Online Survey: คนไทยพร้อมไหมกับการทำแบบสำรวจ

เรื่อง: กานต์ ศุภจารุกิตติ์
เรียบเรียง: ผศ. ดร. ณัตติฤดี เจริญรักษ์, อธิโชค พิมพ์วิริยะกุล
  • แบบสำรวจเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับเก็บรวบรวมความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ผู้ออกแบบและพัฒนานโยบายสาธารณะสามารถนำความคิดเห็นนั้นไปใช้เป็นการผลิตนโยบาย การสร้างแบบสำรวจเพื่อรวบรวมความคิดเห็นจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในประเทศของตน
  • แบบสำรวจกับความพร้อมของสังคมออนไลน์ในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ส่งผลให้การทำแบบสำรวจมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ใช้วิธีการยื่นแบบสำรวจเมื่อเจอประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เปลี่ยนเป็นการใช้แบบสำรวจในสังคมออนไลน์ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย รวดเร็ว และมีความแม่นยำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สังคมออนไลน์ของไทยมีความพร้อมหรือไม่ในการทำแบบสำรวจ จำเป็นต้องมองให้รอบด้านถึงปัจจัยความพร้อม อาทิ ข้อดีข้อเสียของแบบสำรวจ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น และเทรนด์ในช่วงนั้น ๆ เป็นต้น

ที่มา ความสำคัญ และประโยชน์ของการทำแบบสำรวจ

การทำแบบสำรวจเกิดขึ้นได้อย่างไร ? นับตั้งแต่มีการปฏิวัติฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้น ทำให้ผู้นำเริ่มอยากเข้าใจความคิดเห็นของประชาชนว่าคิดอย่างไรมากขึ้น (Rhodes, 2018) เพื่อที่ผู้นำจะได้คาดการณ์การเลือกตั้งและปฏิบัติตามนโยบายที่ได้รับความคิดเห็นจากประชาชน ในเวลาต่อมาจากการสร้างแบบสำรวจกลายเป็นโพลที่แสดงถึงแนวโน้มต่างๆของเหตุการณ์บ้านเมือง จากโพลกลายเป็นข่าวสารถึงความเป็นไปได้ในด้านนโยบายและการบริหารประเทศที่ประชาชนก็ได้รับผลประโยชน์ถึงแนวโน้มต่างๆด้านเหตุการณ์ของเมืองเช่นกัน

มากไปกว่านั้น ด้วยสังคมโลกที่มีการเติบโตตลอดเวลาตามเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การทำแบบสำรวจ การสร้างโพล ได้เกิดขึ้นบนแพลทฟอร์มออนไลน์ ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และยังทำให้การแสดงความคิดเห็นได้รับจากกลุ่มคนทุกช่วงวัยในเวลาที่รวดเร็วกว่าการทำแบบสำรวจแบบออฟไลน์

ข้อดี ข้อเสียของการทำแบบสำรวจ

การทำแบบสำรวจมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ?
การทำแบบสำรวจเป็นประโยชน์หรือให้โทษอย่างไรกับประชาชนและการถามความคิดเห็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ?

ข้อดีของการทำแบบสำรวจ มีหลากหลายอย่าง เช่น การรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นได้อย่างรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่น้อย หรือในกรณีของการทำแบบสำรวจออนไลน์ก็จะลดค่าใช้จ่ายในการสร้างและเผยแพร่แบบสำรวจลงไปอีก (DeFranzo, 2020) นอกจากเรื่องการลงทุนและค่าใช้จ่ายแล้ว การทำแบบสำรวจทำให้มีการสื่อสารระหว่างผู้ออกแบบแบบสำรวจ เช่น ภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ กับผู้ทำแบบสำรวจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ทำให้ผู้ออกแบบแบบสำรวจเข้าใจความคิดเห็นของประชาชนมากยิ่งขึ้นผ่านการทำแบบสำรวจได้

