เขียน: รัสมิ์กร นพรุจกุล
คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่า
หากประเทศไทยจะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง คุณจะรับมืออย่างไร?
หากประเทศไทยกำลังจะมีฝุ่นควันและมลภาวะปกคลุม ในระยะเวลาที่ยาวนานและรุนแรงมากยิ่งขึ้น คุณจะต้องทำอย่างไร?
ด้วยบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ‘การสร้างสังคมที่พร้อมรับกับการปรับตัว’ จึงเป็นหนึ่งในประเด็นหลัก ที่สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ได้หยิบยกขึ้นมาพูดในงานประชุมวิชาการประจำปี 2563 ในหัวข้อ “Thailand 2020s and Beyond: Building a Better Society Together” ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 อาคารสามย่านมิตรทาวน์ โดย อาจารย์พิชชาภา จุฬา หัวหน้าโครงการวิจัย Beyond Growth ได้เป็นผู้บรรยายในประเด็น “Building a Resilient Society” เพื่อจุดประเด็นการสร้างสังคม ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
เมื่อไทยไม่พร้อมรับการปรับตัว
อาจารย์พิชชาภา ได้นำผลจากการทำแบบสำรวจ ที่สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการสำรวจทัศนคติของคนไทยต่อความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ พบว่า หากพูดถึงเรื่องความเสี่ยงแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ (62%) ยังคิดถึงเรื่องของผลกระทบจากความเสี่ยงเป็นอันดับแรก กล่าวคือ เป็นเรื่องของความเป็นความตาย การบาดเจ็บ ความอันตราย แต่ในทางตรงข้าม ความสามารถในการปรับตัว การเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยง ยังคงเป็นประเด็นที่คนไทยมองข้าม
ความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ยาก ในการนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น เป็นเพียงโอกาสที่จะเกิด จับต้องไม่ได้ คนส่วนใหญ่จึงยังมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากกว่า อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเสี่ยงอันเกิดจากปัจจัยกระทบทั้งภายนอกและภายใน อาทิ สภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองการปกครอง นั้นเป็นเรื่องสำคัญ การสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อความเสี่ยง จึงเป็นการสร้างพื้นฐานในการพัฒนาที่ดี ซึ่งจะสามารถสร้างนโยบาย ที่สามารถเพิ่มความสุขและลดความเสี่ยงได้ในเวลาเดียวกัน
โดยผลจากการสำรวจดังกล่าว พบว่า ทัศนคติต่อความเสี่ยงนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยตัวอย่างที่อาจารย์พิชชาภา ยกขึ้นมา ได้แก่ ประสบการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อทัศนคติ เช่น คนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครมองว่า ตนเองต้องประสบกับน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง และอาจเป็นเพราะเข้าถึงข้อมูล การสื่อสารและการสร้างความตระหนักต่าง ๆ ได้ มากกว่า จึงมองว่าภัยพิบัติด้านน้ำท่วม เป็นความเสี่ยงสูงมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์กับน้ำท่วมบ่อยครั้งไม่ต่างกัน เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ แม้จะมีสัดส่วนประชากร ที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมมากที่สุดในประเทศ แต่กลับไม่ได้มองว่าพื้นที่ของตนนั้น มีความเสี่ยงสูงมากเท่ากับกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
นอกจากนี้ งานวิจัยพบว่า ปัจจัยทางโครงสร้างสังคมอื่น ๆ ยังมีนัยสำคัญ ต่อทัศนคติของคนไทยต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ครัวเรือน และทัศนคติเป็นไปในทิศทางบวก กล่าวคือ ยิ่งมีรายได้ครัวเรือนสูง ทัศนคติต่อความเสี่ยงด้านภัยน้ำท่วมก็สูงตามไปด้วย เช่น กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยสูงที่สุดในประเทศ มองว่าตนเองมีความเสี่ยง ที่จะต้องเผชิญกับน้ำท่วมมากที่สุดเช่นกัน เช่นเดียวกับทัศนคติในประเด็นด้านฝุ่นควันและมลภาวะ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกภัยพิบัติที่จะมีความสัมพันธ์เช่นนี้ เช่น ด้านภัยแล้ง ผู้มีรายได้น้อย