มองอนาคตผ่านเลนส์ของผู้รู้ (Experts’ Lens of Futures)

เรื่อง: ธนิตา พูนกุลพงษ์
พริมา สุวัณณาคาร
ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์

  • การมองอนาคต (foresight) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพื่อให้นโยบายมีความสอดคล้องกับอนาคต (future fit) ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
  • กระบวนการเดลฟี เป็นหนึ่งในเครื่องมือการมองอนาคต ที่มักจะถูกนำมาใช้สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีหัวใจสำคัญ คือภาคีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่มีความหลากหลาย

ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า เราอยู่ในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ที่ก่อให้เกิดสงครามการค้าระหว่างประเทศ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล และรวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่สั่นคลอนระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างฉับพลัน ดังนั้น เมื่อวันนี้ โลกของเราหมุนเร็วขึ้น เราก็จำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับมือกับแรงเหวี่ยงที่จะตามมา

การเตรียมพร้อมกับแรงเหวี่ยง ไม่ได้หมายถึงการใช้มาตรการในเชิงรับแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้มาตรการเชิงรุก ผ่านการวางแผนที่รอบคอบ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนในอนาคตด้วย ดังนั้น การวางแผนและออกแบบนโยบายสาธารณะด้วยการมองอนาคต (foresight) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับภาครัฐ โดยจำเป็นต้องพิจารณาแนวโน้มความเป็นไปได้ต่าง ๆ อันอาจส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องศึกษานัยสำคัญ ที่มีต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะให้ถี่ถ้วน ก่อนที่จะมีการกำหนดนโยบาย ทั้งนี้ นโยบายสาธารณะมีบทบาทสำคัญ ในการใช้เป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการพัฒนาประเทศในภาพรวม ถ้าหากการกำหนดนโยบายสาธารณะ อิงอยู่กับเพียงเหตุการณ์ในอดีตแต่เพียงอย่างเดียว และไม่ได้คำนึงถึงแนวโน้มต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นโยบายสาธารณะนั้นก็ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ใด ๆ ได้เลย เนื่องจากสถานการณ์ของโลกนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

รูปภาพ: การใช้ Foresight ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

การใช้ foresight ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ จะทำให้ภาครัฐสามารถคาดการณ์โอกาส และความท้าทายใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงสามารถสร้างนโยบายใหม่ ๆ จากโอกาสและความท้าทายดังกล่าว และสามารถทดสอบศักยภาพของนโยบายในการรับมือวิกฤตต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ foresight จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ในการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้ ทำให้ในปัจจุบัน foresight กลายเป็นแนวคิดที่สำคัญ สำหรับกำหนดนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับอนาคต (future fit) ในหลากหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ที่ได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ โดยจัดตั้งหน่วยงานหลักด้าน foresight เป็นส่วนหนึ่งของสำนักนายกรัฐมนตรี และมีหน้าที่สำคัญในการวิเคราะห์สัญญาณแนวโน้มต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินความเสี่ยง และออกแบบทิศทางการกำหนดนโยบายสาธารณะ ด้วยวิธีการเหล่านี้เอง ส่งผลให้ประเทศสิงคโปร์จัดว่าเป็นหนึ่งในประเทศ ที่มีศักยภาพสูงในการเตรียมพร้อม และรับมือกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

เครื่องมือสำหรับการมองอนาคต

การมองอนาคต (foresight) แตกต่างจากการการทำนายหรือพยากรณ์ (forecast) ที่เป็นเพียงการคาดการณ์อนาคต โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน ในขณะที่ foresight เป็นการพิจารณาความเป็นไปได้ของอนาคตในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยทั้งความคิดเชิงวิพากย์ และความคิดสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการและชุดเครื่องมือที่หลากหลายกว่า เช่น การจำลองอนาคต (scenario planning) การออกแบบวิสัยทัศน์ (visioning) และกระบวนการเดลฟี (Delphi method) เป็นต้น หนึ่งในวิธีการของ foresight ที่ได้รับความนิยม คือ “กระบวนการเดลฟี” ซึ่งถูกใช้ในการพิจารณาและระบุแนวโน้ม ที่ไม่สามารถหาข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนมาสนับสนุนได้ ณ เวลานั้น ตัวอย่างเช่น แนวโน้มในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี แนวโน้มในการนำเทคโนโลยีมาใช้ หรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคุณค่าด้านต่าง ๆ ในสังคม

