บทความสรุปงานเสวนาออนไลน์ “Thailand 2020s and Beyond: Building a Trust and Data – Driven Society”

เรียบเรียง: รัสมิ์กร นพรุจกุล

กระบวนการของการออกแบบนโยบายสาธารณะ ประกอบไปด้วย การกำหนดนโยบาย (policy formation) การนำนโยบายไปปฏิบัติ (policy implementation) การประเมินผลนโยบาย (policy evaluation) และการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับทุกภาคส่วน (policy maintenance and policy successions)(Mari, Ducan & John, 2009) ทุกขั้นตอนนั้นจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้การนำนโยบายไปปฏิบัติ บรรลุตามเป้าหมายของการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป โดยหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น คือความไว้วางใจของประชาชนต่อภาครัฐ

การให้ข้อมูลของประชาชนต่อองค์กรภาครัฐนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะองค์กรภาครัฐจะนำข้อมูลเหล่านั้น ไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ แต่การที่ประชาชนจะให้ข้อมูลต่อภาครัฐหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการไว้วางใจของประชาชนต่อหน่วยงานภาครัฐนั้น (Dillman et al., 2014) โดยเฉพาะการให้ข้อมูลส่วนบุคคล หนึ่งในข้อมูลที่สำคัญสำหรับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่เป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมเครือข่าย และการประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผ่านระบบฐานสถิติข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ที่ถือเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา และดูแลทางข้อมูลทางสถิติของประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “Thailand 2020s and Beyond: Building a Trust and Data – Driven Society” เพื่อใช้เป็นเวทีในการพูดคุย ถึงความไว้วางใจของประชาชนในการให้ข้อมูลต่อภาครัฐ รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือ เพื่อแสดงผลและวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมของไทยในรูปแบบของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะ บนพื้นฐานของข้อมูลหลากมิติ

การจัดงานเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณวันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน โดยได้กล่าวถึงภาคีเครือข่ายระหว่างสำนักงานสถิติแห่งชาติกับสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการศึกษาวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการออกแบบนโยบายสาธารณะและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันศึกษาพัฒนาเครื่องมือในการนำเสนอข้อมูล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย และนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนอีกด้วย นอกจากนี้ คุณวันเพ็ญ ยังได้เล่าถึงบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย จนทำให้หน่วยงานของสำนักฯ จำเป็นต้องใช้วิธีการใหม่ ๆ เช่น การใช้แบบสำรวจออนไลน์ หรือการนำข้อมูลทะเบียนเข้ามาใช้ในการทำสำมะโน รวมไปถึงการบูรณาการฐานข้อมูล จัดทำแบบสำรวจเชิงลึก ซึ่งทำให้การทำงานเป็นไปอย่างทันท่วงที ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน นำไปสู่การกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และตรงต่อความต้องการของประชาชน

จากนั้น ผศ. ดร.ณัตติฤดี เจริญรักษ์ หัวหน้า Public Opinion and Dialogue Lab สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ได้อธิบายถึงทฤษฎี Social Exchange ซึ่งได้ระบุถึง 3 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเข้าร่วมทำแบบสำรวจของประชาชน ได้แก่ ประโยชน์ที่จะได้รับ ต้นทุนที่จะเสียไป และความไว้วางใจ (Dillman et al., 2014) ซึ่งสถาบันฯ ได้หยิบประเด็นด้านความไว้วางใจของประชาชน ต่อการให้ของประชาชนต่อภาครัฐมาศึกษา ผ่านการให้ข้อมูลเลขบัตรประชาชนจากแบบสำรวจ 2 ชุด ได้แก่ แบบสำรวจสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2556 และแบบสำรวจการเปลี่ยนแปลงประชากร พ.ศ. 2558 – 2559 ซึ่งเป็นการนำเก็บข้อมูลทั่วประเทศ พบว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจให้หมายเลขบัตรประชาชนจากทั้ง 2 แบบสำรวจนั้น อยู่ที่ประมาณ 65% โดยผู้อยู่อาศัยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็น 2 ภาคที่ให้ข้อมูลมากที่สุด นอกจากนี้ ข้อมูลจากแบบสำรวจทั้ง 2 ชิ้นนั้นพบว่า ผู้ที่มีแนวโน้มในการให้ข้อมูลส่วนใหญ่นั้น จะที่มีที่อยู่อาศัยนอกเขตเทศบาล มีรายได้น้อย ผู้ให้ข้อมูลหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม Baby Boomer (56 – 74 ปี) ทั้งนี้ การศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อจำกัด ในการตรวจสอบความถูกต้อง ของหมายเลขบัตรประชาชนที่ได้รับจากแบบสำรวจ

