‘Data Story and How to Craft Them’ เรียนรู้แนวทางการเล่าเรื่องราวข้อมูล สำหรับการสื่อสารนโยบายสาธารณะและการพัฒนา

เรื่อง: อภิวรรณ ดวงภุมเมศ
เรียบเรียง: ผศ. ดร. ภูริพันธุ์ รุจิขจร, รัสมิ์กร นพรุจกุล
  • การแปรข้อมูลเป็นภาพ (data visualization) หรือ การนำข้อมูลมาเล่าเป็นเรื่องราว (data story) เป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่ทางสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนานำมาใช้ เพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านได้เข้าใจเนื้อหาที่ซับซ้อน ภายในเวลาสั้น ๆ
  • รูปแบบการนำเสนอ data story สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ รูปแบบที่ผู้เขียนเป็นผู้ขับเคลื่อนเอง และ รูปแบบที่ผู้อ่านเป็นผู้ขับเคลื่อนเอง ผ่านโครงสร้างการเล่าเรื่อง 3 โครงสร้าง ได้แก่ โครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ Martini Glass, แบบ Interactive slideshow และแบบ Drill-Down story
  • ปัจจุบัน data story เป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสาร ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการเล่าเรื่องผ่านข้อมูลขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงผู้อ่านได้ง่าย

การแปรข้อมูลเป็นภาพ (data visualization) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเล่าประเด็นสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเล่าเรื่องราวในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า เรื่องราวข้อมูล (data story) ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จาก data visualization ในการเล่าประเด็นสำคัญ ที่แฝงอยู่ในข้อมูล (Edward Segel และ Jeffrey Heer, 2553)

ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก data story ได้ถูกนำไปใช้เพื่อสื่อสารประเด็นที่ท้าทายหลาย ๆ อย่าง เช่น ในการออกแบบนโยบายสาธารณะ อย่างปัญหาโรคระบาด COVID-19 บทความ “Why outbreaks like coronavirus spread exponentially, and how to “flatten the curve” โดย The Washington Post พยายามศึกษาการเลือกใช้เครื่องมือเชิงนโยบาย เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ด้วยการสร้างแบบจำลองรูปแบบการแพร่เชื้อของ COVID-19


ตัวอย่าง data story เรื่อง “Why outbreaks like coronavirus spread exponentially, and how to “flatten the curve” โดย The Washington Post

แบบจำลองดังกล่าว เมื่อแสดงผ่านภาพเคลื่อนไหวที่เรียบง่าย ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจการทำงานของผลกระทบจากเครือข่าย (network effects) และตระหนักว่าพฤติกรรมของผู้อ่าน สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ในด้านประสิทธิภาพของการสื่อสาร เรื่องราวข้อมูลเรื่องนี้ ได้รับการเข้าชมสูงสุดตั้งแต่ The Washington Post ทำข่าวออนไลน์มา (Eleanor Gibson, 2563)

สำหรับผู้ที่สนใจหรือองค์กรที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก data story มาต่อยอดการสื่อสาร เพื่อให้เข้าถึงผู้อ่าน และนำเสนอมุมมองจากข้อมูลที่น่าสนใจมากขึ้น มาทำความรู้จักแนวทางการเล่าเรื่องราวข้อมูล จากงานวิจัย Narrative Visualization: Telling Stories with Data โดยศาตราจารย์ Edward Segel จาก Reed College และศาสตราจารย์ Jeffrey Heer จาก University of Washington ในบทความนี้กัน

แนวทางการเล่าเรื่องราวข้อมูล (data story)

จากการศึกษาและวิเคราะห์ data story ศาตราจารย์ Edward Segel และศาสตราจารย์ Jeffrey Heer จำแนกแนวทางการเล่า data story ได้เป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ รูปแบบที่ผู้เขียนเป็นผู้ขับเคลื่อน (author-driven approach) และรูปแบบที่ผู้อ่านเป็นผู้ขับเคลื่อน (reader-driven approach)

