‘นโยบายสาธารณะ’: เรื่องใหญ่ ที่ใกล้ตัว

เรื่อง: รัสมิ์กร นพรุจกุล
ผศ. ดร. ณัตติฤดี เจริญรักษ์

นโยบายสาธารณะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเราทุกคน สังเกตได้จากทุก ๆ นโยบายที่ถูกส่งออกมา ล้วนส่งผลกระทบกับประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือนโยบายขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

นโยบายสาธารณะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล จริงหรือ?

นโยบายสาธารณะ คือ สิ่งที่ภาครัฐดำเนินการออกมา เพื่อใช้แก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ขั้นตอนและการออกแบบนโยบายสาธารณะ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลมองเห็นทิศทาง ทั้งยังสามารถตั้งเป้าหมาย เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ จนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

ตามทฤษฎีแล้ว แนวทางในการบริหารจัดการ และการกำหนดนโยบายสาธารณะ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท โดยประเภทแรกจะถูกกำหนดโดยภาครัฐ ข้าราชการ และนักวิชาการ ตามแบบฉบับการบริหารแบบบนลงล่าง (top-down) และอีกประเภทหนึ่งที่ประชาชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) จะเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะได้ด้วยตนเอง หรือที่เรียกว่าการบริหารแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) โดยประชาชนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็น และร่วมเป็นผู้ออกแบบนโยบายสาธารณะได้ (ประทุมทิพย์ ทองเจริญ, 2555) ในฐานะที่ประชาชนเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น จะดีเเค่ไหน หากประชาชนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายสาธารณะด้วย

วิธีการเก็บรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในปัจจุบัน ได้แบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่ จากการทำแบบสำรวจ (survey) และจากช่องทางอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำแบบสำรวจ (non-survey) เช่น การฟังเสียงภาคประชาชนในสื่อสังคมออนไลน์ (social listening) หรือการมีพื้นที่สาธารณะในการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบนี้ ต่างก็เป็นวิธีการที่สำคัญซึ่งจะทำให้เห็นถึง ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และยังเปรียบเสมือนเวทีให้กับประชาชนได้ร่วมอภิปราย ถกเถียงประเด็นปัญหาต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้ได้รับฟังมุมมองให้รอบด้านขึ้น เพื่อสร้างให้เกิดข้อสรุป ก่อนที่จะนำมาจัดทำเป็นนโยบายสาธารณะต่อไป

Survey: เก็บข้อมูลหลากหลาย ตรงตามเป้าหมายผู้ถาม

วิธีเก็บรวบรวมความคิดเห็นที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง คงจะเป็น ‘การทำแบบสำรวจ’ (survey) เพราะสามารถเก็บข้อมูลที่ต้องการได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การสำรวจแบบตัวต่อตัว (face to face survey) การสำรวจทางไปรษณีย์ (mail survey) การสำรวจทางโทรศัพท์ (telephone survey) และการทำสำรวจผ่านเว็บไซต์ (web survey) โดยในส่วนของการสำรวจแบบตัวต่อตัว และการสำรวจทางโทรศัพท์นั้น จะมีผู้สัมภาษณ์ที่สามารถให้คำอธิบายเพิ่มเติม ต่อผู้ถูกสัมภาษณ์ เมื่อมีข้อสงสัย (interviewer-administered mode) เเต่ข้อเสียของการเก็บข้อมูลประเภทนี้คือ ค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลค่อนข้างสูง และการสำรวจแบบตัวต่อตัว มักจะใช้เวลาในการเก็บข้อมูลที่ค่อนข้างนาน ในส่วนของการสำรวจทางไปรษณีย์และการสำรวจผ่านทางเว็บไซต์นั้น ผู้ตอบแบบสอบถามจะต้องทำแบบสำรวจโดยตัวเอง (self-administered survey) โดยไม่มีผู้สัมภาษณ์คอยให้ความช่วยเหลือในการตอบคำถาม (Dillman et al., 2014)

