นโยบายเสริมสร้างความมั่นคงของเกษตรกรไทย

ตามกรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน

ปิยมาส แซ่โง้ว

                                                                                                                                                                         เนตรนภิศ ละเอียด

ทำไมต้องเข้าใจวิถีการดำรงชีวิต   

             ลักษณะสำคัญของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตและเทคโนโลยีในการดำรงชีวิตจากแบบเรียบง่ายในสังคมไปสู่การดำรงชีวิตที่อาศัยความรู้และเทคโนโลยีระดับสูงมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรมของไทยนั้น ระบบการผลิตก็เปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรกรรมแบบยังชีพหรือเพื่อบริโภคในครัวเรือนไปเป็นระบบการผลิตเพื่อจำหน่าย แรงงานภาคเกษตรในครัวเรือนลดลง ทำให้ต้องมีการจ้างแรงงานภายนอกครอบครัวหรือชุมชนทดแทนมากขึ้น โครงสร้างของครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว และวิถีชีวิตของคนก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการมาเป็นความสัมพันธ์แบบทางการ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  (พัชรินทร์ สิรสุนทร,2547)

                ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการให้ความหมาย หรือคำจำกัดความของคำว่า “การดำรงชีพ” หรือ “การดำเนินชีวิต” หรือ “การดำรงชีวิต” ไว้หลากหลายประการ อาทิ Chambers, R. and G. Conway (1992) ระบุว่าการดำรงชีพของประชาชนนั้น หมายถึง กิจกรรม สินทรัพย์ (ทั้งที่เป็นวัตถุสิ่งของและทรัพยากรทางสังคม) รวมถึงขีดความสามารถที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่มนุษย์ โดยความยั่งยืนในการดำรงชีพจะเกิดขึ้นได้เมื่อมนุษย์สามารถรับมือและฟื้นฟูตนเองจากแรงกดดันหรือแรงกระแทกจากภายนอก และการรักษาขีดความสามารถและสินทรัพย์ของตนเองให้คงสภาพหรือทำให้ดีขึ้นได้ ทั้งให้ปัจจุบันและอนาคต โดยไม่ทำลายพื้นฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่        

              นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ได้ให้ความหมายของ “การดำรงชีพ” ไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ Satge  (อ้างถึงใน Muruviwa Addmore T, 2011) ที่กล่าวว่า การดำรงชีพ หมายถึง ขีดความสามารถของมนุษย์ในการสร้าง หรือคิดค้น และรักษาวิธีการในการครองชีพของตน ในอันที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเองและบุตรหลานในอนาคต โดยขีดความสามารถเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและการเข้าถึงทรัพยากร ทั้งทางด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรมในการครอบครองทรัพยากร และการมีส่วนร่วมเพื่อตัดสินใจในการใช้ทรัพยากร

              เช่นเดียวกับ The Department for International Development หรือ DFID (1998) ก็ได้ให้ความหมายของการดำรงชีพหรือการดำเนินชีวิต (Livelihoods) ว่าหมายถึง กิจกรรม  ความสามารถ และสินทรัพย์ที่มนุษย์ใช้เพื่อการดำรงชีพตามปกติ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จำเป็นและความมั่นคงในการดำรงชีพ การดำรงชีพจะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนที่มนุษย์มีอยู่และวิธีการที่มนุษย์เลือกใช้ต้นทุนเหล่านั้นเพื่อความอยู่รอดของตนเอง

                แต่ไม่ว่าจะมีการนิยามความหมายของ “การดำรงชีพ การดำเนินชีวิต  หรือการดำรงชีวิต….. (livelihoods)” ไว้อย่างไรก็ตาม  ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การดำรงชีพเป็นองค์ประกอบสำคัญของวิถีชีวิตประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่เน้นภาคเกษตรกรรม การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่แตกต่างไปตามบริบทของแต่ละชุมชน การดำรงชีพจึงเกี่ยวข้องกับความสามารถในการจัดการทรัพย์สินแต่ละด้านที่เกษตรกรครอบครองหรือเข้าถึง เพื่อลดความเปราะบางหรือความท้าทายที่ประสบ ภายใต้บริบทของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น ความเข้าใจในวิถีการดำรงชีพของเกษตรกรไทยอย่างลึกซึ้งและครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเข้าถึงสภาพการณ์ของปัญหาหรือเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความต้องการ (Need) ความขาดแคลน (Deprivation) หรือความไม่พอใจ (Dissatisfaction) ในการดำรงชีพของพวกเขาเหล่านั้น จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการศึกษากระบวนการก่อรูปนโยบายเพื่อพัฒนาเกษตรกรไทยในบริบทโลกยุคใหม่เช่นนี้

กรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน  (Sustainable Livelihood Framework) คืออะไร?

