ถอดบทเรียนไต้หวัน: เส้นทางนโยบายสู่ระบบนิเวศ Green Transportation

Pakorn Phalapong

                                                                                                                                                       

          ไต้หวันถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมากแห่งหนึ่งของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิปสำหรับโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ไปจนถึงการเป็นหนึ่งในผู้นำของเอเชียตะวันออกที่หันมาผลักดันและใส่ใจกับการขนส่งสีเขียว (Green Transportation) อย่างจริงจัง ด้วยความต้องการที่จะลดปัญหามลภาวะในเขตเมืองและสร้างโอกาสให้กับธุรกิจยานยนต์ EVs ในประเทศให้กลายเป็นต้นแบบระดับโลก รัฐบาลไต้หวันจึงได้สนับสนุนนโยบายทั้งในเชิงการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) สำหรับรถยนต์และรถมอเตอร์ไซต์ EV ให้กับกลุ่มบริษัทเอกชนในไต้หวัน โดยมุ่งเน้นให้ไต้หวันสามารถเป็นผู้พัฒนาและผลิตยานยนต์ EVs ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีความคุ้มค่า อีกทั้งยังออกกฎระเบียบ และกำหนดนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาว อาทิ     (Shu, et al., 2009)

·     ออกกฎหมายการควบคุมการขายรถที่ขับเคลื่อนด้วยแก๊สโซลีนในปี 2009 ด้วยการหันมาสนับสนุนการผลิตยานยนต์ EV แบบเบา

·     ออกแผนและกลยุทธ์การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ EVs ในปี 2010 เพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ EVs โดยใช้ส่วนลดทางด้านภาษีเป็นแรงจูงใจ (Cheng, 2018)

·     ออกนโยบายเพื่อหยุดการจำหน่ายรถยนต์และรถมอเตอร์ไซต์ที่ใช้น้ำมันภายในปี 2040 (Focus Taiwan, 2022)

·     ผลักดันนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (National Development Council, 2022) โดยการออก พ.ร.บ. การตอบสนองต่อภาวะโลกร้อน (Climate Change Response Act) เมื่อต้นปี 2023 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการนำนโยบายไปปฏิบัติด้วย (Kuo & Mazzetta, 2023) และ Green Transportation โดยสนับสนุนการผลิตยานยนต์ EVs ตั้งแต่ต้นน้ำ (แบตเตอร์รี่, จุดจ่ายไฟฟ้า, และส่วนประกอบอื่น ๆ) จนถึงปลายน้ำ (กระบวนการประกอบและผลิตยานยนต์ EVs) (Cheng, 2018)

      ไม่เพียงแต่การผลักดันนโยบายในระดับมหภาคเท่านั้น แต่รัฐบาลไต้หวันยังสนับสนุนในนโยบายเชิงรุกเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาสนใจการใช้ยานยนต์ EVs มากยิ่งขึ้น อาทิ

·       การสนับสนุนการติดตั้งจุดชาร์จพลังงาน 6,500 จุด ทั่วทั้งประเทศภายในปี 2025 เพื่อสร้างเครือข่ายแบตเตอร์รี่ EVs ในระดับประเทศ (Shu & Hwang, 2022)

·  การมอบส่วนลดสำหรับการซื้อยานยนต์ EVs โดยรัฐบาล (Shu, et al., 2009) อาทิ เมื่อซื้อรถสกูตเตอร์ไฟฟ้าของบริษัท Gogoro (ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการรถสกูตเตอร์ไฟฟ้ารายใหญ่ของไต้หวัน)กระทรวงเศรษฐกิจจะสนับสนุนส่วนลดคันละ 7,000 NTD สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจะสนับสนุนส่วนลดอีกคันละ 3,300 NTD และยังได้ส่วนลดเพิ่มเติมแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ของหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสามารถได้รับส่วนลดรวมมูลค่าสูงสุดมากถึง 27,300 NTD (ประมาณ 32,760 บาท) หากซื้อรถสกูตเตอร์ไฟฟ้าของบริษัท Gogoro ที่เมืองไทเปหรือเมืองเถาหยวน (Gogoro, n.d.)

 

ไม่เพียงแต่รัฐบาลกลาง แต่หน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีบทบาทในการผลักดันนโยบาย

 

       ไม่เพียงแต่รัฐบาลระดับชาติเท่านั้น แต่หน่วยงานการปกครองในระดับท้องถิ่นเองก็ให้ความสนใจและสนับสนุนรถพลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน อาทิ เมืองไถจง (เมืองใหญ่อันดับ 2 ของไต้หวัน) ได้ออกกฎและแนวทางสำหรับการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำในปี 2011 (Cheng, 2018) อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับบริษัท TSMC (บริษัทผลิตชิป รายใหญ่ของโลก) และ Gogoro ในการสร้างเครือข่ายพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับผู้อยู่อาศัยในเมืองผ่านการสร้างเครือข่ายรถสกูตเตอร์ไฟฟ้าแบบแบ่งปัน (Sharing) ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งมอบส่วนลดในการเช่ารถสกูตเตอร์ให้กับพนักงานของบริษัทและผู้อยู่อาศัยในเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการหันมาใช้ยานยนต์ EVs มากขึ้น (PR Newswire, 2022)