ในส่วนของข้อเสียของการทำแบบสำรวจก็มีด้วยเช่นกัน เช่น การทำแบบสำรวจจะไม่ค่อยยืดหยุ่นเมื่อเทียบกับการรับฟังความคิดเห็นประชาชนแบบอื่น เพราะแบบสำรวจจะไม่สามารถแก้ไขขณะรวบรวมข้อมูล เพราะอาจทำให้ข้อมูลบิดเบือนได้ (DeFranzo, 2020) การตั้งคำถามอาจเป็นข้อเสียหรือจุดอ่อนได้เพราะ การตั้งคำถามจำเป็นต้องมีความเป็นกลางและสามารถดึงดูดกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ให้มาทำแบบสำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เวลามากในการคัดกรองและคำถามที่จัดทำอาจมีความไม่เป็นกลางได้

ความน่าเชื่อถือของการทำและใช้ข้อมูลจากแบบสำรวจ

ความน่าเชื่อถือในแบบสำรวจสามารถวัดได้อย่างไร ?
ผู้ออกแบบแบบสำรวจต้องทำอย่างไรถึงจะสร้างความน่าเชื่อถือด้วยตัวอย่างคำถามที่เหมาะสม ?

คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการถามความคิดเห็นของประชาชนมีความละเอียดอ่อนและอาจเกิดการบิดเบือนข้อมูลขึ้นได้ จากงานวิจัยเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากแบบสำรวจ (Charoenruk & Kulvanich, 2018) พบว่า ความน่าเชื่อถือสามารถนำมาพิจารณาได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น กรอบตัวอย่างที่เลือกสามารถสะท้อนความคิดเห็นของประชากรได้แค่ไหน, วิธีการเลือกตัวอย่างใช้วิธีอะไร, เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลมีความน่าเชื่อถือหรือไม่, วิธีการเก็บข้อมูลภาคสนามเหมาะสมหรือไม่, การถ่วงน้ำหนักควรทำอย่างไร, การแปรผลและการสรุปผลมีความแม่นยำหรือไม่ เป็นต้น

เริ่มจากกรอบตัวอย่างหรือบัญชีรายชื่อกลุ่มประชากรเป้าหมายมีความครอบคลุมหรือไม่ การวัดกรอบตัวอย่างในปัจจุบันขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแบบสำรวจนั้น ๆ เช่น การทำแบบสำรวจทางโทรศัพท์ (telephone survey) ที่ประชากรในกรอบตัวอย่างในปัจจุบันเปลี่ยนจากโทรศัพท์บ้านเป็นโทรศัพท์มือถือ ทำให้การรวบรวมข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนและไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่อยากให้ทำแบบสำรวจ อีกกรณีหนึ่งคือแบบสำรวจบนเว็ปไซต์ (web survey) ซึ่งกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มไม่มีอีเมลสำหรับใช้ติดต่อ ทำให้ผู้ออกแบบแบบสำรวจไม่สามารถส่งแบบสำรวจผ่านระบบออนไลน์ไปหาได้ ทำให้เกิดความไม่ครอบคลุมเช่นกัน จากกรณีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาของความไม่ครอบคลุมของประชากรตามกรอบตัวอย่าง จำเป็นต้องแก้ไขเฉพาะทางเป็นกรณีไป

อีกประเด็นหนึ่งคือ วิธีการเลือกตัวอย่าง ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การเลือกตัวอย่างแบบสุ่มอย่างง่าย, แบบเป็นระบบ, แบบชั้นภูมิ และ แบบกลุ่ม โดยวิธีต่าง ๆ อาจมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป โดยข้อเสียหลักคืออาจไม่ได้ความคิดเห็นที่ครอบคลุมจากประชาชนทุกกลุ่ม การออกแบบแบบสำรวจที่มีความน่าเชื่อถือจึงต้องคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียของวิธีการต่าง ๆ และเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด

เครื่องมือในการออกแบบแบบสำรวจ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูล โดยเครื่องมือควรพิจารณาว่าผู้ทำแบบสำรวจสามารถเข้าใจเนื้อหาและให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ถึงจะเป็นแบบสำรวจที่ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ

ด้านเก็บข้อมูลภาคสนาม ทั้งในรูปแบบการเก็บข้อมูลโดยมีผู้สัมภาษณ์ (ตัวต่อตัว และโทรศัพท์) และ การเก็บข้อมูลแบบไม่มีผู้สัมภาษณ์ (ไปรษณีย์ และออนไลน์) จำเป็นต้องระวังว่าการเก็บข้อมูลจะไม่เกิดความเอนเอียง (bias) ไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

