เรื่อง: นลินี มาลีญากุล
ไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดีของการ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ก็สามารถใช้ความท้าทายเหล่านั้น มาเป็นจุดเร่งการพัฒนาและปฏิรูป จนกลายมาเป็นหนึ่งในสี่เสือของเอเชีย
ไม่เพียงเท่านั้น ขณะที่เสือตัวอื่นดูมีทีท่าจะเพลี่ยงพล้ำ แต่ไต้หวันกลับยืนโดดเด่น โดยเฉพาะการเป็นโมเดลของการพัฒนาอย่างทั่วถึง หรือการเติบโตแบบ inclusive growth ที่เป็น “พื้นบุญ” สำคัญให้กับไต้หวัน จนสามารถแสวงหา “บุญใหม่” ต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง
IPPD ชวนถอดบทวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของไต้หวัน ในงานเสวนาออนไลน์ ซีรีส์ชุด “บุญใหม่” ผ่าน Taiwan’s Strategy: บุญเก่า-บุญใหม่ของไต้หวัน ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิจัยสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา อาจารย์ด้านกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ. ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS), Tokyo โดยท่านสามารถรับชมวิดีโอบันทึกงานเสวนาได้ ที่นี่
4 จุดเปลี่ยนการพัฒนาไต้หวัน
ดร.อาร์ม แนะนำ “พื้นบุญ” เดิมของไต้หวันคือ ความสำเร็จในการปฏิรูปที่ดินและการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา ทำให้ไต้หวันมีชื่อเสียงเรื่อง “inclusive growth” หรือการเติบโตอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะความสามารถในการกระจายทรัพยากรและความเท่าเทียม นอกจากนั้น ไต้หวันยังเป็นผู้นำโมเดลการเติบโตด้วยการส่งออก ส่งผลให้เกิดกลไกการแข่งขันและสร้างภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพ
ดร.อาร์ม ชี้ว่าความท้าทายของไต้หวันในตอนนี้ ได้แก่ ตลาดโลกที่ผันผวน จนทำให้มีคำถามตามมาว่า โมเดลการเติบโตด้วยการส่งออกยังใช้ได้หรือไม่ นอกจากนั้น ตลาดภายในที่มีขนาดเล็ก ทำให้เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยียุคใหม่ ที่ต้องอาศัยขนาดของตลาดอยู่มาก อีกทั้งห่วงโซ่การผลิตด้านเทคโนโลยีภายในของไต้หวันเองยังไม่สมบูรณ์ จึงคงจำเป็นต้องพึ่งพาห่วงโซ่จากภายนอก
แต่กว่าไต้หวันจะประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นหนึ่งในสี่เสือของเอเชียได้ รศ. ดร.วีระยุทธ กล่าวว่าเรื่องทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นฉับพลันทันที หากแต่มีกระบวนการเปลี่ยนผ่านในหลายช่วงสมัย ได้แก่
ช่วงแรกในปี 1952-1962 พรรคก๊กมินตั๋งนำการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ ซึ่งนั่นได้เพิ่มให้ประสิทธิภาพการเกษตรของไต้หวันมากขึ้น จนกลายเป็นพื้นบุญสำคัญ และต่อยอดไปเป็นการทำอุตสาหกรรมการเกษตร ที่เกิดการจ้างงานแก่คนจำนวนมากได้
ถัดมาคือช่วงปี 1962–1968 ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนผ่านสำคัญ ที่นำไต้หวันสู่การสนับสนุนกิจการท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ให้เป็นหัวหอกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ จนมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้ นอกจากนั้นไต้หวันยังเน้นพัฒนากลไกสนับสนุน SMEs ให้มีความสามารถของการแข่งขันในระยะยาว ทั้งระดับกิจการ ระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ
ต่อมาในปี 1970–2000 เศรษฐกิจโลกเผชิญความท้าทายจากการที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ทำความตกลงเรื่องการเปลี่ยนค่าเงิน ทำให้เกิดการตั้งลำการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และไต้หวันเองก็อาศัยโอกาสนี้ ในการขยายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้
และในช่วงปี 2000–ปัจจุบัน ภายหลังจุดเปลี่ยนทางการเมือง ที่ตัวแทนจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าพลิกชนะการเลือกตั้ง ทำให้ไต้หวันเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ที่ไปมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อกระจายความมั่งคั่งและความสำคัญทางเศรษฐกิจ อีกทั้งไต้หวันยังหันมากำหนดทิศทางของตนเอง ในห่วงโซ่การผลิตโลกให้ชัดเจนขึ้น
