China’s Strategy: บุญเก่า-บุญใหม่ของจีน ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

เรื่อง: ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

หากเทียบเป็นชีวิตคน ช่วงระยะเวลา 20 ปี ก็นานพอที่จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งทางกายภาพและการเติบโตภายใน เช่นเดียวกับจีนที่ต้องไต่ระดับการพัฒนา รวมถึงเรียนรู้ทักษะการปรับตัวเข้ากับกระแสโลก จนกลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างทุกวันนี้

20 ปี จึงเป็นระยะกำลังพอดีที่เราควรย้อนกลับไปดูว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล จีนใช้ยุทธศาสตร์ใดในการขับเคลื่อนตัวเอง ให้ยืดหยัดเป็นผู้เล่นสำคัญของเวทีโลก สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการบรรยายออนไลน์เรื่อง China’s Strategy: บุญเก่า-บุญใหม่ของจีน ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 เพื่อชวนมองจีนในวันที่บุญเดิมที่จีนสะสมมาใกล้จะหมดลง และจีนกำลังอยู่บนทางสองแพร่ง ที่ถนนเส้นหนึ่งเป็นทางตัน ส่วนอีกเส้นคือการเดินหน้าปรับตัวต่อ เพื่อเติบโตต่อเนื่องสมฉายาพญามังกร

จีนกำลังหมดบุญ ?

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิจัยจากสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา อาจารย์ด้านกฎหมายและการพัฒนาประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดประเด็นชวนคิดว่า ในวงนโยบายของจีน มักมองภาพความท้าทายของเศรษฐกิจจีนในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาว่า เสมือนกับจีนกำลัง “หมดบุญ” เพราะจุดแข็งในอดีตที่ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เริ่มไม่สามารถพึ่งพาได้อีกต่อไป

จีนไม่สามารถพึ่งพาตลาดแรงงานราคาถูกได้อีก เพราะจีนเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ประชากรวัยแรงงานเริ่มลดน้อยลง ทั้งราคาแรงงานก็ค่อย ๆ ปรับสูงขึ้นตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จนจีนไม่มีความได้เปรียบในเรื่องค่าแรงเช่นในสมัยก่อน

ในขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องจักรสำคัญ ก็เริ่มดับเครื่องลง ทั้งจากวิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกซบเซา สงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการระบาดของ COVID-19 ในตอนนี้ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และกระทบห่วงโซ่การผลิตทั้งโลก

ไม่เพียงเท่านั้น ดร.อาร์มยังมองว่า การลงทุนมโหฬารในโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ทั้งในช่วงการระบาดของโรค SARS ในปี ค.ศ. 2003 และภายหลังวิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008 อาจไม่สามารถทำได้อีกแล้วในปัจจุบัน เพราะปัญหาหนี้ที่สะสม และโครงการการลงทุนที่คุ้มค่าเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้รับการลงทุนไปเกือบครบถ้วนแล้ว

คำถามสำคัญคือ ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาของจีน ได้สะสมพื้นบุญอื่นให้กับจีนบ้างหรือไม่ และจีนจะแสวงหาบุญใหม่ เพื่อเป็นหนทางในการเติบต่อไปได้อย่างไร ?

ยุทธศาสตร์สร้างชาติจีน

หากเราย้อนกลับมาดูแผนยุทธศาสตร์ชาติจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมาจีนจะจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เราจะเห็นว่า จีนเน้นวางแผนการพัฒนาประเทศในแต่ละระยะด้วยจุดเน้นที่ต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นสะท้อน “วาระแห่งชาติ” ที่จีนอยากขับเคลื่อน และนำเสนอต่อโลกในแต่ละช่วงเวลา

เราจะเห็นว่าในช่วงปี ค.ศ. 1995 – 2005 จีนยังได้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูก จึงเน้นดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนทำให้ประเทศเกิดการเติบโตอย่างสูง ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 2006 – 2015 ตลาดส่งออกโลกหดตัว จีนจึงหันมาเน้นลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน และเปลี่ยนมาส่งเสริมภาคบริการทดแทนภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มหดตัว

ดีเบตหลักในการจัดทำแผนพัฒนาของจีน มักเป็นเรื่องความสมดุลระหว่างกลไกรัฐและกลไกตลาด โดยความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับแผนพัฒนาของจีน คือความเข้าใจว่าเป็นแผนที่กำหนดหรือเพิ่มบทบาทของรัฐ ทั้งที่ในความเป็นจริง แนวโน้มระยะยาวคือ การขยายบทบาทของกลไกตลาดและภาคเอกชน รวมทั้งการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

ดร.อาร์มย้ำว่า ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของยุทธศาสตร์จีนที่ผ่านมา คือ การสร้างเมือง และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม ที่จะเชื่อมเมืองต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นคลัสเตอร์เมือง

“แนวคิดเรื่องการให้ความสำคัญกับเขตเมือง หรือการสร้างความเป็นเมือง (urbanization) นั้น ทำให้จีนเน้นการพัฒนาในเมืองมากกว่าพื้นที่ชนบท การพัฒนาเมืองนั้นเป็นหัวใจที่มีอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ทุกแผนของจีน โดยจีนมองว่า การสร้างเมืองกับการพัฒนาชนบทเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เพราะเมื่อสามารถย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมืองได้ ก็จะยกระดับรายได้ของประชากร เพราะรายได้แรงงานในเมืองสูงกว่าในชนบท ในขณะเดียวกัน เมื่อจำนวนแรงงานในชนบทลดลง แต่หากยังสามารถรักษาระดับผลผลิตทางการเกษตรเท่าเดิมหรือสูงขึ้นด้วยเทคโนโลยี ก็จะทำให้รายได้ต่อหัวของแรงงานในชนบทปรับสูงขึ้น”

