บทสรุปงานเสวนา Singapore’s Strategy: บุญเก่า-บุญใหม่ของสิงคโปร์ ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

ลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เคยกล่าวไว้ว่า “ในโลกที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และปลาเล็กกินกุ้ง สิงคโปร์ต้องเป็นกุ้งตัวเล็กที่มีพิษสง” จากคำพูดนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการ ประการแรก ได้แก่ แนวคิดการผูกสิงคโปร์เข้ากับโลก เมื่อย้อนดูตามประวัติศาสตร์จะพบว่า สิงคโปร์เป็นชาติที่ให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในด้านภูมิศาสตร์การเมือง เทคโนโลยี และการค้า ทำให้สิงคโปร์สามารถประเมินได้ว่า ตนเองควรวางบทบาทใดในเวทีโลก ประการที่สอง คือ แนวคิดนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของสิงคโปร์ ที่เป็นประเทศขนาดเล็ก ดังนั้น สิงคโปร์จึงต้องวางแผนระยะยาวเพื่อการอยู่รอดของประเทศในอนาคต กลายเป็น “กุ้งตัวเล็กที่มีพิษสง” การกระทำเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการวางแผนและลงทุนที่ยาวนาน ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ

ด้วยยุทธศาสตร์การวางแผนของสิงคโปร์ ที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและน่าสนใจ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) จึงได้จัดงานเสวนาออนไลน์ ซีรีส์ “บุญใหม่” ในหัวข้อ “Singapore’s Strategy: บุญเก่า–บุญใหม่ของสิงคโปร์ ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 เพื่อศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาของสิงคโปร์ ที่แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่กลับมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่น่าสนใจ และสามารถนำมาใช้เป็นแนวทาง หรือวิธีการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศไทย โดยการเสวนาซีรีส์นี้ จะเป็นฐานความรู้ ให้กับการสร้างยุทธศาสตร์ระดับชาติในอนาคต

สิงคโปร์เป็นประเทศที่วางรากฐานให้กับระบบสวัสดิการ สาธารณสุข และที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก เมื่อนำมาผสานกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สิงคโปร์จึงพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์เพื่อการแหวกว่ายไปในโลกอนาคตนั้น ไม่ได้เป็นการมองเพียงภาพใหญ่ หากแต่ยังให้ความสำคัญกับรายละเอียดอีกด้วย โดยในแต่ละกระทรวงของสิงคโปร์ จะมียุทธศาสตร์เฉพาะด้านของตนเอง เช่น ยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ยุทธศาสตร์ดิจิทัล ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ ได้มองย้อนไปถึง 3 พื้นบุญเดิม ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน 4 กรรมเก่าของสิงคโปร์ 3 ข้อคิดในการปรับตัวหลังโลกยุคโควิด-19 เพื่อถอดบทเรียนจากสิงคโปร์สู่ไทย

3 พื้นบุญ

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิจัย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา อาจารย์ด้านกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายถึงบุญเก่าของสิงคโปร์ว่า เป็นรากฐานที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าของสิงคโปร์ในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นผลงานหลักของอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู ที่ได้เน้นการสร้างพื้นบุญด้วยการศึกษา ด้วยการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม การเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาอาชีวะชั้นเลิศแก่ช่างเทคนิคฝีมือดี เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรม นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังจัดให้มีมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และจัดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ซึ่งเป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ประการต่อมา สิงคโปร์ได้พัฒนาระบบสาธารณะสุขของตน เช่น ในปีค.ศ. 1984 สิงคโปร์ได้ออกกฎหมายบังคับหักเงินเดือนประชาชนทุกคนเข้ากองทุน Medisave เพื่อเป็นการออมเงินค่ารักษาพยาบาลแก่ประชาชนในอนาคต ขณะเดียวกัน ก็ยังได้ส่งเสริมให้มีการออมเพื่อสุขภาพแบบสมัครใจในกองทุน MediShild เพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนอีกด้วย ประการสุดท้าย คือ การพัฒนาที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยราคาถูกขึ้น ทำให้ร้อยละ 80 ของประชาชนสิงคโปร์สามารถมีที่อยู่อาศัยตามที่ภาครัฐได้พัฒนาไว้ให้ ซึ่งมีราคาถูกและมีคุณภาพดีอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้เป็นพื้นบุญสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน

นอกจากนี้ ดร.อาร์ม ยังได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์ ที่ทำให้ตนเองสามารถยืดหยัดได้บนเวทีโลก โดยอาจแบ่งการพิจารณาได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการเมือง และยุทธศาสตร์ดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจถูกจัดทำขึ้นโดยกระทรวงเศรษฐกิจ โดยมีข้อคำนึงสำคัญ ได้แก่ ความอยู่รอดของประเทศ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก และมีทรัพยากรจำกัด ดังนั้น ทางรอดของสิงคโปร์จึงทำให้ตนเองเชื่อมต่อกับโลก ไม่สามารถคิดถึงแต่เรื่องปัจจัยภายในของตนเองได้แต่เพียงอย่างเดียว บริบทและปัจจัยภายนอกประเทศ จึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมากต่อการคิดยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ของสิงคโปร์