  • รูปแบบที่ผู้เขียนเป็นผู้ขับเคลื่อน: มักนำเสนอเรื่องราวเป็นลำดับเส้นตรง ประกอบด้วยข้อความ หรือสิ่งที่ผู้เขียนจะสื่อค่อนข้างมาก และผู้อ่านสามารถดูแผนภาพ แต่ไม่สามารถค้นหาหรือโต้ตอบอื่น ๆ กับแผนภาพได้
  • รูปแบบที่ผู้อ่านเป็นผู้ขับเคลื่อน: การนำเสนอรูปแบบนี้จะไม่นำเสนอเรื่องราวเป็นเส้นตรง ไม่มีข้อความหรือสิ่งที่ผู้เขียนจะสื่อเพิ่มเติมจากแผนภาพ และผู้อ่านสามารถดูหรือค้นหาข้อมูลจากแผนภาพ ในจุดที่ตนเองสนใจได้อย่างอิสระ

เราจะผสมผสานแนวทางการเล่าเรื่องเหล่านี้ ให้เหมาะสมได้อย่างไร?

งานวิจัยดังกล่าวได้นำรูปแบบการเล่าเรื่องทั้ง 2 รูปแบบมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน แต่พอจะจัดกลุ่มได้เป็น 3 โครงสร้างการเล่าเรื่อง ได้แก่ โครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ Martini Glass, แบบ Interactive slideshow และแบบ Drill-Down story

1. โครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ Martini Glass

เริ่มต้นโดยการเล่าเรื่องแบบผู้เขียนเป็นผู้ขับเคลื่อน เช่น การเปิดด้วยการตั้งคำถามหรือข้อสังเกต แล้วพาผู้อ่านไปบนเส้นทางที่ผู้เขียนวางไว้ คล้ายกับส่วนก้านของแก้วมาร์ตินี ช่วงท้ายเปิดโอกาสให้ผู้อ่านสามารถสำรวจข้อมูลจากแผนภาพ คล้ายกับส่วนปากของแก้วมาร์ตินี่ที่เปิดกว้าง


ตัวอย่าง data story แบบ Martini Glass เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง เขตเลือกตั้งของประเทศสิงคโปร์
โดย The Straits Times

2. โครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ Interactive slideshow

เป็นการเล่าเรื่องตามลำดับ คล้ายสไลด์โชว์ ที่มีลำดับการนำเสนอชัดเจน แต่เปิดโอกาสให้ผู้อ่าน สามารถสำรวจข้อมูลจากแผนภาพในแต่ละส่วนได้ การเล่าเรื่องแบบ Interactive slideshow เปิดโอกาสให้ผู้อ่านสำรวจแผนภาพได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอจนท้ายเรื่อง เหมือนกับการเล่าเรื่องแบบแก้วมาร์ตินี่


ตัวอย่าง data story แบบ Interactive slideshow เรื่อง
“How is flooding affecting your community?” โดย The Pudding

3. โครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ Drill-Down story

เป็นการเล่าเรื่องที่นำเสนอแผนภาพหลัก ผู้อ่านสามารถสำรวจแผนภาพ หรือค้นหาข้อมูลจากแผนภาพในจุดที่ตนเองสนใจ แล้วผู้เขียนจะค่อย ๆ เผยรายละเอียดหรือแนวคิดเบื้องหลัง โดยวิธีนี้มีจุดเน้นอยู่ที่ เปิดโอกาสให้ผู้อ่านสำรวจข้อมูลจากแผนภาพ

ตัวอย่าง data story แบบ Drill-Down story
เรื่อง “How This Bear Market Compares” โดย The New York Times

บทความชุด Data Stories and How to Craft Them นี้ พยายามถ่ายทอดกรอบแนวคิด ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา data story รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก data visualization ให้บุคลากรในองค์กรที่สนใจ เพื่อพัฒนาการสื่อสารด้วยข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติม เกี่ยวกับการจัดทำ data story หรือการใช้ประโยชน์จาก data visualization มาสนับสนุนการสื่อสาร การวิเคราะห์ และการตัดสินใจเชิงนโยบายสาธารณะ สามารถติดตามผลงาน data story หรือเรื่องราวที่น่าสนใจได้ที่ data story ของสถาบันฯ และ Facebook ของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา