บทสรุปงานเสวนา Taiwan’s Strategy: บุญเก่า-บุญใหม่ของไต้หวัน ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

เรื่อง: นลินี มาลีญากุล

ไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดีของการ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ก็สามารถใช้ความท้าทายเหล่านั้น มาเป็นจุดเร่งการพัฒนาและปฏิรูป จนกลายมาเป็นหนึ่งในสี่เสือของเอเชีย

ไม่เพียงเท่านั้น ขณะที่เสือตัวอื่นดูมีทีท่าจะเพลี่ยงพล้ำ แต่ไต้หวันกลับยืนโดดเด่น โดยเฉพาะการเป็นโมเดลของการพัฒนาอย่างทั่วถึง หรือการเติบโตแบบ inclusive growth ที่เป็น “พื้นบุญ” สำคัญให้กับไต้หวัน จนสามารถแสวงหา “บุญใหม่” ต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

IPPD ชวนถอดบทวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของไต้หวัน ในงานเสวนาออนไลน์ ซีรีส์ชุด “บุญใหม่” ผ่าน Taiwan’s Strategy: บุญเก่า-บุญใหม่ของไต้หวัน ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิจัยสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา อาจารย์ด้านกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ. ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS), Tokyo โดยท่านสามารถรับชมวิดีโอบันทึกงานเสวนาได้ ที่นี่ 

4 จุดเปลี่ยนการพัฒนาไต้หวัน

ดร.อาร์ม แนะนำ “พื้นบุญ” เดิมของไต้หวันคือ ความสำเร็จในการปฏิรูปที่ดินและการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา ทำให้ไต้หวันมีชื่อเสียงเรื่อง “inclusive growth” หรือการเติบโตอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะความสามารถในการกระจายทรัพยากรและความเท่าเทียม นอกจากนั้น ไต้หวันยังเป็นผู้นำโมเดลการเติบโตด้วยการส่งออก ส่งผลให้เกิดกลไกการแข่งขันและสร้างภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพ

ดร.อาร์ม ชี้ว่าความท้าทายของไต้หวันในตอนนี้ ได้แก่ ตลาดโลกที่ผันผวน จนทำให้มีคำถามตามมาว่า โมเดลการเติบโตด้วยการส่งออกยังใช้ได้หรือไม่ นอกจากนั้น ตลาดภายในที่มีขนาดเล็ก ทำให้เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยียุคใหม่ ที่ต้องอาศัยขนาดของตลาดอยู่มาก อีกทั้งห่วงโซ่การผลิตด้านเทคโนโลยีภายในของไต้หวันเองยังไม่สมบูรณ์ จึงคงจำเป็นต้องพึ่งพาห่วงโซ่จากภายนอก

แต่กว่าไต้หวันจะประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นหนึ่งในสี่เสือของเอเชียได้ รศ. ดร.วีระยุทธ กล่าวว่าเรื่องทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นฉับพลันทันที หากแต่มีกระบวนการเปลี่ยนผ่านในหลายช่วงสมัย ได้แก่

ช่วงแรกในปี 1952-1962 พรรคก๊กมินตั๋งนำการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ ซึ่งนั่นได้เพิ่มให้ประสิทธิภาพการเกษตรของไต้หวันมากขึ้น จนกลายเป็นพื้นบุญสำคัญ และต่อยอดไปเป็นการทำอุตสาหกรรมการเกษตร ที่เกิดการจ้างงานแก่คนจำนวนมากได้

ถัดมาคือช่วงปี 1962–1968 ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนผ่านสำคัญ ที่นำไต้หวันสู่การสนับสนุนกิจการท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ให้เป็นหัวหอกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ จนมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้ นอกจากนั้นไต้หวันยังเน้นพัฒนากลไกสนับสนุน SMEs ให้มีความสามารถของการแข่งขันในระยะยาว ทั้งระดับกิจการ ระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ

ต่อมาในปี 1970–2000 เศรษฐกิจโลกเผชิญความท้าทายจากการที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ทำความตกลงเรื่องการเปลี่ยนค่าเงิน ทำให้เกิดการตั้งลำการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และไต้หวันเองก็อาศัยโอกาสนี้ ในการขยายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้

และในช่วงปี 2000–ปัจจุบัน ภายหลังจุดเปลี่ยนทางการเมือง ที่ตัวแทนจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าพลิกชนะการเลือกตั้ง ทำให้ไต้หวันเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ที่ไปมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อกระจายความมั่งคั่งและความสำคัญทางเศรษฐกิจ อีกทั้งไต้หวันยังหันมากำหนดทิศทางของตนเอง ในห่วงโซ่การผลิตโลกให้ชัดเจนขึ้น

จุดเด่นแผนยุทธศาสตร์ที่ทำให้ไต้หวันยืนระยะการเติบโต

รศ. ดร.วีระยุทธ ยังชวนสนทนาถึง 3 หัวใจสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไต้หวัน ดังนี้