ตัวอย่างแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสิงคโปร์ เช่น Strategic Economic Plan 1991 ที่เน้นย้ำด้านการพัฒนาขั้นพื้นฐานของสิงคโปร์ คือ ทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการศึกษา และการมีหลักประกันที่ดี ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์ยังได้ให้ความสำคัญกับโครงสร้างเชิงสถาบัน กล่าวคือ การมีกฎหมายหรือกฎระเบียบที่ดี นอกจากนี้ ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม สิงคโปร์ได้พิจารณาว่าจุดเด่นของตน ได้แก่ การผลิต การประกอบ การแลกเปลี่ยน และการบริการ และเพื่อวัดผลอย่างมีประสิทธิภาพ สิงคโปร์ได้นำตนเองไปเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อดูศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว แผนยุทธศาสตร์นี้ยังให้ความสำคัญ กับแนวคิดเรื่องการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรม (diversification) ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลมากจากปัญหาเศรษฐกิจใน ค.ศ. 1985-1986

จนกระทั่ง ค.ศ. 1995 สิงคโปร์ได้มียุทธศาสตร์ใหม่ คือ Singapore Unlimited โดยกล่าวถึงการยกระดับอุตสาหกรรม และการทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (international business hub) ภายใน ค.ศ. 2000 ด้วยการพัฒนาภาคบริการโดยเฉพาะ ทั้งด้านการเงิน การสื่อสาร และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนากิจการภายในประเทศด้วย เนื่องจากในขณะนั้นมีความกังวลว่า สิงคโปร์อาจพึ่งพาตลาดภายนอกมากเกินไป และรัฐบาลสิงคโปร์ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นด้วย และจึงกลายเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ Local Enterprise 2000 ในท้ายที่สุด

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้ออกแผน Regionalization 2000 อันสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของสิงคโปร์ ที่ต้องการจะเชื่อมตนเองเข้ากับโลก โดยในการยกระดับอุตสาหกรรมของตน สิงคโปร์วางแผนที่จะเป็นตลาดของอุตสาหกรรมยกระดับในภูมิภาคให้ได้ ในขณะที่แรงงานอุตสาหกรรมเข้มข้นในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเริ่มขาดความได้เปรียบในการแข่งขัน ก็จะย้ายการลงทุนไปในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน และทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ในท้ายที่สุด

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสุดท้ายของสิงคโปร์ที่จะกล่าวถึง คือ Remaking Singapore 2001 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด และเป็นโลกที่เพิ่งผ่านพ้นกวิกฤตทางการเงินของเอเชีย อันมาพร้อมกับการผงาดขึ้นมาของจีน ดังนั้นในยุทธศาสตร์นี้ สิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ของประเทศ และชื่อเสียงของตนในระดับโลก เพื่อปรับตนให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วสิงคโปร์จึงได้มุ่งไปที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ตนเองในเวทีโลก การตอบโจทย์ความหลากหลายในภาคอุตสาหกรรม การกระจายความเสี่ยง การพัฒนาผู้ประกอบการ การปรับโครงสร้างสถาบัน และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เอื้อต่อผู้ประกอบการ

เงื่อนไขที่สิงคโปร์มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด ทำให้จำเป็นต้องพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการเมือง เพื่อให้เกิดการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากที่สุด สิงคโปร์จึงได้จัดทำ master plan เพื่อมองอนาคตในระยะกลาง และมีการปรับเปลี่ยนแผนทุก 5 ปี ทั้งยังมี concept plan ที่เป็นแผนในการวางอนาคตและการพัฒนาระยะยาวอีกด้วย ซึ่งทั้งสองแผนนี้มีไว้เพื่อพัฒนาเมือง และเป็นหลักประกันในด้านที่อยู่อาศัย และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน

ถึงแม้ว่าการบริหารจัดการเมืองจะเป็นคนละเรื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่มีไว้เพื่อออกแบบการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ กระจายความเจริญไปในทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้เมืองเกิดความแออัดหรือกระจุกตัวจนเกินไป และมีการส่งเสริมการขนส่งสาธารณะ ในขณะเดียวกัน แผนนี้ยังช่วยให้สิงคโปร์คงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของเมือง โดยจัดให้มีโซนอนุรักษ์ โซนอาคารเก่า เพื่อให้เมืองได้มีเรื่องราวและรากเหง้าต่อไป นอกจากนี้ ยังมุ่งให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองที่มีความสนุกด้วย ประชาชนสามารถเพลิดเพลินไปกับเมืองได้ ในประเด็นสุดท้าย แผนนี้ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองทดลองขนาดย่อม โดยมีพื้นที่ไว้ทดลองโครงการของเมืองต่าง ๆ ด้วย เช่น การทดลองจัดตั้งแผงโซลาร์ขนาดใหญ่ การทดลองระบบจัดการน้ำที่ยั่งยืน การทดลองใช้ระบบคมนาคมอัจฉริยะ ทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีความหลากหลาย อันเป็นผลมาจากแผนพัฒนาเมือง ที่ยังคงไว้ซึ่งความแตกต่างในวัตถุประสงค์การใช้งานของแต่ละเขตเมือง

จากสองยุทธศาสตร์แรกคือ ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการเมือง จะเห็นได้ว่าสิงคโปร์ได้นำ 3 วิสัยทัศน์มาผูกเข้าไว้ด้วยกัน โดยวิสัยทัศน์แรกคือความเป็นเมือง ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวและความแออัด และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำมาผูกกับวิสัยทัศน์ที่สองคือความเป็นชาติ โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า และนำมาผสมกับวิสัยทัศน์สุดท้ายคือการปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลก

อย่างไรก็ดี การผงาดของจีนยังมาพร้อมกับอิทธิพลด้านเทคโนโลยี สิงคโปร์จึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัลขึ้นมา เพื่อรองรับกับโลกใหม่นี้ด้วย ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist แห่ง Sea Group ได้กล่าวถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล 4 ประการ ได้แก่

  1. สิงคโปร์ต้องเป็นศูนย์กลางของบริษัทสตาร์ทอัพ โดยปัจจุบัน สิงคโปร์เองมีบริษัทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ และมีเงินทุนถึงพันล้านดอลลาร์สหรัฐประมาณ 4 – 5 แห่ง

  2. สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางด้าน FinTech (เทคโนโลยีทางการเงิน) ยุทธศาสตร์นี้เกิดจากการนำบุญเก่าและบุญใหม่มารวมกัน เมื่อสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการค้าทางการเงินอยู่ก่อนแล้ว สิงคโปร์จึงยกระดับของตนเองให้เป็น Fintech Hub ของโลกด้วย ด้วยการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงาน ทั้งยังให้ธนาคารประจำชาติสิงคโปร์ เป็นหัวหอกในการดำเนินการ ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์ก็ได้ตั้งเป้าหมายให้ตนเป็นศูนย์กลางด้าน Green Finance เพื่อระดมทุนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้ก็เป็นการนำบุญเก่าด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการเงิน มาผสานกันด้วยเช่นกัน

  3. สิงคโปร์ยังต้องการเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์และข้อมูล จึงได้พัฒนากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จัดทำประมวลจริยธรรมว่าด้วยการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างเหมาะสม เป็นธรรม เข้าใจง่ายสำหรับทุกคน ในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเสริมความแข็งแกร่ง ทั้งในด้านระบบขนส่ง ด้านสาธารณะสุข และด้านการศึกษา

  4. สิงคโปร์ต้องเป็นผู้นำดิจิทัล โดยสิงคโปร์จะนำดิจิทัลมาปรับใช้กับทุกด้านของสังคม เช่น ด้าน digital economy ซึ่งเปิดโอกาสให้ SME กับภาคส่วนต่าง ๆ ใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น หรือการสร้าง digital government อันรวมถึงการที่รัฐบาลนำแอปพลิเคชัน มาปรับใช้กับสถานการณ์โรคระบาด เพื่อต่อยอดออกไปเป็น digital society ให้ทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้สูงอายุ โดยสิงคโปร์มีแผน Digital Readiness Blueprint เพื่อทำให้คนเข้าถึงดิจิทัลให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แต่เพียงในทางเศรษฐกิจ แต่รวมไปถึงในทางสังคมด้วย

แม้สิงคโปร์จะมีออกแบบกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป แต่ยุทธศาสตร์เหล่านั้นต่างก็มีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันหลายประการ ประการแรก สิงคโปร์เน้นการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและโลก โดยคำนึงถึงการแข่งขันในด้านต่าง ๆ ของตน ประการที่สอง สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ ประชาชนต้องมีความพร้อมต่ออนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ ประการที่สาม การพัฒนาของสิงโปร์จะเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ประการสุดท้าย ยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์มีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ใน ค.ศ. 2016 สิงคโปร์ได้ตั้งสภาเศรษฐกิจอนาคต (Committee for Future Economy) ที่ประมินผลว่านโยบายต่าง ๆ จะปฏิบัติได้จริงหรือไม่อย่างไร จนกระทั่งใน ค.ศ. 2020 มีเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สิงคโปร์ได้มีการตั้งทีมพิเศษชื่อ Emerging Stronger Taskforce (EST) เพื่อประเมินใหม่ว่าสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ยังใช้ได้ในโลกหลังจากนี้หรือไม่ จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ของสิงคโปร์ มีการมองการณ์ไกล และยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา

4 กรรมเก่า

แม้สิงคโปร์จะประสบความสำเร็จกับการวางยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ และมีบุญเก่าที่เข้มแข็ง แต่สิงคโปร์เองก็มีกรรมเก่าติดตัวที่ต้องเร่งแก้ไข ดร.สันติธาร อธิบายว่า ปัญหาด้านขนาดของประเทศที่เล็ก ทำให้สิงคโปร์ต้องพิจารณา 2 มุมมอง ได้แก่ มุมมองสิงคโปร์สู่โลก เพื่อดูว่าตนจะต้องแข่งขันอย่างไรเพื่อให้ทัดเทียมโลก และมุมมองโลกสู่สิงคโปร์ กล่าวคือการสร้างสิงคโปร์ให้เป็นพื้นที่ในการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมของตน และสร้างงานให้กับคนสิงคโปร์ได้อีกด้วย ความเสียเปรียบอีกประการของสิงคโปร์ คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่มีความยืดหยุ่น ไม่สามารถปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจึงได้ผลักดันคนรุ่นใหม่ได้ทำงานในต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องความหลากหลายของคน เนื่องจากระบบการศึกษาทำให้เกิดการแบ่งคนในสังคมออกเป็นกลุ่มคนเก่ง และคนไม่เก่ง สิงคโปร์จึงได้พยายามแก้ปัญหานี้ ด้วยการยกเลิกการแบ่งสายการเรียน และให้มีการผสมผสานระหว่างคนหลาย ๆ กลุ่ม เนื่องจากรัฐมองเห็นว่า แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ การประกอบอาชีพในสิงคโปร์เอง ก็ไม่ได้มีความหลากหลายเท่าที่ควร เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต้องการทำงานในหน่วยงานภาครัฐ รัฐบาลจึงต้องผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น

3 ข้อคิดในการปรับตัวหลังโลกยุคโควิด-19 ข้อคิดในการปรับตัวหลังโลกยุคโควิด-19

แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจเป็นปัจจัยทางบวกและทางลบให้กับสิงคโปร์ ดร.สันติธาร เห็นว่า สังคมโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลไวมากขึ้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้อาศัยจังหวะจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพิ่มทักษะทางด้านดิจิทัลให้กับ SMEs รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนอีกด้วย นอกจากนี้ ภายหลังจากโลกยุคโควิค-19 สถานการณ์ของโลกมีแนวโน้มที่จะเกิดความผันผวน และขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งในด้านการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น สิงคโปร์ซึ่งพึ่งพาการเชื่อมต่อกับโลก อาจจะต้องแสวงหากลยุทธ์ใหม่เพื่อความอยู่รอดของตน และเพื่อป้องกันปัญหาการว่างงานที่อาจเกิดขึ้น หลังมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนแรงงาน สิงคโปร์จึงมีการตั้ง Job Task Force ขึ้น เพื่อให้คนในสิงคโปร์สามารถปรับตัวและหาทักษะใหม่ เพื่อเปลี่ยนจากการทำงานในอุตสาหกรรมเก่า ไปทำงานในอุตสาหกรรมใหม่แทนได้

ถอดบทเรียนสิงคโปร์มาสู่ไทย

บทเรียนที่ไทยสามารถเรียนรู้ได้จากสิงคโปร์ ได้แก่ การมองยุทธศาสตร์อย่างยืดหยุ่น สามารถรองรับความเป็นไปได้ที่หลากหลายได้ในอนาคต ทั้งยังจำเป็นต้องประเมินถึงความเสี่ยง หรือโอกาสที่สามารถเกิดขึ้น สามารถประเมินผลการดำเนินการได้ นอกจากนี้กระบวนการสร้างยุทธศาสตร์นั้น ไม่สามารถเกิดจากคนเพียงคนเดียวได้ แต่ต้องมาจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้เกิดมุมมองที่กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรมากกว่าสิงคโปร์ ทั้งความมั่นคงทางอาหาร การทำการเกษตร ขนาดของประเทศ และจำนวนประชากร ดร.สันติธาร มีความเห็นว่า หากไทยต้องการขึ้นมาเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ควรจะต้องคิดถึงปัจจัยภายนอกควบคู่ไปกับการพัฒนาภายในด้วย รวมถึงการเปิดในทุกภาคส่วนของสังคม ให้เข้ามามีส่วนในการวางแผนยุทธศาสตร์ เพื่อตอบสนองกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และจำเป็นต้องพึ่งพาความหลากหลาย เพื่อสร้างความอยู่รอดของประเทศต่อไป