สุขเสี่ยงผ่านเลนส์: ศิลปะขับเคลื่อนสังคมอย่างไร?

เขียน:  ไปรยา อุรานุกูล / ธัญรดา มุ่งธัญญา
เรียบเรียง: ชลิตา สุนันทาภรณ์

โครงการวิจัย Beyond Growth (เป้าหมายใหม่: ลดเสี่ยง เพิ่มสุข) ภายใต้ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) หนึ่งในองค์กรคลังสมองของคนไทย และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อส่งเสริมความสุขที่ยั่งยืนของสังคมไทย เนื่องจากประเด็นดังกล่าว ยังไม่ได้รับการกล่าวถึง และหารือในวงกว้างเท่าที่ควร แม้จะเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องคำนึงถึง ในการพัฒนาประเทศก็ตาม

จากการที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันนั้น ระหว่างสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) จึงร่วมกันจัดงานนิทรรศการภาพถ่ายจากการประกวดในโครงการ “สุขเสี่ยงผ่านเลนส์” โดยได้รับเกียรติจาก คุณพิภพ พานิชภักดิ์ รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และคุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พ.ศ. 2562 มาร่วมเสวนาในหัวข้อ "ศิลปะและการขับเคลื่อนสังคม” ณ สามย่านมิตรทาวน์ บริเวณหน้าฮอลล์ 1 ชั้น 5 อาคารสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 เพื่อส่งเสริมความสุขที่ยั่งยืนของสังคมไทย

การจัดประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “สุขเสี่ยงผ่านเลนส์” มีจุดประสงค์หลักในการรับฟังมุมมอง ความคิดเห็นและเสียงของประชาชนไทยผ่านภาพถ่าย แบ่งเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่ “อะไรคือความสุขของคุณ” และ “อะไรคือความเสี่ยงของคุณ” โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปและเยาวชน ส่งภาพถ่ายเข้ามาร่วมประกวด ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม –23 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดมากถึง 797 ภาพจากทั่วประเทศไทย ที่น่าสนใจ คือการวิเคราะห์สถิติของผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวด พบว่า ร้อยละ 60 มีอายุต่ำกว่า 22 ปี รองลงมาเป็นอายุระหว่าง 23 – 38 ปี (ร้อยละ 22.9) และอายุระหว่าง 39 – 54 ปี (ร้อยละ 14.1) แสดงให้เห็นถึงความสนใจในการเข้าร่วมโครงการจากกลุ่มเยาวชนและวัยทำงานเป็นส่วนมากอีกทั้งมีผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดในหัวข้อ “อะไรคือความสุขของคุณ” จำนวน 430 ภาพ และมีผู้ส่งเข้าประกวดในหัวข้อ “อะไรคือความเสี่ยงของคุณ” จำนวน 367 ภาพ ทำให้ทราบว่าทั้งสองประเด็นได้รับความสนใจจากประชาชนไทยผู้เข้าร่วมประกวดเท่า ๆ กัน และมีศักยภาพในการต่อยอดต่อไป

หลังจากการประกวดเสร็จสิ้น คณะทำงานได้นำส่วนหนึ่งของภาพถ่ายที่ได้รับเลือกเป็น 50 อันดับแรก (Top 50) จากประเภทเยาวชนและประเภทประชาชนทั่วไป ภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในทั้ง 2 ประเภท รวมถึงรางวัลขวัญใจมหาชนทั้งหมด 13 รางวัล รวมทั้งสิ้น 89 ภาพ และนำมาจัดเป็นนิทรรศการ ร่วมแสดงอยู่ใน งานประชุมวิชาการประจำปีของสถาบันฯ ในหัวข้อ “Thailand 2020s and Beyond: Building a Better Society Together” ในวันที่ 25 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นตัวแทนในการสื่อสารและจุดประกายประเด็นที่สำคัญต่อการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น (Better Society) จากมุมมองของประชาชน