                  โดยจากรายงานในปี 2022 พบว่าชาวไต้หวันจำนวนมากหันมาให้ความสนใจในการเปลี่ยนมาใช้รถพลังงานสะอาดกันมากขึ้น โดยในปี 2021 จำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ทั้งสิ้น 383,000 คัน มีจำนวน 6,997 คันเป็นยานยนต์ EVs ในขณะที่รถมอเตอร์ไซต์ที่จดทะเบียนใหม่ทั้งสิ้น 809,000 คัน มีจำนวน 94,000 คันเป็นรถมอเตอร์ไซต์ EV (Randall, 2022) และยังพบว่ารถสกูตเตอร์ไฟฟ้าของ Gogoro ยังถือส่วนแบ่งทางการตลาดของรถมอเตอร์ไซต์ในไต้หวันมากถึงร้อยละ 92 ในครึ่งปีแรกของปี 2022 อีกด้วย (Gogoro, 2022) แม้จะยังเป็นตัวเลขที่ไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับอัตราส่วนกับรถทั้งประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นการก้าวเดินไปข้างหน้า และเป็นเครื่องยืนยันว่านโยบายที่ทั้งรัฐบาลกลางและหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นได้พยายามร่วมกันผลักดันกำลังนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศ Green Transportation ตามที่คาดไว้นั่นเอง

 

บริบทและแรงขับเคลื่อนนโยบายของไทยและไต้หวันสู่ Green Transportation

 

                  บริบททางเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมายของประเทศไทยนั้นถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ EVs อย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ไทยจะมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน แต่กลับขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ EVs ในระยะยาว อีกทั้งยังมีความจำเป็นในการพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ EVs จากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคายานยนต์ EVs ที่ผลิตในไทยมีราคาแพง ส่งผลให้ยังไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้ และยังมีแนวโน้มสูญเสียโอกาสในการแข่งขันระยะยาวกับประเทศที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างประเทศจีนอีกด้วย (ลาภอุดมการ & กาญจนะคช, 2022)

               หากย้อนกลับมาศึกษาบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมายของไต้หวันนั้นจะพบว่าไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำที่มีนวัตกรรมการผลิ Semiconductor หรือสารกึ่งตัวนำ ี่กินส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าร้อยละ 50 ของโลก ไต้หวันจึงได้เปรียบไทยอย่างมากในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการผลิตยานยนต์ EVs นอกจากนี้การดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ EVs ของไต้หวันในปัจจุบันนั้นอยู่ภายใต้แผนพัฒนาชาติระยะกลาง ฉบับที่ 18 (ปี 2021-2024) โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ EVs นั้นเป็นเพียงหัวข้อหนึ่งภายใต้การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล (National Development Council, 2021)

นี่ถือเป็นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างบริบทแผนการพัฒนาของไทยและไต้หวัน กล่าวคือ ไต้หวันมองการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ EVs ในฐานะการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในขณะที่ไทยมองการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ EVs ในฐานะการพัฒนาการผลิตเพียงเท่านั้น ถึงแม้จะกล่าวได้ว่าการที่ไทยจะพัฒนาการผลิตยานยนต์ EVs นั้นมีความสอดคล้องตามหมุดหมายที่ 3 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แต่การขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม EVs นั้นถือเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ส่งผลให้ไทยอาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ EVs และระบบนิเวศ Green Transportation ในระยะเวลาอันสั้นนี้ได้

มองไต้หวัน มองไทย ประเทศไทยเรียนรู้อะไรได้บ้าง? จะก้าวตามไต้หวันหรือจะสร้างทางเดินของตัวเอง?

 

           ประเทศไทยมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันและต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ในฐานะอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศหรือ First S-Curve รวมไปถึงผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ตามหมุดหมายที่ 3 ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แต่การจะไปถึงจุดนั้นไม่ง่ายหากขาดการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และที่สำคัญภาคประชาสังคม แน่นอนว่าประเทศไทยไม่สามารถจะนำนโยบายของประเทศไต้หวันมาใช้ในประเทศได้ทั้งหมดแบบ 100 เปอร์เซ็น แต่สิ่งสำคัญคือสามารถเรียนรู้การ Forecasting และ Backcasting จากรัฐบาลไต้หวันในการมองถึงเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่รัฐบาลไต้หวันได้ทำ แล้วนำแนวทางกลับมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยอย่างเหมาะสม

อาจเริ่มจากการตั้งคำถามอย่างง่ายว่าจำเป็นหรือไม่ที่ไทยจะเป็นเพียงฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า? ไทยจะสามารถผลักดันและสร้างระบบนิเวศที่ขับเคลื่อน Green Transportation ได้เหมือนไต้หวันและนานาประเทศได้หรือไม่? เพราะเมื่อประชาชนในประเทศไทยหันมาใช้ยานยนต์ EVs นั้นหมายถึงเป็นการเพิ่มกำลังการซื้อและกำลังการผลิตอย่างมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามหมุดหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศที่อาจไม่มีเสถียรภาพเนื่องจากประเด็นการเมืองระหว่างประเทศและสงครามการค้า

