บทสรุปจากงานเสวนาออนไลน์ ‘New World Paradigm: ‘ไวรัส’ เปลี่ยนโลก ครั้งที่ 3’

เรียบเรียง: ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ /ชลิตา สุนันทาภรณ์

ปี 2020 โควิด-19 คือปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อทุกมิติ เพราะมันได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เรื่องน่าเศร้าแต่กลับกลายเป็นความจริงที่หลีกหนีไม่ได้ เมื่อเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าโควิด-19 ยังกลายเป็นตัวขับเคลื่อนบางอย่าง ที่ทำให้มนุษยชาติจำเป็นต้องสู้ต่อไป ในยุคหลังวิกฤติโรคระบาดหลังจากนี้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในประเทศไทย ที่ยืนพื้นด้วยอุตสาหการภาคบริการ และประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

ทั้งหมดคือโจทย์หลักของงานเสวนาออนไลน์ ภาคพิเศษ New World Paradigm Series#3 ในหัวข้อ ‘ไวรัสเปลี่ยนเทคโนโลยี’ ร่วมกับ FREAK Lab, รีคัลท์ (ประเทศไทย) และ Boonmee Lab ผ่านทางเฟซบุกไลฟ์ ของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) หรือผ่านแอปพลิเคชัน ZOOM ในวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2563 เวลา 10:30–12:00 น. โดยท่านสามารถรับชมวิดีโอบันทึกงานเสวนาได้ ที่นี่

ไวรัสเปลี่ยนภาคธุรกิจบริการ

คุณรพี สุวีรานนท์ หัวหน้า Data and Intelligence Lab สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) บอกเล่าว่าธุรกิจภาคบริการนั้น ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งยังมีความไม่แน่นอนสูง ว่าต่อจากนี้ไป การระบาดที่ดูเหมือนจะเริ่มชะลอตัวจะกลับมาอีกไหม แต่ทุกวันนี้ภาคธุรกิจนั้น ได้รับผลกระทบเป็นที่เรียบร้อย ทั้งประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ ยังต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอีกด้วย เช่น จากที่สามารถนั่งทานอาหารนอกบ้านได้เป็นหมู่คณะ ก็ต้องมีการขยับนั่งแยกกัน หรือแม้แต่การเข้าวัดทำบุญ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการทำผ่านวิดีโอคอลแทน

กลายเป็นคำถามที่เราอาจต้องรีบแก้โจทย์กันในเร็ววัน ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อธุรกิจบริการจะปรับตัว จากที่เดิมมีคนเคลื่อนตัวไปรับบริการ ไปสู่การส่งออกบริการได้อย่างไรบ้าง

คุณรพี ได้ยกตัวอย่างภาคธุรกิจบริการอย่าง food delivery service ที่แต่เดิมเป็นที่นิยมอยู่แล้วในกลุ่มคนเมือง แต่เมื่อมีมาตรการ social distance เข้ามา คนออฟฟิศหันมาทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าว ทวีคูณความนิยมเพิ่มขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับธุรกิจ shopping online ที่หลาย ๆ ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้า ต่างก็ย้ายแพลทฟอร์มมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น

อย่างไรก็ดี คุณรพี ยังไม่เพียงแต่ยกตัวอย่าง ภาคธุรกิจบริการที่ปรับตัวเท่านั้น แต่รวมถึงการรวมตัวกัน ของกลุ่มทางสังคมก็ปรับตัวเองเช่นเดียวกัน เช่น การเกิดขึ้นของกลุ่มมหาวิทยาลัยต่าง ๆ บนเฟซบุ๊กเพื่อขายของ หรือการที่คนในหมู่บ้านใหญ่ ๆ หรือคอนโดมิเนียม หันมาสร้างกลุ่มไลน์เพื่อขายของ หรือทำธุรกิจประเภทอื่น ๆ

หรือแม้แต่ภาคธุรกิจบริการ อย่างการท่องเที่ยวและสันทนาการ ที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงเช่นกัน ส่งผลให้จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด โดยเริ่มเห็นกันมากขึ้นอย่างแพร่หลาย เช่น การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หรือดูคอนเสิร์ตบนโลกออนไลน์แทน ซึ่งอาจเรียกได้ว่า น่าจะเป็นการเปิดให้เห็นโอกาสมากขึ้นด้วย เพราะการย้ายแพลทฟอร์มมาอยู่บนอินเตอร์เน็ต ทำให้ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงพื้นที่ แต่สามารถขายตั๋วได้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ อย่าง AR (Augmented Reality) เข้ามาช่วยเสริมประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้อีกด้วย เมื่อการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก การทำ virtual museum ทำให้สามารถท่องเที่ยวได้ในภาวะนี้ สิ่งสำคัญคือ การเดินดูงานศิลปะคนเดียว อาจทำให้เดินไม่ถูกเส้นทาง หรือเกิดความเบื่อหน่าย ก็แก้ด้วยการจัดให้มีไลฟ์ทัวร์

