APEC กับ BCG Model ภาคการเกษตร สู่การฟื้นตัวหลังโควิด-19

ธิดารัตน์ ผลพิบูลย์

                                                                                                                                                        แพรดาว ฟูพาณิชย์พฤกษ์


ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ในหัวข้อ Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ที่ประชุมกล่าวถึงเรื่องโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ยังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ APEC เสียหายทั้งหมดการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ของไทยในครั้งนี้เป็นการจัดประชุมในสถานการณ์โลกที่ไม่ปกติและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นที่มาของการกำหนดวาระของการประชุมที่มุ่งเน้นให้ประเทศสมาชิกและประเทศทั่วโลกฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับ APEC แล้วเมื่อรวมจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศสมาชิกเข้าด้วยกันจะมีประชากรรวมถึง 3 พันล้านคนและมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าการค้าประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการค้าโลก

ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพมุ่งเน้นการพัฒนาให้ประเทศในกลุ่มเกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สู่สมดุล มุ่งสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่ง ครอบคลุม และยั่งยืน ส่งเสริมการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยนำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economic Model: BCG Model) มาเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนา (Royal Thai Government, 2022) ซึ่ง BCG Economic Model ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติโดยการเสริมสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนประชาชนมีรายได้ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีคุณภาพที่ดีด้วยการใช้ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2563)

ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญที่เอื้อประโยชน์สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ คำว่า ความหลากหลายทางชีวภาพมาจากคำว่า “Biodiversity” หรือ “Biological Diversity” โดยคำว่า ความหลากหลาย (Diversity)” หมายถึง มีมากมายและแตกต่าง ส่วนคำว่า ทางชีวภาพ (Biological)” หมายถึง ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต เมื่อสองคำมารวมกัน คำว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นานาพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก กล่าวง่ายๆ คือ การที่มีชนิดพันธุ์ (Species) สายพันธุ์ (Genetic) และระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่แตกต่างกันทั่วโลก ความแตกต่างหลากหลายของสายพันธุ์พืชทำให้มนุษย์มีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น เช่น ข้าวจ้าวหรือข้าวเหนียว นอกจากนั้นแล้วความแตกต่างหลากหลายของสายพันธุ์ช่วยให้เกษตรกรสามารถเลือกสายพันธุ์พืชและสัตว์ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด เช่น ไก่พันธุ์เนื้อ ไก่พันธุ์ไข่ดก วัวพันธุ์นม และวัวพันธุ์เนื้อ เป็นต้น (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2562)

            ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ประเทศไทยมีความหลากหลายทั้งด้านระบบนิเวศ ชนิดพันธุ์และพันธุกรรมของพืชที่เอื้อประโยชน์ต่อภาคเกษตรและอาหาร ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่า GDP ภาคเกษตรของไทยมีการเติบโตในอัตราที่ติดลบ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรทั้งระบบ การแก้ไขปัญหาผลผลิตตกต่ำในพืชเศรษฐกิจ และการสร้างรายได้จากพืชและสัตว์เศรษฐกิจใหม่ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของไทยในการเพิ่ม GDP ของภาคเกษตรให้สูงขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มความหลากหลายของผลผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค การวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคจะช่วยให้การผลิตมีความถูกต้องแม่นยำสอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถตรวจสอบและติดตามผลผลิตได้แบบเรียลไทม์ (Real-Time) การใช้เทคโนโลยีในระบบการผลิตและเครื่องจักรกลที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความยั่งยืน การลดของเหลือทิ้ง การยกระดับสินค้าเกษตรสู่สินค้าปลอดภัย การเพิ่มความหลากหลายสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 2564)

เป้าหมายหลักของ APEC คือ การเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาประเทศในกลุ่มในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สำหรับผลงานที่โดดเด่นของการประชุม APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ คือ การที่รัฐมนตรี APEC ได้เห็นชอบร่วมกันให้เสนอร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC รับรองและจะใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศในกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมโดยวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เน้นเป้าหมายหลัก 4 ประการ ได้แก่ การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรและอาหารได้ และนี่ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในครั้งนี้ นอกจากนี้ไทยยังได้จัดตั้งรางวัล BCG เพื่อมอบให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่นำแนวคิด BCG มาใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจอีกด้วย (Ministry of Foreign Affairs, 2022)

             การประชุม APEC ครั้งที่ 29 ได้สะท้อนถึงความพยายามในการร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค และถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิก APEC ได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงรับทราบแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ความคืบหน้าในการดำเนินการด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการไปสู่เป้าหมายด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมในอนาคต

                   ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยสามารถใช้ความพร้อมด้านทรัพยากรจากความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ สร้างศักยภาพในการพัฒนาประเทศและนำพาความอยู่ดี กินดี มีความสุข มาสู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนบนฐานของทรัพยากรที่มีอยู่ได้ หากแต่จำเป็นต้องปรับรูปแบบของการพัฒนา สำหรับภาคเกษตรและอาหารจำเป็นต้องปรับรูปแบบการพัฒนาโดยการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้เปลี่ยนการผลิตสินค้าจากการผลิตมากแต่ได้น้อยไปสู่การผลิตสินค้าพรีเมี่ยมที่ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้สูง รวมทั้งการเพิ่มความหลากหลายของผลผลิตทางการเกษตรและอาหารโดยต้องปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ทั้งระบบ  การเกษตรแบบยั่งยืนจึงเป็นทางเลือกที่จำเป็นมากสำหรับการทำฟาร์มเกษตรเชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการเกษตรสามารถรักษาคุณค่าให้กับเกษตรกรที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ (National Higher Education Science Research and Innovation Policy Council, 2020) ร่วมกับการน้อมนำหลักการของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) มาเป็นหลักในการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้อย่างเป็นรูปธรรม

เอกสารอ้างอิง

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. (2564). ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569.

สืบค้นจาก https://www.bcg.in.th/bcg-strategy-2564-2569/.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562)ความหลากหลายทางชีวภาพ. 

สืบค้นจาก https://www.onep.go.th/ความหลากหลายทางชีวภาพ/.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (2563). โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG.

สืบค้นจาก https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/bcg-by-nstda/.

Ministry of Foreign Affairs. (2022). ผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33. สืบค้นจาก
            https://www.apec2022.go.th/th/the-33rd-apec-ministerial-meeting-amm-th/.

National Higher Education Science Research and Innovation Policy Council. (2020). BCG in Action.
            Retrieve from https://www.nxpo.or.th/th/en/bcg-in-action/.

Royal Thai Government. (2022). ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพ “การประชุมเอเปคปี 65″ (APEC 2022) ภายใต้แนวคิด เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

            (Open. Connect. Balance.). สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/50813.