5 เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์สำหรับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

พิพัฒน์ ชูจันทร์
ภากร พลาพงษ์

           ในยุคที่โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขันที่เข้มข้น และความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบโลจิสติกส์จึงเข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะระบบโลจิสติกส์นั้นมีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปได้ไกลกว่าเดิม (เจดับเบิ้ลยูดี, 2565) โดยระบบโลจิสติกส์ครอบคลุมถึงทุกกิจกรรมที่เป็นการเคลื่อนย้ายจากจุดต้นกำเนิดไปยังจุดปลายทาง ไม่ว่าจะเป็น การหาวัตถุดิบ การคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ การผลิต การบริหารคลังสินค้า การกระจายสินค้า รวมไปถึงการบริการลูกค้า ซึ่งทุกขั้นตอนเหล่านี้ ถือเป็นต้นทุนในการบริหารกิจการทั้งสิ้น (logistplus, 2565) ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ ทั้งเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานจากเดิมที่ใช้ระบบ Manual ซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดและความล่าช้า อีกทั้งยังมีจัดการข้อมูลที่ไม่เป็นระบบ ด้วยเหตุนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้เป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว การส่งสินค้าถึงมือผู้รับอย่างปลอดภัยในปริมาณที่ครบถ้วน สภาพสมบูรณ์และตรงตามเวลาที่กำหนด สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอด และยังเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายตลาดในประเทศ และต่างประเทศได้มากขึ้น (TOT, 2565)

           จากที่กล่าวไปข้างต้นระบบโลจิสติกส์ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปเป็นอย่างมากจากในอดีต เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกมิติ โดยประเทศไทยนั้นควรที่จะมีการสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้เท่าเทียมกับนานาประเทศได้ในอนาคต โดยมีเทคโนโลยีที่หลากหลายที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ดังต่อไป

5 เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์สำหรับประเทศไทย

 

1. Artificial Intelligence หรือ AI คือ เทคโนโลยีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเข้ามาควบคุมการทำงาน โดย AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในงานด้านระบบโลจิสติกส์ ตั้งแต่การวางแผน การจัดการคลังสินค้า รวมไปถึงกระบวนการอื่นในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยอย่างแรกที่เราพบบ่อยก็คือ AI จะเข้ามาทำงานในลักษณะงานซ้ำ ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย เช่น งานคีย์ข้อมูล เป็นต้น โดยเป็นการลดระยะเวลาการทำงาน ส่งผลให้ทั้งกระบวนการในห่วงโซ่อุปทานดีขึ้น และช่วยให้ลูกค้ามีความพึงพอใจในการเข้ารับบริการมากขึ้นตามไปด้วย


2. Conversational systems หรือ แชทบอท (Chatbot) คือ บอทที่ช่วยตอบคำถามของลูกค้า รวมไปถึงสามารถเรียนรู้เองได้เรื่อย ๆ ยิ่งมีลูกค้าเข้ามาคุยด้วยมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งตอบคำถามลูกค้าได้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้บอทยังสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้อีกด้วยเช่นเดียวกัน เช่น การชำระค่าสินค้าหรือบริการ การตรวจสอบสถานะสินค้า การยืนยันคำสั่งซื้อ หรือ แม้แต่การคีย์ข้อมูลโดยอัตโนมัติ สามารถช่วยลดภาระของคนได้มาก อีกทั้งยังนำไปสู่การเพิ่มความพึงพอใจและความภักดีต่อแบรนด์ของลูกค้า


3. Real-Time Supply Chain Visibility คือ การเข้าถึงข้อมูลห่วงโซ่อุปทานแบบเรียลไทม์ เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้บริษัทที่ทำธุรกิจขนส่งสามารถเข้าถึงข้อมูลของระบบโลจิสติกส์ที่มีการอัพเดตได้ตลอดเวลา เช่น ข้อมูลการเคลื่อนย้ายสินค้า รูปแบบของการจราจร สภาพอากาศ สภาพการเดินทางขนส่ง และสภาพถนน โดยเมื่อพบปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางขนส่งสินค้า ก็จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนการเดินทางขนส่งให้รวดเร็วได้ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จาก Internet of Things Sensor (IoT) มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามพัสดุ โดยจะมีการติดตั้งเครื่องมือ IoT บนพัสดุเพื่อให้ทางคลังสินค้าสามารถติดตามสินค้า หรือดูการจราจรผ่านระบบ Cloud Services ได้ตลอดเวลา ระบบนี้จึงช่วยให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์และคาดการณ์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังช่วยผู้ดูแลระบบสามารถปรับเปลี่ยนและจัดการทัศนวิสัยในโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้อยู่ตลอดเวลา


4. Augmented Reality (AR) เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริง (Real world) กับโลกเสมือน (Virtual world) มาช่วยให้ระบบการจัดการสินค้าคงคลังมีความแม่นยำและชัดเจนในการตรวจสอบมากขึ้น เนื่องจากเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพของกระบวนการคลังสินค้า เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการจัดส่งสินค้าจะใช้เวลาการส่งมอบโดยเร็วที่สุด ระบบการจัดการสินค้าคงคลังจึงควรเป็นระบบที่มีความชัดเจน มีความแม่นยำสูง โดยเทคโนโลยี AR ได้เข้ามาช่วยในการแสดงภาพของเค้าโครงคลังสินค้าในระหว่างกระบวนการทำงาน ซึ่งคุณสมบัติหลักของ AR ในระบบโลจิสติกส์อยู่ 4 อย่าง คือ