นอกจากที่ภาคธุรกิจบริการ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 แล้ว ยังมีประชาชนบางกลุ่ม ได้รับผลกระทบโดยตรงอีกด้วย กล่าวคือ การไม่สามารถเข้าถึงภาคบริการนั้น ๆ ได้เลย หรือภาคบริการถูกจำกัด หรือลดการให้บริการลง เช่น รถขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ ที่ได้ปรับเที่ยวเดินทางลดลง ส่งผลให้ประชาชนที่บ้านไกล หรืออาศัยอยู่ในเส้นทางนั้น ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาได้ คุณรพีเสนอว่า ภาครัฐจำเป็นต้องคิดใหม่ เกี่ยวกับการปรับเส้นทางเดินรถให้เหมาะสม หากโควิด-19 ยังอยู่กับเราอย่างไม่รู้ว่าจะหายไปตอนไหน หรือการที่กลุ่มผู้สูงอายุ ไม่สามารถออกไปหาซื้อวัตถุดิบทำอาหารได้ด้วยตัวเอง ส่งผลให้เกิด รถสมาร์ทพุ่มพวงที่สามารถเรียกหาได้ทันที ยามที่จำเป็นต้องใช้บริการ ธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วที่จังหวัดขอนแก่น

ไวรัสเปลี่ยนเกษตรกรรม

เมื่อ 40% ของคนไทยอยู่ในแวดวงการเกษตร กล่าวคือ หากเราเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร เราก็จะเข้าสู่ฟาร์มแลนด์โดยทันที นอกจากนั้นประชาชนที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว ยังมีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อเดือนต่ำ อยู่ที่ 5,000 บาท/เดือน (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) หากเทียบกับแรงงานขั้นต่ำซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 บาท/เดือน อย่างไรก็ตาม คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ Co-Founder และ CEO จาก Ricult (ประเทศไทย) บอกว่า ปัญหาดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่มีเกษตรกรรมเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี การที่ไวรัสโคโรน่า เข้ามาระบาดตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ภาคเกษตรกรรมเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ใช่ผลกระทบเชิงการผลิต หรือมาตรการ social distance แต่เป็นเรื่องของตลาด เมื่อตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถูกล็อคดาวน์เกือบทั้งหมด

นอกจากนั้นการที่โควิด-19 เกิดขึ้น ยังเป็นเหมือนการซ้ำเติมชาวเกษตรกรอีกด้วย เพราะปีนี้ภัยแล้งจะรุนแรงไม่ต่างกับปีที่แล้ว รวมถึงปัญหาเดิมที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อครัวเรือนของเกษตรกร 60 – 70% ไม่ได้มาจากการทำเกษตร แต่มาจากการที่ลูกหลานส่งเงินมาให้ หรือจากการรับจ้างต่าง ๆ ระหว่างการรอหน้าฝน เพื่อทำการเกษตร กลายเป็นคำถามและโจทย์หลักที่รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไข

คุณอุกฤษ ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเกษตรกรชาวไทย พร้อมอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะการทำเกษตรกรรมแบบเดิม ๆ นั้น ไม่ช่วยให้พวกเขาอยู่ได้ ทั้งยังมองว่าในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีทางเกษตรหรือ agritech อาจมีบทบาทสำคัญในวงการเกษตรกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ หรือการนำ big data มาใช้ เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลการเพาะปลูก ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ทุกวันนี้ การเข้าถึงเทคโนโลยีหรือสมาร์ตโฟนของเกษตรกรนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาจำเป็นต้องปรับตัวในการทำเกษตรสมัยใหม่ จะเห็นว่า ภาคเกษตรเปิดกว้างในการเปลี่ยนแปลง เพราะพวกเขารู้สึกว่าทำเกษตรแบบเดิม คืออยู่ไม่ได้”

ไวรัสเปลี่ยนเทคโนโลยี

โควิด-19 สร้างผลกระทบไปทั่วโลก อาจเรียกได้ว่าเป็นผลมาจากโลกาภิวัฒน์ เมื่อเราสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือเดินทางไปที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว โรคระบาดก็แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วตามมาเช่นกัน คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัยจาก MIT Media Lab และ Co-Founder จาก FREAK Lab ประเทศไทย มองว่าโลกาภิวัฒน์ยังนำให้เราเปลี่ยนจากจุดปัญหา ไปสู่จุดแก้ไขกันได้ ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้กันหลังจากนี้

คุณพัทน์ ยกตัวอย่างถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่าง touch screen ที่เกิดขึ้นเมื่อ 1970 ในช่วงเวลานั้นถูกนิยามว่าเป็นเทคโนโลยีที่หลุดโลกที่สุด แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว กลับเป็นที่แพร่หลาย และกลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานให้กับหลาย ๆ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างอื่นด้วย

สำหรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้น หลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 นั้น คุณพัทน์ ชี้ให้เห็นถึงแนวทางในการนำ 3 เทคโนโลยีหลักเข้ามา ได้แก่

