ร่วมมือร่วมใจ รับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน

“รู้หรือไม่ว่า ปี พ.ศ.2562 สัดส่วนผู้สูงอายุจะมากกว่าเด็กเป็นครั้งแรก และในปีหน้า สัดส่วนผู้สูงอายุจะมากกว่าเด็กถึง 20%

ก่อนอื่น เรามาดูกันว่า ‘สังคมผู้สูงอายุ’ คืออะไร?

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมี 3 ระดับ คือ

  1. ‘สังคมผู้สูงอายุ’ (Aging Society) ขั้นแรก คือ ประเทศที่มีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7%

  2. หากประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มมากกว่า 20% หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% จะถือว่าเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์’ (Aged Society)

  3. ระดับสุดท้ายคือ ‘สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่‘ (Super-aged Society) จะมีผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20%

แต่ไม่ต้องตกใจไป ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่เผชิญกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ทั่วโลกเองก็ต่างเจอปัญหานี้เช่นกัน

IPPD ได้รวบรวมข้อมูลจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของผู้สูงอายุและอัตราการเจริญพันธุ์ของแต่ละประเทศ ซึ่งต่างก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

มาดูกันว่าผู้สูงอายุในประเทศเหล่านั้นเป็นอย่างไร ? และแต่ละประเทศมีวิธีรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นไรกันบ้าง ?

จากข้อมูลในปี พ.ศ.2543 นั้น ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 6.5% และเพิ่มขึ้นเป็น 12.32% ในปี พ.ศ.2562 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายใน 20 ปี ขณะที่สถิติการเกิดของเด็กไทยในปี พ.ศ.2543 อยู่ที่ 1.67% ลดน้อยลงเหลือเพียง 1.44% ในปี พ.ศ.2562

ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น รัฐบาลไทยจึงได้ผลักดันให้ประเด็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยออก ‘แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564)’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ.2564 อีกทั้งในแผนฯ ดังกล่าวยังมียุทธศาสตร์สำหรับจัดการกับโครงสร้างของสังคมและประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย เช่น ให้การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ผู้สูงอายุ ส่งเสริมการทำงานและหารายได้ของผู้สูงอายุ การประกันรายได้ผู้สูงอายุ เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้กำหนดตัวบทกฎหมายให้เข้ากับบริสังคมที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเริ่มพูดถึงผู้สูงอายุเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2534 และในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ก็ได้ระบุไว้ว่า ‘บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ’ จึงเกิดโครงการอย่าง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2536 และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

จากนโยบายทั้งหมดที่กล่าวมานั้น รัฐบาลมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และให้ความรู้ประชาชนทุกวัยเพื่อเตรียมพร้อมการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคต

ที่มา: 

https://bit.ly/33pwmd0
https://bit.ly/2Q8SK6T
https://bit.ly/2pSnCh4
                                                                              

ในปัจจุบัน เกาหลีใต้ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากสถิติที่ IPPD ได้รวบรวมพบว่าปีพ.ศ. 2562 เกาหลีใต้มีอัตราการเจริญพันธุ์เพียง 1.35% ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 15% เพิ่มขึ้นกว่า 5% จากปีพ.ศ. 2553 และภายในปี พ.ศ. 2569 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มที่ กล่าวคือ จะมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศและแนวโน้มของวัยหนุ่มสาวก็ยังลดลงประมาณ 0.3% ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้เกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแต่รายงานของ The Guardian ได้ระบุว่า กลุ่มผู้สูงอายุทั่วประเทศนั้นมีสัดส่วนยากจนครึ่งหนึ่งของทั้งหมด กล่าวคือ กว่า 50% ของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือคิดเป็นเงินไทยราว 60 บาท) ต่อวัน อีกทั้งหลาย ๆ คนยังต้องใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านอีกด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้มีความพยายามที่จะผลักดันนโยบายเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้สูงอายุ ในปีพ.ศ. 2542 จึงได้ผลักดันระบบประกันแบบบำนาญ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากจำเป็นจะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาหนี้สาธารณะและการคลังของประเทศ จึงได้ออกนโยบายใหม่โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้ง ‘ศูนย์สวัสดิการสังคม’ ซึ่งจะคอยให้บริการแก่ผู้สูงอายุฟรีตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกับภาครัฐ เช่น คลินิกทันตกรรม ร้านอาหาร ร้านทำผม เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุเองก็ได้ทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนชุมชนเช่นกัน เช่น การเล่นดนตรี การทำกิมจิแจกจ่ายคนในชุมชน ทำให้ผู้สูงอายุได้เห็นคุณค่าในตัวเองเช่นกัน ปัจจุบันศูนย์สวัสดิการสังคม มีประมาณ 500 แห่งทั่วประเทศ จากจุดต้นเริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2549 เพียง 4 แห่ง

ที่มา: 

https://bit.ly/2Q4MGfD
https://bit.ly/2PU6xhr
https://bit.ly/2PW9bTF

จากข้อมูลที่ IPPD ได้เก็บรวบรวมพบว่า ปีพ.ศ. 2562 มาเลเซียมีผู้สูงอายุอยู่ที่ 6.75% เพิ่มขึ้นจาก ปีพ.ศ. 2543 ประมาณ 3% ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ปัจจุบันอยู่ที่ 1.98% ลดลงจากปีพ.ศ. 2543 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 2.78% นอกจากนี้ รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย พบว่า ภายในปีพ.ศ. 2563 มาเลเซียมีแนวโน้มที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยจะมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 3.3 ล้านคน (11%) จากประชากรทั้งประเทศ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายเพื่อผู้สูงอายุแห่งชาติแต่ปีพ.ศ. 2538 และมีการปรับปรุงอีกครั้งให้เข้ากับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2554 เพื่อพัฒนาศักยภาพและเข้าถึงโอกาสในด้านต่างๆ เช่น การทำงาน การได้รับความช่วยเหลือทางสังคม เป็นต้น

ไม่ใช่เพียงนโยบายเพื่อผู้สูงอายุเท่านั้น แต่แผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2559 – 2563) ของมาเลเซียเอง ก็ได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ โดยได้ระบุเป็นยุทธศาสตร์ที่จะต้องมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อผู้สูงอายุ เช่น ระบบสาธารณูปโภค และขยายศูนย์บริการเพื่อผู้สูงอายุในแต่ละชุมชนด้วย รวมทั้งรัฐบาลจะมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เหมาะกับโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียมองว่าปัญหาสังคมผู้สูงอายุไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวภาครัฐเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงครอบครัวในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในสังคมให้ดียิ่งขึ้นด้วย

ที่มา: 
https://bit.ly/2K1Hlls
https://bit.ly/32uMFns
https://bit.ly/33trqE3

แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุช้าที่สุดจาก 5 ประเทศที่ IPPD ได้รวบรวมข้อมูลมาก็ตาม แต่หากมองภาพรวมทั้งหมดแล้ว อินโดนีเซียนั้นยังมีปัญหาคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ อยู่เช่นกัน

ในปี 2543 อินโดนีเซียมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 4.71% และเพิ่มขึ้นเป็น 5.6% ภายในระยะเวลา 20 ปี ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ก็ลดลงจาก 2.51% ในปี 2543 เหลือ 2.29% ในปี 2019 นอกจากนี้ รายงานจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund – UNFPA) คาดการณ์ว่าในปี 2578 ตัวเลขผู้สูงอายุจะพุ่งขึ้นไปถึง 15.8% หรือคิดเป็น 48.2 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุวัยเกษียณของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังคงทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว ต้นปีพ.ศ. 2562 ที่ผ่านมารัฐบาลจึงได้ปรับการเกษียณอายุให้สูงขึ้น จาก 56 ปีเป็น 57 ปี และมีแผนจะปรับเป็น 65 ปีในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน อีกทั้งยังวางแผนเพื่อออกนโยบายรับมือกับสังคมผู้สูงอายุโดยเน้นความสำคัญในการสร้างความมั่นคงและสร้างโอกาสในการทำงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดอบรมเพิ่มทักษะให้กับผู้สูงอายุ เป็นต้น

ด้านสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มดำเนินการนโยบายเพื่อผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 ผ่าน ‘แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ’ เพื่อจัดสวัสดิการที่ผู้สูงอายุควรได้รับ เช่น การเข้ารับการรักษาพยาบาล และการสนับสนุนด้านโภชนาการให้กับผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ อินโดนีเซียมีแผนที่จะจัดสรรสวัสดิการด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุมผู้สูงอายุทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้สูงอายุในชนบทและคนยากจนมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูความสัมพันธ์แบบครอบครัวใหญ่ เพื่อให้ลูกหลานได้ช่วยดูแลผู้สูงอายุในบ้าน และจัดให้มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุภายในชุมชนอีกด้วย

ที่มา: 

https://bit.ly/2K3cYLf
https://bit.ly/2CmXRYH
https://bit.ly/36MYCZ2

เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากสถิติที่ IPPD ได้ทำการรวบรวมมานั้นพบว่าเวียดนามมีตัวเลขผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 6.42% ในปีพ.ศ. 2543 เป็น 7.72% ในปีพ.ศ. 2562 และอีก 15-20 ปีข้างหน้า เวียดนามจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์มีแนวโน้มลดลง โดยปีพ.ศ. 2543 มีสัดส่วนอยู่ที่ 2.01% และในปัจจุบันมีสัดส่วนที่ลดลงจนมาอยู่ที่ 1.94% ซึ่งสาเหตุนั้นมาจาก ‘นโยบายลูกสองคน’ ของรัฐบาล ที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531ในการจำกัดอัตราการเจริญพันธุ์ในยุคหลังสงครามเวียดนาม จึงได้ออกกฎหมายเพื่อกำหนดให้หนึ่งครอบครัวสามารถมีลูกได้เพียงสองคน แต่ในปีพ.ศ. 2558 รัฐบาลเวียดนามกลับผ่อนปรนกฎหมายนี้เพื่อสนับสนุนให้มีอัตราการเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้รัฐบาลวางแผนที่จะปรับเปลี่ยนการเกษียณอายุจาก 58 ปี เป็น 62 ปี ซึ่งจะสนับสนุนให้คนสูงอายุมีงานทำและมีรายได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม แผนนี้ยังคงมีปัญหาอยู่ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ของเวียดนามนั้นทำงานในภาคเกษตร หรือเป็นแรงงานรับจ้าง ซึ่งหากมีการปรับเพิ่มจริงอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้สูงอายุได้

ดังนั้น รัฐบาลเวียดนามจึงออกนโยบายอื่น ๆ ผ่าน ‘แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับปีพ.ศ. 2555-2563’ เพื่อรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป เช่น นโยบายประกันสังคมโดยเน้นไปที่การเพิ่มคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงความช่วยเหลือของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น เป็นต้น โดยปัจจุบัน กว่า 96% ของผู้สูงอายุชาวเวียดนามได้มีบัตรประกันสุขภาพเรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีการจัดตั้งสมาคมผู้สูงอายุเวียดนามเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐกับประชาชน

ที่มา: 

https://bit.ly/2NSGp3D
https://bit.ly/2PXEnCb
https://bit.ly/34KGsWj