จุดเด่นแผนยุทธศาสตร์ที่ทำให้ไต้หวันยืนระยะการเติบโต
รศ. ดร.วีระยุทธ ยังชวนสนทนาถึง 3 หัวใจสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไต้หวัน ดังนี้
- ไต้หวันเลือกให้ SMEs เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยพลิกเอาความชำนาญเทคโนโลยีเฉพาะทาง มาผนวกเข้ากับกลไกการสนับสนุนแบบ “สามประสาน” โดยให้รัฐวิสาหกิจเป็นต้นน้ำของการพัฒนา ต่อมาจึงให้ระดับท้องถิ่นแข่งขันกันในช่วงกลางน้ำ แล้วจึงค่อยส่งต่อไปปลายน้ำในระดับประเทศ
- ไต้หวันมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคสูงมาก มีอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ มีการกระจายรายได้ที่สูง ความเหลื่อมล้ำต่ำ
- ไต้หวันวางตำแหน่งของตนบนตลาดโลกได้อย่างฉลาดแยบยล ผ่านการวิเคราะห์ความเข้าใจต่อห่วงโซ่การผลิต โดยไต้หวันจะเน้นวางแผนยุทธศาสตร์ ที่เน้นลงทุนในเทคโนโลยีที่มีวัฏจักรที่สั้น ก่อนจะจับจุดนั้น พลิกเป็นความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
จากยุทธศาสตร์ไต้หวันสู่ประเทศไทย อะไรคือความแตกต่าง
ก่อนเปรียบเทียบความแตกต่าง ของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไต้หวันกับประเทศไทย รศ. ดร.วีระยุทธ ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในเสือเศรษฐกิจของเอเชียขึ้นมาเปรียบเทียบด้วย แม้เกาหลีใต้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงไม่แพ้กับไต้หวัน แต่เกาหลีใต้เลือกแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งเสริมกิจการขนาดใหญ่ และยอมปล่อยให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำของเกาหลีใต้พุ่งสูงตามไปด้วย ต่างไปจากไต้หวัน ที่สนับสนุน SMEs และการกระจายรายได้ ทั้งหมดนี้มาจากการที่รัฐบาลของพรรคก๊กมินตั๋ง ถอดบทเรียนความผิดพลาดในอดีตในจีนแผ่นดินใหญ่ ปัจจัยทางการเมืองจึงมีผลต่อการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ที่มีคุณภาพของไต้หวัน นำไปสู่การเติบโตแบบมีส่วนร่วมของไต้หวันอย่างทุกวันนี้
เมื่อมองเปรียบเทียบกับประเทศไทย รศ. ดร.วีระยุทธ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของไต้หวันเน้นวางนโยบายทางอุตสาหกรรม (industrial policy) ที่กำหนดตลาดและเป้าประสงค์อย่างชัดเจน รวมถึงการสร้างความสอดคล้องของงานวิจัย เพื่อพัฒนาประเทศให้เข้ากับอุตสาหกรรมที่ไต้หวันต้องการเข้าแข่งขันกับตลาดโลก ที่สำคัญคือไต้หวันไม่เลือกจะเป็นผู้นำเกม แต่ใช้วิธีการเรียนรู้ว่าตนอยู่ตรงไหนในห่วงโซ่การผลิต และเน้นพัฒนาแต่เทคโนโลยีที่ตนถนัด ขณะที่ไทยจะเน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเน้นการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก
น้ำนิ่งไหลลึก และพลังแข็งแกร่งที่ซ่อนอยู่ของไต้หวัน
“จงมองสิ่งทั้งปวงจากภายใน” คือคำที่ รศ. ดร.วีระยุทธ ยกขึ้นมาอธิบายพื้นบุญสำคัญของไต้หวัน แม้เราอาจจะไม่ค่อยรู้จักแบรนด์สินค้าของไต้หวันมากเท่าไรนัก แต่มูลค่าเพิ่มของไต้หวัน แทรกอยู่ตามชิ้นส่วนสำคัญภายในสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ และทั้งหมดนี้มาจากการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนว่า จะสนับสนุนใครเป็นหัวหอกในการพัฒนา จะต้องส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนารูปแบบใด แต่ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่มีต้นทุนเช่นกัน เพราะไต้หวันจะไม่สามารถกำหนดเกมในอุตสาหกรรมได้ เท่ากับบริษัทเจ้าของตราสินค้านั้นเอง
แม้ปัจจุบันไต้หวันกำลังเผชิญกับแรงกดดันที่หลากหลาย ทั้งจากการเมืองระหว่างประเทศและตลาดโลกที่ผันผวน แต่ไต้หวันยังคงมีโครงสร้างของประชากรหนุ่มสาว อันเป็นจุดแข็งของการพัฒนาเศรษฐกิจในขั้นตอนต่อไป ไต้หวันเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ ที่ได้รับผลประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และเมื่อพิจารณาการวางแผนยุทธศาสตร์ของไต้หวันอย่างละเอียดแล้ว เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทุกครั้งที่มีภัยคุกคามจากภายนอก แต่มักจะกลายเป็นโอกาสของไต้หวัน ที่จะเร่งพลังการเติบโตและการแสวงหาบุญใหม่ เพื่ออนาคตในวันข้างหน้าต่อ ๆ ไป