1) เทคโนโลยีที่เราสวมใส่บนร่างกาย (wearable technology) ทำให้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ การเดินทาง เป็นต้น และเมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มา ก็สามารถสร้างการพัฒนาที่จำเป็นของบุคคลได้ และในอนาคตการนำเทคโนโลยีชนิดนี้มาใช้ ก็สามารถนำมาคาดการณ์การเกิดโรคระบาดได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ ให้สามารถเก็บข้อมูลส่วนบุคคล มาวิเคราะห์อาการเจ็บป่วย เสมือนมีห้องแล็บเคลื่อนที่ และสามารถวินิจฉัยโรคได้ทันท่วงที

2) เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (AI) นำไปสู่การสร้างแชทบอท (chatbot) ในทางสังคมศาสตร์ด้วย ตัวอย่างเช่น Buddha bot ซึ่งทำให้เห็นว่า เทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและศาสนาได้ด้วย นอกจากนี้ คุณพัทน์ ยังได้จัดทำโปรเจ็ค COVID Bot ขึ้นมา เพื่อตอบสนองกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจุบัน ก็ได้เผยแพร่ไปกว่า 56 ประเทศทั่วโลก ซึ่งให้ทั้งคำแนะนำ และติดตามอาการของผู้ใช้งานอีกด้วย ผลการดำเนินการทำให้พบว่า การที่มีแชทบอทเข้ามาคุยกับผู้ใช้เรื่อย ๆ ทำให้คนมีความกังวลต่อโควิด-19น้อยลง มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น และหลังจากนั้นจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มแชทบอทในการหางาน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นผลพวงจากวิกฤตโควิด-19

3) การเรียนออนไลน์ จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นว่า เพียงแค่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถทำให้เกิดการเรียนการสอนขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีคอร์สออนไลน์เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าถึงความรู้จากทั่วทุกมุมโลกได้ และในอนาคตก็จะเน้นความเป็นปัจเจก ของแต่ละบุคคลเพิ่มขึ้น กล่าวคือ จะทำให้ผู้สอนรับรู้ได้ว่า ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหามากเพียงใด มีสมาธิมากเพียงใด ทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างความน่าสนใจให้กับเนื้อหา เช่น การนำบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา หรือการ์ตูนมาใช้ในบทบาทที่มีประโยชน์มากขึ้น

ประเทศไทยพร้อมหรือยัง กับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กำลังจะเปลี่ยนไป

ทุกประเทศทั่วโลก ต่างพยายามเป็นที่หนึ่งในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งยังได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วย หรือตัวกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในทุกมิติ ไม่ว่าเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือสังคม โดยเฉพาะภาครัฐ ที่เริ่มหันมาปรับตัวมากขึ้น โดยสังเกตได้จาก “โครงการไทยชนะ” ที่มีการนำ QR code มาใช้ในการติดตาม (contract trancing) การระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการทำงานของภาครัฐ แต่ก็ยังคงถูกตั้งคำถามในด้านข้อมูลความเป็นส่วนตัวต่าง ๆ ของผู้ใช้

คุณรพีกล่าวกลับมาในประเด็นสังคมดิจิทัล ที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเรา และเครื่องมือต่าง ๆ มากขึ้น ที่ผ่านมา “สิ่งที่ทุกคนได้รับผลกระทบแน่ ๆ คือ contact tracing ที่รัฐได้นำมาใช้ เพื่อติดตามการระบาดของโควิด-19 แต่การเข้ารับบริการดังกล่าว มั่นใจได้แค่ไหนว่าแม่นยำ อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของ data policy หรือการจัดการความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การที่ลงชื่อทุกวันถูกเก็บไปใช้จริงไหม หรือทำเป็นพิธีกรรมเฉย ๆ วิธีคิดอีกแบบหนึ่งคือ หน่วยงานกลางไม่ต้องเก็บข้อมูลของทุกคน แต่ให้แต่ละคน self-check แทนว่า ตัวเองผ่านพื้นที่แถวนั้นหรือไม่”

เช่นเดียวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อจากนี้ อย่างเทคโนโลยีที่เราสวมใส่บนร่างกาย ถ้าหากข้อมูลของผู้สวมใส่หลุดออกมาจะทำอย่างไร คุณพัทน์ อธิบายว่า ในอนาคตเทคโนโลยีดังกล่าวอาจสามารถป้องกันได้ โดยข้อมูลที่จะถูกส่งออกไปบนคลาวด์ จะเป็นข้อมูลที่ถูกกรองแล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลของคนนั้น ๆ ทำให้ข้อมูลที่หลุดออกไป เป็นเครื่องมือที่ประมวลผลแล้วในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ข้อมูลดิบ ๆ

นอกจากนั้น คุณอุกฤษ ยังทิ้งท้ายว่า คนไทยเก่งมาก แต่สิ่งสำคัญคือการที่เราต้องตีโจทย์ของผู้ใช้ให้แตก ว่าจริง ๆ เขาต้องการอะไร และมีจุดมุ่งหมายในชีวิตอย่างไร

ซึ่งสอดคล้องกับที่ คุณพัทน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราต้องมองให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ เพราะการที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัยมาก ๆ ในวันนี้ จนกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่ามหาศาล เราต้องมองไปไกลกว่าสิ่งที่คนยุคนั้นคิดได้