กลับมองประเด็นความเสี่ยงนี้มากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่า กลุ่มประชากรตามโครงสร้างสังคมที่แตกต่างกันไป อาจมีความตระหนักและความกังวลต่อความเสี่ยง ที่เฉพาะเจาะจงกับวิถีการใช้ชีวิตของตนเอง การพัฒนาจึงควรเข้าใจว่าความเสี่ยงชนิดใดมีแนวโน้มกระทบกับความเป็นอยู่ของคนไทยในกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม และทัศนคติของคนในจังหวัดยังมีนัยสำคัญทางสถิติที่น่าสนใจ กล่าวคือ กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน อาทิ นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด บึงกาฬ ต่างเป็นจังหวัดที่มีประสบการณ์ต่อน้ำท่วมสูง และรุนแรงต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2554 แต่กลับประเมินความเสี่ยงที่ต้องประสบกับน้ำท่วมในอนาคต อยู่ในค่าระดับปานกลางเท่านั้น กลุ่มจังหวัดเหล่านี้ ควรได้รับการจับตามอง เพราะความเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ กำลังสวนทางกับความตระหนักในการรับรู้ความเสี่ยง ของคนในจังหวัด เป็นต้น
อย่าปล่อยให้ความซ้ำซากกลายเป็นเรื่องชาชิน
อาจารย์พิชชาภา ยังได้นำเสนอข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 – 2562 จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ. หรือ GISTDA) พบว่า มีความถี่และช่วงเวลาที่ประสบภัยแตกต่างกันไปในแต่ละปี ความรุนแรงในแต่ละครั้งนั้นก็มีความไม่แน่นอน รวมไปถึงพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเชิงกายภาพนั้น ก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยรูปแบบการเกิดของน้ำท่วม ย้ายไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากยิ่งขึ้น การเก็บข้อมูลในระยะยาวเช่นนี้ จะทำให้เห็นถึงรูปแบบและความสัมพันธ์ของความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเตรียมพร้อมได้ดียิ่งขึ้น
ทางด้านการจัดการความเสี่ยงในปัจจุบัน สถาบันฯ ได้นำการประเมินมูลค่าความเสียหายทางตรง (direct cost) มาพิจารณาร่วมกับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม พบว่า ยังคงมีปัญหาด้านการเก็บข้อมูลอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ในปี พ.ศ. 2554 บางจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมมาก กลับไม่มีข้อมูลการประเมินมูลค่าความเสียหาย และเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2559 ข้อมูลด้านการจัดการน้ำท่วมกลับยิ่งแย่ลงไป เนื่องจากมีข้อมูลการประเมินความเสียหายที่ลดลง
อาจารย์พิชชาภา ยังได้พูดถึงความเปราะบางที่เพิ่มขึ้น ของปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมอีกด้วย เนื่องจากการพัฒนาที่ดินในปัจจุบัน สร้างความล่อแหลมต่อภัย (exposure) เพราะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมอยู่มาก โดยในภาคกลางและกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมที่ซ้อนทับกับพื้นที่เมือง (ตัวเมืองและย่านการค้า พื้นที่ชุมชน) ถึงร้อยละ 17.5 แต่แผนผังเพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือความเสี่ยง กลับมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังพบว่าทัศนคติต่อภัยพิบัติน้ำท่วม ยังมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา มีทัศนคติต่อการเกิดน้ำท่วม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวมของทั้งประเทศ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่เหล่านี้ เป็นเมืองรองที่กำลังเติบโต ยังคงมีการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และสวนทางกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แม้ความเสี่ยงเหล่านี้จะมากขึ้น แต่หากสามารถปรับตัวและรับมือ ด้วยการวางแผนและหาแนวทางจัดการที่เหมาะสม
เพื่ออุดช่องว่างจากสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยการปรับเปลี่ยนความคิด และมุมมองการพัฒนา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงในพื้นที่ตั้งแต่วันนี้ และไม่ปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ เป็นเพียงความชาชินที่เกิดขึ้นในระยะยาว