เรื่อง: รัสมิ์กร นพรุจกุล
จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราตระหนักถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม วิกฤตการณ์ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์จนไม่สามารถย้อนกลับให้เป็นเหมือนเดิมได้ ภาพความวุ่นวายบนท้องถนนในช่วงเวลาเร่งด่วนกลายเป็นความว่างเปล่า ผู้คนต่างใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดต่อ ธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป มากไปกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่ส่งผลต่อมนุษย์เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอื่น ๆ ด้วย และถึงแม้ว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้ ทุกสิ่งก็ไม่สามารถย้อนกลับไปเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด
ในช่วงการฟื้นตัวหลังจากวิกฤตการณ์ เราอาจไม่สามารถดำเนินงานทุกอย่างได้ตามปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น การผลิตขยะมากขึ้น และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นกำลังเป็นแรงกดดันที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงระบบนิเวศอีกด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังคงต้องคำนึงถึง คือ สุขภาพของโลก สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และความเป็นอยู่ของผู้คนที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ไม่ถูกมองข้าม โดยเริ่มจากการเปลี่ยนไปสู่ “การลงทุนสีเขียว” (green investments) อาทิ พลังงานหมุนเวียน ระบบบ้านอัจฉริยะ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนขึ้น
เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติได้จัดตั้ง “วันสิ่งแวดล้อมโลก” (World Environment Day) ขึ้น ในวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี โดยในปีนี้ได้เน้นในเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) ซึ่งทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อมต่างอยู่ร่วมกัน และมนุษย์ก็จำเป็นต้องพึ่งพาธรรมชาติในการดำรงชีวิตด้วย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และโครงการ SWITCH-Asia จึงได้จัดงานเสวนาพิเศษ เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก เรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพกับการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน” ขึ้น ในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เวลา 10:15 – 12:30 น. เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนแนวคิด นำเสนอมุมมองใหม่ ให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืน จากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคประชาชน และองค์การระหว่างประเทศ
เปิดตัวทูต UNEP ไทยคนแรก “อเล็กซ์ แรนเดล”
ในงานเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการเปิดตัว “คุณอเล็กซ์ แรนเดล” ทูตสันถวไมตรีแห่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยคนแรก ซึ่งเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงและผู้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาสิ่งแวดล้อม (Environmental Education Center; EEC) ที่จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน ผ่านการใช้สถานที่จริง ภายใต้ความคิดที่จะใช้ธรรมชาติเป็นห้องเรียน โดยคุณอเล็กซ์เชื่อมั่นว่าการเรียนรู้ผ่านธรรมชาติ จะทำให้นักเรียนรู้สึกผูกพันและอยากปกป้องธรรมชาติมากยิ่งขึ้น บทบาทหน้าที่หลักของคุณอเล็กซ์ในการเป็นทูตสันถวไมตรีคือการเข้ามาทำงานร่วมกับเยาวชนและสื่อ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการปกป้องโลกของเรา
เมื่อเข้าสู่พิธีเปิด ดร. เดเชน เซอริง ผู้อำนวยการและผู้แทนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภาคพื้นเอเซียและแปซิฟิก ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาโลกร้อน หากเรามีสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแล้วก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ในระยะยาว และแคมเปญ #ForNature ซึ่งเป็นธีมงานหลักของ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ในปีนี้ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยย้ำเตือนว่าสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นหัวใจหลักของการมีชีวิตที่ดีของมนุษย์
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ขึ้นกล่าวเปิดงานเสวนาในครั้งนี้ โดยได้กล่าวว่า ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ โดยประเทศภายในกลุ่มได้มีการตัดสินใจร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรฐานทางการค้า อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และนโยบายด้านเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนั่นก็ทำให้กลยุทธ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สหภาพยุโรปจะดำเนินการให้เกิดเป็นข้อตกลงสีเขียว ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ของการเติบโตใหม่ของกลุ่ม
ในช่วงสุดท้ายของพิธีเปิด ฯพณฯ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้เกียรติร่วมกล่าวเปิดงานเสวนาออนไลน์เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยกล่าวถึงคำขวัญวันสิ่งแวดล้อมประจำปีนี้ “Time For Nature” Find out what you can do. โดยให้เริ่มต้นที่ตัวของเราเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คิดใหม่ (rethink) เพื่อ ลด (reduce) ใช้ซ้ำ (reuse) และรีไซเคิล (recycle) เพิ่มความเอาใจใส่และคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม “การฟื้นฟูและการพัฒนาบนพื้นฐานเศรษฐกิจสีเขียว” ตาม “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมสร้างความปกติใหม่ในการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง (resilience) ให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศ และโลกของเรา
ในโอกาสนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายที่จะปิดอุทยานแห่งชาติทุกแห่งในแต่ละปีเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้ธรรมชาติได้มีการฟื้นตัวและเพิ่มศักยภาพของความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ และกล่าวปิดท้ายว่า “ถึงเวลาคืนลมหายใจให้ธรรมชาติ” เพื่อลูกหลานของเราสืบไป “Time For Nature” Find out what you can do.
