เขียน: ชลิตา สุนันทาภรณ์
ประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product: GDP) ที่เพิ่มขึ้นตาม แต่เช่นเดียวกันเราทุกคนเองก็ต้องการสร้างสังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะมีวิธีการใดได้บ้างที่สังคมไทยจะไปถึงเป้าหมานั้นได้?
กลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาให้ความสนใจ ทั้งยังเป็นหนึ่งในหัวข้อ “Building a Sustainable Society” จากงานการประชุมวิชาการประจำปี ในหัวข้อ “Thailand 2020s and Beyond: Building a Better Society Together” เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 ชั้น 5 อาคารสามย่านมิตรทาวน์ โดย อาจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ หัวหน้า Foresight and Futures Lab เพื่อนำเสนอมุมมองการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายสาธารณะที่มองอย่างเป็นระบบและรอบด้าน รวมถึงการมองเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายและประชาชน
การพัฒนาระบบนิเวศ + การพัฒนาเศรษฐกิจ = การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
อาจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ หัวหน้า Foresight and Futures Lab บอกเล่าให้ฟังว่าทุกวันนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั่วโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้น สังเกตได้จากที่ GDP ของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากมองไปที่ความมั่งคั่งอย่างครอบคลุมทุกมิติ โดยอ้างอิงจาก Inclusive Wealth Index ที่ทางโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ UNEP) รายงานไว้เมื่อปี 2014 จะพบว่า โลกของเราไม่ได้พัฒนาความมั่งคั่งที่เทียบเท่ากับ GDP และนั่นแสดงให้เห็นว่าถึงแม้การผลิตของมนุษยชาติจะสูงขึ้น แต่ทรัพยากรมนุษย์เราไม่ได้พัฒนาด้วยอัตราการเติบโตที่เท่ากัน มากไปกว่านั้น ในทางกลับกันทรัพยากรธรรมชาติกลับมีแต่จะลดลง จนอาจกล่าวได้ว่า สมดุลในการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และ เศรษฐกิจควบคู่กันไป เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สังคมไทยต้องเริ่มหันมาใส่ใจและพยายามก้าวเข้าหาสมดุลดังกล่าวอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น
“การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนนั้นต้องดูที่ความจำเป็นพื้นฐานของสังคม แต่ในขณะที่เราพยายามจะตอบโจทย์สังคมนั้น เราต้องดูด้วยว่าระบบนิเวศยอมให้เราไปถึงได้ขนาดไหน? เพราะเพดานของระบบนิเวศกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานของสังคมอยู่คู่กันตลอดเวลา หากเราต้องการจะพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน การพัฒนาอย่างสมดุลคือการพัฒนาที่มุ่งสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนในสังคมโดยไม่ล่วงเกินศักยภาพของการทำงานของสิ่งแวดล้อม” อาจารย์ว่านกล่าว
Plastic Project: นำเสนอทางเลือกการแก้ไขปัญหาถุงพลาสติกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
การพัฒนาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องคิดถึงเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะต้องปกป้องธรรมชาติและฟื้นฟูธรรมชาติไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ การจะไปสู่สังคมที่ดีขึ้น ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ต้องเริ่มจากการทำให้การรักษาธรรมชาติเป็นเรื่องง่าย
ด้วยเหตุนั้น สถาบันฯ จึงได้จัดทำโครงการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายและมาตรการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมุ่งเน้นถุงพลาสติกหูหิ้ว สืบเนื่องจากมาตรการงดใช้ถุงหูหิ้วพลาสติกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกของประชาชนในช่วงเร่งรีบ กล่าวคือ ยิ่งรีบ ยิ่งสร้างขยะ พร้อมทั้งนำเสนอทางเลือกเชิงนโยบายต่อไปแก่ภาครัฐ
น่าสนใจกว่านั้น จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติก ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันฯ ผ่านระบบออนไลน์ สัมภาษณ์ตัวต่อตัว และ Social Listening พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว แต่คนที่อยู่รายล้อมพลาสติก ยังคงมีอยู่หลายภาคส่วน ซึ่งมีความกังวล ข้อท้าทาย ข้อหน่วงรั้ง ที่ทำให้ไม่สามารถปรับลดการใช้พลาสติกได้รวดเร็วอย่างที่คิด การเข้าใจคนกลุ่มนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการปรับพฤติกรรมของห่วงโซ่การผลิต ใช้ และทิ้งถุงพลาสติกหูหิ้วเพื่อให้สังคมไทยรักษาธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว จากการทำแบบสำรวจดังกล่าวพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ร่วมตอบแบบสำรวจเสนอข้อเสนอแนะต่อการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วใช้ครั้งเดียวว่า ภาครัฐควรเพิ่มความหลากหลายในการใช้ถุงพลาสติกให้มากขึ้น มีมาตรฐานพลาสติกที่ชัดเจน และให้ความรู้ด้านการแยกขยะให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังควรคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ตามรายทางของวงโคจรถุงพลาสติกหูหิ้ว เพราะการรักษาธรรมชาติควรทำให้เป็นเรื่องง่ายที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
“ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว แต่คนที่อยู่รายล้อมพลาสติกมีหลายภาคส่วน ซึ่งมีความกังวล ข้อท้าทาย ข้อหน่วงรั้ง ที่ทำให้ไม่สามาารถปรับลดการใช้พลาสติกได้รวดเร็วอย่างที่คิด การเข้าใจคนกลุ่มนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการรักษาธรรมชาติ” อาจารย์ว่านกล่าว
สร้างพื้นที่สีเขียว ใกล้ใจ ใกล้การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
นอกเหนือจากการปกป้องธรรมชาติแล้ว การฟื้นฟูธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ เราจึงจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ประเทศมีความพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติกันมากขึ้น โดยสามารถเห็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจนจากประเทศสิงคโปร์ที่มีความพยายามพัฒนาและสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง
หันกลับมาดูที่ประเทศไทย เราต้องไปไกลแค่ไหนถึงจะเจอธรรมชาติ โดยจากข้อมูลของ Global Forest Watch พบว่าประเทศไทยมีแค่ 30% ที่เป็นพื้นที่ที่ร่มไม้หนา (ความหนาแน่นต่อ 1 ตร.กม.) กล่าวคือ ความหนาแน่นของประเทศไทยน้อยมาก โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือที่ห่างไกลจากพื้นที่สีเขียว และยิ่งซูมเข้ามายังหัวเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานครหรือนครราชสีมา จะพบว่ามีความห่างไกลจากพื้นที่สีเขียวค่อนข้างมาก น่าสนใจกว่านั้น พื้นที่ที่มีป่าไม้อย่างหนาแน่นในประเทศไทยกลับเป็นพื้นที่ในอุทยานและป่าอนุรักษ์ที่ประชาชนเข้าถึงได้ยาก ทำให้พื้นที่ชุมชนหลายส่วนที่อยู่ติดป่าไม้ กลับไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวได้ จากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ดังกล่าว พบว่า พื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงนั้นแทบไม่มีพื้นที่สีเขียวอยู่เลย จนอาจกล่าวได้ว่า ที่ไหนมีคน ที่นั่นไม่มีต้นไม้
อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปดูอีกมุมหนึ่ง คนไทยรู้สึกมองว่าตัวเองเข้าถึงธรรมชาติได้ยากหรือง่ายแค่ไหน โดยจากการสำรวจที่สถาบันฯ ได้ทำร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ค่าเฉลี่ยของคนไทยมองว่าตัวเองสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้เพียง 3.94 (จาก 0 = ไม่มีและ 1-10 = เข้าถึงได้ยากและง่ายตามลำดับ) ขณะที่คนไทยในเขตเทศบาลมองว่าตัวเองสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ 2.82 และคนไทยนอกเขตเทศบาลมองตัวเองอยู่ที่ 4.86
แล้วจะทำให้คนไทยเข้าถึงพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นได้อย่างไร อาจารย์ว่านเสนอแนะว่า หนึ่งวิธีในการสร้างสังคมยั่งยืนคือการสร้างบทบาทให้ธรรมชาติใกล้ชิดชีวิตคนมากขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นทั้งในและนอกเขตเทศบาล การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยเศรษฐกิจใหม่ที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ทุกคนโดยไม่ล่วงเกินศักยภาพในการทำงานของสิ่งแวดล้อม ต้องสร้างการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในเมืองให้มากขึ้น และส่งเสริมเกษตรยั่งยืนอย่างการทำวนเกษตรหรือการปลูกป่าไปพร้อมกับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ชนบท
“เพราะเมื่อเราคุยกันเรื่องพื้นที่สีเขียวเราจะไม่ค่อยพูดเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างงาน หรือการกระจายรายได้กลับคืนมา แต่จริง ๆ คือเมื่อไรพื้นที่สีเขียวใกล้จิตใจคน เมื่อนั้นก็จะตามมาด้วยการรักษ์ธรรมชาติและการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน” อาจารย์ว่านทิ้งท้าย