จริงเหรอ? ใครๆ ก็ไม่รักถุงพลาสติกถุงหูหิ้ว: ผลการศึกษาแบบสำรวจพฤติกรรมถุงพลาสติกหูหิ้วจากการสำรวจออนไลน์ โดย IPPD Voice และ Social Listening

เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์
เรียบเรียง: ผศ. ดร. ณัตติฤดี เจริญรักษ์, อธิโชค พิมพ์วิริยะกุล
  • IPPD จัดทำการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคถุงพลาสติกหูหิ้วผ่านแบบสำรวจ 2 วิธี ได้แก่ IPPD Voice การสำรวจบนแพลทฟอร์มออนไลน์และการสำรวจแบบตัวต่อตัว โดยจากการสำรวจทั้งหมดพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว พร้อมเสนอให้ภาครัฐดำเนินการอย่างอื่นด้วย เช่น การให้ความรู้ในการแยกขยะ หรือการปรับปรุงระบบจัดการขยะให้ดีขึ้น
  • Social Listening เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทางสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ได้นำมาศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคถุงพลาสติกหูหิ้ว โดยสถาบันฯ ได้ทำการศึกษาร่วมกับ Wisesight พบว่ามีข้อความเชิงเห็นด้วยกับมาตรการ 41% ไม่เห็นด้วยกับมาตรการ 25% และเป็นกลาง 34% (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Social Listening ได้ที่ บทความ ‘เก็บเสียงผ่านตัวอักษรด้วย Social Listening’)

นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินนโยบายงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ เพื่อลดปัญหาถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นวิกฤติต่อการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ก็เกิดความคิดเห็นออกมาหลากหลายเสียง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงยังมีผู้ได้รับผลกระทบตามรายทางที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้บริโภคอย่างประชาชนที่ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) จึงได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคถุงพลาสติกทั้งก่อนและหลัง โดยได้มีการทำแบบสำรวจออกมาในสองวิธี ได้แก่ การสำรวจบน IPPD Voice ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มการสำรวจออนไลน์ของสถาบันฯ ระหว่างวันที่ 10 – 22 เมษายน พ.ศ. 2563 และ การสำรวจแบบตัวต่อตัว (Face to Face survey) นอกจากนี้สถาบันฯ ยังได้ทำการศึกษาการรับฟังความเห็นประชาชนที่มีต่อการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก ด้วยระบบ Social Listening ผ่านเครื่องมือการรับฟังเสียงประชาชนบนโซเชียลมีเดีย (Social Listening) อีกด้วย

และนี่คือ ผลสรุปจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติก ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ของทางสถาบันฯ เพื่อนำเสนอทางเลือกการแก้ไขปัญหาถุงพลาสติกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผ่านการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง มองภาพรวมของระบบนิเวศบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างครบวงจร

จริงหรือไม่ คนไทยไม่เห็นด้วยต่อมาตรการฯ?: สรุปรายงานการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติก ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ในรูปแบบออนไลน์และการสำรวจแบบตัวต่อตัว

จากการสำรวจทั้งสองวิธีพบว่า ประชาชนผู้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจทั้งหมดนั้นให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันกล่าวคือ ประชาชนส่วนมากจากแบบสำรวจทั้ง 2 ชุดนั้นรับทราบถึงการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว น่าสนใจกว่านั้นยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จากแบบสำรวจ รู้สึกเห็นด้วยกับมาตรการนี้ (58.91%) รองลงมา คือ ผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นด้วยมากที่สุด (22.74%) และ ผู้ตอบแบบสอบถามที่รู้สึกเฉยๆ ไม่ใช่ทั้งเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย (17.11%) ตามลำดับ

ขณะที่ ส่วนใหญ่แล้วประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว ถึง ร้อยละ 81.65 รู้สึกเห็นด้วยกับมาตรการนี้ 58.91% ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ส่วนใหญ่รู้สึกเห็นด้วยมากที่สุดกับมาตรการนี้ (59.29%) รองลงมา คือ ผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นด้วย (23.18%) และ ผู้ตอบแบบสอบถามที่รู้สึกเฉยๆ ไม่ใช่ทั้งเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย (9.19%) ตามลำดับ

ไม่เพียงเท่านั้น ประชาชนทั้งสองกลุ่มยังเสนอข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับถุงพลาสติกที่คล้ายคลึ งด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ ควรใช้มาตรการการจัดการ พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น หลอดพลาสติก ห่อขนมพลาสติก และควรให้ความรู้เรื่องการแยกขยะกับผู้บริโภคมาใช้ในการจัดการปัญหาถุงพลาสติกในประเทศไทย ขณะด้านผู้ตอบแบบสำรวจแบบตัวต่อตัวเสนอให้ควรใช้วัสดุอื่นทดแทนถุงพลาสติกหูหิ้ว/ถุงก๊อปแก๊ป รวมถึงภาครัฐควรมีการปรับปรุงระบบการจัดการขยะมาใช้ในการจัดการปัญหาถุงพลาสติกในประเทศไทย

เปรียบเทียบก่อน vs หลังพฤติกรรม “พก” และ “รับ” ถุงพลาสติกของผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์และการสำรวจแบบตัวต่อตัว

พฤติกรรมการพกถุงผ้าหรือถุงใช้ซ้ำเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ทางสถาบันฯ ศึกษาสืบเนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวสามารถสะท้อนถึงจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความถี่ในการสร้างจำนวนขยะพลาสติกครั้งเดียวทิ้งได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี จากข้อคำถามก่อนมาตรการขอความร่วมมือ จาการทำแบบสำรวจทั้ง 2 ชุดพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งออนไลน์และแบบสำรวจแบบตัวต่อตัว มีพฤติกรรมใกล้เคียงกัน กล่าวคือ “ไม่พกเลย” (0 ครั้ง) มากที่สุด อย่างไรก็ตามหลังจากมีมาตรการขอความร่วมมือออกมา กลับพบว่าพฤติกรรมในการพกถุงของผู้ตอบแบบสำรวจทั้ง 2 ชุดมีการพลิกกันอย่างสุดขั้วและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ “พกทุกครั้ง” (10 ครั้ง) มากที่สุด

จากข้อคำถามดังกล่าว สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ประชาชนที่ร่วมตอบแบบสำรวจนั้น มีการปฏิบัติตามมาตรการขอความร่วมมือของภาครัฐอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจกลับอยู่ที่ว่าข้อคำถามดังกล่าวยังไม่สามารถชี้ชัดได้อย่างฟันธงว่าการที่ผู้ตอบแบบสอบถามพกถุงใช้ซ้ำหรือถุงผ้านั้น สามารถช่วยสร้างหรือเพิ่มจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่

เมื่อสอบถามถึงแบบสำรวจแบบตัวต่อตัว ต่อพฤติกรรมการรับถุงพลาสติกช่วงก่อนมีการขอความร่วมมือ พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มีพฤติกรรม “รับทุกครั้ง” (10 ครั้ง) ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ส่วนใหญ่มีพฤติกรรม “รับเป็นประจำ” (1 – 3 ครั้ง) ในทางกลับกัน เมื่อสอบถามถึงหลังการขอความร่วมมือพบว่า โดยส่วนมากแล้วผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์มีพฤติกรรม “ไม่รับเลย” (0 ครั้ง) เช่นเดียวกับผู้ตอบแบบสำรวจแบบตัวต่อตัว ที่ตอบว่า “ไม่รับเลย” มากที่สุดเช่นเดียวกัน

จากข้อคำถามดังกล่าว แสดงให้เห็นได้ว่า หลังมีมาตรการขอความร่วมมือเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนมากมีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ คำนึงถึงและเลือกที่จะไม่รับถุงพลาสติกเพื่อลดปัญหาการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้งที่มีการแจกในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าทั่วไปกันมากขึ้น นอกจากนี้ในคำถามชุดนี้ยังสะท้อนให้เห็นอีกด้วยว่า การรับหรือไม่รับถุงพลาสติกอาจแสดงให้เห็นว่า ประชาชนผู้ตอบแบบสำรวจอาจไม่ได้มีการพกถุงผ้าหรือพกถุงใช้ซ้ำติดตัวไปด้วยก็ได้ แต่พวกเขาเหล่านั้นเลือกที่จะไม่รับถุง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขานั้นมีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นจากการออกมาตรการดังกล่าว

สำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นชาวเน็ตผ่าน social listening

ความคิดเห็นจากโซเชียลมีเดียจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบนโยบายสาธารณะได้ เครื่องมืออย่าง “social listening” กระบวนการติดตามการสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อ คำหลักหรือคีย์เวิร์ด และวลีที่เฉพาะเจาะจงบนโซเชียลมีเดีย (Social Media) จึงมีความน่าสนใจในการนำมาใช้ในการเก็บความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ เนื่องจากสามารถเก็บข้อมูลได้อย่างทันท่วงที และสามารถเก็บข้อมูลย้อนหลังในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้อีกด้วย

สถาบันฯ จึงได้ศึกษาพฤติกรรมและความคิดเห็นของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อนโยบายงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วของรัฐบาลที่ประกาศเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยเก็บข้อมูลทั้งก่อนและหลังการประกาศนโยบาย (1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 – 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) จำนวนกว่า 117,977 ข้อความจากโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อนำไปศึกษาความคิดเห็นของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อนโยบายฯ ของรัฐบาล พบว่า ประเด็นส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องจะอยู่ในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ ทวิตเตอร์ และอื่น ๆ เช่น สำนักข่าว การโฆษณาจากร้านค้า สื่อด้านสิ่งแวดล้อม และดาราหรือศิลปิน เป็นต้น

ผลการศึกษาในครั้งนี้ยังทำให้เห็นถึงความแตกต่างของแต่ละแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เก็บข้อมูลมาด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โพสต์ที่ได้รับความนิยมบนเฟซบุ๊ก จะเป็นโพสต์จากร้านสะดวกซื้อในการรณรงค์การงดแจกถุงพลาสติก แตกต่างจากโพสต์ที่ได้รับความนิยมบนทวิตเตอร์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการโพสต์ของบุคคลทั่วไป มีความหลากหลายทางความคิดเห็นมากกว่าเฟซบุ๊ก และโพสต์ที่มีผู้เข้ามามีส่วนร่วม (engagement) มากที่สุด เป็นโพสต์ที่ไม่เห็นด้วยกับงานวิธีการงดแจกถุงพลาสติกอย่างฉับพลัน

น่าสนใจกว่านั้น เมื่อนำข้อความมาเปรียบกันตามช่วงเวลา จะเห็นได้ว่าจำนวนข้อความที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วกลายเป็นประเด็นได้ที่รับการพูดถึงมากที่สุดในช่วงวันที่ 1 – 7 มกราคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกหลังการออกนโยบาย อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 พบว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจตั้งแต่ก่อนการออกนโยบาย และกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ยังให้ความสนใจนโยบายอย่างต่อเนื่องไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ก่อนที่แนวโน้มของการพูดคุยถึงนโยบายนี้จะลดลง โดยมีความคิดเห็นเชิงบวกต่อมาตรการสูงมากกว่าความคิดเห็นเชิงลบเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลและการทำแบบสำรวจทั้งหมดในครั้งนี้มีระยะเวลาเพียง 6 เดือน ทำให้ความคิดเห็นและทัศนคติที่ได้รับจากประชาชนยังเป็นระยะของการตื่นตัวอยู่เท่านั้น จำเป็นที่จะต้องติดตามผลของการดำเนินนโยบายดังกล่าวในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะทำให้เห็นถึงมุมมองของประชาชนต่อนโยบาย และสามารถนำไปใช้ในการออกแบบ ปรับปรุง และพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้

โดยท่านสามารถหาอ่านข้อสรุปเกี่ยวกับผลการศึกษาพฤติกรรมถุงพลาสติกหูหิ้วจากงานเสวนาออนไลน์ ซีรีส์ “ประเทศไทยอยู่ตรงไหน?” ในหัวข้อ “คนไทยรักษ์โลกแค่ไหน? พลาสติก ไวรัส หรือใครที่ทำร้ายโลก?” ได้ที่ https://ippd.or.th/plastic-online-seminar/