วันนี้คนไทยทำงานเป็นอย่างไร?

เคยถามตัวเองไหมว่าเราทำงานหนักไปเพื่ออะไร?

แล้วรู้หรือไม่ว่า เราคนไทยทำงานหนักกันขนาดไหนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของแต่ละคน

วันนี้ IPPD จะพาทุกท่านเจาะลึกไปกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงาน ชั่วโมงการทำงาน ทักษะการทำงาน และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

มาดูกันว่าเราจำเป็นต้องแก้ไขประเด็นใดเพื่อนำมาสู่สิ่งที่ดีกว่าต่อแรงงานไทยในอนาคต

คำถามควิซรอบที่ 2: คุณคิดว่า ในคนไทยวัยทำงาน 100 คน จะมีคนว่างงานอยู่ประมาณกี่คน

คำตอบที่ถูกต้อง: ก. น้อยกว่า 3 คน (0.7 คน) (คนตอบถูก 11.67%)

คำตอบที่คนตอบมากที่สุด: ง. 10-12 คน (คนตอบมากที่สุด 39.97%)

จากรายงานของธนาคารโลกประจำปี 2018 อัตราการว่างของประเทศไทยนั้นมีเพียง 1.1% เท่านั้น ถือเป็นอันดับ 9 ของประเทศที่มีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดจาก 233 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหากลองเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการว่างงานสัดส่วนเป็นอย่างไร ข้อมูลชุดเดียวกันจากธนาคารโลกชี้ดังนี้

  1. ลาว (0.6%)
  2. กัมพูชา (0.1%)
  3. ไทย (1.1%)
  4. เวียดนาม (1.9%)
  5. มาเลเซีย (3.4%)
  6. อินโดนีเซีย (4.3%)

แม้อัตราการว่างงานของไทยนั้นจะค่อนข้างน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่ก็ยังคงหลงเหลือปัญหาที่น่ากังวลใจ โดยเฉพาะ “ปัญหาเชิงโครงสร้างของแรงงานไทย” 

โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่าแรงงานกว่า 1 ใน 3 ทั่วประเทศ ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยมีทั้งแรงงานในภาคการเกษตรและผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ส่งผลให้พวกเขาไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่ควรจะได้รับ เช่น สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล การสงเคราะห์บุตร สวัสดิการกรณีทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต 

อีกทั้งปัญหาการทำงานที่ไม่ตรงกับการศึกษาหรือสาขาที่จบ อาจทำให้แรงงานไม่ได้ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังพบว่าบัณฑิตใหม่ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอัตราการว่างงานกว่า 1.7 แสนคน อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้ออกนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยได้จัดตั้งศูนย์ ‘ที่นี่มีงานทำ’ (Job Ready Center:JRC) เพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่ขึ้น และมีแผนที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อรับมือกับปัญหานี้ในระยะยาวด้วย เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างอนาคตของแรงงาน ไทยให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

ที่มา:

https://bit.ly/2IUidfG 
https://bit.ly/2kKYhDa 
https://bit.ly/2CtW730

คำถามควิซรอบที่ 2: คุณคิดว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยทำงานวันละกี่ชั่วโมง

คำตอบที่ถูกต้อง: ง. 9.2 ชม. (9-10 ชม.) (คนตอบถูก 21.72%)

คำตอบที่คนตอบมากที่สุด: ค. 8-9 ชม. (คนตอบมากที่สุด 45.59%)

จากคำตอบที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตอบเข้ามากันเป็นจำนวนมากถึง 44.60% มีความใกล้เคียงกับผลการศึกษาของ Our World in Data ที่ระบุว่า ในปี 2014 คนไทยทำงานโดยเฉลี่ยมากถึง 9.2 ชั่วโมง/วัน 

นั้นหมายความว่าเมื่อครบหนึ่งปี คนไทยจะทำงานทั้งหมดประมาณ 2,284 ชั่วโมง หรือประมาณ 44 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังชี้ว่าชั่วโมงการทำงานของคนไทยเฉลี่ยอยู่ในระดับคงที่มาตั้งแต่ปี 2006 แม้ตัวเลขดังกล่าวจะไม่ได้เกินกว่าที่พรบ.คุ้มครองแรงงานได้กำหนดไว้ว่า “ลูกจ้างจะต้องทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมง/สัปดาห์” แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า คนไทยมีชั่วโมงการทำงานค่อนข้างสูงกว่าที่ควรจะเป็น

สอดคล้องกับรายงานประจำปี 2018 ของ Expedia ได้สำรวจการลาพักร้อน 19 ประเทศทั่วโลก พบว่าคนไทยมีอันดับการลาพักร้อนน้อยเป็นอันดับ 7 กล่าวคือ คนไทยลาพักร้อนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 วัน/ปี ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการพักร้อนน้อยที่สุดในโลก ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ และฮ่องกง ตามลำดับ 

ตัวเลขข้างต้นที่สวนทางกันระหว่างชั่วโมงการทำงานและการลาพักร้อนของคนไทย สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเครียด ตามมาได้

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตระบุว่า ในปี 2017 พบว่ามีผู้โทรเข้ามาปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เรื่องความเครียดมากที่สุด โดยคิดเป็น 40% จากทั้งหมดที่โทรมาขอรับการปรึกษา อีกทั้งจาก 70% ของจำนวนทั้งหมดนั้น มีอายุระหว่าง 22 – 59 ปี อย่างไรก็ดี เน้นย้ำไว้อีกครั้ง ความเครียดของทุกคนที่เข้ารับการปรึกษาไม่ได้มีสาเหตุจากการทำงานทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ออกนโยบายเพื่อเน้นการพัฒนาสุขภาพจิตในทุกวัยสำหรับปี 2019 – 2020 เช่น การป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นกับวัยทำงานและการให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน เป็นต้น 

ที่มา:

https://bit.ly/2BRNHiU
https://bit.ly/2oBbmwY
https://bit.ly/2kKYhDa 

คำถามควิซรอบที่ 2: คุณคิดว่า การหาแรงงานที่มีทักษะ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ของไทย มีความยากง่ายอยู่ในช่วงอันดับใดของโลก? (อันดับที่ 1 คือ หาง่ายที่สุด และ 130 คือ หายากที่สุด)

คำตอบที่ถูกต้อง: ค. 60 – 90 หรือ อันดับที่ 83 (คนตอบถูก 35.04 %)

คำตอบที่คนตอบมากที่สุด: ข. 31-60 (คนตอบมากที่สุด 41.14%)

แม้ทุกวันนี้โลกกำลังหวาดกลัวเทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ที่อาจเข้ามาช่วงชิงบทบาทและลดหน้าที่ของอาชีพใดอาชีพหนึ่งจนอาจจะหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์โลก 

แต่ในความจริงแล้ว ผู้นำองค์กรธุรกิจทั่วโลกกลับออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนนี้พวกเขาต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงเป็นอย่างมาก และไม่ได้มองว่าจะเกิดการแข่งขันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรในอนาคตเลยด้วยซ้ำ 

จากการศึกษาของ Forbes Thailand ระบุว่าสถานการณ์ทั่วโลกในตอนนี้กำลังขาดแรงงานทักษะสูงกว่า 85 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก World Economic Forum ที่ชี้ว่า ประเทศไทยมีความง่ายในการเข้าถึงแรงงานที่มีทักษะสูงเป็นอันดับที่ 83 จากทั้งหมด 130 ประเทศ 

อย่างไรก็ดี สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนดังกล่าวนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอว่า ควรปรับให้อุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงานมีความสอดคล้องกัน และเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทยให้สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

ในระยะสั้นภาครัฐและเอกชนควรพิจารณาการปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับผลิตภาพของแรงงาน เนื่องจากที่ผ่านมาค่าจ้างจริงอยู่ในระดับต่ำกว่าผลิตภาพของแรงงานมาโดยตลอด 

สำหรับระยะยาว ภาครัฐและภาคเอกชนควรพัฒนาและสร้างความรวมมือใหเกิดความเชื่อมโยงระหว่าง สถาบันการศึกษา สถาบันฝึกอบรม สถาบันเฉพาะทาง และสถานประกอบการในภาคการผลิตต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถผลิตบุคคลากรที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการ และควรเสริมสร้างระบบข้อมูลสําหรับการ วางแผนกําลังคนของประเทศและปรับปรุงคุณภาพของแรงงานในระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและความสามารถแรงงาน

ที่มา: 

https://bit.ly/2J26SLz
https://bit.ly/2VQmt4Z

คำถามควิซรอบที่ 2:  คุณคิดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2018 เป็นอย่างไร

คำตอบที่ถูกต้อง: ค. ขยายตัวประมาณ 4% (คนตอบถูก 12.36%)

คำตอบที่คนตอบมากที่สุด: ข. ขยายตัวประมาณ 3% (คนตอบมากที่สุด 41.73%)

GDP หรือ Gross Domestic Product แปลเป็นไทยว่า ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดคือ รายได้สุทธิของประเทศ ซึ่งมักถูกใช้เป็นตัววัดภาวะเศรษฐกิจเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ สำหรับนักลงทุน

สำหรับ GDP ของประเทศไทยตามรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยว่าเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวขึ้นเป็นร้อยละ 4.1 ในปี 2018 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2017 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลข GDP ของไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่กลับไม่สอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงที่ว่าข้าวยากหมากแพง โดยปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ GDP ไทยนั้นมีตัวเลขเช่นนี้เนื่องจาก GDP มาจากผลรวมของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ไปจนถึงภาคประชาชน ซึ่งตัวเลขทั้งหมดนั้น ไม่ได้การันตีถึงความมั่งคั่งของผู้คนในประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ 

นโยบายทางภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและ GDP ของประเทศ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจปัจจุบันเช่น ควบคุมราคาสินค้า ส่งเสริมการบริโภคสินค้าทางการเกษตร การลดอัตราดอกเบี้ยและคงราคาภาษี ล้วนแต่มีความตั้งใจในการทำให้ GDP สูงขึ้น อย่างไรก็ตามแผนนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทุกคนยังไม่สามารถตอบโจทย์คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้เท่าที่ควร

ดังนั้นในอนาคตภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะตรวจสอบและหาทางแก้ไขให้ทิศทางการเติบโตของ GDP สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนแต่เทียบเท่ากับมาตราฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วและมีทิศทาง GDP ที่สัมพันธ์กัน

ที่มา:

 https://bit.ly/33DYrNm