อุตสาหกรรมอัจฉริยะ อุตสาหกรรม 4.0

ธิดารัตน์ ผลพิบูลย์

                                                                                                                                                                 แพรดาว ฟูพาณิชย์พฤกษ์

           ภาคอุตสาหกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจระดับประเทศที่นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน การเติบโตและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวังในการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันรูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทโลกใหม่ที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยผู้บริโภคสมัยใหม่มีความต้องการอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) เพิ่มมากขึ้น  เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและความคล่องตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน ที่มาพร้อมกับความต้องการในการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายเพื่อการติดต่อสื่อสารและทันต่อเหตุการณ์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการประหยัดพลังงาน เช่น เครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะขนาดเล็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมสุขภาพ หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ และอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เป็นต้น

           อุตสาหกรรมโลกอยู่ในช่วงของการพลิกโฉมครั้งใหญ่ที่เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ “Industry 4.0การปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกในแต่ละครั้งเปรียบเสมือนตัวชี้วัดในการพัฒนาของแต่ละประเทศ ประเทศที่สามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ก่อนจะเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมและสามารถยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศตนได้ สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 2.0-3.0 ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อก้าวผ่านการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางและก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยเศรษฐกิจสมัยใหม่จะขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และแนวโน้มการขับเคลื่อนนั้นกำลังถูกเร่งให้เร็วขึ้นจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT) อย่างแพร่หลาย อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งได้กระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่มีเซ็นเซอร์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้อาจมีความสามารถในการตรวจจับ สั่งงาน และควบคุม ใช้งานได้กับทุกอย่าง นับตั้งแต่ระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะไปจนถึงอาคารอัจฉริยะ ระบบพลังงานอัตโนมัติ การทำฟาร์มอัจฉริยะ และการบริการด้านสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมกำลังนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ฉลาดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อใช้ในการจัดการทรัพยากร รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิตสินค้า

            คำว่า “Industry 4.0” หรือ “Smart Manufacturing” หรือ “Factory of the Future” เป็นคำที่มีความหมายและมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ใช้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ประเทศเยอรมนีเป็นผู้นำในการใช้คำว่า Industry 4.0 โดยใช้เป็นนโยบายอุตสาหกรรมระดับประเทศ และคำว่า Industry 4.0 นี้เป็นคำที่คนไทยนำมาใช้เพื่อสื่อความหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเตอร์เน็ตมาใช้

ในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นกระบวนการที่ประหยัดเวลาและมีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรแบบ Smart Industry (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, 2558)

              ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ในทุกๆ วัน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมให้ตอบสนองต่อทุกความต้องการ ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะตอบโจทย์การผลิตแห่งอนาคตมีความแตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละประเทศ และจะใช้คำสำหรับเป็นนโยบายการพัฒนาที่แตกต่างกันไป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า “Smart Manufacturing” ประเทศในทวีปยุโรป ใช้คำว่า “Factories of the Future (FoF)” ประเทศเยอรมนี ใช้คำว่า “Industry 4.0” ประเทศญี่ปุ่น ใช้คำว่า “Industrial Value Chain Initiatives (IVI)” ประเทศเกาหลีใต้ ใช้คำว่า “Manufacturing Innovation 3.0” ประเทศจีน ใช้คำว่า “Made in China 2025: A New Era for Chinese Manufacturing“ ประเทศไต้หวัน ใช้คำว่า “Productivities 4.0” และประเทศไทย ใช้คำว่า อุตสาหกรรม 4.0” (Report, 2563)