                 แนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการพัฒนาของหลายหน่วยงานและองค์กร (Muruviwa Addmore T, 2011) โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านการพัฒนาในช่วงปี ค.ศ. 1980-1990 ที่มุ่งเน้นความอยู่ดีกินดี หรือการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน มากกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  เริ่มมีการศึกษาอย่างจริงจังและปรากฏอยู่ในผลงานวิจัยตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 โดย Solesbury (2003:14) ตั้งข้อสังเกตว่าการเกิดขึ้นของกระบวนทัศน์ (paradigm) การดำรงชีพอย่างยั่งยืนเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในพจนานุกรมของการพัฒนา ที่ได้รับแนวคิดมาจากการเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาความยากจน ด้วยการหันมายอมรับและให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชน ตลอดจนสินทรัพย์หรือทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งข้อจำกัดและโอกาสที่เกิดจากแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนโยบายแห่งรัฐ เน้นไปที่การพัฒนาตัวบุคคลมากกว่าสิ่งอำนวยความสะดวกหรือองค์กรที่อยู่ในส่วนกลาง และมุ่งเน้นว่าจะต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

                  กรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืนนี้ ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง จากกรมการพัฒนาระหว่างประเทศของอังกฤษ (Department for International Development : DFID) ซึ่ง DFID ได้ชี้ว่ากรอบแนวคิดนี้เป็นเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยวิเคราะห์ให้เกิดความเข้าใจในการดำรงชีพของคนยากจน รวมถึงเพื่อจัดระเบียบและปรับปรุงความพยายามขององค์กรในการขจัดความยากจน  มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเสนอ 5 ปัจจัยซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำรงชีพของมนุษย์ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ตามลำดับขั้น และมีผลสะท้อนระหว่างกันของแต่ละปัจจัย โดยใช้วิธีการที่ครอบคลุมและบูรณาการองค์ประกอบของการดำรงชีพมากกว่าที่เคยเป็น มุ่งเน้นการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic) มากกว่าการตีความแบบดั้งเดิมที่ถือว่ามีเพียงรายได้และผลผลิตเท่านั้นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการศึกษาความยากจน  แต่มุ่งที่ 5 องค์ประกอบหลัก  ได้แก่ บริบทความอ่อนแอหรือความเปราะบาง (vulnerability context) อันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงต่อสินทรัพย์และแนวทางการดำรงชีพ องค์ประกอบที่ 2 คือ ทุนในการดำรงชีพ (livelihoods assets) หรือเป็นต้นทุนที่มนุษย์นำมาใช้ในการดำรงชีพได้แก่ ทุนมนุษย์ (human capital) เช่น ทักษะ ความรู้ ศักยภาพการเป็นผู้นำ ทุนทางธรรมชาติ (natural capital) เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ  ทุนทางการเงิน (financial capital) เช่น เงินสะสมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และเงินไหลเวียน ทุนทางกายภาพ (physical capital) เช่น  สิ่งอำนวยความสะดวกและวัสดุที่ใช้ในการผลิต  และทุนทางสังคม (social capital) เช่น กลุ่ม เครือข่าย และประชาสังคม ตามลำดับ องค์ประกอบที่ 3 คือการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างและกระบวนการ (transforming structures and processes) ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงที่ทำให้เกิดความอ่อนแอ    องค์ประกอบที่4  คือ กลยุทธ์การดำรงชีพ  (livelihoods strategies) หมายถึง ทางเลือกหรือโอกาสที่มนุษย์ใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีพ ซึ่งจะมีลักษณะของความหลากหลาย (diversity) ตามลักษณะพื้นที่ภูมิประเทศ  พลวัต (dynamic) และความเชื่อมโยง (linkage) สำหรับ องค์ประกอบที่ 5 คือ ผลลัพธ์การดำรงชีพ (Livelihood outcome) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการดำรงชีพได้แก่ รายได้ที่เพิ่มขึ้น (more income) การเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (increased well-being) การลดความอ่อนแอ (reduced vulnerability) การเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร (improved food security) และความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (sustainable use of natural resource based) ตามลำดับ (แผนภาพที่ 1)

นโยบายเสริมสร้างกลยุทธ์การดำรงชีพอย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทย

ด้วยกรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน

                     ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การดำรงชีพอย่างยั่งยืน เป็นกรอบการวิเคราะห์ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับกระบวนการหลักและสาเหตุของความยากจนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น มีคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการที่น่าสนใจยิ่ง ประการแรก คือ “การให้ความสำคัญต่อคนจนในการกำหนดนิยามความยากจนเอง” และประการที่สอง คือ“การมุ่งเน้นให้เห็นถึงจุดแข็ง (strength) มากกว่าเน้นที่จุดอ่อนหรือความขาดแคลนของคนจน” ในแง่ที่ว่าคนจนมีสินทรัพย์อะไรเป็นของตัวเอง และคนจนสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยยึดหลักการสำคัญคือ“การให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา (People-centered)”  เริ่มจากการวิเคราะห์รูปแบบการดำรงชีพของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านไป และเน้นไปที่การศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายและโครงสร้างเชิงสถาบัน ที่มีต่อประชาชนและครัวเรือน เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้มนุษย์สามารถบรรลุเป้าหมายการดำรงชีพอย่างยั่งยืนตามแนวทางของตน ภายใต้ความเชื่อที่ว่าความยากจนของมนุษย์จะลดลง หากปัจจัยภายนอกมีความสอดคล้องกับแนวทางการดำรงชีพที่เลือก หรือมนุษย์สามารถนำปัจจัยเหล่านั้นมาปรับใช้ในการดำรงชีพของตนเองได้

                       นอกจากนี้ กรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน ยังมองทุกอย่างแบบองค์รวม (Holistic) มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างทั้งในเชิงภูมิศาสตร์หรือกลุ่มชั้นทางสังคมหรือไม่ก็ตาม การมองทุกอย่างแบบองค์รวมจะช่วยให้เกิดความตระหนักในอิทธิพลที่หลากหลายของปัจจัยภายนอก รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างอิทธิพลและผลกระทบของปัจจัยเหล่านั้น ที่จะมีต่อแนวทางการดำรงชีพของมนุษย์ได้ รวมถึงยอมรับว่ามนุษย์อาจจะมีกลยุทธ์ในการดำรงชีพที่หลากหลาย เพื่อให้ได้มาซึ่งความปลอดภัยในการดำรงชีพของตน เช่นเดียวกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็จะเป็นไปตามแนวทางการดำรงชีพที่มนุษย์ได้ตัดสินใจเลือกใช้ ซึ่งโดยหลักการคิดนี้จะทำให้มีความเข้าใจในสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในการดำรงชีพของมนุษย์ รวมถึงอิทธิพลของปัจจัยซึ่งจะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์ในการได้มาซึ่งผลลัพธ์การดำรงชีพที่ดีขึ้น

                        สำหรับประเทศไทย การศึกษาตามกรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน จะช่วยสะท้อนข้อมูลที่สนับสนุนการวิเคราะห์ถึงปัญหาและเหตุแห่งปัญหาที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน  รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำรงชีพของเกษตรกรไทยตามสภาพความเป็นจริงของยุคสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ และที่สำคัญคือการสะท้อนบทบาทของหน่วยงาน องค์การ และสถาบันทั้งหลายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการนำนโยบายด้านการเกษตรไปปฏิบัติหรือการดำเนินตามนโยบาย ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การให้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมก่อรูปนโยบายเพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทยได้อย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งมุ่งมั่นกับการพัฒนาคุณภาพเกษตรกรไทย

                         ดังนั้น เมื่อต้องการศึกษาถึงกระบวนการก่อรูปนโยบายเพื่อเกษตรกรไทยแล้ว วิถีการดำรงชีพของเกษตรกรตามกรอบแนวคิดดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงจะทำให้ทราบถึงองค์ประกอบหลากหลายประเภท ที่จะทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า แรงต้านหรือแรงกดดันจากภายนอกครัวเรือน/ชุมชนในบริบทของสิ่งแวดล้อมภายนอกนั้น ส่งผลกระทบเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรต่อการดำรงชีพของเกษตรกรไทยในแต่ละพื้นที่  เนื่องจากตามความเป็นจริงแล้ว ยังกำหนดไม่ได้ว่าจะมีตัวแปรตัวหนึ่งตัวใดที่จะสามารถนำมาใช้วิเคราะห์และเข้าใจการดำรงชีพตลอดจนอธิบายการดำรงชีพได้อย่างถูกต้องอย่างชัดเจน  ขณะเดียวกันก็ไม่มีแผนการใดหรือวิธีการวางแผนใดที่ถูกต้อง ที่จะทำให้การดำรงชีพระดับครัวเรือนเกิดความปลอดภัย/รู้สึกมั่นคง ดังนั้นการมองทุกอย่างแบบองค์รวมตามกรอบแนวคิดนี้ จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวิถีการดำรงชีพได้ดีที่สุด และสามารถนำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างการดำรงชีพอย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทยต่อไปได้

เอกสารอ้างอิง


DFID. (1999). Sustainable livelihoods guide sheets. London: DFID.

Muruviwa, A. T. (2011). Livelihood strategies of the aged people in Mubaira Community, Zimbabwe: Rural livelihoods. University of Fort Hare.

Solesbury, W. (2003). Sustainable Livelihoods: A Case Study of the Evolution of DFID Policy. London: Overseas Development Institute.

N. Natarajan, A. Newsham, J. Rigg, & D.Suhardiman. (2022) A sustainable livelihoods framework for the 21st century. World development, 155 pp. 1-15.

Mensah, E. Joseph. (2012, October). The Sustainable Livelihood Framework:

                  A Reconstruction. The Development Review–Beyond Research, 1(1). PP.6 – 25.

Patcharin Sirasoonthon. (2004). Concept and theory for social development.       

(Teaching materials in social development).  Faculty of Social Sciences, Naresuan University. (In Thai).