ปัจจุบันการสื่อสารมีความก้าวหน้ามากขึ้น ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย จากรายงานของ Digital 2020 ซึ่งจัดทำโดย We Are Social และ Hootsuite พบว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 75% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 59% นอกจากนี้ การใช้งานอินเทอร์เน็ตในแต่ละวันของคนไทย โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 9.01 ชั่วโมง สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก (Simon Kemp, 2020) จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ ‘การทำแบบสำรวจผ่านเว็บไซต์’ กลายมาเป็นตัวเลือกสำคัญในการเก็บข้อมูลในประเทศไทย และเมื่อรวมกับข้อดีที่ผู้จัดทำแบบสำรวจ สามารถออกแบบแบบสำรวจได้ตามความต้องการ โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ภายในกรอบระยะเวลาการทำวิจัยที่จำกัด ทั้งยังสามารถเผยแพร่แบบสอบถาม ให้กับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตให้เข้าถึงได้ง่าย ในส่วนของผู้สนใจตอบแบบสำรวจ ก็สามารถเข้ามาตอบได้ทุกที่และทุกเวลาที่สะดวก และที่สำคัญไปกว่านั้น การทำสำรวจผ่านเว็บไซต์ ยังสามารถลดปัญหาการเกิดอคติของผู้สัมภาษณ์ ที่มักจะเกิดขึ้นผ่านการใช้วิธีสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว มากไปกว่านั้น ในการทำแบบสำรวจออนไลน์ยังสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้เข้าร่วม เพื่อใช้ในการแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การทำสำรวจผ่านทางเว็บไซต์ในประเทศไทยก็ยังมีข้อจำกัด สำหรับผู้ตอบแบบสำรวจที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จึงทำให้ได้ผลสำรวจที่ถือได้ว่าไม่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากรทั้งหมด และการสำรวจออนไลน์มักจะได้รับอัตราการตอบกลับที่ต่ำ ดังนั้นจึงอาจจำเป็นที่จะต้องทำการสำรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น การสำรวจแบบตัวต่อตัว การสำรวจแบบใช้โทรศัพท์ เพื่อให้ได้รับความคิดเห็น จากตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากร และมักจะได้รับอัตราการตอบกลับที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เรื่องการเก็บรักษาความปลอดภัยของข้อมูล จากผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่ส่งผลต่อการตอบแบบสำรวจออนไลน์อย่างมาก หากผู้จัดทำแบบสำรวจออนไลน์ มีการกำหนดนโยบายในการเก็บรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ชัดเจน จะทำให้ผู้ตอบแบบสำรวจมีความมั่นใจ และมีแนวโน้มที่อัตราตอบกลับ (response rate) ที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย

ในปัจจุบัน สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการทำแบบสำรวจออนไลน์บนเว็บไซต์ ผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบันฯ  เพื่อใช้ในการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต ต่อประเด็นต่าง ๆ เช่น การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยได้ออกแบบให้มีวิธีการตอบแบบสำรวจที่ง่าย เหมาะสมกับทุกเพศ ทุกวัย ผู้ที่สนใจสามารถทำแบบสำรวจได้ทั้งคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ในอนาคต สถาบันฯ ได้มีแผนในการจัดทำแบบสำรวจในหัวข้ออื่น ๆ เพิ่มเติม โดยวางแผนที่จะนำข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจผ่านแพลตฟอร์มนี้ ไปประกอบกับการสำรวจในแบบอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่กระบวนการออกแบบนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป

สะท้อนเสียง ผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์

ปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นพื้นที่ในการสื่อสารรูปแบบใหม่ ภายในระยะเวลาอันสั้น บ้างใช้ในการถกเถียง บ้างใช้ในการแสดงความคิดเห็น แต่ไม่ว่าจะเป็นในมุมมองด้านใด โซเชียลมีเดียก็ยังสะท้อนความรู้สึก และความต้องการที่แท้จริงของประชาชนออกมาได้ส่วนหนึ่งด้วย ภาคธุรกิจจึงได้มีการออกแบบเครื่องมือที่เรียกว่า social listening เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลจากพื้นที่ออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เป็นต้น โดยในช่วงแรก ภาคธุรกิจมักจะนำมาใช้ศึกษาการทำตลาดออนไลน์ โดยการดูผลตอบรับจากผู้ใช้ แล้วนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน ให้ตอบรับกับเสียงสะท้อนที่ได้รับมา (Sasin I., n.d.)

ไม่เพียงเท่านั้น ในปัจจุบันได้มีการนำเครื่องมือ social listening มาใช้ในการเก็บรวบรวมความคิดเห็นของประชาชน ต่อนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้เห็นข้อมูลเชิงลึก มีข้อดี คือ ความรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเครื่องมือนี้ยังสามารถเก็บความคิดเห็นย้อนหลัง ในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้อีกด้วย เช่น การจัดการถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทย ที่สถาบันฯ ได้ทำการศึกษา สามารถย้อนกลับไปดูข้อความได้ ทั้งก่อนและหลังการประกาศขอความร่วมมือ งดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว (1 มกราคม 2563) ได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากที่ได้รับจากโซเชียลมีเดีย อาจจะไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตออกมาทั้งหมด แต่ก็สามารถแสดงความเห็นต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้เป็นอย่างดี โดยเป็นความรู้สึกนึกคิด ณ ช่วงเวลานั้นของผู้ใช้งานออนไลน์จริง ๆ ดังนั้นการเก็บข้อมูลด้วยเครื่องมือ social listening จึงเป็นการเก็บข้อมูลเชิงสังเกต (observation) บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งประเด็นต่าง ๆ ถูกพูดถึงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ จึงอาจทำให้บางประเด็นที่ไม่ได้มีการพูดถึงตกหล่นไป หรืออาจจะเป็นเรื่องที่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย ไม่ได้พูดถึงกันจนเป็นเรื่องปกติ หรือบางประเด็น อาจจะไม่ได้มีการพูดถึงในเชิงลึกอย่างที่ต้องการ ดังนั้น การเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย จะต้องมีการระมัดระวังในข้อจำกัดที่กล่าวไว้ข้างต้น

จะเป็นอย่างไร … ถ้าไทยมีเวทีไฮด์ปาร์คบนพื้นที่สาธารณะออนไลน์

ไม่เพียงข้อมูลที่ได้รับจากการรวบรวมผ่านเครื่องมืออย่าง social listening เท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังมีการสร้างพื้นที่สาธารณะออนไลน์ (public opinion platform) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมได้อย่างเปิดกว้าง มีการถกเถียงระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยผลสรุปที่ได้รับ จะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบนโยบายสาธารณะ ตัวอย่างของแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จ เช่น โครงการ ‘vTaiwan’ ของประเทศไต้หวัน ที่ได้พัฒนาพื้นที่สาธารณะออนไลน์ เพื่อถกประเด็นต่าง ๆ โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม และประชาชน และทางภาครัฐจะได้นำข้อมูลที่ได้รับจากพื้นที่สาธารณะออนไลน์นี้ ไปใช้ในการออกแบบนโยบายสาธารณะ หรือกฎหมายที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา: https://info.vtaiwan.tw/

ตัวอย่างพื้นที่สาธารณะออนไลน์ ที่ใช้ในการถกเถียงประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม เช่น www.arguman.org ซึ่งใช้เป็นในการถกเถียง โดยใช้วิธีการนำเสนอแบบแผนภาพมาใช้ ผู้ที่เห็นด้วยสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในขณะที่ผู้คัดค้านเอง ก็สามารถโต้แย้งด้วยเหตุผลได้ด้วยเช่นกัน แผนภาพที่เกิดขึ้นจากการถกเถียง จะช่วยอธิบาย และช่วยหาบทสรุปให้กับหัวข้อต่าง ๆ ที่ถกเถียงกันอยู่ได้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ สำหรับใช้ในประเทศไทย เพื่อสร้างสังคมที่เปิดกว้างทางความคิดอย่างสร้างสรรค์ เป็นเพื่อการระดมความคิด และสร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายสาธารณะให้กับทุก ๆ คน

ที่มา: www.arguman.org

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ www.arguman.org ได้จากที่นี่ เร็ว ๆ นี้