ธรรมชาติให้อะไร? ทำไมต้องคอยรักษา?
หลังจากนั้น จึงเข้าสู่ช่วงเสวนาโดยเริ่มจากจากการอธิบายความหมายและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ โดย คุณธันณี ศรีสกุลไชยรัก เจ้าหน้าที่วิชาการโครงการ SWITCH-Asia ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้อธิบายว่า ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่ 1) ในระดับที่เนินเชิงปริมาณ เช่น ป่าชายเลนแห่งหนึ่ง มีพื้นที่ 20 ไร่ ประกอบไปด้วยต้นไม้ 4,000 ต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีต้นไม้จำนวน 4,000 ชนิด 2) ระดับที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากยิ่งขึ้น แต่มีเพียงระบบนิเวศเดียว เช่น ในพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งมีต้นไม้ 4,000 ต้น มีต้นโกงกางใหญ่ ต้นโกงกางเล็ก และต้นไม้สายพันธุ์อื่น ๆ ที่คอยช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ คอยรับแรงกระแทกจากลม ฝน ช่วยดูแลสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ใต้น้ำ 3) การมีระบบนิเวศที่หลากหลาย เช่น มีผืนป่าชายเลน และข้าง ๆ มีระบบนิเวศหาดทราย และระบบนิเวศหาดปะการัง ระดับนี้จะเป็นระบบที่มีสิ่งชีวิตหลากหลายที่สุด พึ่งพาอาศัยกัน แม้จะประเทศไทยจะมีความหลากหลายในระบบนิเวศจำนวนมาก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาให้คงอยู่ และรักษาความหลากหลายของระบบนิเวศให้ยั่งยืน โดยการเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศในบริเวณเดียวกันให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ คุณธันณี ยังได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากความหลากหลายทางธรรมชาติ ซึ่งมีด้วยกัน 4 ระดับ ได้แก่ ระดับรากฐานที่ธรรมชาติได้จัดสรรไว้ให้ อาจจะสัมผัสไม่ได้ หรือมองไม่เห็น เช่น ชั้นบรรยากาศ ระบบหมุนเวียนอาหารในดินและอากาศ ระดับที่สอง คือ ผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์ได้รับจากธรรมชาติ เช่น อาหาร น้ำสะอาด วิตามิน เป็นต้น ระดับที่สาม เป็นระดับปฏิบัติการ เป็นระดับที่ธรรมชาติได้สร้างความเป็นไปให้กับมนุษย์ เช่น ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในแต่ละช่วงก่อให้เกิดเป็นฤดูกาล และระดับสุดท้าย คือ ธรรมชาติได้ช่วยรักษาสภาพจิตใจและให้แรงบันดาลใจ เช่น การไปเที่ยวทะเล ความรู้สึกผูกพันและหวงแหนธรรมชาติ เป็นต้น
แม้มนุษย์จะเริ่มปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติในช่วงระยะเวลาที่ไม่นานมาก แต่การปล่อยของเสียกลับเข้าสู่ธรรมชาติย่อมส่งผลต่อความหลากหลายทางธรรมชาติที่ไม่สมดุล จนเกิดเป็นภัยพิบัติ ภาวะโลกร้อน หรือแม้กระทั่งโรคระบาด
อย่างไรก็ตาม UNEP และสหภาพยุโรปได้ดำเนินการให้เกิดการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้วยการทำงานร่วมกับรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน เช่น การส่งเสริมให้ผู้ผลิตทำ “อุตสาหกรรมสีเขียว” เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการใช้วัตถุดิบต่าง ๆ จะกลับเข้ามาสู่ระบบ ลดความกดดันต่อการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพที่จะต้องผลิตทรัพยากรใหม่ ๆ ให้มนุษย์ หรือการสนับสนุน “การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว” เพื่อนำกลไกลตลาดมาสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในการมีไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืน “ถ้าเราหยุดคิดซักนิด นำหลักการ Build Back Better ที่นำธรรมชาติมาวางบนโต๊ะแล้วมองกลับมา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้มากที่สุด” คุณธันณีกล่าว
ดร. นพ. สรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา เปิดวงเสวนาด้วยการตั้งคำถามชวนคิด ใน 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยที่ยั่งยืน ได้แก่ จะทำอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่อง “ใกล้” ตัวทุกคน? จะทำอย่างไรให้เป็นเรื่อง “กว้าง” กว่ามุมมองด้านเศรษฐกิจ? และจะทำอย่างไรให้ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ “ไกล” จนถึงคนรุ่นต่อไป?
เมื่อความยั่งยืนตอบโจทย์ธุรกิจและภาคประชาสังคม
คุณจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ ตัวแทนภาคเอกชนจากบริษัท DEESAWAT จำกัด ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ กล่าวว่า ไม้เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นตัวทำลายธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วเป็นวัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเริ่มทำก็คือ “การใช้ไม้อย่างยั่งยืน” โดยจะต้องเริ่มจากการแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนและอุตสาหกรรม ให้ทั้งสองฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศได้เริ่มออกกฎหมายเพื่อให้เกิดการใช้ไม้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ
โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่ในระบบนิเวศ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ในระดับอุตสาหกรรม คุณจิรวัฒน์ ยังได้เสนอมุมมองต่อภาคอุตสาหกรรมว่า จะต้องมีการออกแบบสินค้าที่คำนึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ใช้ให้คุ้มค่า และไม่ให้เกิดการสร้างขยะเพิ่มมากขึ้น ในระดับบริษัท จะต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยการรับฟังกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่สามารถนำมาพัฒนา โดยได้ยกตัวอย่าง จากกลุ่มสหภาพแรงงาน ที่เป็นการรวมกลุ่ม ซึ่งสามารถให้ข้อมูลที่น่าสนใจ มีการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ คุณจิรวัฒน์ แสดงความคิดเห็นว่า อุตสาหกรรมไม้เป็นสิ่งตอบโจทย์เศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในเชิงชีวภาพ (bio-circular economy) กล่าวคือ สามารถปลูกและส่งเสริมการปลูกได้เลย และไม้จะเป็นตัวแทนวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เหมือนในต่างประเทศ เช่น ที่สหรัฐอเมริกา ได้มีการส่งเสริมการสร้างบ้านด้วยไม้ โดยไม่ต้องใช้เหล็กเสริม เป็นต้น
ในวงเสวนานี้ ได้เชิญ คุณศุภวุฒิ บุญมหาธนากร ตัวแทนภาคประชาสังคมจากกลุ่ม ใจบ้าน สตูดิโอ ผู้ริเริ่มกลุ่มสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เพื่อนำพื้นที่ทิ้งร้างสาธารณะ มาปรับใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในสังคม หลังจากที่เกิดการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนหกหาย ส่งผลกระทบต่อคนทำงานภาคบริการในเมือง เช่น คนขับรถตุ๊ก ๆ พนักงานทำความสะอาด จึงได้ตั้งโจทย์ใหญ่ในการสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อนำมาผลิตอาหาร สร้างการจ้างงาน ส่งเสริมให้เกิดการขายวัตถุดิบที่ปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม จึงได้นำพิ้นที่ทิ้งร้างสาธารณะขนาด 3 ไร่ มาใช้ในการพัฒนา
นอกจากนี้ ยังเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนมากขึ้นด้วย คนมีกล้าพันธุ์ก็นำมาแบ่งปัน คนที่มีกำลังก็เข้ามาลงพื้นที่ โครงการที่เกิดขึ้นจากความไม่เพิกเฉยของสังคม ได้ตอบโจทย์ต่อความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่สีเขียว และพื้นที่เรียนรู้ด้านการเกษตร ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับที่อื่นด้วย
วิถีความยั่งยืน เริ่มได้ที่ตัวคุณ
ทางฝั่งของภาคประชาชน คุณลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ผู้ก่อตั้งแคมเปญและเว็บไซต์ “Little Big Green” แสดงความเห็นว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมจะต้องทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัวคนมากที่สุด จึงได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัว จากคนที่เคยเพิกเฉยต่อสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่ให้ปัญหาอื่น ๆ มาบดบังความสำคัญของสิ่งแวดล้อม แต่เมื่ออยู่ร่วมกับคนที่รักสิ่งแวดล้อมมากๆ เราก็ปรับตัวเองไปโดยปริยาย โดยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น การเลิกใช้หลอดพลาสติก เมื่อตนทำสำเร็จก็รู้สึกภูมิใจ และเริ่มมีวิถีชีวิตที่เขียวมากยิ่งชีวิต เริ่มพกแก้วพลาสติก พกปิ่นโตมากขึ้น และเมื่อเสียงของเราส่งต่อไปยังกลุ่มคนในโลกออนไลน์ ก็มีคนหันมาทำตามมากยิ่งขึ้น ในตอนนี้ คุณลูกกอล์ฟ จึงได้ร่วมมือกับคนอื่น ๆ ในการทำโครงการ ซึ่งตนเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ สุดท้ายก็เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ซึ่งบางเรื่องต้องเริ่มสร้างความเข้าใจและให้ความรู้กับผู้อื่น และยังได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ตอนนี้สิ่งที่ตนกังวลนั้นไม่ใช่กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ เพราะกลุ่มนี้ยังคงมีความหวังในการทำให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม ผู้ใหญ่กลับไม่ได้ตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม จึงอยากให้ร่วมด้วยช่วยกันทำในส่งที่ตนเองทำได้ เช่นเดียวกันกับคนดังซึ่งมีโซเชียลมีเดียอยู่ในมือ พลังเหล่านี้มีอำนาจมาก เราต้องไม่ยอมแพ้และทำให้เค้าตระหนักว่าเราสามารถดำเนินชีวิตในแนวทางที่อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้
ปิดท้ายวงเสวนาในครั้งนี้ด้วยมุมมองจาก คุณอเล็กซ์ แรนเดล ทูตสันถวไมตรีแห่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้เริ่มโครงการศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับเด็ก ๆ ในการเข้ามาเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมผ่านรูปแบบกิจกรรมและค่าย โดยร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อให้เห็นว่ามนุษย์และธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวกัน ทุกอย่างนั้นเป็นการสร้างความยั่งยืน ซึ่งก็ได้ขยายกลุ่มอาสาสมัครให้กว้างมากขึ้น เพื่อสร้างจิตสำนึกและความยั่งยืนในระยะยาว
ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเข้ามาเป็นผู้นำในอนาคต นอกจากนี้ คุณอเล็กซ์ ยังมองว่าโซเชียลมีเดียนั้น มีประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อมให้ถึงกลุ่มคนได้หลากหลายมากขึ้น ทั้งยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เราต้องใจกว้างให้ได้มากที่สุด ลองมองย้อนกลับตัวเองว่า เรามีส่วนในการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากร ลองทบทวนจากตัวเรา เมื่อทุกคนรวมตัวกันทำ สถานการณ์มันก็ไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่เราคาด”