เขียน: รัสมิ์กร นพรุจกุล / ชลิตา สุนันทาภรณ์
การออกแบบนโยบายสาธารณะ องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ คือข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกต้องของประชาชน เพื่อช่วยทำให้กระบวนการต่าง ๆ ในการจัดทำนโยบายสาธารณะสำเร็จตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น หากหน่วยงานของรัฐได้รับข้อมูลของประชาชนที่ครบถ้วน และมีจำนวนมากเพียงพอ ทำให้การวางแผนเพื่อนโยบายนั้น เป็นไปอย่างตรงเป้าและครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น
แต่หากมีคนเข้ามาขอสอบถามข้อมูลส่วนตัวของคุณ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ – นามสกุล เลขบัตรประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ คุณจะยอมให้ข้อมูลเหล่านี้หรือไม่? – คือข้อสงสัยที่สถาบันฯ ต้องการหาคำตอบ
การสร้างสังคมที่มีความไว้วางใจและขับเคลื่อนด้วยข้อมูลไปพร้อมกัน จึงเป็นสังคมในฝันที่ทางสถาบันฯ ต้องการก้าวไปให้ถึง และนี่คือบทสรุปจากงานประชุมวิชาการประจำปี ในหัวข้อ “Thailand 2020s and Beyond: Building a Better Society Together” ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 ชั้น 5 อาคารสามย่านมิตรทาวน์ ได้มีการบรรยายในหัวข้อ “Building a Trust and Data-Driven Society” โดย ผศ. ดร.ณัตติฤดี เจริญรักษ์ หัวหน้า Public Opinion and Dialogue Lab และ ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ หัวหน้า Data and Intelligence Lab เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา
Building a Trust Society: สรรสร้างความไว้ใจเพื่อการออกแบบนโยบายสาธารณะที่ดี
สังคมที่มีการไว้วางใจกัน (trust) ย่อมเป็นหนึ่งในความปรารถนาของการพัฒนาที่ดี เมื่อประชาชนให้ความไว้วางใจกับภาครัฐ และยินดีมอบข้อมูลส่วนตัวที่ถูกต้องให้กับหน่วยงานของรัฐ ข้อมูลที่ได้จะกลายเป็นข้อมูลที่สำคัญ และเมื่อผนวกกับข้อมูลเดิมในส่วนอื่น ๆ ที่ภาครัฐมีอยู่แล้วในหลายมิติจะยิ่งส่งเสริมให้สังคมเป็นสังคมที่ดีขึ้น
“ในสังคมที่มีความไว้วางใจกันและสังคมของการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เมื่อประชาชนให้ความไว้วางใจกับหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนจะยินดีมอบข้อมูลส่วนตัวที่ถูกต้องให้กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่ถูกต้องนี้ไปใช้ ก่อให้เกิดนโยบายสาธารณะและการพัฒนาที่ดีตามมา” ผศ. ดร.ณัตติฤดี เจริญรักษ์ หัวหน้า Public Opinion and Dialogue Labกล่าว
ผศ. ดร.ณัตติฤดี ได้บอกเล่าถึงงานวิจัยชิ้นสำคัญที่ทางสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ได้ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ศึกษาความไว้วางใจของประชาชน ในการให้ข้อมูลของประชาชนต่อหน่วยงานภาครัฐ ผ่านการให้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ในการสำรวจสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2556 และการสำรวจการเปลี่ยนแปลงประชากร พ.ศ. 2558 – 2559 ซึ่งการสำรวจดังกล่าว ได้เก็บข้อมูลจากตัวอย่างทั่วประเทศ จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ทั้ง 2 ชุดข้อมูล มีผู้ตอบแบบสำรวจให้หมายเลขบัตรประชาชนประมาณ 65% โดยผู้อยู่อาศัยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็น 2 ภาค ที่ให้ข้อมูลมากที่สุด นอกจากนี้ ข้อมูลจากแบบสำรวจทั้ง 2 ชุดนั้นพบว่า ผู้ที่มีแนวโน้มในการให้ข้อมูลหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักส่วนใหญ่นั้น จะที่มีที่อยู่อาศัยในนอกเขตเทศบาล มีรายได้น้อย และอยู่ในกลุ่ม baby boomer (56-74 ปี) ทั้งนี้ การศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อจำกัด ในการตรวจสอบความถูกต้องหมายเลขบัตรประชาชน ที่ได้รับจากแบบสำรวจ
