ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Cities)
แพรดาว ฟูพาณิชย์พฤกษ์
ธิดารัตน์ ผลพิบูลย์
กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ตามเมืองต่างๆ การพัฒนาเมืองให้เกิดความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงและยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมือง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เป็นทวีคูณ บั่นทอนประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างข้อจำกัดด้านการนำทรัพยากรใหม่ๆ มาใช้
มีการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทางเศรษฐศาสตร์ที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของการดำเนินการเพื่อลดสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังโดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลที่ได้มีค่ามากกว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจ และคณะกรรมาธิการโลกด้านเศรษฐกิจและสภาพภูมิอากาศ (Global Commission on the Economy and Climate) ได้แสดงให้เห็นว่ามาตรการคาร์บอนต่ำมีความน่าดึงดูดใจทางเศรษฐกิจด้วยข้อดีหลายประการ มาตรการคาร์บอนต่ำจะช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกเหนือจากการลดการปล่อยมลพิษแล้ว คาดว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่กับการดำเนินมาตรการเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะช่วยส่งเสริมการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Gouldson, 2018)
การดำเนินการในเขตเมืองเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาจดำเนินการโดยมุ่งเน้นไปใน 3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร การขนส่งแบบคาร์บอนต่ำ และการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน มีการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินผลประโยชน์จากการดำเนินการเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการสาธารณสุข การจ้างงาน ความแออัดของการเดินทาง ความหนาแน่นของการจราจรและระยะเวลาเดินทาง และการอยู่ร่วมกัน พบว่า ผลประโยชน์จากการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเทียบเท่าหรือมากกว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลง ตัวอย่างแนวทางในการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Cities) สามารถดำเนินการ ได้ดังนี้
อาคารประหยัดพลังงาน (Energy-efficient Buildings)
ผู้คนจำนวนมากถึงสามพันล้านคนพึ่งพาเชื้อเพลิงเพื่อให้ความร้อนปรุงอาหารและให้แสงสว่างหากแต่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากมลพิษทางอากาศภายในอาคารเมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนแล้วควรมีการใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์และเตาปรุงอาหารที่สะอาดภายในเมือง
ความร้อนและการระบายอากาศที่ไม่ดีจะส่งผลเรื้อรังต่อสุขภาพของประชาชนถึงแม้ว่าการประหยัดพลังงานโดยตรงจะเพียงพอต่อการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าพอใจแต่ผลประโยชน์ด้านสุขภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคารอาจมีมูลค่ามากกว่าการประหยัดพลังงานถึง 10 เท่า (Gouldson, 2018)
ในด้านการจ้างงาน พบว่า ผู้ปฏิบัติงานในอาคารที่ประหยัดพลังงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น 1–16% เนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้นและอัตราการเจ็บป่วยที่ลดลง
การขนส่งคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Transportation)
การคาดการณ์จากประเทศทั่วยุโรปพบว่าผลประโยชน์ด้านสุขภาพที่ได้จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปั่นจักรยานอาจมีมูลค่ามากกว่าความต้องการในการลงทุนถึง 5เท่า ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประโยชน์ด้านสุขภาพจากการปั่นจักรยานอาจมีมูลค่าสูงถึง 35–136 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ราคาในปี ค.ศ. 2017)
อุบัติเหตุทางรถยนต์เป็นสาเหตุให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิต จำนวน 1.3 ล้านคนต่อปี และบาดเจ็บกว่า 78 ล้านคนต่อปี หากมีการพัฒนาเครือข่ายการขนส่งสาธารณะเป็นอย่างดีจะส่งผลให้การบาดเจ็บจากการขนส่งลดลงมากกว่า 80% (Gouldson, 2018)
ต้นทุนของเวลาที่เสียไปและเชื้อเพลิงที่สูญเปล่าจากการเดินทาง มีมูลค่ามากกว่า 1% ของ GDP ในเมืองที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ และมีมูลค่าสูงถึง 10% ของ GDP ในเมืองที่กำลังพัฒนา จากการวางแผนการดำเนินงานปรับปรุงระบบการขนส่งและประสิทธิภาพของยานพาหนะในเมืองต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 12 แห่ง พบว่า การปรับปรุงระบบขนส่งจะช่วยลดความหนาแน่นของการจราจร ความแออัดของการเดินทาง และระยะเวลาในการเดินทาง คิดเป็นมูลค่าได้มากถึง 10-30%
การลงทุนในการขยายระบบขนส่งสาธารณะและการปรับปรุงประสิทธิภาพของยานพาหนะอาจนำไปสู่การสร้างงานสุทธิภายในเมืองต่างๆ มากกว่า 3 ล้านบาทต่อปี
ประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมักใช้เวลาในการเดินทางมากการปรับปรุงการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะจึงเป็นประโยชน์ต่อคนจนที่อยู่ในเมืองในขณะเดียวกันประชาชนกลุ่มเปราะบางมักมีสุขภาพที่แย่กว่าค่าเฉลี่ยทั้งนี้อาจเนื่องมาจากประชาชนกลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่อาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงการปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมืองให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำจะทำให้กลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม
การจัดการขยะมูลฝอย (Solid Waste Management)
การจัดการและการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยในชุมชนมีความเชื่อมโยงกับการขยายตัวของเมืองการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการปรับปรุงระบบการจัดการขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพจะช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสร้างประโยชน์อีกมากมาย เช่น ช่วยรักษาสุขภาพของประชาชน และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น การเติบโตของประชากรในเมืองส่งผลให้อัตราการเกิดขยะเพิ่มมากขึ้นแต่ ละประเทศจึงมุ่งเน้นไปที่การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและการปรับปรุงระบบบำบัดของเสียเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึงการปรับปรุงการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล และการป้องกันเพื่อลดการเกิดของเสียตั้งแต่ต้นทาง (Oteng-Ababio et al., 2018)
คนงานฝังกลบขยะมักตรวจพบว่าเป็นโรคปอดบ่อยครั้งมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ1.4–2.6เท่าการจัดการก๊าซที่เกิดจากหลุมฝังกลบอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับการเผาไหม้หรือการสร้างแหล่งพลังงานจะช่วยลดการเกิดโรคและความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจให้กับคนงานฝังกลบขยะได้เป็นอย่างมาก
นโยบายและกระบวนการในการจัดการขยะมูลฝอยอาจเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาสุขภาพของประชาชนในเขตเมืองการลงทุนในโครงการรีไซเคิลจะช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการทำงานให้กับคนงานเก็บขยะสร้างงานและโอกาสใหม่ๆให้กับแรงงานทั้งแรงงานที่มีทักษะและไม่มีทักษะ อีกทั้งสามารถเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับรัฐบาลท้องถิ่น
การตอบสนองของชุมชนท้องถิ่นในเมือง
แนวคิดเมืองคาร์บอนต่ำสามารถช่วยจัดการกับความท้าทายสำหรับเมืองที่จะขยายใหญ่ขึ้นได้เป็นอย่างดีเนื่องจากแนวคิดเมืองคาร์บอนต่ำช่วยสนับสนุนเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงด้านสาธารณสุขการลดความแออัดการเพิ่มการจ้างงานให้เต็มที่และการบรรเทาความยากจน
ในพื้นที่ที่ถนนมีการจราจรคับคั่งและมียานพาหนะต่างๆจำนวนมากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสาธารณะและพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์มีความสำคัญในการปรับปรุงการเข้าถึงการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาคารเก่าหรืออาคารที่ถูกออกแบบมาไม่ดีจะสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี อีกทั้งสิ้นเปลืองพลังงาน การปรับปรุงอาคารเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยและช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ นอกจากนั้น การปรับปรุงระบบการจัดการขยะอย่างครอบคลุม ปรับปรุงวิธีการเก็บ การรีไซเคิล และการฝังกลบ จะช่วยลดอัตราการเกิดโรค ก่อให้เกิดการจ้างงาน อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย
ประโยชน์จากการลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอาจไม่แน่นอน หากแต่การศึกษาจากหลายแหล่งชี้ให้เห็น ว่า การดำเนินการเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในเมืองนั้นเกิดประโยชน์หลายประการในระดับท้องถิ่น อีกทั้งเกิดผลรวดเร็วในระยะเวลาอันใกล้ ได้แก่ คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น การขาดแคลนเชื้อเพลิงลดลง ระยะเวลาในการเดินทางของประชาชนสั้นลง เกิดการจ้างงานใหม่ และประชาชน มีสุขภาพดีขึ้น
จากการศึกษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า มาตรการคาร์บอนต่ำมีประโยชน์มากกว่ามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากมาตรการคาร์บอนต่ำก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจมีมูลค่ามากกว่าผลตอบแทนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปจะช่วยสร้างความกระตือรือร้นของสาธารณชนในการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ และเป็นการสร้างความเข้าใจว่าการดำเนินมาตรการคาร์บอนต่ำควบคู่กับการพัฒนาในด้านอื่นๆ เป็นการสร้างโอกาสในการนำข้อพิจารณาด้านสภาพภูมิอากาศเข้าไว้ในวาระนโยบายระดับประเทศและระดับท้องถิ่น (Gouldson, 2018)
กรณีศึกษาและแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศต่างๆ
ลอนดอน (ประเทศอังกฤษ) กำหนดให้มีการลงทะเบียนยานพาหนะเข้าระบบการเก็บค่าผ่านทางของเมือง และระบุสารอันตรายที่ถูกปล่อยออกมาจากยานพาหนะ เพื่อให้เมืองเรียกเก็บค่าจอดรถตามระดับการปล่อยมลพิษของยานพาหนะ
มิวนิก (ประเทศเยอรมนี) มีการบังคับใช้นโยบายลดจำนวนที่จอดรถในเมือง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวโดยสิ้นเชิงและหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ และหลายเมืองในทวีปยุโรปกำลังดำเนินการตาม
บาร์เซโลนา (ประเทศสเปน) มีความภาคภูมิใจที่เป็นเมืองแรกในการใช้เงินทั้งหมด 100% ของรายได้ที่เก็บจากการจอดรถมาใช้เพื่อสมทบทุนโครงการเช่าจักรยานสาธารณะ
ปารีส(ประเทศฝรั่งเศส)มีเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกรัฐบาลได้ริเริ่มโครงการต่างๆมากมายเพื่อขยายพื้นที่สาธารณะ และมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ส่วนตัว
โคเปนเฮเกน (ประเทศเดนมาร์ก) เปลี่ยนพื้นที่ถนนหลายกิโลเมตรให้เป็นเขตทางเท้า ในขณะที่ที่จอดรถหลายร้อยคันถูกรื้อถอนออกไป
มอสโคว (ประเทศรัสเซีย) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990s สถานการณ์การจอดรถริมถนนในมอสโคววุ่นวายอย่างมาก ในปี ค.ศ. 2012 รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการ “Moscow Parking Space” โดยเก็บค่าจอดรถในพื้นที่ที่จัดหาไว้ให้ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเดินและใช้บริการขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ รายได้รวมจากการเก็บค่าที่จอดรถในเมืองมอสโควมีจำนวนมากกว่า 19,000 ล้านรูเบิล (260 ล้านยูโร) ความเร็วของการจราจรเพิ่มขึ้น 12% จำนวนครั้งของการฝ่าฝืนจอดรถในที่ห้ามจอดลดลง 64% และจำนวนยานพาหนะส่วนตัวที่วิ่งบนถนน Garden Ring Road ลดลง 25%
ทบิลิซี (ประเทศจอร์เจีย) นโยบายการขนส่งของเมืองทบิลิซีมุ่งเน้นไปที่การขนส่งสาธารณะและการเคลื่อนย้ายแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ แนวทางหลักของนโยบายคือการทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย โดยศาลาว่าการของเมืองทบิลิซีได้ทำระบบที่จอดรถใหม่ มีการจัดแบ่งพื้นที่ (Zoning) และเพิ่มค่าธรรมเนียมการจอดระบบจะถูกนำมาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองระบบที่จอดรถใหม่นี้มีส่วนช่วยลดจำนวนรถยนต์ส่วนตัวในเขตเมืองได้เป็นอย่างมากนอกจากนั้นยังช่วยส่งเสริมระบบการขนส่งสาธารณะและการใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง
การดำเนินการและมาตรการเฉพาะของเมืองทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น มีเป้าหมายเพื่อลดการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวภายในเมืองร่วมกับการพัฒนาและส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้เมืองต่างๆ ออกนโยบายและมาตรการใหม่ๆ บังคับใช้กฎหมายและระเบียบใหม่ๆ บางเมืองมีการบังคับใช้กฎหมายและว่าจ้างบริษัทเอกชนในการพัฒนาระบบตรวจสอบดิจิทัลเพื่อควบคุมการจอดรถ พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีอื่นๆ ในการตรวจสอบการจอดรถ เช่น ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของยานพาหนะส่วนตัว การสแกนรถยนต์ เป็นต้น
เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) แนวคิดเมืองคาร์บอนต่ำจึงเป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญ และหลายประเทศทั่วโลกมีแนวทางการพัฒนา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์และเศรษฐกิจของประเทศ ให้สอดคล้องกับการลดการพึ่งพากิจกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้แนวคิดเมืองคาร์บอนต่ำยังเชื่อมโยงกับแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่หลักการของการลด การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลของเสียให้ได้มากที่สุด (Sereenonchai et al., 2020)
เอกสารอ้างอิง
Gouldson, A., Sudmant, A., Khreis, H. and Papargyropoulou, E. 2018. The Economic and Social
Benefits of Low-Carbon Cities: A Systematic Review of the Evidence. Coalition for Urban
Transitions. London and Washington, DC.: http://newclimateeconomy.net/content/cities-
working-papers.
Oteng-Ababio, M., Annepu, R., Bourtsalas, A., Intharathirat, R. and Charoenkit, S. (2018). Urban
solid waste management. Second Assessment Report of the Urban Climate Change
Research Network. Cambridge University Press. New York. 553–582.
Sereenonchai, S., Arunrat, N. and Stewart, T.N. (2020). Low-carbon city communication: Integrated
strategies for urban and rural municipalities in Thailand. Chinese Journal of Population,
Resources and Environment, 18, 16-25.