กระบวนการเดลฟี (หรือบางครั้งถูกเรียกว่ากระบวนการเดลฟาย) ถูกพัฒนาขึ้นโดย Olaf Helmer และ Norman Dalkey นักวิจัยของสถาบัน RAND Corporation ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่สำคัญ ในการพัฒนาแนวคิดการคาดการณ์และการศึกษาอนาคต โดยกระบวนการนี้ ได้ถูกนำเสนอในบทความเรื่อง “An experimental application of the Delphi method to the use of experts” เมื่อปี 1962 ทำให้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศญี่ปุ่น เยอรมันนี เกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ในฐานะเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับประเทศ

กระบวนการเดลฟี เป็นการรวมรวมความคิดเห็นของคณะผู้เชี่ยวชาญ ผ่านการตอบคำถามในแบบสำรวจ อย่างน้อยสองรอบขึ้นไป โดยคำตอบในรอบแรกจะถูกวิเคราะห์ และส่งกลับให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน และผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน สามารถเปรียบเทียบคำตอบของตนเอง กับคำตอบของผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นได้ หลังจากนั้น จึงให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจว่าจะยืนยันคำตอบเดิม หรือประสงค์จะเปลี่ยนแปลงคำตอบของตนในรอบถัดไป ทั้งนี้ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญได้ตอบคำถามมากกว่าหนึ่งรอบ ประกอบกับการได้พิจารณาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ ผลคำตอบของกระบวนการเดลฟี จึงถือว่าได้รับการไตร่ตรองมาดีแล้ว และเป็นที่ยอมรับได้

รูปภาพ: แผนภาพขั้นตอนการจัดทำกระบวนการเดลฟี

ในปัจจุบัน สถาบัน RAND Corporation ได้พัฒนาเครื่องมือเดลฟีโดยใช้ชื่อว่า ExpertLens ซึ่งมีฐานสำคัญมาจากกระบวนการเดลฟี ที่มีขั้นตอนย่อยทั้งสิ้น 4 ช่วง ประกอบด้วย รอบที่ 0 การสร้างแนวความคิด รอบที่ 1 การประเมินขั้นต้น รอบที่ 2 การสนทนาและให้เหตุผล และรอบที่ 3 การประเมินใหม่

จุดเด่นของกระบวนการเดลฟี คือการระดมความคิดที่เน้นการทำซ้ำอย่างเป็นระบบ และให้ความสำคัญกับการไม่ระบุตัวตนของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และลดอิทธิพลของเสียงส่วนใหญ่ในระหว่างการตอบคำถาม ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนก็สามารถตอบคำถามได้ โดยไม่จำเป็นต้องประชุมร่วมกัน ทำให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในเรื่องของเวลา และสถานที่ที่ใช้ในการประชุมได้

อย่างไรก็ดี ข้อกำจัดของกระบวนการเดลฟี คือการพึ่งพาองค์ความรู้ และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในเครือข่าย และผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านจำเป็นที่จะต้องตั้งใจให้ความคิดเห็นอย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้สามารถนำผลลัพธ์ไปใช้วางแผน และออกแบบนโยบายสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อไป

ปัจจุบัน สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ภายใต้การนำของ Foresight & Futures Lab (FFL) ได้ศึกษาและพัฒนากระบวนการเดลฟี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลักในการวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มในอนาคต และกำลังสร้างภาคีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา เพื่อให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา และออกแบบนโยบายสาธารณะ ที่สามารถใช้ในการพัฒนาระยะยาว และยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งภาคีเครือข่ายนี้ จะเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนมุมมอง และตกผลึกการมองภาพอนาคตร่วมกัน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายเดลฟี เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพลิกโฉม การกำหนดนโยบายสาธารณะของชาติ และช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศต่อไปในระยะยาว

เพื่อให้กระบวนการของเรา เป็นกระบวนการที่เปิดกว้าง และน้อมรับแนวความคิดใหม่ ๆ จากทุกท่าน Foresight and Futures Lab ขอเชิญทุกท่าน ร่วมเสนอชื่อผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวข้องกับ “แนวโน้มเทคโนโลยีในอนาคตของประเทศไทย” เพื่อเข้าร่วมเครือข่ายเดลฟี (IPPD Delphi network) และมามีส่วนร่วมในการวาดภาพอนาคตของประเทศไทย ผ่านทาง แบบฟอร์มการเสนอชื่อ จนถึง 28 มิถุนายน 2563 หากท่านใดมีคำถาม หรือต้องการติดต่อเราโดยตรง สามารถติดต่อเราได้ที่ ffl@ippd.or.th