‘ใครว่าเรียนจบมา ได้ทำงานดี ๆ แล้วจะสบาย’
‘ทำงานเหนื่อยแทบตาย แต่เงินที่ได้ก็ยังไม่คุ้มค่า’
‘คนไทยเป็นคนขี้เกียจจริง ๆ หรอ?’
คำถามเหล่านี้เป็นประเด็นตั้งต้นในการจัดงานเปิดตัวแผนภาพ “ประเทศไทยอยู่ตรงไหน?” และงานเสวนาในหัวข้อ “ชวนมองแรงงานไทยในมุมใหม่ คนไทยทำงานหนักแต่ไม่คุ้มเหนื่อย?” ที่สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อมองภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึงเกาหลีใต้ ทั้งยังสามารถมองเห็นทิศทางและแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย: คำพูดไว้ขายของ หรือเรื่องจริงของไทย
‘ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำงานหนัก แต่ทำไมไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เราทำลงไป?’ เป็นคำถามตั้งต้นจาก ดร.อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์ นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) คำตอบอาจเป็นเพราะคนไทย ‘ขยันผิดที่’ แม้จะดูเป็นโฆษณาชวนเชื่อ แต่ดร. อนรรฆได้อธิบายว่าเป็นเพราะโครงสร้างสร้างเศรษฐกิจของไทยกว่า 1 ใน 3 นั้นอยู่ในภาคการเกษตร เมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็ทำให้ได้รับผลกระทบตามมา นอกจากนี้ เกษตรกรรายเล็กของไทยก็ไม่ได้นำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาต่อยอด ผลลัพธ์ที่ออกมาคือรายได้จากภาคการเกษตรนั้น เติมจีดีพี (GDP) ได้ไม่ถึง 10%
ทางภาคการผลิต ไทยทำหน้าที่หลักในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ แต่สุดท้ายการผลิตดังกล่าว ก็เป็นเพียงการผลิตที่นำไปเติมเต็มให้กับประเทศอื่นอีกทีหนึ่ง ไม่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง จากเดิมที่ไทยเคยได้เปรียบในเรื่องแรงงานราคาถูกโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1980 ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าไทยไม่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้แล้ว ทำให้ไทยกลายเป็น ‘ไส้ของแซนด์วิช’ ที่ถูกบีบอัดอยู่ตรงกลาง ไม่สามารถหลุดพ้นจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ได้ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวชูโรงของประเทศไทย และมีมูลค่ารวมเกือบ 20% ของจีดีพี (GDP) ก็กำลัง ‘ติดไวรัสโคโรนา’ ไปด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวกว่า 1 ใน 3 นั้นเป็นคนจีน
‘แล้วทำไมประเทศไทยถึงสู้ประเทศอื่นไม่ได้ซักที?’ ดร. อนรรฆ ให้ความเห็นว่าเพราะต่างประเทศมีตัวช่วยในการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาเทคโนโลยี และกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ทำให้คนตัวเล็กมีช่องทางทำมาหากิน ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรจะทำ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจจากจุดแข็งของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารการกินอยู่ การดูแลสุขภาพ ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามามากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนการเรียนตลอดชีวิต ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องทำให้คนไทยเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม เข้าถึงงานที่ดี สร้างรายได้ ได้ทำตามเป้าหมาย และประสบความสำเร็จในชีวิต
ทำไมคนไทยจะไม่เหนื่อย ถ้าสังคมทั้งเอื่อยและเฉื่อยชา
ทางด้านมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจมาพูดคุยในวงเสวนา คือ ‘สังคมสูงวัย’ ซึ่งดร. ปิติมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลลัพธ์และประสิทธิภาพในการทำงานของคนไทยโดยรวม ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้น (Aged Society) หมายถึง หากมีคนไทย 5 คนเดินพร้อมกัน เราจะพบว่ามี 1 คนที่เป็นคนสูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปี (ประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด) และหากไม่มีการวางแผนหรือดำเนินนโยบายใด ๆ เลย ภายในปี 2040 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) หรือ 1 ใน 3 ของประชากรเป็นผู้สูงวัย ดังนั้น เมื่อโครงสร้างประชากรที่มีอยู่แก่ตัวลง สังขารการทำงานของคนไทยก็เฉื่อยชาตามไปด้วย จนบางทีเราก็ถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจได้ง่าย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศอย่างอินโดนีเซียยังคงเป็น ‘สังคมที่อ่อนเยาว์’ ที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ในวัยฉกรรจ์ และยังคงมีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา ทำให้ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวต่อไป
ดร. ปิติ ได้ให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเกิดจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยได้ด้วย ‘การแก้ไขปัญหาร่วมกัน’ ภายในภูมิภาคอาเซียน โดยการให้ความรู้ และเพิ่มสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม ให้ความยุติธรรมทางสังคม ก็จะทำให้อาเซียนสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ดร.ปิติยังได้เสริมข้อมูลเรื่องชั่วโมงการทำงานในวงเสวนาอีกด้วย โดยอ้างอิงไปในช่วงทศวรรษที่ 1930-1940 จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค ได้กล่าวไว้ว่า ดุลยภาคของชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมอยู่ที่ 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึงในปัจจุบันก็มีหลาย ๆ ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่มีชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ประมาณ 30 ชั่วโมง/สัปดาห์ เข้าใกล้จุดดุลยภาคที่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ได้กล่าวไว้
เกาหลีใต้โมเดล: เมื่อ ‘มหัศจรรย์แม่น้ำฮัน’ กลายเป็น ‘นรกโชซอน’
โมเดลทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของเกาหลีใต้ในช่วงประมาณทศวรรษที่ 1960-1980 ช่วงเวลาเพียง 20 ปี กลายเป็น ‘ยุคมหัศจรรย์แม่น้ำฮัน’ ที่ ว่าที่ร้อยตรี เสกรร อานันทศิริเกียรติ นักวิจัยสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ได้นำมาพูดคุยในวงเสวนา “เกาหลีได้ทุ่มเทการพัฒนาไปกับอุตสาหกรรมและบริการที่ตนเองถนัด ไมว่าจะเป็น อุตสาหกรรมรถยนต์ หรืออู่ต่อเรือ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งในด้านงบประมาณ และการลดภาระทางภาษี พร้อมทั้งได้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาบุคลากร สร้างงานวิจัย และให้การศึกษาอย่างทั่วถึง”
อย่างไรก็ตาม คุณเสกสรรก็ได้อธิบายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในยุคมหัศจรรย์แม่น้ำฮันที่ทำให้เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับความท้าท้ายจนถูกเรียกขานว่าเป็นยุค ‘นรกโชซอน’ ไม่ว่าจะเป็น
- ความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการของตลาดแรงงาน และนักศึกษาจบใหม่ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีพบว่า ในปี 2018 วัยแรงงานของเกาหลีอายุระหว่าง 24-35 ปี ตกงานกว่า 338,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุด นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1999
- การปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้าของบริษัท หรือการที่บริษัทใหญ่ข่มขู่บริษัท Outsource ให้ทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือการหลอกให้ทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนที่ไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามคนเกาหลีกลับพบว่า กว่า 67% เคยเป็นคนรังแกผู้อื่นเสียเอง
- ทัศนคติในการทำงานที่ผิด โดยคนยุคสร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจในช่วงปี 1960-1980 มองว่าคนจะต้องขยัน ทำงานหนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วการทำงานหนักไม่ได้ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น มีเพียงแรงงานที่ว่างงานแฝงปะปนอยู่
แม้ว่านโยบายเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดผลในแง่ลบอยู่บ้าง แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้ออกมาตรการที่เอื้อต่อการทำงานของชาวเกาหลี เช่น การลดชั่วโมงการทำงาน จาก 68 ชั่วโมง/สัปดาห์ เหลือ 52 ชั่วโมง/สัปดาห์ภายในปี 2021 นอกจากนี้ยังได้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การพิทักษ์สิทธิแรงงาน รวมถึงการสนับสนุนการจ้างงานเยาวชน ทั้งการสนับสนุนเยาวชนรายได้น้อยในการทำงาน หรือจะเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนออกไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น
คุณเสกสรรได้ทิ้งท้ายในงานเสวนาไว้ว่า หากไทยจะมีการปรับใช้โมเดลอย่างเกาหลีใต้ควรต้องดูความเหมาะสมของบริบทไทยด้วย กล่าวคือ ต้องพิจารณาทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ และมิติทางสังคม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อให้คนทำงานอย่างมีความสุข และที่สำคัญคือ รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความต่อเนื่องของนโยบาย ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสูงสุดที่จะทำให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์สูงสุด
IPPD ชวนมองแรงงานไทยผ่าน Dashboard ไปพร้อมกับการเล่าเรื่องที่ชวนให้คุณได้ติดตาม ที่นี่ https://ippd.or.th/thailand-productivity-story/