การลดความยากจนด้วยนโยบายคุ้มครองทางสังคม และช่องว่างการคุ้มครองทางสังคมของไทย

แพรดาว ฟูพาณิชย์พฤกษ์

                                                                                                                                                       

            การขจัดความยากจน (No Poverty) เป็น 1 ใน 17 เป้าหมาย (เป้าหมายที่ 1) ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่เป็นแนวทางให้ประเทศสมาชิกยึดถือและมุ่งดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โดยเป้าประสงค์ที่ 1.3 กำหนดให้ทุกประเทศดำเนินการระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศให้เป็นผล ครอบคลุมถึงกลุ่มคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง

        ความยากจนไม่ได้มีความหมายเฉพาะแต่ในมิติเชิงเศรษฐกิจที่พิจารณาเฉพาะแต่การมีรายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่ายเพื่อให้ดำรงชีพได้ตามมาตรฐานการดำรงชีพขั้นต่ำเท่านั้น แต่ยังมีความหมายครอบคลุมถึงคุณภาพชีวิตและการอยู่ดีมีสุขในทุกมิติตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์ ความยากจนจึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากความยากจนกระทบต่อทุนมนุษย์ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะยาวในการพัฒนา อันส่งผลกระทบถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

         การคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) คือ การจัดสรรนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน หรือเป็นหลักประกันที่ประชาชนทุกคนพึงมีเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความยากจน มีความมั่นคงทางรายได้ ครอบคลุมถึงการจัดโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Nets) และการจัดการความเสี่ยงทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และภัยพิบัติต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาค การคุ้มครองทางสังคมมีความสำคัญยิ่งสำหรับประชาชนที่ยากจนและด้อยโอกาสให้ได้รับความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นบริการทางสังคม ประกันสังคม และการจัดการความเสี่ยงทางสังคม ตัวอย่างการคุ้มครองทางสังคมที่เห็นกันในประเทศไทยก็เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การประกันสังคม การพัฒนาอาชีพ และเงินช่วยเหลือต่างๆ สำหรับคนยากจนและด้อยโอกาส


  • การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาที่รัฐจัดให้ประชาชนทุกคนโดยเสมอภาคกัน เพื่อการพัฒนาตนให้มีความรู้ ทักษะ คุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ และถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม เป็นชนกลุ่มน้อย หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็พึงจะได้รับสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานนี้ในรูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตน
  • หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ สิทธิบัตรทอง หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค นั่นเอง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหลักประกันด้านสุขภาพที่รัฐมีให้แก่ประชาชนทุกคนในสังคม เพื่อให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพโดยไม่สร้างภาระด้านค่าใช้จ่าย และยังเป็นหลักประกันว่าตราบใดที่ป่วย ทุกคนจะยังคงได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้กลับมาแข็งแรงได้โดยไม่ล้มละลายทางด้านการเงิน และถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม เป็นชนกลุ่มน้อย หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็พึงจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล
  • ประกันสังคม เป็นระบบที่รัฐสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตให้กับกลุ่มผู้ประกันตน เพื่อรับผิดชอบในการเฉลี่ยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน โดยผู้ประกันตนจะได้รับการคุ้มครอง ค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยและประสบอุบัติเหตุ ค่าคลอดบุตร ค่ารักษาพยาบาลและเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินสงเคราะห์และค่าทำศพกรณีเสียชีวิต ค่าสงเคราะห์บุตร บำเหน็จ/บำนาญชราภาพ และเงินช่วยเหลือการว่างงาน
  • เงินช่วยเหลือต่างๆ สำหรับคนยากจนและด้อยโอกาส เช่น เบี้ยยังชีพคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินอุดหนุนดูแลบุตรสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
  •  การฝึกอาชีพอย่างยั่งยืนกับอดีตโครงการต้นกล้าอาชีพ หนึ่งในต้นตอของปัญหาความยากจนเรื้อรัง คือ การว่างงานและการขาดทักษะในการประกอบอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างเหมาะสม โครงการต้นกล้าอาชีพเป็นโครงการของรัฐที่เกิดขึ้นชั่วคราวในปี พ.ศ. 2552 เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานที่เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยให้แรงงานที่ตกงานได้เข้ามาฝึกฝนทักษะอาชีพตามความสนใจและความถนัด หรือพัฒนาต่อยอดความชำนาญในวิชาชีพ และในระหว่างการฝึกอาชีพจะได้รับเงินเดือนเป็นแรงจูงใจ ผลสำเร็จในเชิงนโยบายพบว่ามีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 506,321 คน และสามารถสร้างงานได้จำนวนมากถึง 417,625 ตำแหน่ง (ThaiPR.net, 2553)