นอกจากนั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ยังเน้นการดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อหาจุดเติบโตใหม่ เช่น เน้นการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และสร้างแผนระดับชาติ ระดับมณฑล รวมถึงระดับเมืองให้สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน โดยแต่ละมณฑลและเมืองมีจุดเน้นในการพัฒนาแตกต่างกัน ตามบริบทและระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

บุญเก่าของจีนที่ยังคงอยู่ ใครก็พรากไปไม่ได้

ดร.อาร์มชวนคิดว่า ท่ามกลางความท้าทายและปัญหาว่าจีนกำลัง “หมดบุญ” แต่แท้จริงแล้ว จีนมีบุญเก่าสองประการที่อาจเรียกว่าเป็น “พื้นบุญ” โดยเป็นรากฐานความแข็งแกร่งที่ใครก็พรากไปจากจีนไม่ได้ ทั้งสองข้อนับเป็นผลลัพธ์จากการพัฒนาอย่างมียุทธศาสตร์ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา

หนึ่ง คือ ประชากรจำนวนมหาศาลที่อาศัยในเขตเมือง ซึ่งจะเป็นฐานพลังการบริโภค ที่จะมาทดแทนภาคการส่งออกที่หดตัวลงจากตลาดโลก ที่เริ่มปิดตัวและเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา นอกจากนั้นประชากรเมืองเหล่านี้ยังเป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่งทำให้จีนมีปริมาณข้อมูลดิจิทัล (data) มหาศาลสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์

สอง คือ แรงงานทักษะปริมาณมหาศาล เพราะการลงทุนใน “ทรัพยากรมนุษย์” ที่เข้มข้นของจีนในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฎโดดเด่นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนทุกฉบับ ส่งผลให้ในปัจจุบัน จีนสามารถผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 8 เท่า

ในปัจจุบัน ภาคบริการขยายสัดส่วนอย่างต่อเนื่อง จนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 54% ของ GDP จีน แต่ผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของจีนสูงกว่าในภาคบริการถึง 30% ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตช้าลง ดังนั้น โจทย์สำคัญของจีนในวันนี้ คือ การยกระดับผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเดิมและภาคบริการใหม่ ซึ่งบุญเก่าทั้งสองข้อที่จีนสะสมมา จะเป็นตัวผลักดันให้จีนสามารถแสวงบุญใหม่ ที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพแรงงานได้สำเร็จ

แสวงหาบุญใหม่ เพื่อไปต่อ

สำหรับบุญใหม่ของจีนนั้น ดร.อาร์มสรุปด้วยคำสองคำ คือ Digitalization และ Intelligentization คำแรกคือ การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล คำที่สอง หมายถึง การใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลปริมาณมหาศาล ต่อยอดเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่เครื่องจักรและเครื่องมือมีความฉลาด ทั้งสองส่วนจะมีนัยยะมหาศาล ต่อการพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของจีน ช่วยยกระดับผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้น

หากทำสำเร็จ ก็จะส่งผลให้จีนสามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้เป็นจุดเติบโตใหม่ โดยอาศัยพลังการบริโภคของชนชั้นกลางใหม่มหาศาล ที่รายได้สูงขึ้นจากผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้น การทำเช่นนี้จะเป็นการปรับโมเดลของจีน จากที่เน้นการเติบโตของตัวเลข GDP มาเป็นการลดความยากจน ยกระดับรายได้ประชากร และปลดปล่อยพลังการบริโภคของชนชั้นกลางใหม่อีกกว่า 600 ล้านคน

ดร.อาร์มมองว่า สำหรับการรับมือ COVID-19 นั้น จีนมีทั้งยุทธศาสตร์เชิงรับและเชิงรุก เชิงรับ คือ การประคองเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้น มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงเป้า ส่วนเชิงรุก คือการสร้างพื้นฐานระยะยาว โดยใช้ COVID-19 เป็นตัวเร่งกระบวนการ Digitalization และ Intelligentization เพื่อสร้างรากฐานการเติบโตใหม่ให้กับเศรษฐกิจจีน

เมื่อมองเปรียบเทียบกับประเทศไทย ดร.อาร์มชี้ว่า จีนเองก็เคยถูกวิจารณ์ถึงความล้มเหลวของแผนยุทธศาสตร์ในหลายด้าน ซึ่งเราสามารถถอดบทเรียนได้ว่า เมื่อจีนมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น เขาปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง ความสำเร็จหนึ่งก็อาจทำให้เกิดปัญหาและความท้าทายใหม่ การวางแผนยุทธศาสตร์จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับอยู่ตลอด และต้องตั้งโจทย์ให้แหลมคมว่าในระดับประเทศ อะไรคือบุญที่กำลังจะหมด อะไรคือพื้นบุญของประเทศที่ไม่มีใครพรากไปได้ และอะไรคือบุญใหม่ที่ต้องช่วยกันแสวงหา เพื่อจะเป็นจุดเติบโตใหม่ต่อไป