คุณคิดว่าประเทศไทยในปี 2100 จะมีสัดส่วนประชากรในวัยต่างๆ เป็นอย่างไร?
ข้อมูลแรกที่ต้องรู้ คืออัตราการเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate :TFR) ในประเทศไทยลดต่ำลงอย่างมาก ในปี 1970 อยู่ที่ 5.6 แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 ซึ่งตัวเลขนี้หมายถึงค่าเฉลี่ยจำนวนเด็กที่เกิดจากผู้หญิงหนึ่งคน หากแปลงตัวเลขสถิตินี้ออกมาให้เห็นภาพ จากเดิมที่ครอบครัวหนึ่งมีลูก 5-6 คน ก็ลดลงมาอยู่ที่ 1-2 คน
ในเมื่อโครงสร้างประชากรนั้นไม่หยุดนิ่ง แต่ขยับไปตามอายุของประชากรที่แก่ตัวลง อัตราการเกิดหรือการเจริญพันธุ์ต่ำนี้เป็นเพียงรากฐานของปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา
สถานการณ์ที่ประชากรเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น แต่กลับมีเด็กเกิดใหม่น้อยลง อนาคตของประเทศจะหน้าตาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าใบหน้าของผู้สูงวัยตามท้องถนนคงปรากฏให้เห็นถี่ขึ้น แต่จะมากขึ้นจนน่าตกใจแค่ไหน
องค์การสหประชาชาติ คาดประมาณสถานการณ์อัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศไทยจากปี 2015-2100 ออกมาเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ ต่ำ คงที่ กลาง และสูง เมื่อนำรูปแบบอัตราการเจริญพันธุ์ระดับสูงและต่ำ มาคิดคำนวณเพื่อคาดการณ์โครงสร้างประชากรในประเทศปี 2100 ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ได้ออกมาต่างกันมาก
หากย้อนกลับไปดูเมื่อปี 2015 โครงสร้างประชากรไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 16% อายุมัธยฐานประชากรเท่ากับ 38 ปี และมีอัตราส่วนพึ่งพิงอยู่ที่แรงงาน 4 คนดูแลผู้สูงอายุ 1 คน นับจากนั้นอีก 85 ปีต่อมา หากอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ใน ‘ระดับสูง’ ประเทศไทยในปี 2100 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 30% มีอายุมัธยฐานขยับขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ 41 ปี และอัตราส่วนพึ่งพิง เท่ากับแรงงาน 4 คนดูแลผู้สูงอายุ 2 คน
แต่หากอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ใน ‘ระดับต่ำ’ ในช่วง 85 ปีนี้ สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นมาถึง 52% อายุมัธยฐานกระโดดขึ้นไปถึง 61 ปี และจากเดิมที่แรงงาน 4 คนดูแลผู้สูงอายุ 1 คนในปี 2015 ก็เพิ่มมาเป็นแรงงาน 4 คน ดูแลผู้สูงอายุมากถึง 5 คน ซึ่งนั่นหมายถึงมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลมากกว่าจำนวนแรงงานที่มีอยู่
จากข้อมูลนี้ เราจะเห็นว่า ประเทศไทยจะสูงวัยไปแค่ไหนในปี 2100 ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นต้นทางของสมาชิกใหม่ในโครงสร้างประชากรไม่น้อยเลย และเราทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบร่างโครงสร้างประชากรไทยเหล่านี้ขึ้นมา