อันนำมาสู่คำถามต่อไปว่า ไทยจะทำอย่างไรเพื่อผลักดันการบริโภคภายในประเทศ? ราคายานยนต์ EVs ที่สูงนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อการสร้างการบริโภคในระยะยาว ไทยจำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ EVs ที่เป็นของตนเองในบางส่วนเพื่อลดต้นทุนให้ได้ ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมการลงทุนทั้งจากภายในและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ตามหมุดหมายที่ 3 ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 อาจจะยังไม่ใช่เป้าหมายที่เหมาะสมนัก หากแต่รัฐบาลอาจต้องพิจารณาในการเพิ่มทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาให้แก่หน่วยงานเอกชนภายในประเทศไทยเพื่อลดต้นทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ EVs ให้ได้

อีกทั้งเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในการติดตั้งจุดชาร์จพลังงาน 5,000 จุด ภายในปี 2570 จะช้าไปหรือไม่? ในเมื่อไต้หวันจะมีจุดชาร์จพลังงานมากถึง 6,500 จุด ในปี 2568 ทั้งที่ไต้หวันมีขนาดประเทศเล็กกว่าไทยมากถึง 14 เท่า ดังนั้นการที่จะสร้างระบบนิเวศที่เอื้อกับผู้ใช้งานรถไฟฟ้าในระยะเวลาที่จำกัด งานนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่หน้าที่ของรัฐบาลกลางเท่านั้น แต่ยังเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จำเป็นจะต้องรับมอบหมายงานเหล่านี้ไปสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อ Green Transportation ในเขตพื้นที่ของตน โดยอาจเริ่มดำเนินการจากเขตเทศบาลนครหรือเทศบาลเมืองที่มีศักยภาพ แล้วจึงค่อยเริ่มดำเนินการในเขตเทศบาลตำบลและ องค์การบริหารส่วนตำบล เพราะการจะสร้างระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ EVs ไม่ใช่เป็นเพียงแค่หน้าที่ของรัฐบาลกลางเท่านั้น แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังด้วย

ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมการลงทุนเพื่อการเสริมศักยภาพการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อมุ่งเน้นการส่งออกอาจจะไม่ใช่คำตอบที่จะบรรลุเป้าหมายของหมุดหมายที่ 3 ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แต่การกระจายอำนาจเพื่อร่วมกันสร้างระบบนิเวศ Green Transportation และผลักดันการบริโภคภายในประเทศต่างหากที่สำคัญ หรือที่เคยกล่าวกันไว้ว่า ไทยทำไทยใช้อาจจะกลายเป็นวิถีเพื่อบรรลุเป้าหมายของหมุดหมายที่ 3 ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แทนก็เป็นได้

เอกสารอ้างอิง

 

Cheng, L. M. (2018). Electric Vehicle Promotion Policy in Taiwan. In S. Gokten, & G. Kucukkocaoglu, Energy Management for Sustainable Development (pp. 69-82). IntechOpen.

Focus Taiwan. (2022, March 3). Taiwan to end sale of new gas-powered cars and scooters by 2040. Retrieved November 10, 2022, from Focus Taiwan: https://focustaiwan.tw/business/202203300022

Gogoro. (2022, August 23). Gogoro Surpasses 500,000 Battery Swap Subscribers in Taiwan. Retrieved November 10, 2022, from Gogoro: https://www.gogoro.com/news/500000-subscribers-taiwan/

Gogoro. (n.d.). Government Subsidy & Gogoro Smart Selection. Retrieved November 15, 2022, from Gogoro: https://promotion.gogoro.com/tw/gov-subsidies/?view=subsidy&city=taipei-city&model=gogoro-delight [in Mandarin]

Kuo, C. S., & Mazzetta, M. (2023, January 10). Taiwan passes climate law with carbon fee system, 2050 net-zero goal. Retrieved January 26, 2023, from Focus Taiwan: https://focustaiwan.tw/politics/202301100019

National Development Council. (2021). National Development Plan (2021-2024). Taipei: National Development Council.

National Development Council. (2022). Taiwan’s Pathway to Net-Zero Emissions in 2050. Taipei: National Development Council.

PR Newswire. (2022, August 30). Gogoro, TSMC and Taichung City Taiwan Partner to Bring Sustainable Electric Two-wheel Sharing to City’s Residents. Retrieved November 10, 2022, from PR Newswire: https://www.prnewswire.com/news-releases/gogoro-tsmc-and-taichung-city-taiwan-partner-to-bring-sustainable-electric-two-wheel-sharing-to-citys-residents-301614404.html

Randall, C. (2022, March 31). Taiwan to ban ICE car & scooter sales as of 2040. Retrieved November 10, 2022, from electrive: https://www.electrive.com/2022/03/31/taiwan-to-ban-ice-car-scooter-sales-as-of-2040/

ลาภอุดมการ, ล., & กาญจนะคช, อ. (2022). เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนเป็น EV ทำไมไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ? Bangkok: KKP Research.