เขียน: วิทวัส พุคคะบุตร
เรียบเรียง: สุภาวดี ตันติยานนท์
กานต์ ศุภจารุกิตติ์
เป็นเวลากว่า 70 ปีแล้วที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำนโยบาย ติดตามและคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง โอกาส และปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเสนอความเห็น และให้คำแนะนำแก่รัฐบาล เพื่อให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้า และเพื่อเตรียมรองรับผลกระทบต่าง ๆ ที่ อาจเกิดขึ้นได้
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป คุณดนุชา พิชยนันท์ จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับผิดชอบและขับเคลื่อน ให้บทบาทหน้าที่ดังกล่าวของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทย
คุณดนุชาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า
“ปัญหาการระบาดของโรค COVID-19 สร้างผลกระทบต่าง ๆ แก่ประชาชนอย่างมาก ขณะเดียวกันในอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะประสบกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ อีกมากมายจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ เนื่องจากสภาพัฒน์ เป็นที่คาดหวังของสังคมในการช่วยนำพาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการวางทิศทาง การทำงานของสภาพัฒน์ในอนาคต จึงเป็นสิ่งสำคัญ”
บทบาทหน้าที่ และทิศทางการทำงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ของคุณดนุชา สามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่:
- การจัดวิธีการทำงานแบบใหม่ภายในองค์กร
- การสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์การพัฒนาระยะยาว ด้วยการวิจัยจากสถาบันนโนบายสาธารณะและการพัฒนาที่เป็นคลังสมองของประเทศ
- การร่วมงานกับภาคธุรกิจและเอกชน
- การสื่อสารนโยบายสาธารณะให้คนรุ่นใหม่เข้าใจ และมีส่วนร่วมมากขึ้น
การจัดวิธีการทำงานของสภาพัฒน์ ยุคใหม่
การทำงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยุคใหม่ เริ่มต้นด้วยการจัดวิธีการทำงานในรูปแบบ ‘Matrix Organization’ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ระบบราชการในองค์กรของเราถูกกำหนดมาแล้วโดยกฎกระทรวง โดยแบ่งเป็นกองหรือสำนักต่าง ๆ ที่รับผิดชอบภารกิจของสายงานนั้น เช่น สายเศรษฐกิจ สายการลงทุนภาครัฐ สายสังคม และสายสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากในอนาคตแต่ละประเด็นจะมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และมีมิติให้ต้องพิจารณาในหลายระดับ เรื่องเศรษฐกิจต้องดำเนินการควบคู่ไปกับเรื่องของสังคม การลงทุน และสิ่งแวดล้อมด้วย หากทำงานตามโครงสร้างส่วนราชการโดยให้สายงานที่รับผิดชอบทำงานแต่เพียงใน ฝ่ายตัวเอง หรือพิจารณาเพียงแค่มุมเดียว ก็คงจะทำให้การตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน และประเทศไม่ทันท่วงที”
“การจัดวิธีการทำงานด้วยระบบ Matrix Organization เป็นการดึงบุคลากรจากกองหรือสำนักต่าง ๆ มารวมกัน เป็นทีมเพื่อปฏิบัติภารกิจเฉพาะเรื่อง เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น ทั้งจากฝั่งนโยบายและประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสามารถติดตามคาดการณ์แนวโน้มปัญหาต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อวิเคราะห์ออกมาเป็นนโยบาย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี”
วิธีการทำงานดังกล่าวกระทำไปพร้อมกับ การสร้างองค์กรให้มี ‘บรรยากาศแห่งการเรียนรู้’
“การทำงานในรูปแบบนี้ ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันเป็นทีม หรือ cohesion มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการ รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันจนได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ และทำให้เจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ๆ หรือ young blood ของสภาพัฒน์ ได้มีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น เกิดการเรียนรู้และเปิดโลกทัศน์ของพวกเขา ในการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดทำนโยบาย และการมองปัญหาหลายมิติและครบถ้วนมากขึ้น”
การปฏิบัติงานตามแนวคิดข้างต้น ต้องกระทำภายใต้หลักการทำงานอย่าง ‘มีประสิทธิภาพ’ สร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วยความรวดเร็ว เที่ยงตรง ถูกต้องบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน และหลัก ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ หรือ accountability เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน
การสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์การพัฒนาระยะยาว ด้วยการวิจัยจากสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาที่เป็นคลังสมองของประเทศ
บทบาทหนึ่งที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับการคาดหวังคือการทำวิจัยประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันหลายมิติ ซึ่งต้องใช้ความรู้จากหลากหลายสาขา เพื่อออกแบบแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน และสอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลง ‘สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา’ (Institute of Public Policy and Development) จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็น ‘คลังสมอง’ (Think Tank) ของประเทศ และเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และดำเนินงานปฏิบัติภารกิจวิจัยเชิงลึก เพื่อนำไปสู่นโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และสร้างประโยชน์แก่ประชาชนในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
“ที่ผ่านมาเป็นช่วงเรียนรู้ของสถาบันฯ ซึ่งผลงานก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ก็มีการทำงานวิจัยเรื่องภัยพิบัติและเรื่องความสุขในอนาคตสำหรับประชาชน อีกทั้งวิจัยปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งกำลังดำเนินการกันอยู่ตอนนี้”
“การทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก จะทำให้สถาบันฯ ของเราสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่องค์กรเหล่านี้มีเพื่อเปิดมุมมองและได้รับข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งตัวอย่างความสำเร็จและล้มเหลวที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ นำไปสู่การสร้างนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมกับประเทศของเราได้ และรู้กลไกในการผลักดันให้นโยบายเหล่านั้น สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
คุณดนุชากล่าวต่อว่า แนวทางการทำงานของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาจะดำเนินไปในลักษณะของการสร้างเครือข่ายกับองค์กร ที่มีลักษณะเป็นคลังสมององค์กรอื่นๆ ในไทยด้วย เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อแลกเปลี่ยน มุมมองหรือทำการวิจัยร่วมกันในอนาคต รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และธนาคารโลก (World Bank) อีกด้วย
การร่วมงานกับภาคธุรกิจและเอกชน
คุณดนุชาได้ให้ความเห็น เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน สำหรับยุคนี้นั้นเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
“สภาพัฒน์ ไม่สามารถทำงานเพียงคนเดียวได้ เพราะผู้ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศจริงๆ คือภาคเอกชน” คุณดนุชากล่าว “สภาพัฒน์ ซึ่งเป็นส่วนราชการมีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเฉพาะการทำนโยบาย การพัฒนา และการจัดกฎระเบียบต่างๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้นบุคลากรของเราต้องเรียนรู้ด้วยว่า ภาคธุรกิจเอกชนมีความต้องการทางด้านทักษะแรงงานอย่างไรบ้าง โลกธุรกิจในอนาคตจะมีการปรับตัวไปในทิศทางใด และกฎระเบียบที่มีอยู่แล้วต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
คุณดนุชาตั้งใจว่า “จะทำงานประสานกับภาคเอกชน เพื่อช่วยกันนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง”
การสื่อสารนโยบายสาธารณะให้คนรุ่นใหม่เข้าใจ และมีส่วนร่วมมากขึ้น
ในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่าง ๆ นั้น การสื่อสารให้ประชาชน โดยเฉพาะ ‘คนรุ่นใหม่’ เข้าถึงและเข้าใจ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แต่ในช่วงที่ผ่านมาการเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับทราบนั้นกลับทำผ่าน การอธิบายเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องยากแก่ การเข้าใจ คุณดนุชาจึงต้องการปรับวิธีการสื่อสารใหม่ให้ย่อยง่าย และเป็นมิตรมากขึ้น
“เราจะสร้างวิธีการสื่อสารและกระจายความรู้ผ่านคลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก การจัดสัมมนาหรือเวิร์กช็อปที่ไม่ใช่การให้ คนมานั่งรวมกันในห้องใดห้องหนึ่ง แต่ทำผ่านเทคโนโลยีปัจจุบันที่สะดวกสบายมากขึ้น เช่น แอปพลิเคชั่น ZOOM เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้ามารับฟังข้อมูลที่ย่อยให้เข้าถึงได้ง่ายแล้วว่าทำไมต้องมีนโยบายสาธารณะเรื่องนี้ จะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่พวกเขาอย่างไร และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสซักถาม และแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกับคนทำงานด้วย”
วิธีการสื่อสารในรูปแบบดังกล่าว จะช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไป ที่แต่เดิมมองว่านโยบายสาธารณะเป็นเรื่องไกลตัว ขณะเดียวกันก็เป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่พบเห็น หรือประสบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้โดยตรง รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่เริ่มให้ ความสนใจต่อประเด็นสังคมมากขึ้น
“ประเทศไทยยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ต้องการการแก้ไข คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มสำคัญที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ สภาพัฒน์ และสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาจะเข้ามารับฟังปัญหา และทิศทางของประเทศไทยที่คนรุ่นใหม่อยากเห็นในวันข้างหน้า เพื่อนำมาประกอบการทำงาน วิเคราะห์ วิจัย เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะในอนาคต ซึ่งเรากำลังจะจัดทำช่องทางต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อรับฟังเสียงของทุกคนและร่วมกันแก้ปัญหาให้ประเทศไทยพัฒนาต่อไป”