ในวันจัดแสดงภาพถ่าย คุณพิภพ ได้กล่าวถึงคุณค่าของภาพถ่าย ซึ่งจับภาพของประเพณี สภาพ หรือความรู้ของสังคม ณ ชั่วขณะหนึ่ง ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการตั้งคำถาม อาจเพราะช่างภาพเหล่านี้เห็นเรื่องบางอย่างในสังคม และต้องการสื่อมันออกไป สร้างความมีส่วนร่วมให้สังคมวงกว้าง คุณพิภพมองภาพเหล่านี้เป็นคำถามแก่สังคม โดยเน้นว่าผู้ดู คือผู้มีคำตอบ และเน้นย้ำว่า “การใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อ เป็นการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ เพราะก้าวข้ามข้อจำกัดของการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ”

ด้านคุณชาตรีเสริมว่า ภาพถ่ายที่ดีทำให้บางส่วนของสังคมที่เคยซ่อนเร้นอยู่ คมชัดขึ้น งานภาพหนึ่ง ๆ คือความงามที่ส่งต่อได้ เพื่อให้เกิดการคิดและตระหนักรู้ต่อ ว่าแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดียวกัน งานศิลปะช่วยให้ผู้ดูเห็นโลกที่เป็นจริง และเป็นกลาง คล้ายกับแนวคิด “คิดอย่างสากล ทำอย่างท้องถิ่น” ภาพถ่ายอาจดูเหมือนเครื่องมือในการสื่อสารของคนตัวเล็ก ๆ แต่แท้จริงแล้ว มันคือการสร้างความหวังให้สังคม คุณชาตรีเสริมท้ายไว้อีกว่า นิทรรศการภาพถ่ายในครั้งนี้ สร้างความหวังให้คุณชาตรีด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการจัดงานนิทรรศการภาพถ่าย การคุยเสวนา และจัดทำหนังสือบันทึกภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลแล้ว สถาบันฯ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมเสียงของประชาชนไทย ด้วยการนำผลงานภาพจากงานประกวด มาใช้ประกอบกับผลงานต่างๆ ของสถาบันฯ ที่สะท้อนความสุขและความเสี่ยงของประชาชนไทยในหลายรูปแบบ อาทิ งานวิจัย รายงาน กิจกรรม บทความออนไลน์ และการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล (data story) ซึ่งจะส่งผลให้การรวบรวมความคิดเห็น ของประชาชนผ่านภาพถ่ายจากการประกวดในครั้งนี้ จะกลายเป็นอีกหนึ่งเวที ที่สาธารณชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งยังเป็นโอกาสดีในการสะท้อนเสียง จากกลุ่มของประชาชน ที่สังคมอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน เพื่อช่วยกันสร้างบทสนทนาและสะท้อนมุมมองใหม่ ๆ ตามพันธกิจของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาสืบต่อไป

รายชื่อผู้ได้รับรางวัล

ประเภทประชาชนทั่วไป
1. รางวัลชนะเลิศ
คุณศิริพงศ์ ปทุมอัครินทร์
2. รางวัลชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง
คุณสาโรจน์ ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา
3. รางวัลชนะเลิศอันดับที่สอง
คุณกัญญานัท แดงนา
4. รางวัลชมเชย ( 3 รางวัล)
คุณธนวัฒน์ ทองจันทร์
คุณนพพล ไม้พลวง
คุณสุกฤษฏิ์ หิรัญสารพงศ์

ประเภทเยาวชน
1. รางวัลชนะเลิศ
คุณสุไลมาน ตันหยงอุตง
2. รางวัลชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง
คุณพัสกร แนบสนิท
3. รางวัลชนะเลิศอันดับที่สอง
คุณพิชญนันท์ เสาโกมุท
4. รางวัลชมเชย (3 รางวัล)
คุณรหัท กิจจริยภูมิ
คุณศิริน ม่วงมัน
คุณวันวิสา โม้ทองสี

และรางวัลขวัญใจมหาชน (popular vote)
คุณศิริพงศ์ ปทุมอัครินทร์