เขียน: รัสมิ์กร นพรุจกุล
ธนาคารโลก (World Bank) ร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) จัดงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “ประเทศไทยท่ามกลางวิกฤตโควิด-19: รับมือเศรษฐกิจและสังคมอย่างตรงเป้าและยั่งยืน” ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อถอดบทวิเคราะห์จากรายงาน “Thailand Economic Monitor : Thailand in the Time of COVID-19” ที่กลุ่มธนาคารโลกได้วิจัยถึงสภาพเศรษฐกิจของไทยในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ทั้งยังเป็นวงเสวนาที่ต้องการมองหาทางออกให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน ตรงเป้า และมีประสิทธิภาพ
คุณ Arvind Nair นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มธนาคารโลก เปิดวงเสวนาด้วยข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทย ที่กำลังอยู่ในช่วงเปราะบางจากการเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหดตัวลงถึงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ต่อไปอีกว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกที่หดตัวและส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และการยับยั้งการเดินทางข้ามประเทศที่ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่มีส่วนแบ่งถึง 15% ของ GDP ประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่าแรงงานกว่า 8.3 ล้านคนในประเทศไทย จะได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะยิ่งเข้าไปตอกย้ำกลุ่มเปราะบางในสังคม และทำให้คนจนกลับมามีจำนวนสูงมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีการให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชนส่วนนี้แล้วก็ตาม แนวโน้มทางเศรษฐกิจยังทวีความรุนแรงจนอาจะแตะตัวเลข -5% ภายในปีพ.ศ. 2563 ทั้งนี้ จากรายงานของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า ไทยจำเป็นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ในการฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมีตัวเลขใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2562
ด้านนโยบายในการแก้ไขปัญหา ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย เห็นว่า ไทยได้ใช้นโยบายทั้งมาตรการการคลังและการเงินที่ค่อนข้างเร็ว และมีเครื่องมือหลากหลาย โดยใช้เม็ดเงินไปกว่า 13% ของ GDP โดยนโยบายหลักที่รัฐบาลได้จัดทำ ได้แก่ มาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท การเลื่อนชำระหนี้ของภาคเอกชน เป็นต้น หนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ ดร.เกียรติพงศ์ ได้เน้นย้ำ คือ การช่วยเหลือครัวเรือนที่เปราะบางของไทยให้สามารถรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจได้ ผ่านทางสวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ และต้องมีการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้กับประชาชน เช่น ทักษะด้านดิจิทัล การทำ e-commerce เป็นต้น ภาครัฐยังต้องช่วยสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ให้สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม
ดร. อนรรฆ เสรีเชษฐพงศ์ นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เปรียบกลไกทางเศรษฐกิจเป็นเหมือนรถยนต์ ซึ่งหลาย ๆ ส่วนประกอบกำลังอยู่ในภาวะชะงักงัน และยังมีคนในกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ซึ่งสหประชาชาติได้ทำการศึกษาพบว่า ความยากจนในกลุ่มแรงงานนั้นจะเพิ่มขึ้นในทุกระดับรายได้ นอกจากนี้ ดร. อนรรฆ ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย และมีความเสี่ยงในการตกงานมากกว่าผู้ชายถึง 10% กลุ่ม first jobber เองก็มีแนวโน้มที่จะตกงานมากขึ้นถึง 4.2% กลุ่มธุรกิจที่จะได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ที่อาจสูญเสียรายได้กว่า 60% เช่นเดียวกันกับภาคการเกษตรที่กว่า 80% จะมีรายได้ลดลง
เมื่อมองไปยังความช่วยเหลือของภาครัฐในประเทศอื่น ๆ คุณ Francesca Lamanna นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (การคุ้มครองทางสังคม) กลุ่มธนาคารโลก ได้ยกตัวอย่างประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบราซิล ซึ่งได้มีการให้เงินช่วยเหลือแก่ครัวเรือนเช่นเดียวกันกับไทย ฟิลิปปินส์ได้จัดตั้งเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับ 18 ล้านครัวเรือน (ประมาณ 80% ของประชากรทั่วประเทศ) ด้านอินโดนีเซีย ได้ให้เงินช่วยเหลือเป็นเวลา 3 เดือน และขยายการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่อยู่อาศัยนอกเขตจากาตาร์ ในประเทศบราซิลได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคครัวเรือนเช่นกัน โดยได้จัดทำระบบให้ประชาชนลงทะเบียน ทำให้ภาครัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังได้นำมาปรับใช้กับการควบคุมโรคระบาดอีกด้วย มากไปกว่านั้น คุณ Francesca ยังแสดงความเห็นว่า การทำงานของภาครัฐจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากมีข้อมูลที่เพียงพอและถูกต้อง รวมถึงมีระบบ IT ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างระบบการป้องกันทางสังคมที่เข้มแข็ง
ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากวิกฤตโควิด-19 ว่า จะต้องมีการสอดประสานในหลาย ๆ ภาคส่วน โดยนโยบายการเงินที่สำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการ ได้แก่ การเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ การปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดปัญหาการค้างชำระหนี้ การให้สินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงการดูแลระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพด้วย
แล้วจะทำอย่างไรที่จะทำให้ชีวิตในช่วงโควิด-19 กับการรักษาเศรษฐกิจไปด้วยกันได้? เป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่สำหรับการเสวนาครั้งนี้ ดร. นพ.สรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) กล่าวว่า หลายคนมองว่าเศรษฐกิจและการรักชีวิตคนนั้น เป็นทางแยกที่ไม่สามารถบรรจบกันได้ แต่จริง ๆ แล้วความสำคัญของทั้งสองปัจจัยนั้นไม่ได้เป็นเส้นตรง แต่เป็นเรื่องที่ควรมองผสานกัน เพื่อทำให้ประสิทธิภาพของมาตรการต่าง ๆ ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้ตั้งคำถามว่า เราได้เรียนรู้อะไรจากการระบาดในครั้งนี้? และจะเตรียมตัวรับมือได้อย่าง หากเกิดการระบาดขึ้นอีกครั้งในอนาคต? ดร. นพ. สรภพ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งมือในการทำ คือ การสร้างชุดข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อใช้ในการออกแบบนโยบายที่มีความซับซ้อนในปัจจุบัน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้