“ฝุ่นเจ้าปัญหาอย่าง PM2.5 ได้กลับเข้ามาปกคลุมเหนือท้องฟ้าประเทศไทย จนหลาย ๆ คนต้องหยิบหน้ากากป้องกันฝุ่นอีกครั้ง
ก่อนอื่น มาดูกันว่า ฝุ่น PM2.5 คืออะไร ? และอันตรายต่อร่างกายอย่างไร ?
ฝุ่นขนาดเล็กเพียง 2.5 ไมครอน หรือเรียกสั้นๆว่า ฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ถึง 1 ใน 25 ส่วน ด้วยความเล็กจิ๋วเช่นนี้ ฝุ่น PM2.5 จึงสามารถเข้าสู่เส้นเลือดฝอยและอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์ได้ อีกทั้งยังเป็นพาหะนำสารอื่น ๆ เช่น แคดเทียม ปรอท โลหะหนัก ที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังอย่างมะเร็งหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจตามมาได้
นอกเหนือจากประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับมลพิษฝุ่น PM2.5 แล้ว หลาย ๆ ประเทศในทวีปเอเชียก็ยังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
วันนี้ IPPD จะพาทุกท่านมาดูกันว่า 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ที่เผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และ อินเดีย มีวิธีรับมืออย่างไรกันบ้าง?
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนไทยต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากควันรถยนต์ อุตสาหกรรม ไฟป่า และการเผาในที่โล่งแจ้ง จากรายงานของ Greenpeace พบว่า ในปี 2018 ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยต่อปีของฝุ่น PM2.5 ถึง 26.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุค่าฝุ่นระดับที่ไม่อันตรายไว้ที่ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
มากไปกว่านั้น ผลจากแบบสำรวจ เรื่อง PM2.5 โดย IPPD พบว่าคนไทยรับรู้ถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นอย่างดีว่ามีผลกระทบมาก ทาง IPPD จึงได้นำนโยบายของประเทศเรามานำเสนอให้ทุกคนรู้ถึงมาตรการของประเทศเราในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ได้เข้าปกคลุมทั่วประเทศไทย ทำให้หลายๆ พื้นที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ โดยพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ตาก และสมุทรปราการ
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยนั้นไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้ร่วมกันจัดการกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปัจจุบัน เช่น กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทำหน้าที่รายงานข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงแอพพลิเคชัน ‘Air4Thai’ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์มลพิษฝุ่นได้อย่างต่อเนื่อง
หรืออย่างด้านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเอง ก็ได้ออกนโยบายเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือกันลดฝุ่น PM2.5 ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยรถสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวและการใช้จักรยาน หรือหากเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกัน ก็ให้ใช้รถร่วมกัน รวมทั้งยังส่งเสริมและขอความร่วมมือให้ประชาชนตรวจสอบสภาพรถยนต์ประจำปี เพื่อลดปัญหาควันดำให้ได้อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด กระทรวงสาธารณะสุขได้ ออกนโยบายรับมือฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือนธันวาคมนี้โดยประชาสัมพันธ์ให้ทุกพื้นที่คอยเฝ้าระวังและเตรียมรับมือป้องกันฝุ่น PM2.5 มากไปกว่านั้นทางกระทรวงได้จัดหาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไว้คอยดูแลช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้มีโรคหอบหืด ผู้ป่วยติดเตียง เด็กและผู้สูงอายุ นอกจากนั้นทางกระทรวงได้จัดสถานบริการด้านสุขภาพและคลินิกมลพิษไว้คอยดูแลประชาชนอีกด้วย
มลพิษฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในแก้ไขปัญหา ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดมลพิษได้ในระยะยาว รวมถึงประชาชนเองก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยเริ่มจากกิจกรรมใกล้ตัว เช่น ลดการเผาหญ้าหรือขยะ และตรวจสอบสภาพรถยนต์ตามกำหนด เป็นต้น
ที่มา:
https://bit.ly/35zCAZg
https://bit.ly/32qvy76
https://bit.ly/2Y5909J
https://bit.ly/2AtFbYr
มลพิษฝุ่น PM2.5 ในอินเดีย กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ข้อมูลจากวารสารวิชาการ The Lancet Planetary Health เปิดเผยว่า ในปี 2017 ประชากรกว่า 1.24 ล้านคนทั่วประเทศ ต้องเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ โดยค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ประมาณ 72.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 มาจากกิจกรรมของประชาชน เช่น การจราจร การเผาไร่ และการก่อสร้าง เป็นต้น
เมื่อต้นปี 2019 รัฐบาลอินเดียได้ออก‘โครงการอากาศสะอาดแห่งชาติ’ (National Clean Air Program (NCAP)) เป็นโรดแมประยะ 5 ปี เพื่อหาแนวทางป้องกันและลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมีเป้าหมายที่จะลดฝุ่น PM2.5 ลง 20 – 30% ภายในปี 2024 (เปรียบเทียบจากค่าฝุ่นในปี 2017) มาตรการส่วนใหญ่ของรัฐบาลคือมุ่งเน้นไปที่การควบคุมการใช้เชื้อเพลิงประเภทถ่านหินสำหรับหุงต้ม รวมถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน และหันมาสนับสนุนการใช้แก๊สหุงต้มในครัวเรือนแทน ทั้งยังออกแคมเปญ ‘Star Rating Program’ เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศของภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
อย่างไรก็ดี จากนโยบายข้างต้นของรัฐบาลอินเดีย ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละเมืองได้ออกนโยบายและแคมเปญเพื่อสร้างความตระหนักและตื่นตัวของประชาชนจากสิ่งใกล้ตัว อย่างการจัดการกับฝุ่นและขยะซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ด้วยการทำความสะอาดทางเท้าและถนน รวมทั้งมีความพยายามในการจัดการกับกำจัดขยะโดยไม่ใช้วิธีฝังกลบ (Landfill)
เมืองหลวงอย่าง ‘กรุงนิวเดลี’ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของเมืองที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 รายงานคุณภาพอากาศโลก ประจำปี 2018 เผยว่า นิวเดลีมีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 113.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นของกรุงนิวเดลีต้องออกนโยบายเร่งด่วนเพื่อลดค่าฝุ่น โดยเริ่มต้นจากด้านคมนาคม เช่น การใช้รถพลังงานสะอาด และการกำหนดเวลาในการใช้รถยนต์ เป็นต้น
จากนโยบายที่รัฐบาลอินเดียได้ดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2019 ทำให้ฝุ่น PM2.5 มีอัตราที่ลดลง จากปี 2018 ประมาณ 5% โดยรายงานของศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมอินเดีย ได้แสดงให้เห็นว่า ฝุ่น PM2.5 ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นไม่เป็นมลพิษทางอากาศเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ที่มา:
https://on.nrdc.org/2Qh97hz
https://nyti.ms/2QdnXFX
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศแถบทวีปเอเชียตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในปี 2014 ของ NASA ได้ใช้ดาวเทียมเพื่อตรวจมาตรฐานคุณภาพอากาศ โดยพบว่าเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องมลพิษทางอากาศ
มากไปกว่านั้นรายงานของ Financial Times ยังระบุให้เกาหลีใต้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา โดยกรุงโซลยังเป็นเมืองที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เรื้อรังเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ตามลำดับ
สาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM2.5 ในเกาหลีใต้นั้นมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านถ่านหิน นิวเคลียร์ และก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งก่อให้เกิดฝุ่นควันหนาเหมือนหมอกซึ่งอันตรายต่อประชาชน เพราะมีปริมาณฝุ่นมีสูงถึง 24-25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
แล้วเกาหลีใต้มีวิธีแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างไร?
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแรกของรัฐบาลเกาหลีใต้ได้เจาะลึกและมุ่งเน้นไปยังการบริหารจัดการกรุงโซลเป็นหลัก เพราะเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งรัฐบาลเกาหลีใต้เองยังได้มีนโยบายและมาตรการสำหรับการควบคุมมลพิษมาอย่างต่อเนื่องโดยนโยบายนี้เรียกว่า นโยบายการควบคุมคุณภาพอากาศแห่งมหานครโซล ครั้งที่ 1 (1st Seoul Metropolitan Air Quality Control Master Plan) ถูกจัดทำขึ้นครั้งแรกในปี 2005 และมีระยะเวลาในการปฏิการนานถึงปี 2014 โดยมุ่งเน้นการจำกัดการใช้รถยนต์และมีมาตรการที่ระงับการปล่อยก๊าชจากพื้นที่อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งหลังจากได้เริ่มต้นนโยบายดังกล่าวครั้งแรกในกรุงโซล ก็เริ่มขยายครอบคลุมไปทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ยังคงลดปริมาณฝุ่นควันได้เพียงเล็กน้อย เพราะการเกิดควันจากอุตสาหกรรมและรถยนต์ยังมีปริมาณที่มากอยู่ อีกทั้งยังไม่สามารถรับมือกับปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในช่วงปัจจุบันได้ รัฐบาลจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนและพัฒนานโยบายนี้ต่อไปในปี 2015 จนถึง 2023 ให้สภาพอากาศคืนสู่ปกติให้ได้มากที่สุด เนื่องจากว่าปัจจุบันเกาหลีใต้ยังคงมีปริมาณฝุ่นเฉลี่ย 24.0 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในระดับสีเหลืองเข้มของ WHO เป็นระดับที่อากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ที่มา: