7 เหตุผลที่คนมีลูกน้อยลงและผลกระทบต่อแรงงานในอนาคต

เมื่อปี 1970 ค่าเฉลี่ยจำนวนเด็กที่เกิดต่อผู้หญิงหนึ่งคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยอยู่ที่ 5.5 แต่ลดลงมาอยู่ที่ 2.4 ในปี 2015 และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขการเกิดที่จะช่วยรักษาระดับประชากรเอาไว้ (Replacement Level) อยู่ที่ 2.1 ซึ่งดูแล้วจะเห็นได้ว่าอยู่ในระดับ ‘เกือบจะทดแทนไม่ทัน’

นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งจากรายงานของ The Economist Intelligence Unit ที่ทำให้เห็นว่า เด็กเกิดใหม่มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ส่งผลให้จำนวนวัยแรงงานในอนาคตนั้นลดน้อยลงตามไป

สังคมและเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่ค่อยมีลูก เข็นให้ประเทศต่างๆ ก้าวกระโดดข้ามจาก ‘สังคมผู้สูงอายุ’ (มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 7-14%) ไปสู่ ‘สังคมผู้สูงโดยสมบูรณ์’ (สัดส่วน 14-21%) ในเวลาอันสั้น

ความเร็วขนาดนี้ไม่ดีแน่ๆ รายงานฉบับนี้จึงสรุปสาเหตุ 7 ประการ ที่ทำให้คนมีลูกกันน้อยลง

1. ควันหลงนโยบายวางแผนครอบครัว : มีการออกนโยบายเพื่อควบคุมประชากรที่เพิ่มจำนวนล้นหลามในปี 1970 ทำให้ผลลัพธ์ที่ตามมาเห็นชัดในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ว่ามีจำนวนประชากรลดลง

2. การย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง : แนวคิดการย้ายเข้าเมืองเพื่อ​ ‘คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า’ กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ค่าครองชีพของคนสูงขึ้น และราคาของการเลี้ยงลูกในเมืองก็แพงกว่า รวมถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนย้ายถิ่นไปหางานในต่างประเทศ ซึ่งอาจเสี่ยงถูกเลิกจ้างหากมีลูก

3. บ้านแพงเกินฝัน : เมื่อที่อยู่อาศัยราคาสูงเกินเอื้อม ก็ต้องพับเก็บความฝันที่จะมีครอบครัวหรือลูกไปก่อน

4. ผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาดีขึ้น : จึงเข้ามาอยู่ในภาคแรงงานมากขึ้น และเลือกที่จะเลื่อนกำหนดเวลาแต่งงานหรือมีลูกออกไป เพื่อไขว่คว้าโอกาสทางเศรษฐกิจที่อยู่ตรงหน้าไว้ก่อน เนื่องจากในบางสังคม บทบาทความเป็นแม่กับการทำงานนั้นไปด้วยกันไม่ได้ และบีบให้ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายเลือก

5. ครอบครัวสมัยใหม่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ : เพราะค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและค่าเสียโอกาสของผู้หญิงที่ต้องออกจากงานนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ บางครอบครัวจึงคุมกำเนิดเพื่อดูแลลูกคนแรกให้ดีที่สุดก่อน

6. คนไม่ค่อยรู้ว่าอายุมีผลต่อการมีบุตรยากขนาดไหน : ทำให้พวกเขาประมาทและไม่รู้ว่าอายุเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าที่คิด และคาดหวังมากเกินไปว่าเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาการมีบุตรได้เสมอ

7. วิถีชีวิตและอายุส่งผลต่อสุขภาพ : อัตราภาวะการมีบุตรยากเพิ่มขึ้นกับทั้งชายและหญิง เช่นการสูบบุหรี่หรือกินอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ สำหรับผู้หญิง ภาวะนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเลยวัย 32 และเมื่ออายุ 37 คุณภาพของไข่ก็ย่ำแย่ ส่วนผู้ชาย ภาวะการมีบุตรยากจากปริมาณ การเคลื่อนที่ และความผิดปกติของสเปิร์ม ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ถึงอย่างนั้น ภาวะนี้กลับไม่ได้ถูกจัดให้เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ประกันสุขภาพจึงไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย และคนทั่วไปก็ไม่สามารถจะจ่ายเองได้

จากสาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ รายงานเสนอแนะว่าควรแก้ไขด้วยการผสานนโยบายหลายๆ ด้าน เพราะลูกหนึ่งคนเกิดจากทั้งพ่อและแม่ ทั้งสองอาจมีปัจจัยที่นำมาใช้ตัดสินใจต่างกันไป และแนะทางแก้ไขที่ไม่ใช่แค่การออกนโยบายอัดฉีด แต่ต้องหาวิธี “ทำให้ประเทศมีบรรยากาศที่เป็นมิตรกับการมีครอบครัวให้ได้มากที่สุด” ด้วย