถตอกย้ำถึงเสียงของเยาวชนในฐานะตัวแปรหลักของกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะได้เช่นเดียวกัน (Staker, Branada, & Schulman, n.d.)

                                                           แล้วนักนโยบายไทยจะประยุกต์ใช้ Digital Ethnography สำหรับกระบวนการกำหนดนโยบายได้อย่างไร?

             ถึงแม้ที่ผ่านมาวิธีวิทยาชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์มักจะถูกนำมาใช้เพื่อศึกษาประเด็นทางด้านมานุษยวิทยาเป็นหลัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถนำมาสร้างความเข้าใจถึงกลุ่มชายขอบหรือกลุ่มที่ถูกตีตราทางสังคมที่เสียงของพวกเขามักไม่ถูกเพิกเฉยในกระบวนการกำหนดนโยบาย เพื่อเข้าใจถึงพฤติกรรมของกลุ่มเหล่านี้ อาทิ การศึกษากลุ่มผู้ใช้สารเสพติด ผ่านช่องทางการพูดคุยของพวกเขาในโลกออนไลน์ เพื่อกำหนดนโยบายในการยับยั้งการซื้อ-ขาย และเพื่อบำบัดพวกเขาได้อย่างเหมาะสม หรือการศึกษากลุ่มแรงงานทางเพศ ผ่านช่องทางการพูดคุยการซื้อ-ขายบริการในโลกออนไลน์อย่าง Twitter เพื่อกำหนดนโยบายที่สามารถดูแลแรงงานเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม และเป็นการสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety-net) ให้แก่แรงงานเหล่านี้ภายใต้กรอบกฎหมายเช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่นในสังคม หรืออาจนำไปประยุกต์ใช้ในการฟังเสียงความต้องการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของคนรุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ เพื่อกำหนดนโยบายในประเด็นต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ก็ยังได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการกำหนดวาระทางด้านนโยบาย (agenda setting) ที่ขาติพันธุ์วรรณาออนไลน์สามารถเติมเต็มจนนำไปสู่นโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่มเลยก็ว่าได้

             โดยการนำเสนอนโยบายเหล่านี้นั้นจะเกิดขึ้นโดยมีลักษณะแบบปัจเจกเป็นศูนย์กลาง (individual-centric) มากกว่าแบบรัฐเป็นศูนย์กลาง (state-centric) เฉกเช่นอย่างเดิมที่รัฐไทยนิยมทำมาเป็นเวลานาน จนหลายครั้งมักละเลยถึงการพยายามทำความเข้าใจกลุ่มศึกษาในฐานะปัจเจกที่มีพลวัต พฤติกรรม และอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ดังนั้นนโยบายไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคมที่ออกมาจากการศึกษาผ่านวิธีวิทยาชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์นั้นจะเป็นเหมือนดั่งการรอมชอมระหว่างรัฐที่ต้องการบรรเทาปัญหาทางสังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพฤติกรรมและอัตลักษณ์ของกลุ่มดังกล่าวข้างต้นไปด้วย

              นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจประยุกต์ใช้ฐานข้อมูล big data ที่มีอยู่แล้วในการเข้าถึงความต้องการของประชาชนในโลกออนไลน์ (Thompson, Stringfellow, Maclean, & Nazzal, 2021) อย่างไรก็ตามหน่วยงานเหล่านี้ต้องพึงระวังเรื่องการล่วงล้ำข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้มาก โดยการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ต้องเป็นไปเพื่อการวิจัย เพื่อข้อเสนอเชิงนโยบาย และเพื่อช่วยเหลือกลุ่มชายขอบหรือกลุ่มที่ถูกตีตราทางสังคมเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเป็นกลไกของการสอดส่องจากรัฐ (state surveillance) เพื่อจับกลุ่มศึกษามาลงโทษ ท้ายที่สุด หากนักนโยบายไทยสามารถประยุกต์ใช้ได้ตามข้อเสนอข้างต้นนั้น ชาติพันธุ์วรรณาออนไลน์อาจเป็นวิธีวิทยาแบบใหม่ที่สามารถสร้างความเท่าเทียมทางสังคม คุ้มครองปัจเจกบุคคลอย่างทั่วถึง ผ่านการนำเสนอนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ต่ออัตลักษณ์ พลวัต วิถีชีวิต และความเป็นปัจเจกก็เป็นได้

เอกสารอ้างอิง

 

Barratt, M. J., & Maddox, A. (2016). Active engagement with stigmatised communities through digital ethnography. Qualitative Research, 16(6), 1-19.

Cadchumsang, J. (2021). Digital Ethnography: Ethical Challenges and Guidelines. Journal of Anthropology, Sirindhorn Anthropology Centre, 4(2), 109-142. [in Thai]

Dedman, A. K., & Lai, A. (2021). Digitally Dismantling Asian Authoritarianism: Activist Reflections from the #MilkTeaAlliance. Contention, 9(1), 1-36.

Góralska, M. (2020). Anthropology from Home Advice on Digital Ethnography for the Pandemic Times. Anthropology in Action, 27(1), 46-52.

Kaur-Grill, S., & Dutta, M. J. (2017). Digital Ethnography. In J. Matthe, The International Encyclopedia of Communication Research Methods (pp. 1-10). Hoboken, NJ: Wiley-Blackwell.

Murthy, D. (2008). Digital Ethnography: An Examination of the Use of New Technologies for Social Research. Sociology, 42(5), 837-855.

Staker, I., Branada, V., & Schulman, S. (n.d.). Evidence-based policy: Digital Ethnography. Retrieved January 31, 2023, from InWithForward: https://www.inwithforward.com/examples/digital-ethnography/

Tagg, C., Lyons, A., Hu, R., & Rock, F. (2017). The ethics of digital ethnography in a team project. Applied Linguistics Review, 8(2-3), 271-292.

Thompson, A., Stringfellow, L., Maclean, M., & Nazzal, A. (2021). Ethical considerations and challenges for using digital ethnography to research vulnerable populations. Journal of Business Research, 124(2), 1-8.

Tirapalika, B. (2020). Netnography : Research Methodology in virtual space. Journal of Social Communication Innovation, 8(1), 76-88. [in Thai]