นโยบายพัฒนาด้านการเกษตร

จริงหรือที่นโยบายเกษตรไทย “เน้นแต่แก้ไข” ยัง “ไม่มุ่งพัฒนาคน”?


                                                                                                                                                     เนตรนภิศ ละเอียด

          สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาช้านาน นับย้อนหลังไปได้ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ที่พบว่าอาชีพหลักของชาวสุโขทัยคือ การทำนา  ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทั้งเพื่อเลี้ยงชีพหรือเพื่อค้าขาย และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามวิถีและวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของแต่ละยุคแต่ละสมัย เช่นที่ปรากฏว่าในสมัยอยุธยานั้นก็มีการบริหารราชการแผ่นดินแบบจตุสดมภ์ คือ เวียง-วัง-คลัง-นา ซึ่งการเกิดขึ้นของ “กรมนา” ย่อมหมายความว่าสังคมเกษตรกรรมยิ่งมีความสำคัญเด่นชัดมากขึ้น เช่นเดียวกับที่ “ข้าว” ก็ยังเป็นพืชที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของสมัยกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมาไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยสุโขทัย  และจนเมื่อมาถึงยุคสมัยปัจจุบันที่ถึงแม้บทบาทและสถานการณ์ของภาคเกษตรกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง  แต่ก็ยังคงมีคนสนใจทำอาชีพเกษตรกรรมอยู่หลากหลายรูปแบบ และมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรมากขึ้น (https://www.trueplookpanya.com) จึงนับได้ว่าสังคมเกษตรกรรมของไทยเรานั้นมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจาก “การเกษตรแบบดั้งเดิม-เกษตรกรรมร่วมสมัย-การเกษตรอย่างยั่งยืน” (กิตติศักดิ์ ทองมีทิพย์, 2564)

          แต่ที่น่าเป็นกังวลก็คือ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ทั้งทางด้านโครงสร้างประชากร สภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ส่งผลกระทบต่อสังคมเกษตรกรรมของไทยทั้งระดับบุคคลและสถาบันของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้สังคมไทยส่วนใหญ่จะยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นสังคมเกษตรกรรมไว้ได้ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามยุคสมัยดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงประการหนึ่งก็คือ จำนวนเกษตรกรอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การศึกษาและทักษะความสามารถของเกษตรกรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็ยังนับว่าไม่เพียงพอ  และสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนักก็คือ “สิ่งที่เป็นปัญหาลึกสุดใจของเกษตรกรไทย” นั่นคือเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศมีฐานะยากจน มีปัญหาหนี้สิน รวมถึงการขาดที่ดินทำกิน ผลิตผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ราคาตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่เกษตรกรไม่สามารถต่อรองในเรื่องราคาปัจจัยการผลิตได้ มักถูกเอารัดเอาเปรียบด้านราคา ทําให้เกษตรกรมีหนี้สินครัวเรือนสูง และส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ อันเนื่องจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม (ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล, วิภพ ทีมสุวรรณ และอุทัยวุฒิ ชำนาญแก้ว, 2561)

           ถึงแม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะมีความพยายามหรือมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพหรือการดำเนินชีวิตของเกษตรกรไทยเพื่อความอยู่รอด เพื่อความปลอดภัยมั่นคงในการดำรงชีวิต และเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการใช้นโยบายการเกษตรหลากหลายรูปแบบและใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่รูปแบบนโยบายส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของภาคเกษตรกรรมโดยภาพรวม มีเป็นส่วนน้อยที่เป็นนโยบายที่มุ่งไปที่การพัฒนาเกษตรกรเชิงบุคคล และมักจะอยู่ในรูปแบบการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า  แต่การบรรลุเป้าหมายความอยู่ดีกินดีนั้น จำเป็นยิ่งที่เกษตรกรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะในอาชีพของตน และมีแรงจูงใจในการที่จะพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้น การเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงควรนับเป็นจุดมุ่งเน้นสำคัญเร่งด่วนของนโยบายการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทย ซี่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศให้บรรลุตามเป้าหมาย

นโยบายประชานิยม? หรือ นโยบายหาเสียง? หรือ นโยบายเสื้อโหลข้ามรุ่น?

            แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 60 ปีนั้น นโยบายหรือแนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศก็ใช่ว่าจะหยุดนิ่งอยู่กับที่  นโยบายการพัฒนาด้านเกษตรจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1-13  ก็เห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเกิดขึ้น  ทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดและแปลงนโยบาย กฎหมาย มาตรการ รวมถึงระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ที่เห็นได้ชัดเจนคือโครงสร้างการบริหารงานของส่วนราชการที่มีอยู่ทุกระดับนั่นเอง  และก็พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย กฎหมาย มาตรการ รวมถึงข้อตกลงและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการเกษตรและการดำรงชีพของเกษตรกรด้วยเช่นกัน ที่เรียกว่า “การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างและนโยบาย”  โดยในแต่ละระยะของแผนพัฒนาฯ แต่ละฉบับนั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทและขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน/องค์กร รวมถึงรูปแบบการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง  โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือความผันผวนของสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ

            เป็นที่น่าเสียดายอยู่บ้าง ที่ดูเหมือนจะมีสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเท่าใดนัก ก็คือ “แรงขับเคลื่อนนโยบาย” นั่นเอง กล่าวคือ เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายด้านเกษตรกรรมมักจะมาแรงแซงทางโค้งนโยบายด้านอื่นในบางช่วงเวลา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง หรือในช่วงที่รัฐบาลต้องการพลังเสียงจากคนส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ในภาคเกษตร  ในขณะที่เมื่อพิจารณาสมดุลเชิงนโยบายของนโยบายเกษตรไทย ก็ดูเหมือนจะ “เน้นแต่แก้ไข” ยัง “ไม่มุ่งพัฒนาคน”?  เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าแนวโน้มหรือทิศทางของนโยบายทุกยุคทุกสมัยนั้นมุ่งไปที่ “นโยบายเพื่อช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาภาคเกษตร” มากกว่าจะเป็น “นโยบายที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร”



  นโยบายเกษตรไทยกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป “เสริมสร้าง หรือ ซ่อมแซม ???

             อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการเปลี่ยนผ่านในยุคก่อนการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และหลังการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะเห็นว่าการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยนั้น ทำให้การพัฒนาประเทศด้านการเกษตรมีกรอบทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น และที่ชัดเจนในเชิงโครงสร้างและกระบวนการคือ การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนทุกระดับในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการเกษตร และการเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน การปรับเปลี่ยนกฎหมายและกฎระเบียบหลายด้าน รวมถึงการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศทางด้านการเกษตรและภาพรวม ให้เป็นแบบบูรณาการที่มีความเชื่อมโยงกันในทุกมิติของการพัฒนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12-13

             และเป็นที่น่ายินดีว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่ได้เริ่มประกาศใช้ไปตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมานั้น ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมแบบรอบด้าน “360 องศา” ก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายหลักของการพัฒนาตามแผนฯ ไว้ประการหนึ่ง คือ “การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ที่มุ่งให้คนไทยมีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ทั้งทักษะในด้านความรู้ ทักษะทางพฤติกรรม และคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม…”  และเมื่อพิจารณาระดับหมุดหมายนั้นก็ได้กำหนดให้การพัฒนาภาคเกษตรกรรม อยู่ในหมุดหมายที่ 1 “ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง” ที่มีเป้าหมายระดับหมุดหมายกำหนดไว้คือ “การเพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้ประกอบการเกษตรในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับส่วนแบ่งประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม” และมีกลยุทธ์การพัฒนาที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ “การยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร” นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

 

DFID. (1999). Sustainable livelihoods guide sheets. London: DFID.

กิติศักดิ์ ทองมีทิพย์. (2564, มกราคม – มิถุนายน). พัฒนาการการเกษตรกรรมของประเทศไทยในมิติด้านการ

                  พัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต. วารสารพัฒนศาสตร์, 4(1). 132 – 162.

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล, วิภพ ทีมสุวรรณ และอุทัยวุฒิ ชำนาญแก้ว. (2561). ปฏิรูปเกษตรกรไทย. การประชุม

         วิชาการ 11TH THAICID NATIONAL SYMPOSIUM. นนทบุรี: กรมชลประทาน.

วิษณุ อรรถวานิช. (2564). การประเมินผลกระทบของนโยบายสาธารณะที่หลากหลายต่อความเป็นอยู่ทาง

        เศรษฐกิจของเกษตรกรไทย. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

วรเชษฐ์ รุ่งหลำ. (2560). การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิถีการผลิตของเกษตรกรในอำเภอคลองหาด จังหวัด

         สระแก้ว ภายหลังการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1. วิทยานิพนธ์ปริญญา

          ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์.

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ. (2560). บทความภูมิทัศน์ภาคเกษตรไทย จะพลิกโฉมอย่างไรสู่การพัฒนาที่

         ยั่งยืน.

สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร. (2565). การศึกษาแนวทางการยกระดับรายได้ของครัวเรือนในภาคเกษตรที่

         มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน. เอกสารวิจัยทางเศรษฐกิจการเกษตร เลขที่      101 กรกฎาคม 2565