ด้านการให้ข้อมูลติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (หมายเลขโทรศัพท์มือถือ อีเมล และบัญชีไลน์ (LINE ID)) ผศ. ดร.ณัตติฤดี เปิดเผยว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ จากแบบสำรวจสภาวการณ์ทำงานของประชาชน พ.ศ. 2563 พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจให้หมายเลขโทรศัพท์จำนวนมากที่สุดถึง 56.17% รองลงมา ได้แก่ บัญชีไลน์ (14.24%) และอีเมล (1.84%) ทั้งนี้ การให้ช่องทางการติดต่อขึ้นอยู่กับรายได้อีกด้วย ผู้มีรายได้น้อยมักจะให้หมายเลขโทรศัพท์และ LINE ID ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงส่วนใหญ่ จะให้อีเมลเป็นช่องทางการติดต่อ ทั้งยังพบว่าผู้ที่ให้ข้อมูลช่องทางการติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่นั้น จะเป็นกลุ่มคน Gen Z (อายุต่ำกว่า 19 ปี) และอาศัยอยู่ทางภาคใต้

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้ทำการศึกษาการให้ความร่วมมือของประชาชน ในการให้ข้อมูลของประชาชน ผ่านทางอีเมลที่ได้รับจากแบบสำรวจข้างต้น ผ่านการสำรวจออนไลน์เรื่องการรับรู้ความเสี่ยง เพื่อศึกษาทัศนคติต่อความเสี่ยงด้านฝุ่นควันและมลภาวะ และไฟป่า จำนวน 513 บัญชี พบว่า อีเมลได้ที่รับนั้นกว่า 122 บัญชี (24%) เป็นอีเมลที่ไม่มีบัญชีอยู่จริง และมีเพียง 25 คน (6.4%) เท่านั้นที่ตอบกลับแบบสำรวจ จึงเป็นคำถามใหญ่ต่อองค์กรภาครัฐต่าง ๆ ว่า จะสร้างความไว้วางใจต่อประชาชนอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถนำมาใช้ในการออกแบบ และวางแผนนโยบายในอนาคตต่อไปได้

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้พัฒนาการนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะในรูปแบบต่าง ๆ เช่น dashboard หรือการเล่าเรื่องแบบ data story รวมไปถึง data map ที่สามารถนำเสนอข้อมูลในหลากหลายมิติ คุณรพี สุวีรานนท์ หัวหน้า Data and Intelligence Lab (DAI) สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา กล่าวถึงแผนงานที่ DAI lab ได้ดำเนินการอยู่ คือ data map ซึ่งเป็นเครื่องมือในการแสดงผลที่เพิ่มความเข้าใจให้กับประชาชน และกลุ่มผู้ออกแบบนโยบาย ยังสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา ออกแบบ วางแผน และการตัดสินใจด้านนโยบายได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงพบปัญหาจากการใช้ data map เป็นเครื่องมือในการแสดงข้อมูล เช่น การเข้าถึงข้อมูล ที่ยังไม่มีความบูรณาการระหว่างองค์กรมากเพียงพอ หรือการสร้างความเข้าใจที่ในบางครั้ง ยังจำกัดอยู่ที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการสร้างความเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มข้อมูล ซึ่งจะต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ จากทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง และทำความเข้าใจได้ด้วยตนเอง รวมถึงมีแอปพลิเคชันที่รองรับการแสดงแผนที่อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเปรียบเทียบข้อมูล และวิเคราะห์ผลได้ง่าย

นอกจากนี้ คุณรพี ยังกล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนา data map ของสถาบันฯ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการสร้างความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมผ่านข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเพิ่มการถกเถียงกันด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ มากกว่าการใช้อารมณ์ ความเชื่อ หรือทัศนคติส่วนตัว นอกจากนี้ ยังสามารถนำชุดข้อมูลต่าง ๆ มาเปรียบเทียบ เพื่อดูความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วย มากไปกว่านั้น แผนภาพ data map ที่ออกมา ยังสามารถแสดงผลในทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ภูมิภาค และประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน สถาบันฯ ได้พัฒนาข้อมูลเรื่องฝุ่น PM2.5 โดยนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการวิเคราะห์ด้วย เช่น การนำข้อมูลฝุ่นที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย มาแสดงผลตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ปริมาณของฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ช่วงก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ PM2.5 กับอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น ผลงานในอนาคตของ DAI lab จะพัฒนาชุดข้อมูลให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง สามารถเปรียบเทียบชุดข้อมูลได้เพิ่มมากขึ้น และดูข้อมูลตามช่วงเวลาได้อีกด้วย สามารถดูตัวอย่างผลงานของสถาบันฯ ใน data story “ฝุ่นมาจากไหน? เมื่อ Big Data พบ Small Particles” ได้ที่ https://ippd.or.th/pm2-5/