ผศ. ดร.ณัตติฤดี กล่าวว่านอกจากการศึกษาความไว้วางใจของประชาชนต่อภาครัฐ ผ่านหมายเลขบัตรประชาชน สถาบันฯ ยังได้ศึกษาการให้ข้อมูลช่องทางการติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือ บัญชีอีเมล และบัญชี Line (LINE application) ผ่านการสำรวจสภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.ศ. 2563 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รวบรวมแบบสำรวจจากทั่วประเทศในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า จากจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 35,053 คน ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ให้ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์จำนวนมากที่สุดถึง 56.17% รองลงมา ได้แก่ บัญชีไลน์ (14.24%) และอีเมล (1.84%) ตามลำดับ
ทั้งนี้ ผศ. ดร.ณัตติฤดี ระบุว่า ช่วงวัยส่วนใหญ่ที่ให้ทุกช่องทางการติดต่ออยู่ในช่วง Gen Z (อายุน้อยกว่า 19 ปี) โดยผู้ที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่จะให้อีเมล ในขณะที่ผู้ที่มีรายได้น้อยมักจะให้หมายเลขโทรศัพท์มือถือและบัญชีไลน์ นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบว่า ผู้ให้ข้อมูลช่องทางการติดต่อส่วนใหญ่นั้น จะเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในภาคใต้อีกด้วย
ไม่เพียงการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากแบบสำรวจเท่านั้น สถาบันฯ ยังได้ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่อยู่อีเมลที่ได้รับจากการสำรวจสภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.ศ. 2563 โดยทำการทดสอบผ่าน Voice platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการสำรวจออนไลน์ของสถาบันฯ ผ่านการตอบแบบสำรวจ เรื่องการรับรู้ความเสี่ยง พบว่าจากจำนวนอีเมล 513 บัญชี สามารถส่งได้สำเร็จทั้งสิ้นเพียง 391 บัญชี ในขณะที่อีก 122 บัญชี นั้นเป็นอีเมลที่ไม่มีอยู่จริง ถือเป็นสัดส่วนกว่า 24% ของข้อมูลที่อยู่อีเมลที่ได้รับ
จากการศึกษาวิจัยเบื้องต้นในครั้งนี้สรุปได้ว่า จึงเกิดเป็นคำถามสำคัญว่า หน่วยงานภาครัฐจะมีมาตรการอย่างไรในการเสริมสร้างและเพิ่มความไว้วางใจของประชาชนในการให้ข้อมูลและเป็นโจทย์ใหญ่ที่สถาบันฯ จะทำการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
“วิธีการสร้างความไว้วางใจในเรื่องของการให้ข้อมูลนั้นสามารถทำได้ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงประโยชน์ของการใช้ข้อมูลนั้น ๆ การสร้างความเชื่อมั่นว่าข้อมูลของประชาชนจะถูกเก็บรักษาอย่างปลอดภัย และการดำเนินการเก็บข้อมูลที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้” ผศ. ดร.ณัตติฤดี เสนอ
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์ในการศึกษาครั้งนี้นั้น ผศ. ดร.ณัตติฤดี กล่าวว่าสถาบันฯ ได้ทำการทดลองและศึกษาวิจัย จากหมายเลขโทรศัพท์มือถือและบัญชีไลน์ เพื่อดูผลจากการตอบรับจากประชาชนต่อไป ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลที่สถาบันฯ ได้รับจากการสำรวจในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานสถิติแห่งชาติ และนโยบายการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของสถาบันฯ
Building a Data-Driven Society: ขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล
นอกจากการศึกษาความไว้วางใจของประชาชน ในการให้ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว การสร้างสังคมให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เป็นอีกหนึ่งความฝันที่ทางสถาบันฯ ต้องการไปให้ถึง โดย ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ หัวหน้า Data and Intelligence Lab อธิบายว่า Data-Driven Society คือ สังคมที่ขับเคลื่อนจากไม่รู้เป็นรู้ด้วยข้อมูล รู้เร็ว ย่อกระบวนการจัดการข้อมูล เพื่อให้นักวิเคราะห์ทำงานได้นานขึ้น รู้กว้าง เปิดโอกาสในการวิเคราะห์ที่หลากหลายและกระจายโอกาสในการวิเคราะห์ข้อมูลไปสู่ท้องถิ่น