·     Warehouse operations เพื่อใช้ในการหยิบจับสินค้าในคลังสินค้าและตรวจสอบปริมาณสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

·     Transportation optimization เพื่อช่วยให้พนักงานขนส่งทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถช่วยตรวจสอบความถูกต้องของการขนส่ง การโหลดสินค้าได้

·     Drop-offs optimization เพื่อระบุตำแหน่งสินค้าในรถขนส่งได้อย่างชัดเจน ทำให้ง่ายต่อการค้นหากล่องสินค้าหรือออเดอร์

Enhanced value-added services เพื่อช่วยในการออกแบบบริการใหม่ ๆ ให้แก่บริษัท

5. Predictive Analytics คือ การวิเคราะห์แบบพยากรณ์หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย เพื่อดูแนวโน้มว่าอนาคตอาจจะเกิดอะไรขึ้น โดยใช้ข้อมูลแบบจำลองทางสถิติ หรือ AI (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การคาดเดาสินค้าหรือบริการที่จะทำกำไรได้ในอนาคต การคาดเดากลุ่มลูกค้าในอนาคต การคาดการณ์ยอดขายในอีก 2 ปีข้างหน้า เป็นต้น โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้มักออกมาในรูปแบบของกราฟเป็นหลัก ผ่านเครื่องมือคาดการณ์ที่ใช้ข้อมูลเป็นแหล่งอ้างอิง ส่งผลให้สามารถทำนายสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้สามารถวางแผนแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันเวลา และทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและสามารถจัดการระบบขนส่งและโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น          

          สำหรับบทบาทของภาครัฐในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยนั้น ภาครัฐควรเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการข้อมูล โดยอาจมีการสนับสนุนให้มีการจัดทำข้อมูลในระดับ Big Data เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์หาแนวทางในการพัฒนาด้านระบบโลจิสติกส์ โดยข้อมูลที่ทางภาครัฐควรจะนำมาประกอบนั้นมีด้วยกันหลายมิติ เช่น ข้อมูลปริมาณการขนส่งสินค้าในแต่ละเส้นทาง ลักษณะการจราจรในเส้นทางการขนส่งแต่ละสาย ข้อมูลปริมาณการจราจรในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น โดยวิธีการเก็บข้อมูลควรจะเป็นการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย อย่างเช่น การใช้กล้องตรวจจับปริมาณรถ ระบบ GPS ในรถขนส่ง เป็นต้น เพื่อนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อพัฒนาไปสู่การวางแผนยุทธศาสตร์ด้านระบบโลจิสติกส์ที่เหมาะสมต่อไป (ภัณฑิลา ธนบูรณ์นิพัทธ์, 2564)

         การนำเทคโนโลยีมาใช้กับระบบโลจิสติกส์ในประเทศไทยนั้นจะสามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าและบริการ รวมไปถึงการขนส่งของสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ อีกทั้งสามารถช่วยให้ต้นทุนในระบบโซ่อุปทานลดลงได้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสินค้า คลังสินค้าและการขนส่งสินค้า และสามารถเพิ่มศักยภาพคุณภาพให้เหนือกว่าคู่แข่งได้ทั้งในตัวสินค้าและกระบวนการผลิต ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่าระบบโลจิสติกส์เป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นทั้งแหล่งสร้างรายได้ แหล่งจ้างงาน และช่วยกระจายทรัพยากรไปยังทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง หากภาคธุรกิจโลจิสติกส์สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจลดลง ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (อัจฉรา นิมิตปัญญา, 2562)

เอกสารอ้างอิง

 

บัณฑิต ศรีสวัสดิ์. (2560). เทคโนโลยีสารสนเทศกับโลจิสติกส์. สืบค้นเมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 จาก

https://research.kpru.ac.th/sac/fileconference/11352018-05-01.pdf

Logistplus. (2565). ปัญหาของโลจิสติกส์ (Logistic) ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องตระหนัก. สืบค้นเมื่อ วันที่ 30

พฤศจิกายน 2565 จากhttps://logistplus.co.th/ปัญหาของโลจิสติกส์-logistic-ที/

ภัณฑิลา ธนบูรณ์นิพัทธ์. (2564). ยกระดับโลจิสติกส์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. สืบค้นเมื่อ วันที่ 30

พฤศจิกายน 2565 จาก https://researchcafe.org/upgrade-logistics/

TOT. (2565). 5 นวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์. สืบค้นเมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

จาก https://www.tot.co.th/sme-tips/SME-tips/2020/06/30/5-นวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์

BUS & TRUCK. (2565). 6 เทคโนโลยีโลจิสติกส์ที่บริษัททั้งหลายควรมี. สืบค้นเมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน

2565 https://www.busandtruckmedia.com/34751/

SCGLOGISTICS. (2563). 7 เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์. สืบค้นเมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

จาก https://www.scglogistics.co.th/th/7-เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิ/