เขียน: รัสมิ์กร นพรุจกุล
สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2563 ในหัวข้อ “Thailand 2020s and Beyond: Building a Better Society Together” ในวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ 1 อาคารสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานของสถาบันฯ ที่ได้จัดทำขึ้นตลอดระยะเวลาที่ได้ดำเนินการมา โดยเริ่มต้นด้วยการเปิดประเด็นชวนคิดชวนคุย โดย ดร. นพ. สรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ในประเด็น Thailand 2020s and Beyond: Building a Better Society Together ด้วย 3 คำถาม ได้แก่ ความสุขของคนไทยเป็นอย่างไร? คนไทยมีความเปราะบางแค่ไหน? และคนไทยมีความหวังกับอนาคตมากเพียงใด?
การสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นน่าอยู่ขึ้น เป็นสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ และภาคประชาชนต่างมุ่งมั่นนอกจากความมุ่งมั่นแล้ว ดร. นพ. สรภพ ยังเชื่อว่าเราสามารถทำให้สังคมที่ดีขึ้นได้จริง โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันคิดและร่วมกันทำ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้ร่วมมือภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) สำนักงานสถิติแห่งชาติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เพื่อร่วมกันวิจัย พัฒนา และออกแบบนโยบายระยะยาวเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับการออกแบบนโยบายที่ดีนั้น จำเป็นที่จะต้องมองภาพในระยะยาว เพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน ไม่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า นอกจากนี้ ยังต้องเน้นให้คนเป็นเป้าหมายและเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการพัฒนาเท่านั้น และการออกแบบนโยบายจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงลึก มีหลักฐานที่หนักแน่น ผ่านการทดสอบและทดลองแล้ว
“สยาม” ยังยิ้มได้หรือไม่?
สถาบันฯ ได้แสวงหาตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับการนำมาใช้พัฒนาประเทศ และได้นำประเด็นเรื่อง “ความสุข-ความเสี่ยง” มาใช้ในการศึกษาวิจัย ข้อมูลจากรายงาน World Happiness Report ประจำปีพ.ศ. 2563 ที่ ดร. นพ. สรภพ ได้นำมาแสดง ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความสุขอยู่ในอันดับที่ 54 จาก 145 ประเทศ ซึ่งอยู่ในอันดับกลาง ๆ คล้ายคลึงกับคำพูดที่ว่า “ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง” เช่นเดียวกันกับเรื่องของความสุข คนไทยเองก็ดูเหมือนว่าจะ “ติดกับดักความสุขปานกลาง” ด้วยเช่นกัน คนไทยไม่ได้มีเศร้ามาก แต่ก็ไม่ได้มีความสุขที่สุดเช่นกัน
เพื่อสำรวจความสุขของคนไทยทั้งประเทศ สถาบันฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการเก็บข้อมูลว่าความสุขของคนไทยเป็นอย่างไร โดยได้จัดทำในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยทำการสำรวจแบบสุ่มตัวอย่างจำนวน 46,600 คน ทั่วประเทศ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างที่สามารถแสดงผลที่เป็นตัวแทนความเห็นของประชาชนไทยได้ แสดงให้เห็นมุมมองความสุขที่หลากหลายของคนไทย ทั้งในเรื่องปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสุขที่แตกต่างกันออกไป เช่น บ้างว่าเงินคือปัจจัยที่มีผลอันดับหนึ่ง บ้างว่าเป็นเรื่องของความรักในครอบครัว หรืออาจจะเป็นความมั่นคงในชีวิต การแสดงออกได้อย่างอิสระ ความแตกต่างเหล่านี้ส่งผลให้การให้คำนิยามความสุขของคนไทยมีหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน ดร. นพ.สรภพ จึงได้ตั้งคำถามชวนคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า “แล้วสมการความสุขของคนไทยจะมีหน้าตาอย่างไร?”
การศึกษาในครั้งนี้จึงได้นำเอาปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนความสุขของคนไทยมาวิเคราะห์ ได้แก่ การเงิน สุขภาพ ครอบครัว และความมั่นคงในชีวิต จากผลการสำรวจครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าคนไทยในจังหวัดต่าง ๆ ให้ความสุขไม่เหมือนกัน เช่น คนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร ให้คุณค่าความสุขในด้านการเงิน และสุขภาพ มากกว่าครอบครัว และความมั่นคงในชีวิต แต่หากไปดูผลการสำรวจของประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ จะพบว่าคนเชียงใหม่ให้น้ำหนักไปที่ครอบครัว และการเงิน ทางด้านคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ให้ความสุขไปที่การเงิน ความมั่นคง และสุขภาพตามลำดับ คนที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูเก็ตมองว่าการเงิน ความมั่นคง และสุขภาพ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขของตนตามลำดับ
ผลจากการศึกษาทำให้เห็นว่า ประชากรในแต่ละจังหวัดของไทยต่างให้น้ำหนักและความหมายของตัวแปรที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การออกแบบนโยบายจึงต้องดูความแตกต่างที่เกิดระหว่างพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์สมการความสุขให้เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของประชากรในพื้นที่นั้น
เมื่อความสุขมาพร้อมกับความเปราะบาง
ในช่วงการเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 กลุ่มธนาคารโลกได้จัดทำรายงานเพื่อดูความเปราะบางทางเศรษฐกิจ พบว่า เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยนั้นไม่ได้มีมากนัก โดยในช่วงระยะเวลา 10 ปี (ค.ศ. 2010 – 2019) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของไทยนั้นเพิ่มขึ้นถึง 32.7% แต่ความสุขหรือความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยกลับสวนทางกัน โดยลดลง -3.2% และในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานว่า GDP ของประเทศไทยลดลง -12.2% ในขณะที่ IPPD และสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าความสุขของคนไทยลดลงถึง -21.0% แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจและความสุข ไม่ได้เดินไปด้วยกันเป็นเส้นตรง และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ใด ๆ ขึ้น ก็ทำให้เห็นว่าความสุขของคนไทยเปราะบาง โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจของเราป่วยไข้
การวิเคราะห์ผลกระทบจากโควิดระดับครัวเรือน พบว่าครัวเรือนไทยร้อยละ 59.5 มีรายได้ลดลง (ร้อยละ 37.2 มีรายได้เท่าเดิม ร้อยละ 3.3 มีรายได้เพิ่มขึ้น) ในขณะที่ด้านรายจ่าย พบว่าครัวเรือนร้อยละ 51.2 มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 43.7 มีรายจ่ายเท่าเดิม และร้อยละ 5.1 มีรายจ่ายลดลง)
นอกจากนี้ ดร. นพ.สรภพ ได้แสดงผลการจัดอันดับ การมองคุณภาพชีวิตในอีก 5 ปีของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกของ Gallop World Poll พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 90 จาก 145 ประเทศ เมื่อมองเฉพาะประเทศไทย จากผลการศึกษาของ IPPD และสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทย 11.4% มองว่าอนาคตของตนจะแย่ลง และมีคนไทย 23.9% ที่ประเมินว่า ชีวิตของตนเองจะดีขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าตัวเลขที่บ่งชี้ถึงความหวังคนไทยจะไม่สูงนัก แต่การร่วมกันสร้างสังคมที่ดีขึ้นที่น่าอยู่ขึ้นโดยทุกภาคส่วนน่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ความหวังของคนไทยกลับมามีแสงสว่างมากยิ่งขึ้น