ในส่วนการแปรผลและสรุปผล ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย จำเป็นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในการแปรผลและสรุปผลข้อมูลชนิดต่าง ๆ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด

ความ ‘พร้อม’ ในการทำแบบสำรวจของคนไทย วัดอย่างไร

การออกแบบแบบสำรวจของไทยในปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) ได้มีการเก็บรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนชาวไทยในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเก็บข้อมูลโดยมีผู้สัมภาษณ์ และ ไม่มีผู้สัมภาษณ์

จากคำถามว่าความ ‘พร้อม’ ในการทำแบบสำรวจของคนไทยนั้นจะสามารถวัดได้หรือไม่ แล้วถ้าวัดได้ จะวัดอย่างไร? ถ้าหากวัดตามจำนวนของประชาชนที่ทำแบบสอบถามเพียงอย่างเดียว สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รวบรวมสถิติการเข้าถึงและทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในปี พ.ศ. 2563 (ข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2020) โดยกำหนดปัจจัยที่เหมาะสมกับแบบสำรวจอย่างชัดเจน เช่น อายุ เพศ การศึกษา และ พื้นที่ เป็นต้น หลังจากที่กำหนดปัจจัยถูกกำหนดแล้ว แบบสำรวจก็จะถูกนำส่งให้ประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศได้ทำแบบสอบถามและออกความคิดเห็น จากวิธีการข้างต้น จะสังเกตได้ว่า ประเทศไทยมีความ ‘พร้อม’ ในการจัดทำแบบสำรวจที่เป็นระบบ อย่างไรก็ดี ความ ‘พร้อม’ ของคนไทยในการทำแบบสำรวจยังมีขีดจำกัดที่ยังต้องใช้เวลาพัฒนาต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ของข้อมูลความคิดเห็นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แล้วคนไทย ‘พร้อม’ ที่จะทำแบบสำรวจมากน้อยเพียงใด ?

ความ ‘พร้อม’ ของคนไทยในการทำแบบสำรวจหากวัดจาก ข้อดี ข้อเสียของแบบสำรวจ จะพบว่าคนไทยมีความพร้อมที่จะทำแบบสำรวจเพื่อที่จะแสดงความคิดเห็นของตนในประเด็นต่าง ๆ และมุ่งหวังที่จะให้ประเด็นนั้น ๆ ถูกนำไปต่อยอดในนโยบาย หรือ แผนงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

หากความ ‘พร้อม’ ของคนไทยวัดจากความน่าเชื่อถือของข้อมูล จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างของการวัดว่าข้อมูลนั้นจะน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งคนไทยพร้อมที่จะออกแบบและทำแบบสำรวจที่มีประสิทธิภาพด้านข้อมูล อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะพร้อมในการทำแบบสำรวจ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะการจะทำให้แบบสอบถามมีรอยรั่วน้อยที่สุดนั้นเป็นเรื่องยาก ความพร้อมของคนไทยจึงจำเป็นต้องพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาและอุดรอยรั่วที่เกิดขึ้นด้วย

มีสิ่งใดที่ควรเสริมสร้างให้คนไทยพร้อมต่อการทำแบบสำรวจมากขึ้น

การทำให้คนไทย ‘พร้อม’ ต่อการทำแบบสำรวจมากยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน คือการพัฒนาแบบสำรวจให้ก้าวทันยุคสมัยและเทคโนโลยีที่พัฒนาตลอดเวลา คนไทยจำเป็นต้องจับเทรนด์ให้ทัน และตรงประเด็น เพื่อให้แบบสำรวจนั้นมีประสิทธิภาพและเป็นกระบอกเสียงสำหรับความคิดเห็นของประชาชนบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ

สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา เป็นห้องปฏิบัติที่วิจัย ศึกษา และพัฒนานโยบายสาธารณะบนพื้นฐานของข้อมูล และหลักฐาน โดยมุ่งหวังที่จะให้คนไทยพร้อมกับการทำแบบสำรวจเพื่อแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระและง่ายต่อการทำ อย่างไรก็ดีทางสถาบันได้ศึกษาและวิจัยการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือจากการทำแบบสำรวจด้วยเช่นกัน อย่าลืมติดตามวิธีการรวบรวมความคิดเห็นของสถาบันฯ ผ่านช่องทาง website และ Facebook ของสถาบันนะครับ