อีกหนึ่งงานสำคัญของ Data and Intelligence Lab จึงเป็นการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือเพื่อแสดงผลและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในมิติต่าง ๆ เช่น ประชากร เศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสาธารณะและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปวิเคราะห์และออกแบบนโยบายสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ การทำให้สังคมเราเป็น data-driven ข้อมูลต้องเข้าถึงง่าย และควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสามารถนำข้อมูลเหล่านั้น ไปใช้ในการออกนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยเหตุนี้ ภายในงานดังกล่าว สถาบันฯ จึงได้เปิดตัว IPPD Data Map เครื่องมือที่ทาง Data & Intelligence Lab พัฒนาขึ้นมา ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยทำให้ผู้ออกแบบนโยบายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถศึกษาความเชื่อมโยงและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างชุดข้อมูลและระหว่างแต่ละพื้นที่ สร้างความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในบริบทต่าง ๆ ได้อย่างบูรณาการมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นยังสามารถช่วยชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่มีความสำคัญในการพัฒนา และนําไปสู่การออกแบบมาตรการหรือนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลและหลักฐาน
ฐิติพงษ์ ระบุว่า IPPD Data Map สามารถนำเสนอข้อมูลได้หลากหลายมิติ โดยเครื่องมือดังกล่าวจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูลและความรู้เพิ่มมากขึ้นใน 3 ด้าน ได้แก่
รู้เร็ว ระบบจัดการข้อมูลหลากหลายชุดให้พร้อมต่อการวิเคราะห์ ย่นเวลาการจัดการข้อมูลที่มักเป็นอุปสรรคในการทำงานด้านข้อมูล เพิ่มเวลาในการวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การออกนโยบายได้เร็วขึ้นและถี่ขึ้น ไปจนถึงการใช้ระบบนี้เพื่อวัดผลนโยบายในอนาคตด้วย
รู้กว้าง ระบบถูกสร้างบน grid ที่มีหลากหลายขนาด ซึ่งช่วยให้วิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายได้ เช่น ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์กับข้อมูลผารสำรวจความคิดเห็นในพื้นที่ขนาด 1 ตารางกิโลเมตร เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นการกระจายโอกาสในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เคยกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ให้ขยายไปสู่ท้องถิ่น
รู้ลึก ระบบเปิดให้วิเคราะห์ข้อมูล 1-4 ชุดพร้อมกัน โดยสามารถกดดูได้ทั้งในรูปแบบ Grid และพื้นที่การปกครอง โดยมีแผนที่ Heatmap แสดงข้อมูลเบื้องต้น และสามารถเจาะลึกเพื่อเปิด Data visualization เพื่อวิเคราะห์เจาะลึกบนเว็บไซต์ได้ทันที โดยไม่ต้องใช้ซอฟต์แวร์อื่นเพิ่มเติม
นอกจากนั้นแล้ว IPPD Data Map ยังสามารถเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยน และสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรอื่น ๆ ทั้งระดับภาครัฐ เอกชน และประชาคมได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการสืบสานเป้าประสงค์ของสถาบันฯ ในการสร้างสังคมที่ดีมีคุณภาพอย่างยั่งยืน
“จากดัชนีเรื่อง Global Open Data Index ในปี 2015 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 42 จาก 122 แต่เราสามารถไปถึงเลขหลักเดียวได้ ถ้าเราปลดล็อคการใช้ข้อมูล การสร้างเครื่องมือเพื่อแปลงข้อมูลที่เคยเข้าถึงยากมาเป็นนโยบายสาธารณะก็เป็นวิธีหนึ่ง เมื่อข้อมูลถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น คนที่มีข้อมูลก็อยากเปิด เพราะเขาเห็นว่ามีประโยชน์ ทั้งกับองค์กรและกับการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า” ฐิติพงษ์ ทิ้งท้าย