การลดความยากจนข้ามรุ่นด้วยนโยบายคุ้มครองทางสังคม

ข้อเสนอเชิงนโยบายจากนิสิตนักศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้

แพรดาว ฟูพาณิชย์พฤกษ์

อ้างถึงบทความฉบับก่อนหน้าของผู้เขียน เรื่อง การลดความยากจนด้วยนโยบายคุ้มครองทางสังคม และช่องว่างการคุ้มครองทางสังคมของไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสังคมไทยอันเนื่องมาจากปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำและช่องว่างของการให้ความคุ้มครองทางสังคมจากข้อมูลการรายงานของหประชาชาติประเทศไทย(สหประชาชาติประเทศไทย, 2563) และ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization, 2021) และทิ้งท้ายให้ไทยเร่งพัฒนาความเข้มแข็งของระบบให้เกิดการคุ้มครองทางสังคมแบบถ้วนหน้า (Universal Social Protection Coverage)  เพื่อเพิ่มการเข้าถึง และมีความเพียงพอ โดยควรเพิ่มมาตรการ/โครงการการคุ้มครองทางสังคมโดยเน้นไปที่กลุ่มเด็กเล็ก เยาวชน และแรงงานนอกระบบ

การพัฒนาประเทศไทยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) มีความมุ่งหมายให้ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม (หมุดหมายที่ 9) เพื่อการพัฒนาคนและสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดย ความยากจนข้ามรุ่น เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นใช้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นี้เอง หากพูดให้เข้าใจง่าย ความยากจนข้ามรุ่น คือ การมีความยากจนเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นปู่ย่าตายาย ส่งต่อมารุ่นพ่อรุ่นแม่ และส่งต่อมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในทางวิชาการแล้ว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้คำจำกัดความของ ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ไว้ว่า ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น คือ ครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนอายุ 0-18 ปี และมีความขัดสนทางรายได้หรือมิใช่รายได้อย่างน้อยมิติใดมิติหนึ่งจาก 4 มิติ ได้แก่ (1) มิติด้านสุขภาพ โดยครัวเรือนมีเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักไม่ถึง 2,500 กรัม หรือเด็กอายุ 0-12 ปี ได้รับวัคซีนไม่ครบ (2) มิติด้านสภาพแวดล้อม โดยครัวเรือนไม่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย หรือขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับบริโภค (3) มิติด้านการศึกษา โดยเด็กขาดการเตรียมพร้อมก่อนวัยเรียน ไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับ หรือ ไม่ได้ศึกษาต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า หรือ มีคนในครอบครัวที่ไม่มีงานทำ ไม่ได้รับการฝึกอาชีพ หรือ ขาดทักษะในการอ่าน เขียน และคิดเลขอย่างง่าย และ (4) มิติด้านความมั่นคงทางการเงิน โดยครัวเรือนมีรายได้ต่ำกว่า 38,000 บาท/คน/ปี หรือ ไม่มีเงินออม โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นจำนวนมากถึง 512,600 ครัวเรือน หรือร้อยละ 13.5 ของครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นสมาชิก (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2565: 97) นอกจากนี้ จำนวนครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่จำกัดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และการดำเนินชีวิตของประชาชน จนก่อให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ ซ้ำเติมคนยากจน และกระทบต่อครอบครัวและบุคคลจำนวนมากให้ต้องกลายมาเป็นกลุ่มเปราะบางและตกอยู่ใต้เส้นความยากจนอย่างเฉียบพลัน


สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดการแข่งขัน Hackathon ทางด้านนโยบายสาธารณะ เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคใต้ ในหัวข้อ การลดความยากจนข้ามรุ่น ภายใต้แนวคิดการคุ้มครองทางสังคม เมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม 2565 เพื่อให้นิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบและประกอบสร้างนโยบายสาธารณะที่มีรูปแบบและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ได้นโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยทีมนิสิตนักศึกษาที่ชนะการแข่งขันได้ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายไว้ดังนี้

นโยบายเบี้ยยังชีพสงเคราะห์ครัวเรือนยากจนเชิงคุณภาพ ได้รับรางวัลชนะเลิศ เสนอโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง นโยบายมีที่มาจากปัญหาและภาระในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุที่ส่งผลกระทบต่อเวลาในการออกไปประกอบอาชีพรายได้ในครัวเรือนและคุณภาพชีวิตของประชาชนการดำเนินการตามนโยบายมุ่งพัฒนาทักษะอาชีพพยาบาลให้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วย ให้โอกาสเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือเป็นแรงงานไร้ทักษะได้เข้ามาพัฒนาทักษะอาชีพเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ผลลัพธ์ของนโยบายคาดหวังให้ผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้ดูแล สร้างโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะอาชีพและมีรายได้ อีกทั้งนโยบายตอบรับต่อการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดึงพลังของชุมชนท้องถิ่นเข้ามาร่วมบริหารจัดการ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชน


นโยบายเครือข่ายพัฒนาศักยภาพแรงงานและการศึกษาให้กับเยาวชนอย่างมีคุณภาพ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เสนอโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎ์ธานีนโยบายมีที่มาจากการที่ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นไม่มีความมั่นคงทางรายได้ส่งผลให้บุตรหลานไม่ได้รับการศึกษาต่อระดับการศึกษาที่ต่ำทำให้ขาดทักษะความรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ เยาวชนกลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดแรงงานในสถานะแรงงานทักษะต่ำ กลุ่มเป้าหมายหลักของนโยบายคือหัวหน้าครอบครัวของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นที่จำเป็นต้องมีอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูบุตรให้อยู่ในระบบการศึกษา เพื่อหยุดยั้งการส่งต่อความยากจน เป้าหมายรองคือบุตรและผู้สูงอายุในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น การดำเนินการตามนโยบายมุ่งพัฒนาเสริมสร้างทักษะแรงงานขั้นสูงที่ต่อยอดมาจากพื้นฐานอาชีพเดิมโดยสถานประกอบการเอกชนส่งเสริมการจ้างงานต่อเนื่องในสถานประกอบการที่ฝึกอบรมพัฒนาทักษะหรือหน่วยงานเครือข่ายของรัฐ พัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยการร่วมทุนของรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) จัดโครงการธนาคารโอกาสเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสิทธิที่พลเมืองได้รับตลอดช่วงชีวิต และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในพื้นที่ โดยการให้ความรู้ในการเขียนโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณ ผลลัพธ์ของนโยบายคาดหวังให้หัวหน้าครอบครัวมีทักษะอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง เด็กแรกเกิดได้รับการดูแลเยาวชนได้รับการศึกษาจนจบการศึกษาภาคบังคับ ประชาชนในชุมชนสามารถพัฒนาชุมชนของตนผ่านโครงการที่ได้รับอนุมัติจากแหล่งเงินทุนในพื้นที่ ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้


นโยบายยกระดับแพะไทยสู่สากลและเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง เสนอโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยนักศึกษาทีมที่เสนอนโยบายต้องการลดความยากจนไปพร้อมกับสนับสนุนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ จึงได้เสนอให้นำแพะที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นสัตว์เศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้มาเพิ่มมูลค่าผ่านกระบวนการผลิตและแปรรูปดำเนินการโดยจัดตั้งศูนย์เลี้ยงและแปรรูปแพะโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชาชนเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะและรับซื้อแพะที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อสุขภาพ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในและนอกเทศกาลตรุษอิสลาม ผลลัพธ์ของนโยบายคาดหวังให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ ลดอัตราการว่างงาน ซึ่งจะช่วยลดความยากจนและสร้างความมั่นคงให้กับครัวเรือนในท้องถิ่น


นโยบายโรงเรียนกลายพันธุ์ สานฝันธุรกิจชุมชน ได้รับรางวัลชมเชยอันดับที่ 1 เสนอโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โดยนักศึกษาทีมที่เสนอนโยบายมองว่าการศึกษาเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจน คนที่ได้รับการศึกษาสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพและพัฒนาต่อยอดเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง สามารถหารายได้มาดูแลครอบครัว ซึ่งจะช่วยยับยั้งการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น นโยบายดำเนินการโดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการศึกษาที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับให้กับกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและฝึกทักษะอาชีพตามวัฒนธรรมพื้นถิ่น บูรณาการกับหลักสูตรบริหารธุรกิจ ให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ กลุ่มเป้าหมายจะได้เรียนรู้ทักษะอาชีพจากปราชญ์ชาวบ้านและคนในท้องถิ่น ในการจัดการธุรกิจเกษตร ประมง สิ่งทอ งานฝีมือ และศิลปะท้องถิ่น ผลลัพธ์ของนโยบายคาดหวังให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้ระหว่างการศึกษาและสามารถนำความรู้ไปต่อยอดธุรกิจท้องถิ่นได้


นโยบายส่งเสริมการลดปัญหาความยากจนข้ามรุ่นผ่านการบูรณาการการศึกษาภาคทวิภาคี ได้รับรางวัลชมเชยอันดับที่ 2 เสนอโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา โดยนักศึกษาทีมที่เสนอนโยบายมองว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนการเรียนรู้และได้ทำในสิ่งที่ตนชอบและถนัดจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองและครอบครัวเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และจะส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีนี้จากรุ่นสู่รุ่น และในที่สุดจะหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน นักศึกษาทีมที่เสนอนโยบายจึงต้องการสร้างทางเลือกทางการศึกษาโดยการผสมผสานการศึกษาแบบสายสามัญและสายทวิศึกษาให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยปรับปรุงหลักสูตรสายสามัญเดิมให้เปิดการเรียนการสอนที่นำไปสู่การพัฒนาตนเองและอาชีพได้ อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ บัญชี ฯลฯ โดยคาดหวังว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้โรงเรียนกลายเป็นสถานที่เปิดกว้างทางโอกาส ผู้จบการศึกษาสามารถรับวุฒิการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพและหางานทำในอนาคต สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ตนเองและครอบครัว


ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งห้ามีความน่าสนใจเป็นไอเดียจากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นชุมชนท้องถิ่นและประเทศของตนได้รับการพัฒนาสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวจะได้รับความสนใจหรือจุดประกายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หยิบยกไปใช้หรือพัฒนาต่อยอด และมีโครงการ/มาตรการออกมาช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนยากจนต่อไป

เอกสารอ้างอิง

 

สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา. 2565. ข้อเสนอนโยบายจากการแข่งขัน Hackathon ทางด้าน

นโยบายสาธารณะ เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ในพื้นที่ภาคใต้ หัวข้อ การลดความยากจนข้ามรุ่น ภายใต้แนวคิดการคุ้มครองทางสังคม. วันที่ 17-18 ธันวาคม 2565.

สหประชาชาติ ประเทศไทย. 2563. การคุ้มครองทางสังคมเพื่อความเท่าเทียม: เส้นทางสู่การฟื้นฟูและ

ความสามารถในการฟื้นตัวกลับคืน. เข้าได้จาก https://thailand.un.org/th/ เข้าถึงเมื่อวันที่ 18

พฤษภาคม 2566.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2565. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ฉบับที่ 13. กรุงเทพฯ: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

International Labour Organization. 2021. World Social Protection Report 2020-22: Social

Protection at the Crossroads – in Pursuit of a Better Future. เข้าถึงได้จาก

https://www.ilo.org/global/research/global-reports/world-social-security-report/2020-22/lang–en/index.htm เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566.