             ประเทศเยอรมนีเป็นผู้ริเริ่มการคิดเชิงกลยุทธ์เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล โดยการเสนอแนวคิด “Industry 4.0 (I40) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์ในระดับชาติของรัฐบาลเยอรมนีผ่านกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัย (Ministry of Education and Research) และกระทรวงกิจการเศรษฐกิจและพลังงาน (Ministry for Economic Affairs and Energy) มีจุดมุ่งหมายเพื่อขับเคลื่อนการผลิตแบบดิจิทัล เปลี่ยนการผลิตในรูปแบบเดิมให้เป็นดิจิทัล และเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ ห่วงโซ่คุณค่าและธุรกิจเข้าด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการวิจัย สร้างเครือข่ายพันธมิตรในอุตสาหกรรมและสร้างมาตรฐานของสินค้า โดย Industry 4.0 ในประเทศเยอรมนี คือ การรวมกรอบการผลิตแห่งอนาคตเข้าด้วยกัน หรือ “Factories of the Future” เป็นการค้นหาวัตถุดิบชนิดใหม่ๆ เช่น วัตถุดิบที่มีน้ำหนักเบา คงทน แบตเตอรี่ประหยัดพลังงาน วัสดุรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่การนำเอาระบบอัตโนมัติ (Automation) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรืออินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) มาใช้ในกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่เปรียบเสมือนเป็นการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งใหม่อีกด้วย โดยจุดเด่นอยู่ที่การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารกับเครื่องจักร และระบบการผลิตที่เป็นอัตโนมัติในลักษณะ Industrial Automation ที่มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้ง 3D Printing, Augmented Reality (AR), Big Data and Analytics, Autonomous Robots, Simulation, Horizontal and Vertical System Integration, Smart Factory, Cybersecurity และ Cloud มาประยุกต์ใช้ในการผลิต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของโลกในอนาคต (European Commission, 2017) ทั้งนี้ นโยบาย I40 ของประเทศเยอรมนีนี้ได้กลายเป็นแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมในอีกหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยประเทศเหล่านี้สนับสนุนการนำ IoT และระบบไซเบอร์กายภาพ Cyber-Physical Systems: CPS) มาใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรม

              ประเทศสิงคโปร์ได้ริเริ่มแนวคิดโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) โดยกรอบแนวคิดในภาพรวมนั้นดำเนินการตามแนวคิดของอุตสาหกรรมที่เป็นระบบ Smart Industry ครอบคลุมพื้นฐานของงาน 3 ด้าน ได้แก่ กระบวนการ (Process) เทคโนโลยี (Technology) และองค์กร (Organization) การผลิตแบบดิจิทัลและอัจฉริยะของสิงคโปร์ส่งผลให้บริษัทต่างๆ เพิ่มการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต เช่น ใช้การพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และได้ปิดประเทศไปหลายครั้ง มาถึงวันนี้รัฐบาลและภาคธุรกิจของสิงคโปร์กำลังผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยส่งเสริมการผลิตขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และคาดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคการผลิตของประเทศสิงคโปร์ไปข้างหน้า นอกจากนั้น สิงคโปร์ได้เปิดตัวโครงการ “Industry 4.0 Human Capital Initiative” เพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ นำเทคโนโลยี Industry 4.0 มาใช้ เช่น ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ในขณะเดียวกันก็ยกระดับทักษะของพนักงานไปพร้อมกัน คาดว่าโครงการและความคิดริเริ่มดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทต่างๆ นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ตลอดจนเกิดความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (International Trade Administration, 2021)

                 สำหรับ GDP ของประเทศไทยที่ยังต้องพึ่งพาการลงทุนในภาคการผลิตจากต่างประเทศนั้น ยิ่งส่งผลให้ไทยต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยภาคอุตสาหกรรมไทยที่สามารถปรับตัวพร้อมรับ Industry 4.0 ได้สูงสุด คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปโลหะ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมอาหาร (กัญญาภัค ทิศศรี, 2565) การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นแบบดิจิทัลนี้จะก่อให้เกิดโอกาสมากมายในฐานะที่ไทยเป็นซัพพลายเออร์อุปกรณ์อุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก ทั้งการเพิ่มการจ้างงานและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับสากล

เอกสารอ้างอิง

 

กัญญาภัค ทิศศรี. (2565). อุตสาหกรรมใดควรไปต่อ และด้านไหนเตรียมพร้อมถูกดิสรัปชัน?. กรุงเทพธุรกิจ.
            สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/tech/1013280.

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย. (2558). Industry 4.0: ทางรอดอุตสาหกรรมไทยสู่ Smart Factory. สืบค้น
            จาก www. fti.or.th.

European Commission. (2017). Germany: Industrie 4.0, Digital Transformation Monitor. 7p.

International Trade Administration. (2021). Singapore Digital and Smart Manufacturing. U.S.
            Department of Commerce. Retrieve from https://www.trade.gov/market-
            intelligence/singapore-digital-and-smart-manufacturing.

Report. (2563). อุตสาหกรรม 4.0 การผลิตแห่งอนาคต. สืบค้นจาก https://www.mreport.co.th/experts/
            business-and-management/101-อุตสาหกรรม-4.0-การผลิตแห่งอนาคต.