เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์ / รัสมิ์กร นพรุจกุล
ภาพ: กานต์ ศุภจารุกิตติ์
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ดูจะมีทีท่าที่จะไม่สิ้นสุดง่าย ๆ เมื่อยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งไปมากถึง 50 ล้านคนแล้ว ทั้งยังมีหลายภาคส่วนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงวัย ที่เป็นที่ห่วงใยของใครหลายคน
จึงกลายเป็นที่มาของงานเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “ความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุไทยในยุค COVID-19” จัดขึ้นโดยโครงการ “จุฬาอารี” วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA Thailand) กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ ห้องประชุม Social Innovation Hub ชั้น 1 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอโครงการวิจัยเรื่องความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงวัย ทั้งในระดับกรุงเทพฯ และระดับประเทศ พร้อมทั้งร่วมกันหาแนวทางแก้ไข และการพร้อมรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากนี้
โดยภายในงานดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก คุณนาจิบ แอสซิฟี (Mr. Najib Assifi) รักษาการผู้อำนวยการ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงาน โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศ ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในการจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และมีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน ชุมชนและประชาชนเอง
งานวิจัยการสำรวจความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุไทยในยุคโควิด-19 และนัยสำคัญเชิงนโยบาย (Implications of COVID-19 on well-being of Thai older persons: evidence from surveys) โดย รศ. ดร.วิราภรณ์ โพธิศิริ และ ผศ. ดร.รักชนก คชานุบาล จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ ต่างประสบปัญหาเรื่องความอยู่ดีมีสุขในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพกายและใจ โดยผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบในทุกมิติมากกว่า โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ
เนื่องจากผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่ยังคงทำงาน เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ อีกทั้งยังไม่สามารถออกไปไหนได้ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ ยิ่งทำให้สุขภาพจิตแย่ลงตามไปด้วย ดังนั้น สำหรับข้อเสนอแนะถึงแนวทางต่อจากนี้นั้น ภาครัฐจำเป็นต้องรีบหาทางออก เพื่อป้องกันปัญหา โดยเฉพาะการลดความยากจน ป้องกันคนจนเมืองและส่งเสริมพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ในทุกมิติ
วงเสวนาปรับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดนโยบายพฤฒพลังในยุค COVID-19 (Paradigm shift on active aging policy in the context of COVID-19) โดยมีผู้ร่วมวงเสวนา ได้แก่ ดร.วาสนา อิ่มเอม หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย ศ. ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร และ คุณจารุวรรณ ศรีภักดี ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ กรมกิจการผู้สูงอายุ และคุณพิชชาภา จุฬา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) โดยได้รับเกียรติจาก คุณโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหาร a day BULLETIN เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ในโอกาสนี้ คุณพิชชาภาผู้ช่วยอำนวยการสถาบันฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า การกำหนดนโยบายนั้น ต้องเริ่มจากมองภาพกว้าง โดยทางสถาบันฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เก็บข้อมูลทั่วประเทศ เพื่อทำการสำรวจและศึกษา เกี่ยวกับความสุขและความหวังโดยพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุนั้นมีความเปราะบางมากที่สุด และให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชีวิต นอกจากนี้ สถาบันฯ ค้นพบว่ามีผู้สูงอายุที่มีแหล่งรายได้มากกว่า 1 แหล่ง (Gig Economy) ถึง 9% ซึ่งการมีแหล่งรายได้มากกว่าหนึ่งแหล่งนั้น จะเป็นเกราะป้องกัน และเป็นวัคซีนภูมิคุ้นกันมากกว่าแหล่งรายได้เดียว นอกเหนือจากนั้นแล้ว การที่จะมีนโยบายที่สามารถตอบโจทย์กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสม จึงเป็นเหตุผลที่ทางสถาบันฯ มุ่งสร้างเครื่องมืออย่าง IPPD Map เพื่อแสดงให้เห็นข้อมูลในเชิงพื้นที่ในแต่ละด้าน และสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ร่วมกันได้ ช่วยในการศึกษาและหาคำตอบนโยบายที่เหมาะสมต่อไปกับทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่ออุดช่องโหว่ง ประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และร่วมกันสรรค์สร้างสังคมที่ดีมีสุข ให้แก่ทุกคนทุกวัยอย่างยั่งยืน