เมื่องานไม่ช่วยให้มีลูก ส่องวันลาคลอดของแต่ละประเทศในอาเซียน

คุณพอจะทายได้ไหมว่า หากครอบครัวหนึ่งมีลูก พ่อและแม่จะมีสิทธิในการลาหยุดนานแค่ไหน?

จำนวนวันลาคลอดก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พ่อแม่หลายๆ คนคิดว่าจะมีลูกดีไหม? รายงานของ The Economist Intelligence Unit เผยว่าหนึ่งใน 7 สาเหตุที่อัตราการเกิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง มาจากการที่ผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาดีขึ้น และตัดสินใจแต่งงานหรือมีลูกช้าลง เพื่อไขว่คว้าโอกาสทางเศรษฐกิจที่อยู่ตรงหน้าไว้ก่อน เนื่องจากในบางสังคม บทบาทความเป็นแม่กับการทำงานไปด้วยกันไม่ได้ บีบให้ผู้หญิงต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และเธอก็เลือกอย่างหลัง 

ผลที่เห็นได้ชัดคือผู้หญิงที่เรียนจบระดับประถมศึกษาราว 50% มีลูก 5 คนขึ้นไป ในขณะที่กรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่เรียนจบระดับอุดมศึกษาเพียง 18.4% เท่านั้น ระยะเวลาลาคลอดถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้หญิงเพื่อให้ได้ฟื้นฟูร่างกายและได้ดูแลลูกวัยแรกเกิด อย่างไรก็ตาม ระยะเวลานี้ไม่ควรสั้นหรือยาวเกินไป เพราะหากยาวเกินไป จะส่งผลทำให้นายจ้างเลือกปฏิบัติและเลือกจ้างงานผู้หญิงที่แต่งงานแล้วน้อยลง ส่งผลให้พวกเธอมีการงานที่ไม่มั่นคงหลังแต่งงาน

รายงานเสนอแนะว่า หากต้องการสนับสนุนการมีบุตร นโยบายที่จะตอบรับกับปัญหานี้ คือการกำหนดวันลาเพื่อมีบุตรซึ่งครอบคลุมสำหรับทั้งชายและหญิง โดยจ่ายค่าแรงให้กับผู้ชายด้วยระหว่างลา เพื่อสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายได้แบ่งเบาภาระการดูแลครอบครัวอย่างเท่าเทียมกัน และผู้หญิงจะไม่ต้องแบกรับภาระในครัวเรือนมากไปเมื่อคิดจะมีลูก

จากคำถามในตอนต้น ประเทศไทยกำหนดนโยบายการลามีบุตรสำหรับผู้หญิงไว้ 90 วัน โดยจำกัด 2 ครรภ์ (ลาคลอดได้ 2 ครั้ง) ขณะที่เวียดนามเปิดโอกาสให้ลาได้ถึง 6 เดือน โดยไม่จำกัดครั้ง ส่วนนโยบายการลามีบุตรสำหรับผู้ชาย ประเทศไทยอนุญาตให้ลาได้ 15 วัน แต่เฉพาะข้าราชการและไม่จ่ายค่าแรง