  1. ไต้หวันเลือกให้ SMEs เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยพลิกเอาความชำนาญเทคโนโลยีเฉพาะทาง มาผนวกเข้ากับกลไกการสนับสนุนแบบ “สามประสาน” โดยให้รัฐวิสาหกิจเป็นต้นน้ำของการพัฒนา ต่อมาจึงให้ระดับท้องถิ่นแข่งขันกันในช่วงกลางน้ำ แล้วจึงค่อยส่งต่อไปปลายน้ำในระดับประเทศ
  2. ไต้หวันมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคสูงมาก มีอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ มีการกระจายรายได้ที่สูง ความเหลื่อมล้ำต่ำ
  3. ไต้หวันวางตำแหน่งของตนบนตลาดโลกได้อย่างฉลาดแยบยล ผ่านการวิเคราะห์ความเข้าใจต่อห่วงโซ่การผลิต โดยไต้หวันจะเน้นวางแผนยุทธศาสตร์ ที่เน้นลงทุนในเทคโนโลยีที่มีวัฏจักรที่สั้น ก่อนจะจับจุดนั้น พลิกเป็นความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

จากยุทธศาสตร์ไต้หวันสู่ประเทศไทย อะไรคือความแตกต่าง

ก่อนเปรียบเทียบความแตกต่าง ของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไต้หวันกับประเทศไทย รศ. ดร.วีระยุทธ ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในเสือเศรษฐกิจของเอเชียขึ้นมาเปรียบเทียบด้วย แม้เกาหลีใต้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงไม่แพ้กับไต้หวัน แต่เกาหลีใต้เลือกแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งเสริมกิจการขนาดใหญ่ และยอมปล่อยให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำของเกาหลีใต้พุ่งสูงตามไปด้วย ต่างไปจากไต้หวัน ที่สนับสนุน SMEs และการกระจายรายได้ ทั้งหมดนี้มาจากการที่รัฐบาลของพรรคก๊กมินตั๋ง ถอดบทเรียนความผิดพลาดในอดีตในจีนแผ่นดินใหญ่ ปัจจัยทางการเมืองจึงมีผลต่อการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ที่มีคุณภาพของไต้หวัน นำไปสู่การเติบโตแบบมีส่วนร่วมของไต้หวันอย่างทุกวันนี้

เมื่อมองเปรียบเทียบกับประเทศไทย รศ. ดร.วีระยุทธ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของไต้หวันเน้นวางนโยบายทางอุตสาหกรรม (industrial policy) ที่กำหนดตลาดและเป้าประสงค์อย่างชัดเจน รวมถึงการสร้างความสอดคล้องของงานวิจัย เพื่อพัฒนาประเทศให้เข้ากับอุตสาหกรรมที่ไต้หวันต้องการเข้าแข่งขันกับตลาดโลก ที่สำคัญคือไต้หวันไม่เลือกจะเป็นผู้นำเกม แต่ใช้วิธีการเรียนรู้ว่าตนอยู่ตรงไหนในห่วงโซ่การผลิต และเน้นพัฒนาแต่เทคโนโลยีที่ตนถนัด ขณะที่ไทยจะเน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเน้นการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก

น้ำนิ่งไหลลึก และพลังแข็งแกร่งที่ซ่อนอยู่ของไต้หวัน

“จงมองสิ่งทั้งปวงจากภายใน” คือคำที่ รศ. ดร.วีระยุทธ ยกขึ้นมาอธิบายพื้นบุญสำคัญของไต้หวัน แม้เราอาจจะไม่ค่อยรู้จักแบรนด์สินค้าของไต้หวันมากเท่าไรนัก แต่มูลค่าเพิ่มของไต้หวัน แทรกอยู่ตามชิ้นส่วนสำคัญภายในสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ และทั้งหมดนี้มาจากการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนว่า จะสนับสนุนใครเป็นหัวหอกในการพัฒนา จะต้องส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนารูปแบบใด แต่ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่มีต้นทุนเช่นกัน เพราะไต้หวันจะไม่สามารถกำหนดเกมในอุตสาหกรรมได้ เท่ากับบริษัทเจ้าของตราสินค้านั้นเอง

แม้ปัจจุบันไต้หวันกำลังเผชิญกับแรงกดดันที่หลากหลาย ทั้งจากการเมืองระหว่างประเทศและตลาดโลกที่ผันผวน แต่ไต้หวันยังคงมีโครงสร้างของประชากรหนุ่มสาว อันเป็นจุดแข็งของการพัฒนาเศรษฐกิจในขั้นตอนต่อไป ไต้หวันเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ ที่ได้รับผลประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และเมื่อพิจารณาการวางแผนยุทธศาสตร์ของไต้หวันอย่างละเอียดแล้ว เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทุกครั้งที่มีภัยคุกคามจากภายนอก แต่มักจะกลายเป็นโอกาสของไต้หวัน ที่จะเร่งพลังการเติบโตและการแสวงหาบุญใหม่ เพื่ออนาคตในวันข้างหน้าต่อ ๆ ไป