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)  รายงานว่า การแพร่ระบาดของ Covid-19 ซ้ำเติมความยากจนและขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ การคุ้มครองทางสังคมอย่างเพียงพอจะช่วยให้คนสามารถผ่านพ้นวิกฤติของความยากจนและความไม่มั่นคงในชีวิตได้ และเป็นตัวช่วยพยุงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การให้ความคุ้มครองทางสังคมอย่างน้อยเพื่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึงและครอบคลุมตลอดช่วงชีวิตของประชาชนตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิด วัยเด็ก วัยแรงงาน จนถึงวัยสูงอายุ ครอบคลุมถึงกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส และพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมให้เข้มแข็งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกประเทศต้องเร่งดำเนินการ

เช่นเดียวกันกับหประชาชาติ ประเทศไทย (United Nations Thailand) ที่เห็นว่าการคุ้มครองทางสังคมเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจการคุ้มครองทางสังคมจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและการเข้าถึงบริการ และการคุ้มครองทางสังคมในช่วงของการแพร่ระบาดของ Covid-19 มีความจำเป็นมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นทั่วโลก การลงทุนจากต่างชาติและอุปสงค์จากนอกประเทศมีแนวโน้มลดลง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนจากภาครัฐและการบริโภคจากประชาชนภายในประเทศ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดนี้จะใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกระยะเวลาหนึ่ง มีครอบครัวและบุคคลจำนวนมากที่ต้องกลายมาเป็นกลุ่มเปราะบางและตกอยู่ใต้เส้นความยากจนอย่างเฉียบพลันอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 การคุ้มครองเยียวยาควรครอบคลุมถึงครอบครัวและบุคคลเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีลูกเล็กและแรงงานนอกระบบ (สหประชาชาติ ประเทศไทย, 2563)

และจากข้อมูลที่จัดทำโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศแสดงให้เห็นว่ารายจ่ายสาธารณะเพื่อให้บริการด้านสุขภาพและการคุ้มครองทางสังคมในทุกช่วงวัยของไทยยังคงต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มเดียวกัน คือ กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก และกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางสูง และต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสาธารณะเพื่อให้บริการด้านสุขภาพและมาตรการคุ้มครองทางสังคมเฉลี่ยของทุกประเทศทั่วโลก โดยประชาชนไทยกลุ่มที่ยังคงได้รับการคุ้มครองทางสังคมน้อย ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มแม่และเด็กแรกเกิด กลุ่มแรงงานทั้งการคุ้มครองการบาดเจ็บและการได้รับบำนาญ และยังมีประชาชนอีกร้อยละ 32.0 ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมใดๆ

               จากรายงานของหประชาชาติประเทศไทย (United Nations Thailand) และ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสังคมไทยอันเนื่องมาจากปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งไทยควรเร่งพัฒนาความเข้มแข็งของระบบให้เกิดการคุ้มครองทางสังคมแบบถ้วนหน้า (Universal Social Protection Coverage) เพื่อเพิ่มการเข้าถึง และมีความเพียงพอ โดยควรเพิ่มมาตรการ/โครงการการคุ้มครองทางสังคมโดยเน้นไปที่กลุ่มเด็กเล็ก เยาวชน และแรงงานนอกระบบ

เอกสารอ้างอิง

  

สหประชาชาติ ประเทศไทย. 2563. การคุ้มครองทางสังคมเพื่อความเท่าเทียม: เส้นทางสู่การฟื้นฟูและ

ความสามารถในการฟื้นตัวกลับคืน. เข้าได้จาก https://thailand.un.org/th/ เข้าถึงเมื่อวันที่ 18

พฤษภาคม 2566.

International Labour Organization. 2021. World Social Protection Report 2020-22: Social

Protection at the Crossroads – in Pursuit of a Better Future. เข้าถึงได้จาก

https://www.ilo.org/global/research/global-reports/world-social-security-report/2020-22/lang–en/index.htm เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566.

ThaiPR.net2553. โครงการต้นกล้าอาชีพ สรุปผลสำเร็จระยะแรก ต้นแบบแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ สร้างงาน

สร้างรายได้. ข่าวทั่วไปวันที่ 3 กันยายน 2553. เข้าถึงได้จาก https://www.ryt9.com/s/prg/977428 เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566