“
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอะไรที่ไม่มีใครหนีพ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เราคนไทยแทบทั่วประเทศต่างได้รับผลกระทบ หรือจะปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานีที่สร้างความเสียหายให้กับทั้งภาครัฐ ธุรกิจและประชาชนมหาศาล
การสร้างเมืองถิ่นฐานอย่างยั่งยืน ปลอดภัย ส่งผลเสียต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของเราและองค์การสหประชาชาติภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)
เพราะเราสนับสนุนให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ในวันนี้
IPPD จะพาทุกท่านไปดูว่าในวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยอยู่ตรงไหน เพื่อเตรียมพร้อมในการสร้างถิ่นที่อยู่อาศัยที่ดี และเป็นมิตรกับธรรมชาติในอนาคต
คำถามจากควิซรอบที่ 1 : คุณคิดว่าใน 18 ปีที่ผ่านมา (ปี 2000 – 2018) ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไม้จากพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดไปประมาณกี่เปอร์เซ็นต์?
คำตอบที่ถูกต้อง: 9.6% (ข. 6-10%) (คนตอบถูก 15.0%)
คำตอบที่คนตอบมากที่สุด: ง. 16-20% (คนตอบมากที่สุด 47.8%)
คนไทยส่วนใหญ่คิดว่า ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่า (16 – 20%) จากคำตอบที่มากที่สุดของผู้เล่น quiz แสดงให้เห็นว่า คนไทยตระหนักถึงปัญหาของการสูญเสียพื้นที่ป่าที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศ ผลสำรวจขององค์กร Global Forest Watch (GFW) สรุปผลออกมาว่า ประเทศไทยได้สูญเสียพื้นที่ป่าไปทั้งหมด 9.6% ในช่วงปี 2000 – 2018 ที่ผ่านมา โดย GFW ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าพื้นที่ป่าที่น้อยลงทุกปีนั้นมีสาเหตุหลักมาจากการตัดไม้ทำลายป่า
มากไปกว่านั้น ในช่วงปี 2013 – 2018 GFW ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ใน 9.6% ที่ไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไปนั้นเป็นพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติ และเป็นส่วนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 332 ตัน ในชั้นบรรยากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อน ระบบนิเวศขาดสมดุลและภัยธรรมชาติอย่างภัยแล้งและน้ำท่วมอีกด้วย
ผลจากจำนวนป่าไม้ที่ลดลงกว่า 6-10% ทำให้นโยบายด้าน ‘ป่าไม้’ ของไทยนั้น ได้ถูกระบุลงในยุทธศาสตร์ชาติ (2561 – 2580) ด้านที่ 5 ‘การสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ ผ่านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมที่ชาติที่เสื่อมโทรม ทั้งยังมีแผนที่จะออกนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อวางกรอบในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของคนไทยในอนาคต
ที่มา:
https://bit.ly/2VMEiSw
คำถามจากควิซรอบที่ 1: คุณคิดว่าประเทศไทยเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (เช่น ภัยพิบัติทางสภาพอากาศ) มากน้อยเเค่ไหน?
คำตอบที่ถูกต้อง: ค. เสี่ยงน้อย (คนตอบถูก 17.20%)
คำตอบที่คนตอบมากที่สุด: ข. เสี่ยงมาก (คนตอบมากที่สุด 61.72%)
ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง เมื่อปัจจุบันนี้แทบทุกภูมิภาคต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น พายุโหมกระหน่ำรุนแรง คลื่นทะเลสูงจนสามารถซัดให้เมืองชายฝั่งถูกกัดเซาะพื้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ยังไม่นับรวมถึงไฟป่าที่ลุกโชนและวิกฤติน้ำแข็งขั้วโลกบนเกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกากำลังละลายอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากความแปรปรวนของภูมิอากาศที่ได้รับคือ ภัยแล้ง พายุ และน้ำท่วม ซึ่งทั้งหมดก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางเกษตร กลายเป็นความเสียหายที่สำคัญ เมื่อสถานะของประเทศไทยคือเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก
ข้อมูลจาก Hague Centre for Strategic Studies ปี 2015 ชี้ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงน้อยที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เช่น ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ หรือ ปัญหาพืชผลทางเกษตรที่เสียหาย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรายงานดัชนีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Global Climate Risk Index) ฉบับปี 2019 โดย German Watch พบว่า ในปี 2017 ไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับที่ 10 ของโลก กล่าวคือมียอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 176 คน มูลค่าความเสียหายของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนคิดเป็นทั้งหมด 4,371.160 ดอลลาร์สหรัฐหรือต่อ GDP จะอยู่ที่ 0.354% โดยสาเหตุที่ทำให้ไทยติดอันดับสืบเนื่องมาจากในปีดังกล่าว ไทยสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงในบริเวณภาคใต้ ส่งผลให้มีผู้ได้รับความเสียหายจากวิกฤติดังกล่าวมากถึง 1.6 ล้านคน สำหรับนโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและลดความเสียหายต่อผลผลิตและรายได้ของเกษรกร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนให้หน่วยงานจัดการในทันที พร้อมเฝ้าระวังเตรียมการพร่องน้ำและขยายพื้นที่ระบายน้ำท่วมขังจากฝนตกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ที่มา:
https://bit.ly/2MR1MSD
https://bit.ly/2RXHRCE
https://bit.ly/2MR1MSD
คำถามจากควิซรอบที่ 2: คุณคิดว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีผลต่อสุขภาพของคนไทยในปี 2016 โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับใด
คำตอบที่ถูกต้อง: 26.2 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค. มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก 23.2-29.2) (คนตอบถูก 38.24%)
คำตอบที่คนตอบมากที่สุด: ค. ส่งผลมาก (คนตอบมากที่สุด 38.24%)
ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยทั่วประเทศ ทั้งยังกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกหน่วยงานให้ความสนใจอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทยสาเหตุหลักของฝุ่น PM2.5 มาจากควันรถยนต์ อุตสาหกรรม ไฟป่า และการเผาในที่โล่งเป็นหลัก โดยจากการวัดค่าฝุ่น PM2.5 จาก Air Quality Index (AQI) ระบุว่า ถ้าค่ายิ่งสูงจะยิ่งเป็นอันตราย
ย้อนมองดูเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเจอกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยถึง 26.2 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี และจากข้อมูลล่าสุดปี 2018 ค่าฝุ่น PM2.5 ยังคงอยู่ที่ 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่าปกติที่ WHO แนะนำไว้คือ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี
อย่างไรก็ดี ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้กระทบเพียงแต่กรุงเทพ เพราะแต่ละภูมิภาคในประเทศล้วนได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป โดยพื้นที่มีปัญหาฝุ่นมากที่สุดคือพื้นที่ในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง
ภาครัฐได้มีการจัดการกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภายใต้กรมควบคุมมลพิษ โดยทางกรมฯได้คอยรายงานข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าใจง่ายผ่านทางเฟสบุ๊คแฟนเพจของกรมเอง รวมทั้งกรมฯ ยังได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้ออก 3 นโยบายรณรงค์ลดฝุ่น PM2.5 เพื่อให้ภาคประชาชนได้ลองทำร่วมกัน ได้แก่ การสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยจักรยานและรถสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือหันมาใช้รถร่วมกัน หากเดินทางไปจุดเป้าหมายร่วมกัน การส่งเสริมและขอความร่วมมือให้ประชาชนตรวจสอบสภาพรถยนต์เป็นประจำทุกปีเพื่อลดปัญหาควันดำ และ การจำกัดเส้นทางกับระยะเวลาการวิ่งรถบนถนน
จากนโยบายภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่าวิธีการรับมือของประชาชนไม่ใช่เพียงแค่ใส่หน้ากาก N95 แต่เราจำเป็นต้องช่วยกันลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษเพิ่ม คอยตรวจสอบสภาพรถ ลดการเผาหญ้าหรือขยะ เพื่อเราจะได้มีอากาศบริสุทธิ์ต่อไปในอนาคต
ที่มา: