ประเทศไทยอยู่ตรงไหน?: ทำไมขยะพลาสติกในทะเลถึงสำคัญกับเรา?

เรื่อง: บุษบา คงปัญญากุล / พันธกานต์ นิมมานเหมินท์
เรียบเรียง: อธิโชค พิมพ์วิริยะกุล / ชลิตา สุนันทาภรณ์

TAKEAWAYS:

  • สามในสี่ของขยะทะเล คือขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งขว้าง และไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม จึงทำให้ตกค้างอยู่ในธรรมชาติ
  • แพขยะทะเลที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ “แพขยะขนาดใหญ่แห่งแปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch)” และพบว่ามีขนาดเท่ากับ 3 เท่าของพื้นที่ประเทศไทย
  • ชวนดู data storytelling หัวข้อ “ประเทศไทยอยู่ตรงไหน? ตอน การจัดการถุงพลาสติก?” จัดทำโดย IPPD (https://data.ippd.or.th/plastic-story/)

ขยะพลาสติกกลายเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่ทั่วโลกให้การจับตามองอยู่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

จากข่าวที่ปรากฎให้เห็นตามสื่อบ่อยครั้ง ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ขยะพลาสติกสร้างผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ และระบบนิเวศมาโดยตลอด ประเทศไทยของเราถือเป็นตัวเต็งที่ปล่อยขยะพลาสติกจำนวนมากสู่สิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการที่ประเทศไทยเคยติด 1 ใน 10 อันดับของประเทศที่ติดขยะลงทะเลมากที่สุด ในปี พ.ศ. 2558 (Science, 2558)

ปัญหาขยะพลาสติกจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ ที่สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาให้ความสนใจ และกำลังศึกษาข้อมูลของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อหาทางและนำเสนอทางเลือก ให้กับการออกแบบนโยบายสาธารณะ สำหรับประเทศไทยต่อไปในอนาคตในเรื่องที่เกี่ยวข้องนี้

และนี่คือบทความว่าด้วย ประเทศไทยอยู่ตรงไหน? ในหัวข้อ “ทำไมขยะพลาสติกในทะเลถึงสำคัญกับเรา?” เพื่อตอบข้อสงสัยว่า ขยะพลาสติกในทะเลคืออะไร และทำไมจึงได้รับความสนใจอย่างมาก

ขยะทะเลคืออะไร?

ชัดเจนตามชื่อ ขยะทะเลหมายถึง ขยะที่สะสมอยู่ในทะเล ประกอบไปด้วยเศษวัสดุหลากหลายชนิด และถูกทิ้งมาจากหลายแหล่งที่มา รวมทั้งที่ถูกพัดพามาด้วยกระแสลมและกระแสน้ำ จนมารวมตัวกันอยู่ในทะเล

“สามในสี่ของขยะทะเลคือขยะพลาสติก”

(Secretariat of the Convention on Biological Diversity, 2559)

จากรายงานของ ICNC ปี 2563 พบว่า มีขยะพลาสติกจากทั่วโลก 12 ล้านตัน ไหลลงสู่ทะเลทุกปี หรือคิดเป็น 3% ของพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมาบนโลก โดยมาจากกิจกรรมจากบนบก 80% และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในทะเล 20% เช่น การประมง (UNEP, 2561)

หนึ่งในขยะพลาสติกในทะเลที่ถูกพบมาก คือ ถุงพลาสติก เนื่องด้วยมีน้ำหนักเบาและมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ ถุงพลาสติกจึงไม่ค่อยได้รับความสนใจในการแยกเก็บขาย จึงทำให้ถูกทิ้งขว้าง รวมทั้งไม่ได้รับการจัดการขยะที่ถูกวิธี อีกทั้งปลิวตามแรงลมได้ง่าย ทำให้เกิดการตกค้างอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก

(ICNC, 2563)

ทำไมขยะพลาสติกถึงไหลลงไปอยู่ในทะเล?

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ในการใช้ชีวิตแต่ละวัน เราสามารถสร้างขยะพลาสติกลงสู่ทะเลได้โดยไม่รู้ตัว เช่น การซักเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ จะส่งผลให้เส้นใยพลาสติกขนาดเล็ก ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (microfibres) ปะปนไปทางแหล่งน้ำทิ้ง จนไปถึงทะเลได้ (ICNC, 2563)

นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขยะพลาสติกจากบนบก หลุดลอดออกสู่ธรรมชาติได้ก็คือ ระบบการจัดการขยะบนบกที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ขยะพลาสติกที่หลุดลอดสู่ทะเล มาจากขยะพลาสติกบนบกที่ถูกทิ้งขวาง และไม่ได้รับการจัดเก็บเลยถึง 75% ส่วนที่เหลือเป็นขยะพลาสติกที่ได้รับการจัดเก็บ แต่หลุดลอดระหว่างการจัดการ ทำให้พลาสติกเหล่านี้ มีโอกาสถูกลมพัดลงสู่แหล่งน้ำและไหลลงสู่ทะเล (Ocean Conservancy, 2558)

จะเห็นได้ว่า ความไม่มีประสิทธิภาพในระบบการจัดการขยะพลาสติก จึงทำให้ขยะพลาสติกบนบกจำนวนมาก กลายไปเป็นขยะทะเล และเมื่อพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายนานมาก จึงส่งผลให้ขยะพลาสติกเหล่านี้สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเกิดความน่าวิตกไปทั่วโลก

เหตุที่ทั่วโลกสนใจขยะพลาสติกในทะเล เป็นเพราะต้องแบกรับกรรมร่วมกัน

เมื่อพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่า ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่จะได้รับผลกระทบ เพราะการหลุดลอดขยะของแต่ละประเทศ จะส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาต่อประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมโลกได้อีกด้วย

ขยะทะเลสามารถถูกกระแสน้ำพัดไปได้ทั่ว ไม่เหมือนกับขยะบนบก และจะทำให้ทุกประเทศที่อยู่ในน่านน้ำเดียวกัน มีโอกาสได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ขยะพลาสติกจากทะเลประเทศไทย อาจถูกซัดไปเกยฝั่งประเทศพม่า หรือขยะพลาสติกจากทะเลประเทศอินเดีย ก็มีโอกาสถูกซัดมาเกยหาดประเทศไทยได้เช่นกัน (Igreen, 2562)

ขยะพลาสติกในทะเล น่ากลัวแค่ไหน

เห็นได้จากแพขยะขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นตามจุดต่าง ๆ ของมหาสมุทร พูดง่ายๆ ก็คือกองขยะขนาดมหึมาในทะเล ขณะนี้ถูกค้นพบ 5 แห่ง ได้แก่ 1 แห่งในมหาสมุทรอินเดีย 2 แห่งในมหาสมุทรแปซิฟิก และอีก 2 แห่งในมหาสมุทรแอตแลนติก กำลังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อมนุษย์ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม

แพขยะที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดคือ “แพขยะขนาดใหญ่แห่งแปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch)” อยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (National Geographic, 2562) ในใจกลางแพขยะนี้ พบเศษพลาสติกเป็นจำนวนมาก (Scientific Reports, 2561) ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกว่า เป็นปัญหาที่สำคัญและควรรีบแก้ไข ไม่เพียงเท่านั้น ขยะพลาสติกในทะเลยังทำให้สัตว์น้ำตาย เนื่องจากบริโภคเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขยะพลาสติกเข้าไปอุดตันในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ธรณ์ ธำรงนาวาศักดิ์, 2560) หรือแม้แต่ตัวถุงพลาสติกเองก็ ทำให้สัตว์น้ำ อย่างเช่น เต่าทะเลเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุนและกินเข้าไป เป็นต้น โดยเฉพาะเศษพลาสติกขนาดเล็ก (microplastic) จะมีโอกาสไหลเข้าสู่ปากของสัตว์น้ำได้อย่างง่ายดาย และทำให้มนุษย์มีโอกาสได้รับเศษพลาสติกขนาดเล็กนี้ เข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคอาหารทะเลในชีวิตประจำวันได้ โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย ทำให้เกิดการสะสมและก่อให้เกิดเป็นโรคร้ายต่าง ๆ (UNEP, 2561)

จากที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล เป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจในปัจจุบัน เนื่องด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้อย่างชัดเจน รวมถึงเป็นปัญหาที่ขยายไปเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่จะบอกว่าขยะบนบกมีความสำคัญน้อยกว่าก็ไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้วขยะพลาสติกในทะเลมากกว่าครึ่ง มาจากขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก โดยเฉพาะการใช้ถุงพลาสติกเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญกับการจัดการขยะบนบกด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต้องพิจารณากันอย่างจริงจังว่า ปัจจัยแบบใด จะเป็นตัวบ่งบอกว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะกับประเทศของเราจริง ๆ โดยการมองย้อนกลับไปดูที่ระบบนิเวศพลาสติกในบ้านเรา

สถาบันฯ ได้พัฒนา data storytelling การจัดการถุงขยะพลาสติกของแต่ละประเทศทั่วโลก คลิกที่นี่ ส่วนบทความน่าสนใจที่เกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกในตอนหน้า จะเป็นเรื่องใดนั้น โปรดรอติดตามได้เร็ว ๆ นี้นะคะ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ในโครงการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายและมาตรการ การจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (มุ่งเน้นประเด็นการจัดการถุงพลาสติกหูหิ้ว)

อ้างอิง:

Ocean Conservancy. (2558). Stemming the tide Land-based strategies for a plastic-free ocean. สืบค้น 18เมษายน 2563, จาก https://oceanconservancy.org/wp-content/uploads/2017/04/full-report-stemming-the.pdf

Greenpeace Thailand. (2563). พลาสติกตัวร้าย ภัยคุกคามห่วงโซ่อาหาร. สืบค้น 4 พฤษภาคม 2563, จาก https://www.greenpeace.org/thailand/explore/resist/plastic/harm-plastic/

National Oceanic and Atmospheric Administration. (ม.ม.ป.). Garbage Patches. สืบค้น 30 เมษายน 2563, จาก https://marinedebris.noaa.gov/info/patch.html

National Geographic. (2562). Great Pacific Garbage Patch. สืบค้น 30 เมษายน 2563, จาก https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/great-pacific-garbage-patch/

Igreenstory. (2562). ขยะทะเล…ขยะที่ไม่ได้มาจากทะเล. สืบค้น 30 เมษายน 2563, จาก http://www.igreenstory.co/ocean-garbage/UNEP. (2561).

Addressing marine plastics: A systemic approach. สืบค้น 22 เมษายน 2563, จาก http://wedocs.unep.org/bitstream/handle/20.500.11822/26746/marine_plastics.pdf?sequence=1&isAllowed=y

Scientific Reports. (2561). Evidence that the Great Pacific Garbage Patch is rapidly accumulating plastic. สืบค้น 10 มิถุนายน2563, จาก https://www.nature.com/articles/s41598-018-22939-w

Scientific Reports. (2563). First evidence of plastic fallout from the North Pacific Garbage Patch. สืบค้น 10 มิถุนายน2563, จาก https://www.nature.com/articles/s41598-018-22939-w

National Oceanic and Atmospheric Administration. (2563). How Big Is the Great Pacific Garbage Patch? Science vs. Myth. สืบค้น 10 มิถุนายน 2563, จาก
https://response.restoration.noaa.gov/about/media/how-big-great-pacific-garbage-patch-science-vs-myth.html

The Ocean Cleanup. (2563). GREAT PACIFIC GARBAGE PATCH SLOWLY BREAKS DOWN INTO MICROPLASTICS TO POLLUTE THE DEEP SEA. สืบค้น 18 เมษายน 2563, จาก
https://theoceancleanup.com/updates/great-pacific-garbage-patch-slowly-breaks-down-into-microplastics-to-pollute-the-deep-sea/

Environmental Science & Technology. (2560). Pollutants in Plastics within the North Pacific Subtropical Gyre. สืบค้น 10 มิถุนายน2563, จาก https://assets.theoceancleanup.com/app/uploads/2019/04/171215-Pollutants-in-Plastics-within-the-North-Pacific-Subtropical-Gyre.pdf

National Geographic. (2562). Plastic Bag Found at the Bottom of World’s Deepest Ocean Trench. สืบค้น 30 เมษายน 2563, จาก https://www.nationalgeographic.org/article/plastic-bag-found-bottom-worlds-deepest-ocean-trench/

60 Minutes. (2561). The Great Pacific Garbage Patch isn’t what you think. สืบค้น 10 มิถุนายน2563, จาก https://www.youtube.com/watch?v=dtaNqGyHkNE

National Geographic. (2561). The Great Pacific Garbage Patch Isn’t What You Think it Is. สืบค้น 22 มิถุนายน2563, จาก https://www.nationalgeographic.com/news/2018/03/great-pacific-garbage-patch-plastics-environment/

Engber, D. (2558). There Is No Island of Trash in the Pacific. สืบค้น 22 มิถุนายน2563, จาก https://slate.com/technology/2016/09/the-great-pacific-garbage-patch-was-the-myth-we-needed-to-save-our-oceans.html

National Oceanic and Atmospheric Administration. (2563). How Big Is the Great Pacific Garbage Patch? Science vs. Myth. สืบค้น 12 มิถุนายน 2563, จาก
https://response.restoration.noaa.gov/about/media/how-big-great-pacific-garbage-patch-science-vs-myth.html

National Oceanic and Atmospheric Administration. (ม.ม.ป.). The Great Pacific Garbage Patch. สืบค้น 18 เมษายน 2563, จาก https://oceanservice.noaa.gov/podcast/june14/mw126-garbagepatch.html

Pobpad.com. (ม.ม.ป.). โลหะหนัก สารอันตรายคร่าชีวิต
. สืบค้น 15 มิถุนายน 2563, จาก
https://www.pobpad.com/โลหะหนัก-สารอันตรายคร่า

กรมควบคุมมลพิษ. (ม.ม.ป.). มหันตภัยไดอ๊อกซิน (dioxins) . สืบค้น 15 มิถุนายน 2563, จากhttp://www.pcd.go.th/info_serv/haz_dioxin.html

Science Studio. (2562). PAHs ภัยร้ายใกล้ตัว. สืบค้น 15 มิถุนายน 2563, จากhttps://www.scispec.co.th/learning/index.php/blog/chromatography/14-quechers

วราพร ชลอำไพ. (ม.ม.ป.). พีซีบี. สืบค้น 15 มิถุนายน 2563, จาก http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=75

ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี. (ม.ม.ป.). พิษจากสาร Organochlorine. สืบค้น 15 มิถุนายน2563, จาก https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/OCl

Environmental Science & Technology. (2560). Plastic and Human Health: A Micro Issue?. สืบค้น 15 มิถุนายน2563, จาก
https://www.researchgate.net/publication/317078116_Plastic_and_Human_Health_A_Micro_Issue

Thompson, A. (2561). From Fish to Humans, A Microplastic Invasion May Be Taking a Toll. สืบค้น 15 มิถุนายน2563, จาก https://www.scientificamerican.com/article/from-fish-to-humans-a-microplastic-invasion-may-be-taking-a-toll/